Friday, September 14, 2007

บทความที่ ๒๙๐. ประชาธิปไตยกับลัทธินารอด ๔ (จบ)

ตามโครงการของซุนยัดเซน เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมในประเทศจีนกำหนดไว้ว่า จะให้รัฐเป็นผู้เรียกเก็บค่าเช่าที่ดินหรือนัยหนึ่งเป็นการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐ (LAND NATIONALISATION) นั่นเอง และการเก็บค่าเช่าดังกล่าวก็จะเป็นไปโดยวิธีเก็บภาษีเดี่ยว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งตามแนวทัศนะของเฮนรี่ ยอร์ช (Henry George เป็นนักเศรษฐกิจฝ่ายเจ้าขุนมูลนายระดับต่ำต้อยชาวอเมริกันระหว่างปี ๑๘๓๙-๑๘๙๗ เขาเชื่อว่าระบบการเป็นเจ้าของที่ดินเป็นสาเหตุประการสำคัญที่สุดที่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวแรงงาน และเชื่อว่าการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐหรือการเก็บค่าเช่าที่ดินในอัตราสูงจะทำให้ความยากจนในสังคมเจ้าขุนมูลนายหมดสิ้นไปได้)

การเก็บ “ค่าเช่า” ที่ดินเช่นที่กล่าวมานี้จะมีอัตราแตกต่างกันระหว่างที่ดินในเมืองกับที่ดินในชนบท เพราะถือว่าราคาที่ดินไม่เท่ากัน การทำให้ที่ดินเป็นของรัฐจะทำให้สามารถเลิกล้มระบบเก็บค่าเช่าที่ดินแบบสิทธิ์ขาดสมดังทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งกล่าวไว้ว่า การทำให้ที่ดินเป็นของรัฐหมายถึงการล้มเลิกระบบผูกขาดเกษตรกรรมตามแบบสมัยกลางและอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรรมสามารถปรับตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องตลาดด้วย

หากประเทศจีนยิ่งตกอยู่ในฐานะล้าหลังญี่ปุ่นและยุโรปนานเพียงใดหรือมากเพียงใด การแตกแยกกันภายในชาติก็ยิ่งจะเป็นภัยคุกคามมากขึ้นเพียงนั้น ฉะนั้น การจัดตั้งสาธารณรัฐจีนโดยการปฏิวัติของมวลชนจึงมิใช่เป็นแต่เพียงจะทำให้จีนได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ในทางการเมืองเท่านั้น ยังจะทำให้มีความมั่นใจในการพัฒนาการทางเกษตรอย่างรวดเร็วที่สุดโดยการทำให้ที่ดินเป็นของรัฐด้วย ส่วนข้อที่ว่าการพัฒนาทางเกษตรและการเมืองจะบรรลุผลสำเร็จแค่ไหนเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะต้องขึ้นอยู่กับพลังทางสังคมในประเทศจีนเองและสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญที่สุด อีกทั้งยังมีความเคลื่อนไหวของคนเหยียบเรือสองแคม ผู้พร้อมจะทำการทรยศอย่างเช่น หยวน ซื่อไข่อยู่อีกด้วย

ขณะเดียวกัน ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศจีนก็จะยิ่งเพิ่มทวีจำนวนขึ้นโดยลำดับ ตามโครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมเช่นกล่าวแล้วข้างต้น แล้วก็อาจจะมีการจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยของจีนขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาและป้องกันอุดมการณ์ทางการเมืองและทางเกษตรอุตสาหกรรมของซุนยัดเซนสืบต่อไป.
บทความของ วี.ไอ. เลนิน ลงใน นสพ. เน็ฟสกายา ซเวซดา, ๑๕ ก.ค. ๑๙๑๒

No comments: