Tuesday, September 18, 2007

บทความที่๓๑๐.ชีวิตที่ผันผวนและ๒๑ปีที่ลี้ภัย ๑๓

ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ ๒๑ ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน
ปรีดี พนมยงค์
บทที่ ๓การเข้าพบมุสโสลินี ปิแอร์ ลาวาล ฮจาล์มาร์ ชาคท์ คอร์เดล ฮัลล์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโต
-๘-
เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงเมืองไทย คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ลงนามแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา ๓ ปี และในระหว่างนี้ข้าพเจ้าได้เริ่มดำเนินการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค และในที่สุดก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาใหม่ที่ทำขึ้นโดยยึดหลักของความเสมอภาคของกันและกันนับแต่นั้นมา สยามจึงมีเอกราชโดยสมบูรณ์

ต่อมาข้าพเจ้าได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในเมื่อสนธิสัญญาไม่เสมอภาคไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องข้อกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรอีกต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าได้ก่อตั้งระบบการคลังในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีศุลกากร หรือภาษีอากรของรัฐขึ้นใหม่ ประเทศสยามจึงสามารถจัดระบบภาษีศุลกากรและประมวลรัษฎากรใหม่ได้โดยอิสระ

หลังจากที่ข้าพเจ้ากลับมาประเทศสยามแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับนักการเมืองชาติอื่นๆ ในสมัยนั้น คือความขัดแย้งที่ใช้อาวุธได้เริ่มขึ้นในญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี และได้แผ่ขยายออกไปทั่วโลก เหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงคิดว่าในฐานะที่ประเทศเราเป็นเพียงประเทศเล็กๆ เราควรมีนโยบายต่างประเทศที่กอปรด้วยเหตุผล โดยการวางตัวเป็นกลาง หรือที่เราเรียกในปัจจุบันว่า นโยบายไม่ฝักฝ่ายกับประเทศใดๆ ก็ตาม ที่มีภาวะขัดแย้งอยู่ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ควรพยายามที่จะยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับทุกประเทศที่มีระบอบการปกครองทั้งทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกัน

ระหว่างที่ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุไว้หลายครั้ง ได้เขียนเผยแพร่เอกสารหลายชิ้น ที่แสดงถึงอุดมคติที่ข้าพเจ้ายึดถือในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนสันติภาพแห่งโลก ดังที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยามที่รักสงบ ในบทภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก”

อันที่จริงแล้ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมุขรัฐของประเทศต่างๆ ที่มีระบอบการปกครองทางการเมืองและสังคมที่แตกต่างกันได้แสดงความพึงพอใจในนโยบายเป็นมิตรกับประชาชนในประเทศนั้นๆ และในมิตรภาพเช่นนี้ ประเทศเหล่านี้ได้แสดงออกซึ่งความพอใจ โดยได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงแก่ข้าพเจ้า ในฐานะที่ได้สร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศสยามและประเทศที่เกี่ยวข้อง

ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ ในบรรดาประเทศทั้งหลายที่ได้แสดงความชื่นชมข้าพเจ้า ดังเช่นประเทศฝรั่งเศส(ได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือ กรองด์ ครัวซ์ เดอ ลา เลชียง ดอนเนอร์) สหราชอาณาจักร(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์ไมเคิล และเซนต์-จอร์จส์)ประเทศอิตาลี(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งแซง-โมรีส และแซนต์ลาซาร์)ประเทศญี่ปุ่น(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัยชั้นที่ ๑)ประเทศเยอรมนี(ได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เอกเกลอ ดู เมรีธแห่งอาณาไรซ์ที่ ๓)นั้น กล่าวได้ว่าบางประเทศกำลังมีข้อพิพาททางการทหารกัน และยิ่งไปกว่านั้นคือ บรรดาผู้นิยมลัทธิทหารของญี่ปุ่นหลายคน มุสโสลินีและฮิตเลอร์ซึ่งต้องการยึดครองดินแดนของผู้อื่น กลับแสดงว่า ปรารถนาที่จะเป็นมิตรกับเรา

ด้วยท่าทีที่ต่างก็แสดงน้ำใจไมตรีเช่นนี้ ใครเล่าจะคิดว่าสงครามโลกกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า.

No comments: