Tuesday, April 1, 2008

บทความที่๓๘๕.ท่านปรีดีฯกับขบวนการกู้ชาติในลาว(๖)

ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส
ตลอดช่วงระยะเวลา ๘๐ ปีที่ฝรั่งเศสปกครองลาว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นมาให้การศึกษาแก่คนลาวเพียงแค่แห่งเดียว และมีเด็กๆ ผู้เป็นลูกหลานของประชาชนลาวเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าศึกษา นั่นคือ โรงเรียนออกุส ปาวี (Lycee Auguste Pavie) ที่ปาวีก่อตั้งขึ้นริมถนนล้านช้าง ใกล้ประตูชัยกรุงเวียนจันทน์ ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ปัจจุบันคือโรงเรียนอุดมเวียงจันทน์

ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างปมปัญหาที่เปรียบเสมือนบาดแผลร้ายในจิตใจของประชาชนลาวทั้งมวล นั่นคือการออกกฎระเบียบอันเข้มงวด กฎระเบียบดังกล่าวคือการห้ามมิให้นักเรียนพูดภาษาลาวในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี แต่แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะมีระเบียบเคร่งครัดคือไม่ให้พูดภาษาลาวกับนักเรียน แต่ความรัก ความสามัคคีระหว่างครูลาวกับนักเรียนลาวยังคงมีอยู่แน่นแฟ้น นักเรียนส่วนหนึ่งไปพูดคุยกับคูรอย่างพี่น้องที่บ้านพักครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง

ต่อมา มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความเกลียดชังที่ประชาชนลาวมีต่อนายออกุส ปาวี อดีตกงสุลฝรั่งเศสเป็ฯอย่างมาก โดยแสดงออกมาในวันสังขารล่องหรือวันปีใหม่สงกรานต์ โดยประชาชนชาวเมืองหลวงพระบางได้ชุมนุมรวมพลัง ช่วยกันชักลากรูปหล่อของออกุส ปาวี ที่ตั้งอยู่หน้าสำนักงานกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบางไปทิ้งลงในแม่น้ำโขง ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้ว่าจ้างให้งมรูปหล่อดังกล่าวนี้ขึ้นมา แล้วนำไปตั้งไว้หน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดินแดนในอินโดจีน คือ เวียดนาม กัมพูชา และลาวจะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นระยะเวลายาวนานถึงหนึ่งศตวรรษ แต่ดูเหมือนว่า การไม่มีพรมแดนติดชายฝั่งทะเลกลับเป็นการดีที่สามารถช่วยปกป้องทรัพยากรไว้จากการกอบโกยของฝรั่งเศส อีกทั้งอุปสรรคทางธรรมชาติ คือ เกาะแก่ง โขดหิน และสายน้ำเชี่ยวกรากในลำน้ำโขงที่คอนพะเพ็งและสีทันดอน ซึ่งยากเกินกว่าจะแก้ไข เป็นข้อดีที่ช่วยให้เส้นทางการเดินเรือในเส้นทางคมนาคมลำน้ำโขงระหว่างลาวกับกัมพูชาและเวียดนามมีอันต้องสะดุดลง

ปัญหาอุปสรรคนำมาซึ่งความไม่สะดวกปลอดภัยในการเดินเรือ ทำให้ฝรั่งเศสไม่อาจกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจากลาวได้มากเท่าที่ควร จึงได้ให้ความสำคัญน้อยกว่าเวียดนามและกัมพูชา อาจกล่าวได้ว่าลาวมีฐานะเสมือนเป็นรัฐชายขอบ (Periphery State) ของสหพันธ์อินโดจีน (Indochinoise Federation)

ที่สำคัญคือการเข้ามาครอบครองดินแดน การกอบโกยทรัพยากรและการใช้อำนาจทางทหารปกครองชนพื้นเมืองอย่างเข้มงวดนำไปสู่การลุกฮือขึ้นต่อต้านของชาวลาวอย่างต่อเนื่อง กระทั่งนำไปสู่การต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชและการเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ในที่สุด.

No comments: