การต่อสู้ของลาวในสงครามอินโดจีน
บทที่ ๕ ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในไทย
ภายหลังยึดเมืองท่าแขกไว้ได้ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ กองทหารฝรั่งเศสได้เคลื่อนพลเข้าโอบล้อมกรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ ๒๔ มีนาคม โดยเข้าร่วมสมทบกับกองทหารฝรั่งเศสอีกส่วนหนึ่งที่กระจัดกระจายหลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ป่าเขาหลังญี่ปุ่นเข้ายึดครอง
กองทหารฝรั่งเศสได้เปิดฉากปฏิบัติการบุกเข้ายึดเวียงจันทน์พร้อมกันถึงสามด้าน โดยกองทหารฝรั่งเศสได้ใช้ยุทธวิธีปิดล้อมตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ช่วงสถานการณ์คับขันประชาชนชาวเมืองเวียงจันทน์พากันหนีข้ามโขงไปอยู่ในหนองคาย รัฐบาลลาวอิสระได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่นครหลวงพระบาง
กองทหารฝรั่งเศสทำการปิดล้อมแคบลงเรื่อยๆ กระทั่งดำเนินการเข้ายึดกรุงเวียงจันทน์ การปฏิบัติการต้านยันการบุกยึดของทหารฝ่ายรัฐบาลในเวียงจันทน์ดำเนินอยู่เพียง ๓ วัน ในที่สุดทั้งกองทหารลาวและเวียดนามจำต้องถอนกำลังทั้งหมดออกไปร่วมสมบทกับกองทหารหลวงพระบางในวันที่ ๒๔ เมษายน โดยมุ่งขึ้นไปเชียงขวาง หลังมีการปะทะกับกองทหารฝรั่งเศสที่เมืองโพนโฮงและเมืองกาสี กองทหารฝรั่งเศสติดตามโจมตีอย่างไม่ลดละ กระทั่งยึดเมืองเชียงขวางไว้ได้ ส่วนกองทหารลาวได้ถอนตัวมุ่งไปยังหลวงพระบาง กองทหารฝรั่งเศสได้ตามไปถึงหลวงพระบางและมีการปะทะสู้รบกันในพื้นที่นอกเมืองประมาณ ๑ ชั่วโมง เจ้ามหาชีวิตสีสว่างวงได้สั่งให้ทหารลาววางอาวุธยอมจำนนต่อกองทหารฝรั่งเศส
วันที่ ๒๔ พฤษาคม พ.ศ.๒๔๘๙ เป็นวันที่กองทหารฝรั่งเศสยึดหลวงพระบาง และยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาลลาวอิสระไว้ได้โดยสิ้นเชิง
บุคคลสำคัญในรัฐบาลลาวอิสระได้หลบภัยเข้ามาในประเทศไทยเพื่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น รายละเอียดของการหลบภัยเข้ามาในไทยโปรดอ่านใน http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/03/blog-post_08.html
ทางฝ่ายเจ้าสุภานุวงศ์หลังจากรักษาอาการบาดเจ็บหายแล้ว ท่านได้ทบทวนถึงการสู้รบที่ผ่านมาและสาเหตุที่ต้องปราชัย แล้วก็สรุปได้ว่า ความผิดพลาดสำคัญอยู่ที่การจัดวางพื้นฐานการต่อสู้ไว้แต่ในตัวเมืองทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีพื้นฐานจากที่อื่นเลย โดยเฉพาะในชนบทซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ท่านได้วิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับบรรดาผู้ช่วย เมื่อได้ศึกษาถึงประสบการณ์ทางการปฏิวัติของลาวซึ่งมีลักษณะเฉพาะอยู่ชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ซึ่งมีอยู่ถึงสามสิบกว่าชนชาติ จึงสรุปได้ว่า ชาวนาและชนเผ่าต่างๆตามป่าเขานั้น จะเป็นกำลังพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ในระยะยาว จำเป็นจะต้องจัดตั้งแนวร่วมขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางที่สุด ให้ประกอบขึ้นด้วยชาวนาชาวไร่และชนชาติส่วนน้อยต่างๆ ทั้งหมด ด้วยการหล่อหลอมความสำนึกในเอกราชของชาติและความสามัคคีให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
เจ้าสุภานุวงศ์พยายามชักจูงผู้อยู่ในคณะรัฐบาลพลัดถิ่นลาวให้ร่วมกันสนับสนุนตนในการเริ่มต่อสู้ใหม่ แต่เมื่อมาถึงขั้นต้องกลับคืนลาวละทิ้งความสุขสบายในกรุงเทพฯไป ผู้นำในรัฐบาลพลัดถิ่นก็ล้วนแล้วแต่ใช้นโยบาย “คอยดูไปก่อน” ทั้งนั้น
No comments:
Post a Comment