Thursday, September 6, 2007

บทความที่ ๒๖๖.ความคิดทางชนชั้น ตอนที่๒ (จบ)

ปราชญ์ทางประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่งได้อ้างตัวอย่างอีกว่าเมื่อการผลิตได้อาศัยแรงงานรับจ้างได้เติบโตขึ้นมา และเกิดความจำเป็นจะขายผลิตผล เพื่อผลกำไร พวกนายทุนยุคเริ่มแรกจึงต้องเผชิญอย่างรุนแรงกับข้อจำกัดสิทธิต่างๆ ในทางการค้า ที่ระบบศักดินาได้กำหนดขึ้นไว้ ด้วยประการดังนั้น ความคิดในเรื่องอิสระภาพจากการจำกัดสิทธิ์ ความคิดในเรื่องที่จะมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดภาษีและในเรื่องอื่นๆ จึงได้อุบัติขึ้น โดยระยะนั้นภาวะของสังคมยังไม่ได้เปลี่ยนรูปมาเป็นสังคมทุนนิยม เป็นแต่ได้มีอาการอันจะนำไปสู่สังคมทุนนิยมปรากฏขึ้น และจากการดังกล่าวนี้แหละความคิดในเรื่องเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจึงได้ปรากฏออกมา

ทั้งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับความคิดในเรื่องเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือความคิดรูปสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดรูปสังคมนิยมเพ้อฝัน จะอุบัติขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่ออาการของสังคมนิยมได้คลี่คลายออกไป เวลาที่อาการหรือภาวะการณ์ของรูปแบบสังคมคลี่คลายออกไปนั้น หมายถึง เวลาที่ผลิตกรรมขนาดใหญ่ได้แผ่กว้างออกไป และหมายถึงเวลาที่เห็นกันชัดแจ้งแล้วว่า ลัทธิเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้กลายเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าของสังคม อาการอันชัดแจ้งนั้น แสดงออกโดยวิกฤติการณ์ทางผลิตผลที่ท่วมท้นตลาดและกำลังซื้อตกต่ำ อันเกิดแล้วเกิดเล่าอยู่ไม่ขาด

ถึงมาตรว่า ความคิดต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นแต่โดยอาศัยภาวะการณ์ทางวัตถุก็ดี แต่เมื่อความคิดเหล่านั้นได้อุบัติขึ้นแล้ว มันก็ได้บรรจุอิทธิพลของมันลงไปในการกระทำของมนุษย์ และดังนั้น ก็เท่ากับอิทธิพลอยู่เหนือกระแสเหตุการณ์ทั่วไปอย่างแน่นอน ความคิดที่กำเนิดจากระบบการผลิตแบบเก่า เป็นความคิดที่ยึดเหนี่ยวอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม เป็นความคิดที่จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของมนุษย์ และด้วยเหตุเช่นนั้น ชนชั้นที่ครองอำนาจในทุกยุคทุกสมัย จึงทำทุกอย่างที่อาจทำได้ในอันที่จะสั่งสอนความคิดอันคร่ำครึเหล่านั้นแก่ประชาชน

ส่วนความคิดที่กำเนิดจากภาวะการณ์ใหม่ในการผลิตเป็นความคิดก้าวหน้า เป็นความคิดที่ส่งเสริมการกระทำ โดยรับเอาภาวะการณ์ใหม่ๆ นั้นมาพิจารณาดำเนินการไปสู่ระบบใหม่ และด้วยเหตุเช่นนั้นเอง ชนชั้นที่มีอำนาจอยู่ในสมัยนั้น จึงถือว่าความคิดจำพวกก้าวหน้าเหล่านั้นเป็น “ความคิดที่เป็นภัย” ดังเช่นความคิดที่ว่าระบบทุนนิยมนั้นเลว เพราะว่าระบบทุนนิยมส่งเสริมให้มีการกดขี่ ขูดรีดอย่างทารุณเหี้ยมโหด เพียงเพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์ของนายทุน ส่งเสริมให้ทำลายจำนวนอาหารที่มีอยู่มากมายเสีย เพียงเพื่อจะรักษาระดับราคาอาหารมิให้ลดต่ำ ในขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนมากอยู่ในสภาพเกือบอดตาย

ความคิดดังกล่าวนี้กลับปรากฏในทัศนะของชนชั้นที่มีอำนาจว่าเป็น “ความคิดที่เป็นภัย” และภัยนั้นในความเป็นจริง ก็หมายถึงภัยที่ชนชั้นที่มีอำนาจจะได้รับ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบการผลิตใหม่ ความคิดในรูปก้าวหน้านั้นอันที่จริงจักนำไปสู่ความคิดของการตั้งระบบการผลิตใหม่ คือเป็นการผลิตเพื่อใช้และมิใช่ผลิตเพื่อกำไร ดังนั้น จึงเป็น “ภัย” อย่างมหันต์สำหรับกลุ่มที่หวังกอบโกยเอากำไรเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัว แต่หากหาเป็น “ภัย” แต่ประการใดไม่สำหรับมวลชน ผู้หวังความสมบูรณ์พูนสุขร่วมกันในฐานะมนุษยชาติ

จินตภาพของนักวิทยาศาสตร์แห่งประวัติศาสตร์ต่อความคลี่คลายทางสังคม ซึ่งมีชื่อว่า “ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์” Historical Maerialism จึงไม่ใช่อย่างเดียวกับ “ลัทธิ” กำหนดจิตใจของนักวัตถุนิยม Meterailist Determinism ซึ่งมีทฤษฎีว่า การกระทำของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่แก่ภาวะการณ์ทางวัตถุของตัวเขาโดยสิ้นเชิง แต่นักวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์มีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง เขาเห็นว่าการกระทำของมนุษย์รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ ที่การกระทำเหล่านั้นนำมา เป็นผลซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะการณ์ทางวัตถุที่อยู่นอกกาย และส่วนหนึ่งเกิดจากความสำนึกของเขาเองในข้อที่จะควบคุมภาวะการณ์ทางวัตถุได้อย่างไร

แต่มนุษย์จะได้รับความรู้เช่นนั้นได้ ก็แต่อาศัยความชำนาญจากการสังเกตการศึกษาภาวะการณ์ทางวัตถุนั้นเอง เขาได้ความชำนาญจากภาวะการณ์ทางวัตถุมิใช่โดยการนั่งคิดอยู่บนเก้าอี้ แต่จะได้โดยการปฏิบัติในทางผลิตเครื่องใช้ต่างๆ ตามความต้องการของชีวิต และเมื่อความรู้ของเขาเพิ่มพูนขึ้น เมื่อเขาคิดประดิษฐ์วิธีผลิตใหม่ๆ ขึ้น และนำสิ่งเหล่านั้นออกปฏิบัติเขาก็จะประสบว่า แบบที่มีอยู่เดิมในการจัดระเบียบสังคมได้กลายเป็นเครื่องกีดขวางมิให้เขาสามารถใช้วิธีการใหม่ๆ ที่เขาคิดค้นขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ มนุษย์ตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้จากพฤติการณ์ในชีวิตของเขาเอง ดังนั้นในขั้นต้นมนุษย์จึงต่อสู้กับความคิดร้ายและเครื่องกีดขวางที่มีอยู่เฉพาะเรื่องเฉพาะราย ซึ่งแบบเก่าของการจัดระเบียบสังคมได้ก่อสร้างไว้ แต่ในเวลาต่อมา เขาก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะถูกดึงเข้าไปสู่การต่อสู้ทุกทางกับระบบที่มีอยู่เดิมทั้งหมด

มีอยู่ระยะหนึ่งที่กระแสเหตุการณ์ทั้งหมด ที่อำนวยให้กำลังการผลิตใหม่ได้คลี่คลายขยายออกมาจากระบบเก่านั้น ได้เป็นไปโดยปราศจากสำนึกและโดยไม่มีแผนการ และก็เป็นเช่นเดียวกันในกรณีการต่อสู้กับแบบเก่าของการจัดระเบียบสังคมอันดำรงระบบเก่าไว้ คือ เป็นการต่อสู้ที่ปราศจากสำนึกและแผนการ แต่ก็มีอยู่ชั่วระยะหนึ่งเสมอ ที่ความสัมพันธ์หรือระเบียบที่ชนชั้นเดิมได้กำหนดไว้ ได้ปรากฏออกให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าเป็นเครื่องกีดขวางสกัดกั้นกำลังผลิตใหม่ไม่ให้นำออกใช้ได้ผลอย่างเต็มที่ ตรงระยะนี้แหละที่การปฏิบัติของชนชั้นที่ก้าวหน้า ผู้ซึ่งถืออนาคตไว้ในกำมือของเขา ได้สำแดงออกมาด้วยความรู้สึกสำนึก

และต่อจากนี้ไป กระแสการคลี่คลายกำลังผลิตใหม่ๆ นั้นจะไม่เป็นการแสการคลี่คลายที่ไร้สำนึกหรือไร้แผนการอีกต่อไป มนุษย์ได้สะสมความชำนาญและความรู้ ในเรื่องกฎของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้เพียงพอที่จะผ่านไปสู่ระยะข้างหน้า ในอาการรู้สำนึกและพร้อมด้วยแผนการเพื่อที่จะประดิษฐานสังคม และจำกัดให้การผลิตเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยความสำนึกและแผนการ

บัณฑิตทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า

“กำลังภายนอกอันเราไม่อาจรู้สึก ที่มีอำนาจครอบงำประวัติศาสตร์ของมนุษย์สืบเนื่องกันมาจนถึงบัดนี้นั้น จะได้ผ่านเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์เอง จากจุดๆ นี้เท่านั้นที่มนุษย์จะตบแต่งประวัติศาสตร์ของตนด้วยความสำนึกตระหนักอันสมบูรณ์” .
จากหนังสือ "ปทานานุกรม การเมือง ฉบับชาวบ้าน" สุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: