Tuesday, March 3, 2009

บทความที่๔๖๗.การอภิวัฒน์ของลาว-หลังสงครามโลก(๑๖)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาวในช่วงหลังสงครามโลก
บทที่ ๑๖ เจ้าชีวิตสั่งปลดตำแหน่งเจ้าเพ็ดชะลาด

ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ คณะกรรมการราษฎรได้พากันเข้าพบเจ้าเพ็ดชะลาด ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พร้อมกันนี้ได้เชิญเจ้าเพ็ดชะลาดให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาดปฏิเสธการรับตำแหน่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลราชอาณาจักรหลวงพระบางของเจ้าชีวิตสีสว่างวงอยู่ในเมื่อเจ้าชีวิตสีสว่างวงยังไม่มีประกาศลบล้างรัฐบาลเก่า อย่างไรก็ตาม เจ้าเพ็ดชะลาดไม่คัดค้านการที่คณะกรรมการราษฎรและประชาชนจะดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและประกาศเอกราช

ในวันเดียวกันนี้ “คณะกรรมการราษฎร” ได้เปิดประชุมด่วนเพื่อสรรหาคนที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้เสนอชื่อพญาคำม้าวซึ่งมีอาวุโสสูงสุด พญาคำม้าวยินดีรับตำแหน่ง จึงมีการปรับจากรองนายกฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรีส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในรัฐบาลนั้น ได้มีการปรับให้เจ้าสุพานุวงมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และให้นายพล ทัม ไชยะสิดเสนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

โทรเลขของ “คณะกรรมการราษฎร” ได้เปิดประเด็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง เจ้าชีวิตสว่างวงได้ให้รัฐมนตรีมหาดไทยมีโทรเลขปลดเจ้าเพ็ดชะลาด ถึงท้าวอู่ทอง สุวันนะวงส์ รัฐมนตรีคลัง ระบุเวลา ๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ มีใจความว่า

“ด้วยมีพระราชโองการให้ปรับปรุงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เหมาะสมกับการเมืองและการปกครอง ซึ่งขัดแย้งกับมติมหาชน เรื่องนี้พระองค์มิได้ปรึกษากับเจ้าตัว (เพ็ดชะลาด) มาก่อน และได้สั่งปลดตำแหน่งศักดินาของมหาอุปราชแล้วจึงเรียกท่านขึ้นขึ้นไปที่หลวงพระบาง เพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่ตามปกติ ขอให้เปิดเผยพระราชโองการนี้ให้ประชาชนทราบ และให้ท่านตกลงกับ ฯพณฯท่านอู่ทอง เพื่อหาวิธีป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาราษฎร และให้ชี้แจงเรื่องทั้งหมดนี้ให้พญาคำม้าวทราบ เพื่อถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้ต่อไป”

เช้าวันเดียวกันนี้ เจ้าเพ็ดชะลาดได้มีคำสั่งให้บรรดาข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนในนครเวียงจันทน์เข้าเฝ้าที่เรือนพัก แล้วเอาโทรเลขสั่งปลดจากตำแหน่งอุปราชมาเปิดเผยให้ทุกคนได้ทราบ จากนั้นประกาศต่อหน้าทุกคนในที่นั้นว่า นับแต่นี้เป็นต้นไปจะขอวางมือจากกิจการงานบ้านเมืองทั้งหมด ขอดำรงชีวิตอยู่อย่างสามัญชนคนลาวคนหนึ่งเท่านั้น

ภายหลังมีการเปิดเผยคำสั่งปลดเจ้าเพ็ดชะลาด ผู้เป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชนทั้งประเทศ ประชาชนและข้าราชการในกรุงเวียงจันทน์ต่างแสดงความไม่พอใจในการกระทำของเจ้าชีวิตสว่างวง ที่ดำเนินนโยบายทางการเมืองตามอำเภอใจไม่รับฟังเสียงของอาณาประชาราษฎร์ และไม่สนใจสถานการณ์โลก

สมาชิก “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วยรีบเดินทางกลับจากตำหนักเจ้าเพ็ดชะลาด แล้วเปิดประชุมหารือกันเป็นการด่วนเพื่อเตรียมการประกาศเอกราชและอิสรภาพในรุ่งเช้าวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ การประชุมเตรียมการประกาศเอกราชและอิสรภาพในรุ่งเช้าวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๘ การประชุมเตรียมการครั้งนั้นมีกำหนดบทบาทและหน้าที่ของฝ่ายทหารและตำรวจรวมทั้งฝ่ายพลเรือนไว้ ๓ ประการด้วยกัน คือ

๑.ให้ฝ่ายทหารและตำรวจจัดการรักษาความสงบทั้งภายในและภายนอกนครเวียงจันทน์

๒.ให้ฝ่ายพลเรือนจัดการประกาศเชิญชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน มาร่วมชุมนุมฟังคำประกาศเอกราช ในเวลา ๐๗.๓๐ น. ของวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๘ และ

๓.ให้ติดต่อผู้บัญชาการทหารจีน ที่ประจำอยู่ในกรุงเวียงจันทน์ รับรู้ถึงการประกาศเอกราช และขอความร่วมมือช่วยป้องกันเหตุร้ายอันจะเกิดจากศัตรูภายนอกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้บัญชาการทหารจีนได้ให้การรับรองเป็นอย่างดี

เจ้าเพ็ดชะลาดได้บันทึกเหตุการณ์ผันผวนในช่วงนั้นไว้ในบันทึกส่วนพระองค์มีใจความส่วนหนึ่งดังนี้

“เมื่อได้รับประกาศของพระองค์ดังนั้น ข้าพเจ้าก็โทรเลขกราบตอบว่ายอมรับปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ทุกประการ แล้วจึงเอาโทรเลขเกี่ยวกับเรื่องที่พระองค์ประกาศให้อาณาจักรหลวงพระบางอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสต่อไป มาเปิดเผย พร้อมกับนำโทรเลขสั่งปลดข้าพเจ้าออกจากหน้าที่มาเสนอให้ข้าราชการลาวและประชาชนทราบทั่วกัน โดยชี้แจงว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการแผ่นดินต่อไปแล้ว"

No comments: