Wednesday, April 9, 2008

บทความที่๓๙๔.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติลาว(๑๑)

ท่านปรีดี พนมยงค์กับขบวนการกู้เอกราชในลาว ตอน ขบวนการชาตินิม (ตอนที่๒)
ในช่วงเวลานั้นการฝึกทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรมีขึ้นที่ค่ายใหญ่บ้านโนนหอมและบ้านโพนนอก ในป่าทางซีกตะวันออกของเทือกเขาภูพาน โดยกองกำลัง-๑๓๖ ซึ่งมีพันตรี เดวิด สไมเลย์ หัวหน้าปฏิบัติการพื้นที่แคนเดิล สิบเอก กันเนอร์ คอลลินส์ พนักงานวิทยุ และร้อยเอก กฤษณ์ โตษยานนท์ เป็นผู้ทำการฝึกอบรม

ช่วงต่อมามีพันตรี ปีเตอร์ เคมป์ พันตรีโรว์แลนด์ วินน์ และสิบเอก สไปเดอร์ ลอว์สัน นายทหารอังกฤษเป็นผู้ทำการฝึกอบรม ภายใต้การอำนวยความสะดวกของนายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งมีชื่อรหัสว่าพลูโต

นอกจากนี้ ผู้รักชาติชาวลาวได้เกลี้ยกล่อมท้าวกระต่าย โตนสะโสลิด ที่เห็นพ้องและเชื่อในคำมั่นสัญญาของญี่ปุ่นที่ว่าจะช่วยปลดปล่อยประเทศอาณานิคมในเอเซียให้เป็นเอกราช ให้หันมาสนับสนุนงานกู้ชาติด้วยการต่อต้านญี่ปุ่น

การติดต่อสมาชิกใน “คณะกู้อิสระพาบ” และบรรดาผู้รักชาติชาวลาวดังกล่าวอยู่ภายใต้การสนับสนุนของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ให้ความช่วยเหลือในนามของขบวนการเสรีไทย ซึ่งนายปรีดีได้ก่อตั้งขึ้น

จุดมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยในช่วงนั้น คือ ร่วมมือกับสมาชิก “คณะกู้อิสระพาบ” และบรรดาผู้รักชาติลาวทั้งมวลก่อตั้งกองทัพของคณะกู้ชาติขึ้นมาอย่างเป็นทางการในชื่อ “กองทัพเสรีลาว”

ในทางปฏิบัติ การให้ความช่วยเหลือเพื่อมุ่งกอบกู้เอกราชของประเทศในอินโดจีน ดำเนินการผ่านคณะผู้นำเสรีไทยสายอีสานและสมาชิกหลายท่านด้วยกัน นอกเหนือจากผู้ได้ชื่อว่าเป็น “สี่ขุนพลอีสาน” อันได้แก่ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ แล้วยังมีครูครอง จันดาวงศ์ แห่งจังหวัดสกลนคร นายเลียง ไชยกาล และครูฟอง สิทธิธรรม แห่งจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกันนี้ยังมีพระภิกษุสงฆ์คือพระสมเพชร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งในทางตรงและทางอ้อม

สำหรับครูฟอง สิทธิธรรม ได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยบริการด้านยุทธศาสตร์ของอเมริกา (โอ.เอส.เอส.) และติดต่อกับครอบครัวของบุนอุ้ม ณ จำปาสัก ที่เข้ามาลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ช่วงที่บุนอุ้ม ณ จำปาสัก และเกื้อ วรวงส์ เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวลำน้ำโขงในฐานะสมาขิกของกองกำลังฝรั่งเศสเสรีในอินโดจีน

ในการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกระดับนำของเสรีไทยสายอีสาน คือ นายเตียงศิริขันธ์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์กับสมาชิกใน ”คณะกู้อิสระพาบ” ที่บ้านพักของบัวจัน อินทะวงศ์ ในจังหวัดหนองคาย ฝ่ยเสรีไทยได้เสนอให้ “คณะกู้อิสระพาบ” ร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นโดยก่อตั้งขบวนการเสรีลาวขึ้นในประเทศ ผู้เจรจาของ “คณะกู้อิสระพาบ” เห็นพ้องด้วยและได้มีการก่อตั้ง “ขบวนการเสรีลาว” ขึ้นในชื่อ “คณะลาวอิสระ”

ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ได้มีการมอบหมายให้ทัม ไชยะสิดเสนา เป็นหัวหน้ารับผิดชอบด้านการเมืองและการทหาร เดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปสำรวจหาสถานที่สำหรับใช้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการและก่อสร้างสนามบิน ในที่สุดก็ได้สถานที่เหมาะสมบริเวณภูเขาควายด้านตะวันออก จากนั้นเดินทางกลับมาฝั่งไทย

ช่วงเวลานี้ กระแสต่อต้านอำนาจการปกคอรงของฝรั่งเศสยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในโคชินไชน่า ตองกิง อันนัม ลาว และกัมพูชา กองทหารญี่ปุ่นที่เข้าไปในดินแดนของลาวได้ยื่นคำขาดต่อนายพลเรือ เดอกูซ์ ผู้ว่าราชการอินโดจีนของรัฐบาลวีชีฝรั่งเศส ให้กองทหารและตำรวจฝรั่งเศสยอมวางอาวุธและอยู่ใต้คำสั่งของกองทัพญี่ปุ่นโดยให้คำตอบภายใน ๒ ชั่วโมง

นายพลเรือ เดอกูซ์ตอบว่า จะยอมรับเงื่อนไขก็ต่อเมื่อสหรัฐอเมริการได้เข้ามาในดินแดนแห่งนี้แล้วเท่านั้น ฝ่ายญี่ปุ่นจึงส่งกำลังทหารเข้าควบคุมตัวนายพลเรือเดอกูซ์ พร้อมกันนี้ก็ปฏิบัติการโจมตีกองทหารฝรั่งเศสทั่วทุกจุดของประเทศ ในบางพื้นที่ถึงแม้ว่าทหารฝรั่งเศสจะยอมจำนนแล้วแต่ก็ไม่วายถูกทหารญี่ปุ่นสังหารทิ้ง ทหารฝรั่งเศสในตองกินส่วนหนึ่งถอนกำลังออกจากเวียดนามเข้าไปอยู่ดินแดนปประเทศจีน แล้วถูกส่งตัวต่อไปยังอินเดีย โดยผ่านทางกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่เมืองจุงกิง ส่วนทหารฝรั่งเศสในลาวส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากชาวลาวพาไปซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา

ฝ่ายญี่ปุ่นได้ก่อตั้งรัฐฐาลหุ่นเชิดขึ้นมาภายใต้การนำของตจักรพรรดิเบ๋าได่ (The Emperor Bao Dai) บรรดาฝ่ายผู้รักชาติที่ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชและอธิปไตยปฏิเสธไม่ยอมรับรัฐบาลดังกล่าว

สถานการณ์สงครามในด้านยุโรปเริ่มพลิกผัน เมื่อนายพล ชาร์ล เดอโกล ได้จัดตั้งรัฐบาลฝรั่งเศสเสรีขึ้นที่อังกฤษ หลังจากนั้นกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มปฏิบัติการรุกรบตีตอบโต้กองทัพเยอรมัน กองทหารอเมริกันและอังกฤษได้ยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีและบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของฝรั่งเศสอีกหลายแห่ง

กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรรุกไล่กองทัพเยอรมัน ซึ่งยึดครองกรุงปารีส ให้ล่าถอยออกไป และสามารถยึดกรุงปารีสกลับคืนมาได้ ชาวฝรั่งเศสมีโอกาสได้ต้อนรับวีรบุรุษของตนคือนายพล ชาร์ล เดอโกล และต่อมากองทัพเยอรมันได้ประกาศยอมจำนวนอย่างปราศจากเงื่อนไข ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๗ อีก ๒ วันถัดมาได้มีการให้สัตยาบันเงื่อนไขการยอมจำนนที่กรุงเบอร์ลิน นับแต่นั้นเป็นต้นมาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปก็ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

ส่วนทางด้านเอเซีย ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมันและอิตาลี ได้ถูกกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อย่างต่อเนื่องในหลายแนวรบ โดยนายพลแม็คอาเธอร์ได้ยกพลขึ้นบกที่ซานเฟเมียนและลิงกาเยนในฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘ หลังจากนั้นมีการยกพลขึ้นบกที่หาดอิโวจิมาของญี่ปุ่น

เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๘ เครื่องบินทิ้งระเบิดจากกองบินที่ ๑๔ ของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิดสนามบิน สถานีรถไฟ และสะพานในพม่าและอินโดจีน

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสมพันธมิตรคือ สหรัฐอเมริกา ได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิดทางภาคใต้และภาคตะวัตออกของเกาะกิวชิวจากนั้นในวันที่ ๑ เมษายน ปีเดียวกัน กองทัพสัมพันธมิตรภายใต้การบัญชาการของนายพล แม็คอาเธอร์ ได้ยกพลขึ้นบกที่โอกินาวา ต่อมาก็สามารถยกพลขึ้นบกที่ริเยทางตะวันตกของโอกินาวาได้อีก พร้อมกันนี้สหรัฐอเมริกาได้ส่งฝูงบินทิ้งระเบิดเข้าปฏิบัติการโจมตีเมืองต่างๆ ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของเกาะกิวชิว อย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง รวมทั้งเมืองต่างๆ ในเกาะฮอนชู ทั้งนี้เว้นเมืองนาราและเกียวโตที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ สหภาพโซเวียตซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงนามกับญี่ปุ่นว่าจะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน แต่เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น

หลังจากนั้นได้เกิดจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนั่นคือ รัฐบาลฝรั่งเศสได้เปิดเจรจากับโฮจิมินห์ที่เมืองดาลัด อันเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม และมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างเวียดนาม-ฝรั่งเศส ในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘

โฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราช สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๘ ในขณะเดียวกันฝรั่งเศส ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษ กลับเข้ามายึดเวียดนามใต้ (ไซ่ง่อน) และบุกขึ้นไปยึดภาคเหนือ(ฮานอย) แต่ได้รับการต่อต้านจากกองทหารเวียดมินห์ ฝรั่งเศสไม่สามารถเอาชนะได้ จึงได้เปิดการเจรจากับฮานอยที่ดาลัด ทำให้การสู้รบระหว่างสองฝ่ายยุติลงชั่วคราวและฝรั่งเศสได้ถือโอกาสนี้ส่งกำลังทหารเข้ามาเปิดแนวรบในลาวได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลแนวรบในด้านเวียดนาม

No comments: