Thursday, September 6, 2007

บทความที่ ๒๖๑. ก้าวหน้า

ก้าวหน้า

ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นปกครองได้แผ่ครอบคลุมอยู่เหนือสังคมโดยทั่วไป เพราะมีสถาบันต่างๆ เป็นเครื่องมือ เช่น กฎหมาย ตำรวจ อัยการ ศาล เรือนจำ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายผู้ถูกปกครองหรือฝ่ายปกครองบางคนที่เข้าถึงสัจจธรรมที่ดีกว่าสูงกว่า ควบคู่กันไปด้วย เช่นนี้ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย และความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เราเรียกว่า ความรู้สึกนึกคิดที่ก้าวหน้า และพวกที่มีความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้เราเรียกว่า พวกหัวก้าวหน้า

ถ้าหากมนุษย์เรา ไม่มีความรู้สึกนึกคิดที่ก้าวหน้า ป่านฉะนี้เราก็คงจะยังมาไม่ถึงยุคแห่งอารยธรรมนี้อย่างแน่นอน คงจะยังหลับใหลได้ปลื้มอยู่ในยุคอนารยชนนั้นเป็นแน่ ถูกแล้ว สังคมจะไม่หยุดนิ่งและพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ แต่ถ้าหากความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและไม่นำมาพัฒนาสังคม ปล่อยให้สังคมพัฒนาไปตามธรรมชาติของมันเองตามยถากรรมแล้ว เป็นการแน่นอนเหลือเกินว่ามนุษย์เราจะยังไม่รู้จักกับคำว่า “ศิวิลัย” แต่นี่ด้วยความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของความรู้สึกนึกคิดที่ก้าวหน้า สังคมจึงถูกพัฒนา โดยความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อีกแรงหนึ่งนอกเหนือจากแรงธรรมชาติที่เป็นไปเอง ให้ไปสู่ความเจริญ ไปสู่สภาพที่ดีกว่า และก็ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นั้นถูกกำหนดขึ้นโดยสภาพแวดล้อมของสังคมนั่นเอง

และในเมื่อความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์กลับมาพัฒนาสังคมต่อไปอีก ดังนั้นมนุษย์จึงอยู่ในสภาพที่หนีจากความล้าหลังไปสู่ความก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง (สภาพแวดล้อมของสังคมเป็นเครื่องกำหนดความรู้สึกนึกคิดและความรู้สึกนึกคิดที่ได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองดีแล้วจากจิต ก็จะกลับมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคม)

แต่อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ย่อมจะต้องมีเหตุมากระทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มันจะเปลี่ยนแปลงไปเอง และก็การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้าของสังคมและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ก็ย่อมจะต้องมีเหตุมากระทำหรือเหตุของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

แต่อะไรเล่าที่มาเป็นเหตุให้สภาพของสังคมและความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไปสู่ความก้าวหน้า ถ้าไม่ใช่เหตุอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจเป็นมูลฐานอันสำคัญ ดังที่ท่านปรัชญาเมธท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า “การเศรษฐกิจเป็นพื้นฐานอันสำคัญประการแรกของสังคม” และดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ก็ย่อมจะเนื่องมาจากพื้นฐานอันนี้อย่างเที่ยงแท้แน่นอน และก็ในทำนองเดียวกัน สภาพของสังคมและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์จะไปสู่ความก้าวหน้าที่ดีกว่าได้ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงที่พื้นฐาน คือการเศรษฐกิจนั้นเอง

ดังตัวอย่างเช่นในปลายยุคชุมชนบุพกาล การเศรษฐกิจเริ่มที่จะขยายตัวออกไป จนได้ทำให้บังเกิดการแลกเปลี่ยนค้าขาย และทำให้บังเกิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นส่วนปัจเจกชนขึ้น และพร้อมกับที่ผลิตผลขยายตัว พลังการผลิตก็เพิ่มปริมาณขึ้น และเพื่อที่จะให้ได้พลังการผลิตมาเพิ่มปริมาณผลิตผลให้มากขึ้น จึงได้มีการกวาดต้อนผู้คนไปเป็นาส และในที่สุดยุคชุมชนบุพกาลก็ถึงแก่กาลอวสาน โดยยุคทาสเข้ามาแทนที นี่จะเห็นได้ว่าการที่ยุคทาสเข้ามาแทนที่ยุคชุมชนบุพกาลได้นั้น ก็โดยการคลี่คลายขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุ

และเนื่องจากพวกทาส ได้รับการกดขี่จากบรรดาพวกเจ้าของทาสอย่างทุนโหดร้าย พวกทาสถูกถือเสมือนหนึ่งเป็นสตว์เลี้ยง เมื่อนายทาสไม่พอใจขึ้นมาจะฆ่าอย่างไรก็ได้ ผลิตผลต่างๆ ในสังคมอันเกิดจากแรงงานและหยาดเหงื่อของพวกทาส พวกทาสหาได้มีสิทธิ์ในผลิตผลเหล่านี้แต่ประการใดไม่ เมื่อพวกทาสถูกถือเสมือนสัตว์เลี้ยง และดังนั้นพวกทาสจึงได้มีการดิ้นรนในอันที่จะปลดแอกภาวะแห่งความเป็นทาสออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า และในที่สุดจากการสนับสนุนของอิสระชนและพวกทาสที่มีฝืมือในการรบ ซึ่งได้รับการปลดเปลื้องให้เป็นอิสระชนก่อนหน้านั้นแล้ว ระบบทาสก็ถึงซึ่งภินทนาการและระบบศักดินาก็ได้เข้ามาแทนที่

ภายใต้ระบบศักดินาก็เช่นเดียวกับระบบทาส คือความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมกับความขัดแย้งทางชนชั้น เจ้าศักดินากับพวกไพร่และอิสระชน และความขัดแย้งในรูปแบบการผลิตศักดินาที่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจที่จะก้าวหน้าต่อไป ซึ่งในที่สุดระบบศักดินาก็พังทลายลงไปอีก และระบบทุนนิยมที่ก้าวหน้ากว่าได้เข้ามาแทนที่ แต่ระบบทุนนิยมก็จะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ ที่ผ่านมาแล้ว เพราะระบบทุนนิยมโดยตัวของมันเองเมื่อถึงที่สุดแล้ว ก็จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของการเศรษฐกิจที่จะต้องพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ดังกล่าวนี้คือความหมายของคำว่า “ก้าวหน้า” .
จากปทานานุกรม การเมือง ฉบับชาวบ้าน สุพจน์ ด่านตระกูล

No comments: