Thursday, March 12, 2009

ลำดับ๔๘๖.ลาวในสงครามอินโดจีน(๖)

การต่อสู้ของลาวในสงครามอินโดจีน
บทที่ ๖.รัฐบาลพลัดถิ่นยอมจำนน

ปี ๒๔๙๐ เจ้าสุภานุวงศ์เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐบาลพลัดถิ่นที่จะกลับไปจับอาวุธต่อสู้กับฝรั่งเศส ท่านจึงเดินทางกลับไปลาวอย่างปิดลับลำพัง และได้พบว่ากำลังรบของตนส่วนที่รอดชีวิตจากการบุกขยี้ของกองทหารฝรั่งเศส แม้ว่าจะกระจัดกระจายกันแต่ก็ยังคงต่อสู้ทหารฝรั่งเศสต่อไป

กองบัญชาการต่างๆ ก็มีขึ้นอย่างหลวมๆ ตามภูเขาแถวพรมแดนเวียดนาม ชนเผ่าบางกลุ่มก็ก่อตั้งขบวนการต่อต้านของตนเองขึ้น ที่ขาดอยู่ก็คือผู้นำที่จะสามารถสมัครสมานผู้ที่ต่อสู้ฝรั่งเศสเป็นหมู่คณะต่างๆกันนี้ เข้าด้วยกัน ซึ่งเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด

เจ้าสุภานุวงศ์จึงวิ่งเต้นติดต่อหาทุนรอนในการสร้างกองกำลังติดอาวุธเพื่อสืบสานการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศชาติ ท่านเคยได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนชาวไทยและชาวพม่าที่บริเวณชานสเตท และในการเคลื่อนไหวนั้นท่านได้มีการติดต่ออย่างแน่นแฟ้นกับผู้แทนของเวียดนามที่อยู่ในประเทศไทย กองทหารลาวอิสระหลายกองได้ถูกส่งกลับเข้าไปเคลื่อนไหวในลาว

และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ในบริเวณภาคใต้ของลาวได้มีการก่อตั้ง “คณะกรรมการลาวฝ่ายต่อต้านภาคตะวันออก” ขึ้นมาทำการต่อต้านฝรั่งเศส โดยมีแกนนำคนสำคัญ คือ หนูฮัก พูมสะหวันและไกสอน พมวิหาน ดำเนินการภายใต้ทิศทางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และมีผู้นำชนชาติส่วนน้อยลาวเทิงหรือข่าในพื้นที่ภาคใต้ที่มีประวัติการต่อสู้กับฝรั่งเศสมายาวนาน คือสีทน กมมะดัน และผู้นำชนเผ่าลาวสูงหรือชนเผ่าม้งคือเฝยดาง เลาเบยยือ เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย

ในระหว่างนั้น ฝรั่งเศสได้รื้อฟืนระบบกษัตริย์กลับคืนมาหลังจากที่เจ้าชีวิตสว่างวงสละราชสมบัติเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๘๘ แต่เจ้าชีวิตก็มีอำนาจแต่ในนามเท่านั้น ไม่เคยขยายออกไปนอกพระราชวังเลย รัฐบาลหุ่นที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นก็ไม่เป็นโล้เป็นพาย ล้มแล้วล้มอีก ในที่สุดฝรั่งเศสก็หันไปหารัฐบาลลาวพลัดถิ่นที่ซึ่งความเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติลาวถูกติดตามตรวจสอบทุกระยะ จากรายงานด้านการข่าว ฝรั่งเศสรู้ดีว่า ในช่วงเวลานั้นมีเพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นต่อต้านอำนาจของฝรั่งเศส และยืนกรานต่อสู้เพื่อเอกราชของลาวอย่างไม่สั่นไหวคลอนแคลน กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นมีปัญหาในเรื่องการเงินอย่างมาก จำต้องดิ้นรนหารายได้มาใช้ในการดำรงชีพ

นอกจากปัญหาด้านการเงินแล้ว ยังมีความแตกต่างและขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดค่อนข้างมาก จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งกันเองในช่วงต่อมา ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยการตอกลิ่มให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดมีช่องว่างห่างยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือส่งชายาของเจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ยื่นข้อเสนอให้บรรดาเหล่าสมาชิกและรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นพิจารณา

ข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นิรโทษกรรมไม่เอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ทั้งหมด คืนยศและบรรดาศักดิ์ให้ดังเดิม อีกทั้งยังจ่ายค่าเดินทางให้อีก ๘๐๐,๐๐๐ เปียสต้า

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๙๒  ๓ ปีแห่งการลี้ภัยของคณะรัฐบาลลาวอิสระ ท้าคำเม้า วิไล นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นที่กรุงเทพฯ ได้ประกาศยุบรัฐบาลแล้วคำเม้าและคณะก็เดินทางกลับไปลาว ยอมรับข้อเสนอต่างๆที่ฝรั่งเศสเสนอให้

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๒ เจ้าสุภานุวงศ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กรุงเทพว่า “พวกข้าพเจ้าขอประกาศย้ำอีกครั้งหนึ่งถึงความเชื่อมั่นต่อกำลังแรงของประชาชนข้าพเจ้าในการต่อต้าน พวกข้าพเจ้ามั่นใจในชัยชนะ และพวกข้าพเจ้าจะไม่อยู่โดดเดี่ยวบนเส้นทางอันชอบธรรมนี้แต่ประการใด เพื่อนมิตรอินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา ก็พร้อมก้าวเดินบนเส้นทางอันเดียวกันนี้ และพวกข้าพเจ้าก็ได้รับสนับสนุนอุ้มชูจากประชาชนผู้รักอิสรภาพทั้งปวง โดยเฉพาะคือบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นกำลังใจให้แก่พวกข้าพเจ้าอยู่เสมอ”

No comments: