Friday, March 6, 2009

บทความที่๔๗๓.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๓)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังการประกาศเอกราช
บทที่๓ ผู้นำการอภิวัฒน์-เจ้าสุภานุวงศ์
ปี พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ.๑๙๔๙)กองทัพแดงภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนบุกขยี้กองทัพจีนคณะชาติ(ก๊กมิ่นตั๋ง)ของเจียงไคเช็คที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังจนต้องถอยหนีไปยังเกาะไหหลำ แต่กองเรือรบและเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาก็พานักรบเหล่านี้มาปักหลักอย่างถาวรที่เกาะไต้หวัน แล้วในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้สถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนให้ปรากฎบนโลก.

สหรัฐอเมริกาโดยองค์กรสืบราชการลับ ซี.ไอ.เอ.เฝ้าหมกหมุ่นที่จะให้เจียง ไคเช็คจอมเผด็จการผู้โหดเหี้ยมของจีนได้กลับไปครองอำนาจบนแผ่นดินใหญ่ตามเดิม แต่กองทัพก๊กมิ่นตั๋งก็ถูกกองทัพแดงกวาดล้างไม่ลดละแล้วสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อกองทหารเวียดมินห์ของนายพลโงเหวี่ยนเกี๊ยป มีชัยเหนือกองทหารของฝรั่งเศสด้านทิศเหนือของเวียดนาม ทำให้เปิดเส้นทางสายสำคัญของเวียดนามตอนเหนือเชื่อมกับจีนตอนใต้

ด้วยเหตุนี้ลาวจึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาวมีพรมแดนติดต่อกับไทย,พม่า,จีน, กัมพูชา และเวียดนาม และเมื่อเวียดนามถูกแบ่งแยกออกเป็นเหนือ-ใต้ตามสัญญาสงบศึกเจนีวา ด้วยเส้นขนานที่ ๑๗ ลาวก็ยิ่งมีความสำคัญขึ้นอีกเพราะมีพรมแดนติดต่อกับทั้งเวียดนามเหนือและใต้

ลาวมีผู้นำคนสำคัญที่พาประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพ คือ เจ้าพี่-สุวรรณภูมา และเจ้าน้อง-สุภานุวงศ์ พี่น้องร่วมพระบิดาเดียวกันของเจ้าบุญคง แต่บุตรคนหัวปีของเจ้าบุญคงคือเจ้าเพชราชผู้ที่ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งอุปราชและมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอกราชและอิสรภาพของลาวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

เจ้าทั้ง ๓ คนได้รับการศึกษาขั้นสูงจากสถาบันในเวียดนามและต่อมาในฝรั่งเศส ตามนโยบายของ ออกุส ปาวีชาวฝรั่งเศสที่หนุนให้เชื้อสายเจ้าชีวิตลาวขึ้นมาปกครองประชาชนของตนภายใต้การบงการของฝรั่งเศส แต่สิ่งที่ฝรั่งเศสไม่อาจหยั่งรู้ได้ก็คือ จิตสำนึกและอุดมการณ์อันสูงส่งของเชื้อสายเจ้าชีวิตลาวได้ก่อร่างขึ้นมาในใจจากการประสบพบเห็นชะตากรรมของพี่น้องร่วมโลกที่ถูกกดขี่ ย่ำยีเจ้าน้องสุภานุวงศ์ภายหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปารีสสาขาวิศวกรรมโยธา เขาได้มีโอกาสทำงานในท่าเรือบอร์โดซ์กับเลออาร์ฟ และชะตากรรมก็นำเขาให้ร่วมในแนวร่วมประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ในฝรั่งเศส และแม้ว่าในขณะนั้นเขาจะมีอายุเพียง ๒๕ ปี แต่เขาก็พยายามทำความรู้จักและเข้าใจในชีวิตคนงานฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่โฮจิมินห์เมื่อครั้งอยู่ในฝรั่งเศส (ข้อสังเกต บุคคลสำคัญหลายท่านที่มาศึกษาอยู่ในฝรั่งเศสในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ซึมซับอุดมการณ์สังคมนิยมและกลับไปนำประชาชนอภิวัฒน์ประเทศของตน ดังเช่นท่านปรีดี พนมยงค์เป็นต้น)

ไม่นานเจ้าสุภานุวงศ์ก็ประจักษ์ว่าชาวฝรั่งเศสโดยทั่วไปมีความคิดที่ผิดแผกจากชาวฝรั่งเศสในดินแดนอาณานิคมอย่างฟ้ากับดิน ชาวฝรั่งเศสในแผ่นดินแม่ก็มีความลำบากยากแค้น และไม่เห็นด้วยกับนโยบายล่าเมืองขึ้นของรัฐบาล เขามีโอกาสติดต่อกับสามัญชนคนงานฝรั่งเศสและปัญญาชนหัวก้าวหน้า จึงได้รับความประทับใจจากการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสครั้งใหญ่ในอดีต ตลอดจนวัฒนธรรมในด้านมนุษยธรรมซึ่งตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับลัทธิล่าเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

ความชิงชังรังเกียจการล่าเมืองขึ้นได้เพิ่มขึ้นในใจของเจ้าสุภานุวงศ์เมื่อเขาได้กลับมาทำงานสร้างสะพานและถนนในเวียดนาม ในปี พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๘ และได้พบสภาพที่น่าเอน็จอนาถของคนงานที่ไม่ผิดอะไรกับอยู่ในนรก และจากการชิงชังก็กลายมาเป็นเหยียดหยามเมื่อนักล่าเมืองขึ้นอย่างฝรั่งเศสยอมจำนนต่อกองทหารญี่ปุ่นที่บุกเข้าอินโดจีนแต่โดยดี ไม่แม้แต่จะลั่นกระสุนต่อสู้สักนัดเดียว.
เมื่อเจ้าสุภานุวงศ์เคยติดต่อกับชาวฝรั่งเศสที่ก้าวหน้าในฝรั่งเศสมาแล้ว เขาก็ยังติดต่อกับพวกหัวก้าวหน้าในเวียดนาม ซึ่งในช่วงเวลานั้นชาวเวียดนามได้ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของชาวอินโดจีนขึ้น และเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของเจ้าลาวผู้นี้ก็คือ ได้มีโอกาสพบกับ โฮจิมินห์ นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ของเวียดนาม เขาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็นระหว่างกันเกี่ยวกับลัทธิล่าเมืองขึ้น เจ้าสุภานุวงศ์ได้ถามอย่างตรงไปตรงมาว่า ตนเองจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนลาวได้บ้าง โฮจิมินห์ตอบทันทีว่า “ยึดอำนาจจากพวกนักล่าเมืองขึ้นมาให้ได้”

แล้วโฮจินมินห์ก็อธิบายถึงแผนการที่เขาจะยึดอำนาจจากจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสในเวียดนามให้เจ้าสุภานุวงศ์ฟัง เจ้าสุภานุวงศ์จึงกำหนดแผนการที่จะนำมาปฏิบัติในลาวบ้าง เขาเริ่มด้วยการติดต่อกับชาวลาวผู้รักชาติที่อยู่ในเวียดนาม จากนั้นได้กลับไปตั้งกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศสในแผ่นดินลาว.

No comments: