Thursday, September 6, 2007

บทความที่๒๖๓. ขูดรีด

ขูดรีด

ในวาระแรกที่การขูดรีดอุบัติขึ้น เป็นไปในรูปแบบของการขูดรีดแรงงาน โดยนายทาสทำการขูดรีดแรงงานพวกทาส โดยที่ทาสถูกถือเสมือนหนึ่งสัตว์เลี้ยงและเป็นสมบัติโดยเด็ดขาดของนายทาส ซึ่งนายทาสจะเฆี่ยนตี ทารุณอย่างไรก็ได้ และก็โดยที่นายทาสต้องการผลิตผลเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งสมบูรณ์ ดังนั้นนายทาสจึงระดมการใช้พลังงานแรงงานขอพวกทาสในการผลิตอย่างหามรุ่งหามค่ำ อย่างกรณีของพวกทาสที่ทำหน้าที่กรรเชียงเรือพาณิชย์ท่องไปในทะเล ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้จักกับเครื่องจักรกล พวกทาสที่ทำหน้าที่กรรเชียงเรือจะถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนติดอยู่กับท้องเรือเพื่อป้องกันการหลบหนี และก็ต้องตีกรรเชียงอยู่เช่นนั้นตลอดวัน ตลอดคืน จนกว่าเรือจะไปถึงจุดหมายปลายทาง

ต่อจากการขูดรีดแรงงานพวกทาส ก็เป็นการขูดรีดของพวกศักดินาต่อพวกไพร่พวกเลก ซึ่งการขูดรีดในรูปแบบนี้นับว่าเป็นการขูดรีดที่ทารุณโหดร้ายที่อาจจะหนักกว่าระบบทาส เพราะการขูดรีดในระบบนี้ พวกไพร่พวกเลกมีหวังที่จะอดตาย แต่ระบบทาสนั้นเจ้าของทาสไม่ปล่อยให้ทาสอดตายเพราะหากตายก็จะเป็นการสูญเสียทรัพย์สินอย่างหนึ่งไป ส่วนการขูดรีดในรูปแบบศักดินาน้น พวกศักดินาหรือเจ้าที่ดิน นอกจากจะขูดรีดเอาผลิตผลจากพวกไพร่พวกเลกในสังกัดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ต้องรับผิดชอบในการอดตายของพวกไพร่พวกเลกเหล่านั้นมากที่สุดก็แล้วกัน และผลิตผลเหล่านั้นก็เกิดขึ้นจากหยาดเหงื่อของพวกไพร่พวกเลกนั้นเอง และพวกนี้ก็ต้องจำยอมให้พวกศักดินาซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน หรือเป็นเจ้าของเครื่องมือการผลิตด้วย ทำการขูดรีดไปตลอดยุคศักดินาอันยาวนาน เพราะพวกไพร่ฯ มีแต่แรงงานไม่มีที่ดินและเครื่องมือการผลิตเป็นของตัวเอง และก็การขูดรีดในรูปแบบดังกล่าวนี้แหละที่ได้กลายมาเป็นการขูดรีดแบบค่าเช่าที่ดินในปัจจุบันนี้ ซึ่งพวกชาวนาทั้งหลายตระหนักดี

ถัดจากการขูดรีดแบบนี้ก็ถึงการขูดรีดแบบใหม่อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การขูดรีดในรูปแบบของการซื้อขายสินค้า กล่าวคือผู้ผลิตสินค้าพยายามจะขายสินค้าของตนให้ได้ราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนพ่อค้าคนกลางก็พยายามที่จะขายสินค้าของตนให้ได้ราคาสูงกว่าราคามที่ตนซื้อมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันจึงเป็นการขูดรีดกันหลายชั้นหลายต่อ และภาระก็ตกอยู่แก่ผู้บริโภครวมทั้งผู้ออกแรงในการผลิตต่างๆ ด้วย

การขูดรีดในรูปแบบการซื้อขายสินค้านี้ได้รวมเอาการขูดรีดแรงงานทาสไว้ด้วย แต่ทว่าเปลี่ยนโฉมใหม่แทนที่จะเป็นนายทาสกับพวกทาสอย่างเก่าก่อน กลายเป็นนายทุนกับกรรมกรหรือชนชั้นกรรมาชีพ ที่ถูกนายทุนขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินและแรงงานส่วนเกิน

ตัวอย่างการขูดรีดกรณีของชาวนา ซึ่งเป็นทีน่าสงสัยว่าทำไมชาวนายังยากจน ทั้งๆที่ข้าวสารซึ่งเป็นผลิตผลของชาวนามีราคาสูง ซึ่งถ้ามองดูราคาข้าวสารแล้ว จะไม่น่าเชื่อเลยว่าชาวนาจะยากจน แต่ความจริงเป็นอย่างไรเล่า ข้าวสารนั้นราคาสูงจริง แต่ทว่าชาวนายังยากจนอยู่เช่นเดิมจริงเช่นกัน นี่มันอะไร ก็เพราะว่ากว่าที่ข้าวสารจะมาอยู่ในหม้อข้าวร้านขายอาหารหรือผู้บริโภคนั้น มันได้ผ่านเจ้านายมาแล้วมากหน้าหลายตา นับแต่พ่อค้าปลีก แล้วก็โรงสี แล้วก็เอเย่นต์ใหญ่ของโรงสีแล้วก็ร้านค้าย่อย และในที่สุดจึงมานอนเรียงเม็ดอยู่ในหม้อของผู้บริโภคหรือร้านขายอาหาร จากการที่ข้าวถูกเปลี่ยนมือแต่ละครั้ง จากพ่อค้าข้าวเปลือกจนกระทั่งถึงผุ้บริโภคนั้น ได้เพิ่มราคาของมันให้สูงทับทวีขึ้นทุกที ยิ่งเปลี่ยนมือมากเท่าไรค่าตัวของข้าวก็ยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น ทังนี้รวมถึงระยะทางอันยาวไกลที่มันผ่านมานั้นด้วย ที่มีส่วนส่งเสริมราคาของข้าวให้สูงขึ้น นับแต่พ่อค้าข้าวเปลือกจนถึงร้านค้าอาหาร และพ่อค้าใหญส่งข้าวสารออกนอก การขูดรีดในรูปของดอกเบี้ยและค่าเช่าโดยธนาคารและเจ้าที่ดิน ได้เป็นยาดำผสมการขูดรีดอยู่ทุกขั้นตอน

ส่วนตัวผู้ผลิตเองหรือชาวนานั้น แน่นอนเขาไม่มีอำนาจที่จะกำหนดราคาข้าวของเขาได้ ทั้งๆที่ข้าวนั้นเป็นของชาวนา และก็แน่นอนที่พ่อค้าข้าวเปลือกหรือผู้ซื้อข้าวจากชาวนาพยายามที่จะซื้อให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ และในขณะเดียวกันเขาก็เอาไปขายให้แก่โรงสีให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ และโรงสีก็เช่นเดียวกับพ่อค้าข้าวเปลือก คือพยายามซื้อให้ต่ำและขายให้สูง ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในเรื่องข้าวแต่ละขั้นตอน (ยกเว้นผู้บริโภคและชาวนา)พยายามเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้นจากมูลค่าจริงของมันเพื่อหวังผลกำไรของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชาวนาจะยังคงอยู่ในสภาพที่ยากจน และผู้บริโภคจะต้องซื้อข้าวสารในราคาแพง และผู้มีอำนาจมากที่สุดในการกำหนดราคาข้าวนั้นก็คือผู้ที่กุมอำนาจเศรษฐกิจไว้มากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของโรงสีหรืออาจจะเป็นนายทุนคนกลางพ่อค้าส่งข้าวออกนอก แต่อย่างไรก็ดีมันก็ยังมีส่วนสัมพันธ์กับสินค้าประเภทอื่นๆ ด้วย และก็หลีกไม่พ้นที่ตลาดโลกทุนนิยมจะเข้ามามีบทบาทร่วมด้วยอย่างสำคัญ จากการเพิ่มราคาเกินมูลค่าจริงของมัน รวมทั้งมูลค่าส่วนเกินนี่ล่ะคืออาการของการขูดรีด ซึ่งเป็นการขูดรีดทั้งผู้บริโภคและผู้ออกแรงงานผลิตในทุกขั้นตอน คือทั้งชาวนา กรรมกรโรงสี กรรมกรขนส่ง ฯลฯ

และในกรณีของข้าวสารนี้ ยังมีการขูดรีดสลับซับซ้อนอื่นๆ อีกมากมายนักในตลาดของโลกทุนนิยมปัจจุบัน เช่น แปะเจี๊ยะ คอร์รัปชั่น ค่าใบอนุญาต ค่านายหน้า และค่าอะไรอีกร้อยแปด สุดแล้วแต่จะค้นคว้าหามาเป็นเหตุเอาเงินฟรีๆ ได้

นอกจากการขูดรีดในรูปแบบดังกล่าวมานี้แล้ว ยังมีการขูดรีดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนส่วนมากรู้จักกับมันดีมาแล้ว นั่นคือ การขูดรีดในรูปแบบดอกเบี้ยและค่าเช่าซึ่งอาจจะเป็นดอกเบี้ยของธนาคาร โรงรับจำนำ หรือเจ้าที่ดิน (ซึ่งขูดรีดทั้งแรงงาน ค่าเช่าที่นา และดอกเบี้ยจากเงินกู้) หรือของเอกชนคนใดคนหนึ่งที่หากินทางให้เงินกู้

นอกจากนี้ ยังมีการขูดรีดอีกชนิดหนึ่งซึ่งดำเนินการโดยสถาบันอันยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือการขูดรีดในรูปแบบภาษีอากร ซึ่งดำเนินการโดยรัฐ แต่การขูดรีดชนิดนี้มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าหากเงินภาษีอากรที่รัฐเก็บไปจากประชาชนนั้นได้กลับมาเป็นบริการประชาชนสมกับค่าภาษีอากรที่เขาต้องเสียไปแล้ว ก็หาอยู่ในข่ายของการขูดรีดไม่ หากแต่เงินภาษีอากรที่รัฐเก็บไปนั้นส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเป็นเงินเดือน เงินสวัสดิการ อย่างไม่ได้สัดส่วนกับรายได้ของราษฎรส่วนข้างมาก รวมทั้งการทุจริตของนักการเมืองชั่วๆ และข้าราชการเลวๆ ไม่ได้กลับมาบริการประชาชนอย่างสมน้ำสมเนื้อกับที่เขาต้องเสียไปแล้ว ก็หนีข่ายของการที่จะถูกเรียกว่า ขูดรีดไปไม่พ้น

จากการที่การขูดรีดอุบัติขึ้นด้วยการปรากฏของชนชั้น ดังนั้น การขูดรีดจะหมดไปก็ได้ด้วยการล้มเลิกชนชั้นเช่นกัน.

No comments: