Friday, March 6, 2009

บทความที่๔๗๒.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๒)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังการประกาศเอกราช
บทที่ ๒ ฝรั่งเศสยึดเมืองสำคัญไว้ได้

กองทหารฝ่ายสัมพันธมิตร คือกองทหารอังกฤษ ได้ช่วยกองทหารฝรั่งเศสในการยึดครองปากเซ สาละวัน อัตตะปือ และจำปาสัก ก่อนจะถอนตัวออกไปจากลาวในวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ต่อมาทหารฝรั่งเศสได้รวมตัวกันอีกครั้ง แล้วโหมปฏิบัติการต่อกองกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลในแขวงต่างๆ ทั้งในภาคเหนือ คือเชียงขวาง(เชียงของ) และในภาคใต้คือสะหวันนะเขด ส่งผลให้รัฐบาลไม่อาจดำเนินการบริหารประเทศได้ดังปกติ สถานการณ์ทางด้านการสู้รบกับฝรั่งเศสได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

กองทหารรัฐบาลลาวอิสระเผชิญกับการล้อมปราบในหลายจุด ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังเข้าปฏิบัติการโจมตีเมืองเชียงขวางในภาคเหนือ หลังยึดได้แล้ว กองทหารของรัฐบาลลาวจากหลวงพระบางได้ขึ้นไปยึดเมืองกลับคืน ฝรั่งเศสจึงหันไปส่งกำลังจำนวนมากบุกโจมตียึดเมืองสะหวันนะเขด ในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ แม้จะต้านทานจนสุดกำลังแล้วแต่ก็สุดจะต้านทานไหว รัฐบาลลาวอิสระมองว่ากำลังของฝรั่งเศสเหนือกว่ามาก และเห็นว่าควรถอนกำลังออกจากสะหวันนะเขดในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อสงวนกำลังเอาไว้

หลังยึดสะหวันนะเขดได้แล้ว วันที่ ๒๑ มีนาคม ฝรั่งเศสก็ส่งหน่วยคอมมานโดเจ้าโจมตีเมืองท่าแขก ซึ่งเป็นศูย์กลางอำนาจของ “คณะลาวอิสระ” ในภาคใต้ มีผู้รักชาติเข้ามาเป็นสมาชิกกู้ชาติเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าสุพานุวงได้ก่อตั้งศูนย์บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยและป้องกันหรือที่เรียกกันว่ากองกำลังผสมลาว-เวียดนาม ซึ่งพระองค์เป็นผู้บัญชาการ มุ่งมั่นต่อสู้ขับไล่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสออกไปจากลาวให้จงได้ กองกำลังผสมลาว-เวียดนามนี้มีสิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี เป็นรองผู้บัญชาการ ช่วงต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการทหาร และเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญของ “ขบวนการประเทดลาว”

การปะทะสู้รบที่เมืองท่าแขกดำเนินไปอย่างหนักหน่วง ในด้านยุทธการ กองทหารฝรั่งเศสทำสงครามสำเร็จรูป ใช้กำลังเข้าโจมตีทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศ หลังจากใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มตัวเมืองจนเกิดไฟไหม้เผาผลาญบ้านเรือนราษฎรเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ก็ใช้รถถังยิงถล่มแนวป้องกันอย่างต่อเนื่อง แล้วใช้เครื่องบินโฉบเข้ามายิงกราดซ้ำ กระทั่งสามารถยึดเมืองท่าแขกไว้ได้ ทหารที่ถอยร่นมายังชายหาดทรายริมแม่น้ำและที่ว่ายน้ำข้ามโขงถูกยิงเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ในการสู้รบปกป้องเมืองท่าแขกเป็นระยะเวลา ๓ วัน มีทหารและประชาชนเสียชีวิตทั้งสิ้นถึงประมาณ ๒,๐๐๐ คน

หลังการสู้รบติดพันเป็นระยะเวลา ๓ วัน เจ้าสุพานุวงและกองทหารผสมลาว-เวียดนาม ภายใต้การบัญชการของสิงกะโป สีโคตจุนนะมาละ ได้ตัดสินใจถอนกำลังออกมา โดยนั่งเรือที่น้องชายของนายเตียง ศิริขันธ์ และพวกข้ามแม่น้ำโขงไปรับมายังฝั่งไทยที่จังหวัดนครพนม กระนั้นกองทัพฝรั่งเศสยังใช้เครื่องบินรบโฉบยิงกราดเข้าใส่เรือ จนเจ้าสุพานุวงได้รับบาดเจ็บสาหัส

ภายหลังยึดเมืองท่าแขกไว้ได้ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองทหารฝรั่งเศสได้เคลื่อนพลเข้าโอบล้อมกรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ ๒๔ มีนาคม โดยเข้าร่วมสมทบกับกองทหารฝรั่งเศสอีกส่วนหนึ่งที่กระจัดกระจายหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ป่าเขาหลังญี่ปุ่นเข้ายึดครอง

กองทหารฝรั่งเศสได้เปิดฉากปฏิบัติการบุกเข้ายึดเวียงจันทน์พร้อมกันถึงสามด้าน โดยกองทหารฝรั่งเศสได้ใช้ยุทธวิธีปิดล้อมตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ช่วงสถานการณ์คับขันประชาชนชาวเมืองเวียงจันทน์พากันหนีข้ามโขงไปอยู่ในหนองคายในวันที่ ๒ เมษายน รัฐบาลลาวอิสระได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่นครหลวงพระบาง

ก่อนหน้านั้นรัฐบาลลาวอิสระเห็นว่า ทหารฝรั่งเศสมีจำนวนมากเกินจะต้านทานไหว จึงเตรียมแผนการที่จะลี้ภัยออกไปยังต่างประเทศ แล้วตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นต่อสู้ เสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลเห็นว่า ไทยเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่ใกล้ชิดสามารถกลับเข้าไปปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารได้สะดวก ควรเข้ามาตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในประเทศไทย ส่วนจีนอยู่ห่างไกลขึ้นไปทางเหนือ ไม่สะดวกแก่การดำเนินงานต่อต้านฝรั่งเศสเท่าใดนัก การเดินทางยากลำบาก การเจรจาสื่อสารก็ติดขัด อีกทั้งยังแคลงใจว่า จีนจะเข้ายึดดินแดนทางเหนือ กระนั้นก็ให้ทหารส่วนหนึ่งขึ้นไปลี้ภัยอยู่ที่นั่น

สถานการณ์ช่วงนี้ กองทหารฝรั่งเศสทำการปิดล้อมแคบลงเรื่อยๆ กระทั่งดำเนินการเข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ การปฏิบัติการต้านยันการบุกยึดของทหารฝ่ายรัฐบาลในเวียงจันทน์ดำเนินอยู่เพียง ๓ วัน ในที่สุดทั้งกองทหารลาวและเวียดนามจำต้องถอนกำลังทั้งหมดออกไปร่วมสมบทกับกองทหารหลวงพระบางในวันที่ ๒๔ เมษายน โดยมุ่งขึ้นไปเชียงขวาง หลังมีการปะทะกับกองทหารฝรั่งเศสที่เมืองโพนโฮงและเมืองกาสี กองทหารฝรั่งเศสติดตามโจมตีอย่างไม่ลดละ กระทั่งยึดเมืองเชียงขวางไว้ได้ ส่วนกองทหารลาวได้ถอนตัวมุ่งไปยังหลวงพระบาง กองทหารฝรั่งเศสได้ตามไปถึงหลวงพระบางและมีการปะทะสู้รบกันในพื้นที่นอกเมืองประมาณ ๑ ชั่วโมง เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวงได้สั่งให้ทหารลาววางอาวุธยอมจำนนต่อกองทหารฝรั่งเศส

วันที่ ๒๔ พฤษาคม พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นวันที่กองทหารฝรั่งเศสยึดหลวงพระบาง และยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลลาวอิสระไว้ได้โดยสิ้นเชิง

No comments: