Tuesday, March 3, 2009

บทความที่๔๖๕.การอภิวัฒน์ของลาว-หลังสงครามโลก(๑๔)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาวในช่วงหลังสงครามโลก
บทที่ ๑๔ ความคิดอุดมการณ์สังคมนิยมแพร่หลาย

ในช่วงเวลานั้นเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ของลาว ตั้งแต่เมืองสะหวันเขดลงไปจนถึงชายแดนกัมพูชาที่อัตปือ ล้วนเป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของ “คณะลาวอิสระ” ซึ่งมีส่วนหนึ่งรับแนวคิดสังคมนิยมและอุดมการณ์ มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ที่มีการเผยแพร่อยู่ในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียงจันทน์และเมืองต่างๆในทางภาคใต้ อันได้แก่ ปากเซ สะหวันเขด เซโปน สาละวัน อัตปือ เขมลาด คำเกิด รวมทั้งเชียงขวางในภาคเหนือ

กลุ่มแนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ดังกล่าวมีแกนนำสำคัญคือ เจ้าสุภานุวงศ์,สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี, หนูฮัก พูมสะหวัน, ไกสอน พมวิหาน, และคำไต สีพันดอน เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ การกู้ชาติของลาวไม่ค่อยมีความเป็นเอกภาพในองค์กรเท่าใดนัก อันเนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความแตกต่างในสถานภาพทางสังคม และมีความหลากหลายในทัศนะความคิดค่อนข้างมาก โดยมีพื้นฐานความคิดแบบเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม และสังคมนิยม

ในช่วงเวลานั้นพลังประชาชนยังมีความเข้มแข็ง แม้ว่าบรรดาผู้มีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศจะมีความแตกต่างกันในด้านความคิด ทว่าบรรดาสมาชิกในขบวนการกู้ชาติลาวมีแก่นแกนความคิดที่เป็นจุดร่วมเดียวกัน และหล่อหลอมให้ทุกคนร่วมใจกันต่อสู้ นั่นคือความรักชาติซึ่งเรียกขานกันในช่วงเวลานั้นว่า “ลัทธิฮักชาติ” อันเป็นแนวคิดที่ปรากฏขึ้นในท่ามกลางกระแสแนวคิดชาตินิยมที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

เหงียน ไอ ก๊อก หรือ"โฮจิมินห์" และเหล่าพลพรรคได้เข้ามาปฏิบัติงานใต้ดินเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และไทย ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ก่อนหน้าที่แนวคิดชาตินิยมจะก่อตัวไปทั่วโลก

การเผยแพร่ลัทธิอุดมการณ์ดังกล่าวดำเนินอย่างต่อเนื่องและมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง โดยอาศัยเงื่อนไขการเข้าครอบครองและปกครองเป็นเจ้าอาณานิคมการแย่งชิงทรัพยากร และกดขี่ขูดรีดแรงงานชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตราการเข้มงวดทางภาษี และการใช้กำลังปราบปรามต่อชนเผ่าม้งซึ่งมีถิ่นฐานในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และกรณีการบังคับใช้แรงงานชนชาติข่าในภาคกลางและภาคใต้ในการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทางบก และเป็นแรงงานถ่อเรือสำรวจแม่น้ำโขง กระทั่งนำไปสู่การก่อตั้งพรรคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๓

การขยายตัวของแนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ดำเนินไปภายใต้การชี้นำของสำนักงานศูนย์บัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน “สาขาลาว-สยาม” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี รับผิดชอบการปฏิบัติการในพื้นที่ดินแดนอินโดจีน และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส โดยมีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๕ เขต คือ เขตงานภาคกลางมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบวารินทร์ชำราบและจังหวัดสุรินทร์ เขตงานภาคเหนือมีสำนักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ 

เขตงานภาคใต้เคลื่อนไหวกับ “พรรคสยาม-มาลายา” ทั้งนี้สมาชิกระดับนำในศูนย์บัญชาการพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนสาขา “ลาว-สยาม” บางคนมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์สยาม ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สำหรับในการปฏิบัติงานเคลื่อนไหวเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ มีสำนักงานสาขาย่อยกระจายอยู่ในหลายเมืองตลอดแนวสองฝากฝั่งแม่น้ำโขง อันได้แก่ เวียงจันทน์ หนองคาย หมากแข้ง สกลนคร มุกดาหาร ธาตุพนม นครพนม อุบลราชธานี เหมืองแร่ที่คำม่วน ท่าแขก สะหวันนะเขด และปากเซ

สมาชิกผู้ปฏิบัติงานมวลชนมีหลากหลายสาขาอาชีพ สำหรับโฮจิมินห์นั้นเป็นทั้งนักเขียนและกรรมการ นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชน ครู อาจารย์ เช่น สิงคโป สีโคตจุนนะมาลี บ้างเป็นชาวนา กรรมกร เช่น หนูฮัก พูมสะหวัน หรือแม้กระทั่งเชื้อพระวงศ์แห่งราชสำนักเมืองหลวงพระบาง อันได้แก่ เจ้าสุภานุวงศ์ หรือ “เจ้าแดง”

No comments: