Monday, March 9, 2009

บทความที่๔๗๗.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๗)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังการประกาศเอกราช
บทที่๗ รัฐบาลพลัดถิ่นยอมจำนน

นอกจากปัญหาด้านการเงินแล้ว ยังมีความแตกต่างและขาดความเป็นเอกภาพทางความคิดค่อนข้างมาก จนนำไปสู่ปัญหาขัดแย้งกันเองในช่วงต่อมา

ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ด้วยการตอกลิ่มให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างทางความคิดมีช่องว่างห่างยิ่งขึ้น วิธีการหนึ่งที่ฝรั่งเศสใช้ก็คือส่งชายาของเจ้าสุวันนะพูมา ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายฝรั่งเศส ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจา ยื่นข้อเสนอให้บรรดาเหล่าสมาชิกและรัฐมนตรีในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นพิจารณา

ข้อเสนอดังกล่าวก็คือ ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้นิรโทษกรรมไม่เอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น จ่ายเงินเดือนย้อนหลังให้ทั้งหมด คืนยศและบรรดาศักดิ์ให้ดังเดิม อีกทั้งยังจ่ายค่าเดินทางให้อีก ๘๐๐,๐๐๐ เปียสต้า

การเผชิญปัญหาด้านการเงินและปัญหาความแตกต่างในแนวคิดส่งผลให้คนสำคัญในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น คือ เจ้าสุวันนะพูมา คำม้าว วิไล และกระต่าย โตนสะโสลิด ตลอดจนสมาชิกในรัฐบาลหลายคน รวมทั้งทหารลาวอิสระส่วนหนึ่ง ตัดสินใจรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมของฝรั่งเศส ยกเลิกการต่อสู้ ยุติการต่อต้าน แล้วเดินทางกลับคืนประเทศในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒

ทว่าเจ้าเพ็ดชะลาด เจ้าสุพานุวง สิงกะโป สีโคตจุนนะมาลี ลุตุลาน จุงคำหมื่น ลุงเสิม และสีทน กมมะดำ ผู้นำของชนชาติขมุ รวมทั้งคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ มุ่งมั่นยืนกรานที่จะต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของประเทศต่อไปให้ถึงที่สุด

กระนั้นฝรั่งเศสก็ไม่ละความพยายาม ใช้วิธีเอาผลประโยชน์เข้าล่อในลักษณะขุดบ่อล่อปลาเหมือนเช่นเดิม โดยยืมมือเจ้ากรมแสงสุวันนะราช อนุชาของเจ้าเพ็ดชะลาด ซึ่งยอมรับนโยบายของฝรั่งเศสและยินยอมทำงานให้ ฝรั่งเศสจึงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือเชิญเจ้าเพ็ดชะลาดและเหล่าบรรดาสมาชิกในคณะรัฐบาลพลัดถิ่น รวมทั้งชักจูงให้กองกำลังทหารลาวอิสระที่กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี สกลนคร อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย และในบริเวณแนวตะเข็บชายแดนไทย-ลาวด้านริมฝั่งแม่น้ำโขง วางอาวุธยุติการต่อสู้ แล้วเดินทางกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน

ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๙๒ คำเม้า วิไลได้ประกาศยุบเลิกรัฐบาล และยอมจำนนต่อฝรั่งเศสหลังเดินทางกลับประเทศลาว และในวันเดียวกันนั้นเองเจ้าสุพานุวงได้แถลงข่าวที่กรุงเทพกล่าวประนามอย่างรุนแรงต่อการทรยศของกลุ่มคำเม้า และประกาศว่า “ขบวนการต่อต้านนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสเพื่อปลดปล่อยชาติของประชาชนลาว ยังคงดำเนินสืบต่อไปจนกว่าจะถึงชัยชนะสุดท้าย..” เขาได้เรียกร้องให้ประชาชนทั้งชาติลุกขึ้นต่อสู้อย่างทรหดอดทน ต้านนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสและลูกสมุน

No comments: