Monday, March 9, 2009

บทความที่๔๗๙.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๙)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังประกาศเอกราช
บทที่ ๙ กำเนิดฝ่ายประเทดลาว

จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ประกาศรับรองรัฐบาลของบุญอุ้ม ณ จำปาสัก และมีคำสั่งให้เจ้าเพ็ดชะลาดรวมทั้งสมาชิกรัฐบาลพลัดถิ่นเดินทางกลับคืนประเทศยังผลให้รัฐบาลพลัดถิ่นของขบวนการลาวอิสระพลัดถิ่นปั่นป่วน ดังที่โชติ เพชราสี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและวางแผน และหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายแนวลาวรักชาติประจำนครเวียงจันทน์ได้กล่าวไว้ว่า

“ขบวนลาวอิสระได้รับความเดือดร้อน อยู่ไม่ได้ ข้าพเจ้าเองก็อยู่ไม่ได้ ต้องเร่ร่อนไปหลายแห่ง มาสกลนคร นครพนม ลงไปบางกอก ขึ้นไปเชียงแสน เชียงรายข้ามมาบ้านต้นผึ้ง ในที่สุดเมื่อเดือดร้อนหลาย ก็พากันเสี่ยงภัยข้ามมาอยู่ตามป่าตามดงทางฝั่งลาว ทำการต่อสู้แบบกองโจร”

แม้ว่าฝรั่งเศสจะล้มเหลวในการเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนมาประเทศโดยผ่านทางเจ้ากรมสุวันนะราช แต่ก็มิได้ละความพยายาม ในช่วงต่อมารัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ให้ทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ เชิญเจ้าเพ็ดชะลาดไปเป็นแขกที่ปารีส ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาดปฏิเสธ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีนจึงส่งดูกัดเยต์ ทูตที่ปรึกษา ไปเชิญกลับคืนประเทศอีกครั้ง แต่ก็ไร้ผลเช่นกัน

ด้านเจ้าสุพานุวงมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าวิธีเดียวที่จะบงคับให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชอันแท้จริงให้แก่ลาวก็คือการต่อสู้ในสมรภูมิเท่านั้น และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี และคณะจึงได้เดินทางไปยังชายแดนลาว-เวียดนามที่ตูเยนกวงซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ขณะนั้นเป็นกองบัญชาการใหญ่ของเวียดมินห์ แล้วจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาต่อสู้ พร้อมกับมีการรวมตัวกันเป็นองค์การภายใต้การกำกับชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในนาม “คณะกรรมการลาวผ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ซึ่งมีแกนนำคนสำคัญคือหนูฮัก พูมสะหวัน ซึ่งมีเชื้อสายลาว ไกสอน พมวิหาน ซึ่งมีเชื้อสายลาว-เวียดนาม และผู้นำชุมชนเผ่าลาวเทิงและลาวสูงที่มีประวัติศาสตร์ต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศสมายาวนานคือ สีทน กมมะดัน ผู้นำชนเผ่าข่าทางภาคใต้และเฟยดาง เลาเบยยือ ผู้นำชนเผ่าม้งทางภาคเหนือ ตามนโยบายสามัคคีประชาชาติต่อต้านอำนาจจักรวรรดินิยม

เจ้าสุพานุวงได้ปรึกษากับโฮจิมินห์และโว เหงียน เกี๊ยบ จากนั้นในวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ก็ได้เปิดประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนของแนวร่วมต่อต้านขึ้นเป็นครั้งแรก

ต่อจากนั้นที่ประชุมสมัชชาก็ได้จัดตั้งรัฐบาล “ผ่ายประเทดลาว” โดยเจ้าสุพานุวง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ
พูมี วงวิจิตรเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงภายใน(เทียบได้กับกระทรวงมหาดไทย) หนูฮัก พูมสะหวัน เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ไกสอน พมวิหาน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ พร้อมกับแต่งตั้งเจ้าเพ็ดชะลาดเป็นที่ปรึกษา

ส่วนเจ้าสุวันนะพูมา หลังกลับไปเวียงจันทน์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายกลาง ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น แล้วได้ออกดำรัสเลขที่ ๑๗๖/๙๙ ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แต่งตั้งให้ท้าวโง่น ชะนะนิกอน เป็นหัวหน้าคณะนำเจ้าสมสนิท วงกตรัตนะ พญาคำม้าว และท้าวทง สุทิวงนะราช ไปเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนประเทศ

พร้อมกันนี้พญาเพ็ง พงสะหวัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเลขที่ ๑๑/๙๙ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ แต่งตั้งให้พระยาบริหารศึกษา(ท้าว บง สุวันนะวงส์)เป็นหัวหน้า นำคณะอีกชุดหนึ่งซึ่งประกอบด้วย คำหัส จุลมะนี จำปา พรมมาจันทร์ ปาว วันทานุวง และมหากุ สุวันนะเมที เดินทางไปเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนประเทศ

ขณะเดียวกันองค์สังฆนายก คือพระครูคูนมนีวงส์ ก็ได้มีเอกสารเลขที่ ๒๑๓/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ แจ้งความประสงค์ของพระภิกษุสามเณรในการเชิญให้เจ้าเพ็ดชะลาดกลับคืนมาทนุบำรุงพระพุทธศาสนาของลาวสืบไป

ต่อมาวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ คณะผู้แทนฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีท้าวโง่น ชะนะนิกอน เป็นหัวหน้าคณะและคณะผู้แทนฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีท้าวบง สุวันนะวงส์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้เข้าพบกับเจ้าเพ็ดชะลาดที่บ้านพักเลขที่ ๑๑๐ ถนนวิทยุ เพื่อมอบหนังสือเชิญกลับประเทศ เจ้าเพ็ดชะลาดตอบรับคำเชิญ แต่มีเงื่อนไขว่า จะกลับคืนประเทศก็ต่อเมื่อมีการเจรจากตกลงกับ “ฝ่ายประเทดลาว” ภายใต้การนำของเจ้าสุพานุวง และหลังจากเจ้ามหาชีวิตสว่างวงกลับมาจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว

วันที่ ๑-๕ สิงหาคม ๒๔๙๙ ฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ซึ่งมีเจ้าสุวันนะพูมา นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ มีสมาชิกประกอบด้วย โง่น ชะนะนิกอน บง สุวันนะวงส์ ทง สุทินวงนราช หนูอิ้ง รัตนวงส์ พันตรี กุประสิทธิ์ อภัย พันเอกด้วน ราทิกุล พันโทภูมี หน่อสวรรค์ และสีสุก ได้เปิดเจรจากับ “ฝ่ายประเทดลาว” ขึ้นในกรุงเวียงจันทน์ โดยมีเจ้าสุพานุวงเป็นหัวหน้า ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ประกอบด้วยพูมี วงวิจิต หนูฮัก พูมสะหวัน และท้าวมา การเจรจาของทั้งสองฝ่ายมุ่งแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งตามสนธิสัญญาเจนีวา เพื่อให้ประเทศลาวมีสันติภาพ ประชาธิปไตย เอกภาพและเอกราชอย่างแท้จริง

No comments: