การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังการประกาศเอกราช
บทที่ ๖ สถานการณ์ลำบากของคณะรัฐบาลพลัดถิ่น
การรวมตัวกันเป็นสมาคมสหชาติแห่งเอเชียอาคเนย์เพื่อร่วมมือกันช่วยเหลือการกอบกู้เอกราช ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์,โฮจิมินห์ และเจ้าเพ็ดชะลาดได้เป็นประเด็นปัญหาที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นกังวลอย่างมาก ทั้งนี้ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงในสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐประชาชนจีนและเวียดนาม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาหวั่นเกรงว่า บรรดาประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งในแถบอินโดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวและกัมพูชาจะถูกครอบงำโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มเพ่งความสนใจในประเด็นปัญหานี้อย่างจริงจัง และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้เอกราชในอินโดจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการรายงานสถานการณ์ในไทย พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียไปยังกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงวอชิงตันอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐอเมริกาได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายจากการร่วมมือสนับสนุนขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน ช่วงที่ทำสงครามต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่นมาเป็นการร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อป้องกันการแผ่ขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในดินแดนอินโดจีน ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มแปรเปลี่ยน
ฝ่ายเจ้าสุภานุวงศ์ภายหลังรักษาอาการบาดเจ็บหายแล้ว เขาได้ทบทวนถึงการสู้รบที่ผ่านมาและสาเหตุที่ต้องปราชัย ก็ได้สรุปลงว่าความผิดพลาดสำคัญอยู่ที่การจัดวาดพื้นฐานการต่อสู้ไว้แต่ในตัวเมืองทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีพื้นฐานจากที่อื่นเลยโดยเฉพาะในชนบทซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการปฏิวัติของลาวซึ่งมีลักษณะเฉพาะอยู่ที่ชนส่วนน้อยต่างๆ ซึ่งมีถึงสามสิบกว่าชนชาติแล้ว จึงสรุปได้ว่า ชาวนาและชนเผ่าต่างๆตามป่าเขานั้นเป็นกำลังพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ในระยะยาวนาน จำเป็นจะต้องตั้งแนวร่วมขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางที่สุด ให้ประกอบขึ้นด้วยชาวนา ชาวไร่และชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ทั้งหมด ด้วยการหล่อหลอมความสำนึกในเอกราชของชาติและความสามัคคีให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันขึ้น เจ้าสุภานุวงศ์พยายามชักจูงผู้อยู่ในรัฐบาลพลัดถิ่นลาวให้ร่วมกันสนับสนุนตนในการเริ่มต้นต่อสู้ใหม่
สมาชิกกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสหรือกองกำลังติดอาวุธขบวนการกู้ชาติลาวได้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทย เข้าไปปฏิบัติการทางทหารในฝั่งลาวช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๙ และ ๒๔๙๐ ทว่าไม่ได้ก่อความเสียหายร้ายแรงเท่าใดนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิบัติการของฝ่ายเวียดมินห์บริเวณชายแดนลาว-เวียดนาม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณภาคใต้ของลาวได้มีการก่อตั้ง “คณะกรรมการลาวฝ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ขึ้นมาทำการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคนสำคัญ คือ หนูฮัก พูมสะหวันและไกสอน พมวิหาน ดำเนินการภายใต้ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีผู้นำชนชาติส่วนน้อยลาวเทิงหรือข่าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีประวัติการต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน คือสีทน กมมะดัน และผู้นำชนเผ่าลาวสูงหรือชนเผ่าม้งคือเฝยดาง เลาเบยยือ เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย
ความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติลาวถูกติดตามตรวจสอบทุกระยะ จากรายงานด้านการข่าว ฝรั่งเศสรู้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และยืนกรานต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวอย่างไม่สั่นไหวคลอนแคลน กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นมีปัญหาในเรื่องการเงินอย่างมาก จำต้องดิ้นรนหารายได้มาใช้ในการดำรงชีพ เจ้าสุวันะพูมาใช้ความรู้และทักษะในด้านวิศวกรรม สมัครเข้าทำงานที่โรงไฟฟ้าของไทย ส่วนทหารที่กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ในบริเวณเมืองต่างๆ ตลอดแนวน้ำโขงในฝั่งไทย หาเงินด้วยการขายแรงงานรับจ้างทำงานสุจริตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนงาน คนสวน แม้กระทั่งชกมวยตามงานวัด ฯลฯ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า เงินที่หามาได้ให้แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งใช้ส่วนตัว อีกสองส่วนมอบให้กองกลางเพื่อนำไปจัดซื้อหาอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช
No comments:
Post a Comment