Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๐๗.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๐

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๒-
ข้าพเจ้าโดยสารเรืออิตาเลียน ซึ่งเป็นเรือโดยสารระหว่างเอเชียและยุโรปที่แล่นเร็วที่สุดในยุคนั้น ข้าพเจ้าเดินทางถึงเมืองตริเอสเต ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งเป็นเมืองที่กำลังต่อเรือรบให้กับกองทัพเรือสยาม เลขานุการของมุสโสลินี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานบริษัทการต่อเรือด้วย ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันข้าพเจ้า เลขานุการของมุสโสลินีได้นำคำตอบของมุสโสลินีว่าด้วยเรื่องการขอยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาคระหว่างสยามและอิตาลีมาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบ เขาได้รับมอบหมายให้แจ้งข้าพเจ้าทราบว่า มุสโสลินียินดีต้อนรับข้าพเจ้า ณ กรุงโรม แต่ขอให้ข้าพเจ้ารอจนถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเลื่อนเวลาออกไปนานขนาดนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบก็คือระยะนั้นสถานการณ์ระหว่างอิตาลีกับสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับปัญหาเอธิโอเปียตึงเครียดมาก เลขานุการของมุสโสลินี ซึ่งมีท่าทีแบบพวกราชสำนักในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ กล่าวคำยกย่องเยินยอมุสโสลินีไม่ขาดปาก เขาบอกข้าพเจ้าว่า ในโลกนี้มีบุคคล ๒ คนเท่านั้น ที่มีความสามารถที่จะเอาชนะคนอังกฤษได้ คือ นโปเลียนและมุสโสลินี นโปเลียนได้พลาดโอกาสเช่นนั้น แต่ “ท่านผู้นำ” (IL DUCE) ผู้ซึ่งมีความทรหดอย่างหาที่เปรียบมิได้ จะสามารถเอาชนะชาวอังกฤษได้อย่างแน่นอน

เลขานุการของมุสโสลินีได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังถึงเรื่องการแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่นในกิจการการต่อเรือว่า เมื่อรัฐบาลสยามมีโครงการที่จะปรับปรุงและเพิ่มเติมประสิทธิภาพของกองทัพเรือ บริษัทญี่ปุ่นได้เสนอราคาที่ต่ำที่สุด ดังนั้น บริษัทอิตาเลียนที่ต้องการแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่น จึงเสนอขอให้มุสโสลินีอนุมัติเงินช่วยเหลือพิเศษที่จะทำให้บริษัทสามารถเสนอราคาต่อประเทศสยามได้ถูกลงไปอีก

เหตุนี้ทางบริษัทจึงขาดทุนมากกว่าที่จะได้กำไร เลขานุการได้นำรูปถ่ายของมุสโสลินีให้ข้าพเจ้าดู และกล่าวกับข้าพเจ้า “นี่ไง ท่านผู้นำอันเป็นที่รักยิ่งของเรา”

เมื่อเห็นว่ายังมีเวลาเหลือถึง ๑๐ วันก่อนจะได้พบกับมุสโสลินี ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปยังเมืองโลซานน์โดยทางรถไฟ เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่นั่น จากนั้นข้าพเจ้าเดินทางมายังกรุงปารีส อยู่ที่นั่น ๒-๓ วันและกลับมายังกรุงโรมทันวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๘ พอดี

เมื่อมาถึงกรุงโรม ข้าพเจ้าได้พบว่าวันที่ ๔ พฤศจิกายนนี้ เป็นวันที่ยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยมุสโสลินีได้สั่งรวมพลบรรดาประชาชน เพื่อที่ตนจะได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนให้ต่อต้านสหราชอาณาจักร และกล่าวหาประเทศเอธิโอเปียว่า มีท่าทีเป็นศัตรูต่อประเทศอิตาลี ตอนท้ายสุนทรพจน์ มุสโสลินีได้สั่งให้กองทัพบกและอากาศซึ่งรวมพลกันอยู่แล้วที่เอรีเทร (ERYTHREE) ชายแดนอาณานิคมของอิตาลีให้เข้าแทรกแซงเอธิโอเปียได้ทุกเวลา และโจมตีเอธิโอเปียได้ในฉับพลัน (ผู้บัญชาการรบทางอากาศของอิตาลีในตอนนั้น คือ เคานท์ เซียโน COUNT CIANO ลูกเขยของมุสโสลินี)

กงสุลใหญ่กิติมศักดิ์ของสยามซึ่งเป็นคนอิตาลี ได้แต่มาอยู่เมืองไทยเป็นเวลานาน ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า และกล่าวขออภัยที่มิได้มารับข้าพเจ้าที่สถานีไฟในทันทีที่ข้าพเจ้ามาถึง ท่านกงสุลกล่าวกับข้าพเจ้าว่า ในฐานะที่เป็นคนอิตาเลียน เขาจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคฟาสซิสต์ ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแต่ที่แท้จริง เขามีใจต่อต้านพวกฟาสซิสต์

๒ วันต่อมา มุสโสลินีได้เชิญให้ข้าพเจ้าไปพบที่ “ปาลาสโซ เวเนเซีย” (PILAZZO VENEZIA) ซึ่งเป็นที่ทำงานของมุสโสลินี ในวันนั้นเราได้สนทนากันหลายเรื่องเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงความรู้สึกของมุสโสลินีที่ดูหมิ่นประเทศญี่ปุ่น ข้าพเจ้าทราบดีว่ามุสโสลินีต้องการมีอิทธิพลเหนือประเทศจีน จึงได้ส่งบุตรเขยของตนไปเป็นกงสุลใหญ่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เพื่อพยายามช่วยรัฐบาลจีนคณะชาติในการต่อสู้ผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น และในการแข่งขันกับสินค้าของญี่ปุ่นที่กำลังจะเข้ามาแทนที่สินค้าของอิตาลี (โดยเฉพาะกระดาษ) เพื่อเป็นการเอาใจข้าพเจ้า มุสโสลินียืนยันกับข้าพเจ้าว่า เขาไม่ได้ปฏิปักษ์ต่อชาวเอเชีย เพราะเขาเชื่อว่า จักรพรรดิโรมันองค์แรกก็สืบเชื้อสายมาจากเอเชีย ส่วนระบบนาซีที่เพิ่งเกิดขึ้น และกำลังมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องของประเทศออสเตรีย (พ.ศ.๒๔๗๗)นั้น ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งต่อบรรดาทหารให้ก่อรัฐประหารและล้มรัฐบาล ผลก็คือ นายดอลฟุส (DOLLFUS) คนของมุสโสลินีตายไป จากการสนทนาในวันนั้นข้าพเจ้าสังเกตว่า มุสโสลินีไม่พอใจฮิตเลอร์มาก

สำหรับสยาม มุสโสลินีได้แสดงความเห็นใจ และต้องการโน้มน้าวข้าพเจ้าให้เชื่อว่า สหราชอาณาจักรเป็นศัตรูร่วมของเราโดยยกข้อเท็จจริงที่ว่า คนอังกฤษได้ผนวกดินแดนส่วนหนึ่งของสยามเข้ากับจักรวรรดิอังกฤษ แต่มุสโสลินีไม่ได้กล่าวถึงกรณีประเทศฝรั่งเศส และไม่ได้บอกกล่าวเลยว่า เมื่อวัน ๒ วันที่ผ่านมา มุสโสลินีก็ได้ออกคำสั่งให้รุกรานประเทศเอธิโอเปีย

ตอนท้ายการสนทนา มุสโสลินีได้ให้คำสัญญากับข้าพเจ้าว่า จะไม่คัดค้านโครงการของเราที่จะขอยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคระหว่างสยามและอิตาลี เพราะมุสโสลินีเองก็เป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายกิจการต่างประเทศด้วย

No comments: