การอภิวัฒน์ของประชาชนลาวช่วงหลังสงครามโลก
บทที่ ๑๑ ขอการรับรองความเป็นเอกราชจากสัมพันธมิตร
ทว่า “คณะลาวอิสระ” ยังมิได้เป็นองค์กรที่มีหลักประกันหรือได้รับการรับรองจากประเทศใดๆ ทาง “คณะลาวอิสระ” จึงเรียกประชุมสมาชิกที่เข้ามาลี้ภัยและดำเนินการต่อสู้เพื่อเอกราชอยู่ในประเทศไทย ที่ประชุมมีมติให้สมาชิกส่วนหนึ่งข้ามแม่น้ำโขงไปติดต่อกับเจ้าเพ็ดชะลาดที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐบาลลาวหลวงพระบาง แจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุม “คณะลาวอิสระ” เห็นสมควรให้เจ้าเพ็ดชะลาดเป็นผู้ยื่นคำรองขอเอกราช ทั้งนี้เนื่องเพราะ พระองค์เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การดูแลของฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นและญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสัมพันธมิตร รัฐบาลของเจ้าชีวิตสีสว่างวงก็พ้นสภาพไปด้วย
ได้มีการนัดหมายเพื่อเจรจากันตรงหลักกิโลเมตรที่ ๗ ในเส้นทางไปหลวงพระบาง โดยสมาชิกคณะลาวอิสระแต่งตัวเป็นชาวนาเดินไปตามถนน ส่วนเจ้าเพ็ดชะลาดจะขับรถมาตามทาง ตัวแทนคณะลาวอิสระ อันได้แก่ พันตำรวจตรี บุนมี ปันยาทิบ พันเอก บง สรีรัตนะกุน และ มหาสีลา วีระสงส์ ได้ว่าจ้างเรือถ่อจากหนองคายลัดเลาะตามลำน้ำโขงไปย้งบ้านหม้อ แล้วข้ามแม่น้ำโขงไปพบเจ้าเพ็ดชะลาดในจุดนัดหมาย
ส่วนสถานการณ์ของญี่ปุ่นได้พลิกผันอย่างถึงที่สุด คือ ภายหลังถูกระเบิดปรมาณูลูกที่ ๒ ที่เมืองนางาซากิ ๔๘ ชั่วโมง สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ถือเป็นการยุติสงครามของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง แม้ว่าการประกาศยอมจำนนของญี่ปุ่นจะมีผลให้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในทวีเอเซียยุติลง ทว่าทหารญี่ปุ่นในลาวยังคงตั้งเวรยามตรวจตราอยู่ที่สนามบินวัดไตและในเส้นทางสายต่างๆ เหมือนยังเป็นสถานการณ์สู้รบอยู่เช่นเดิม
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๘ ตัวแทน “คณะลาวอิสระ” ได้เข้าพบเจ้าสุวรรณภูมาเพื่อแจ้งวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราช และทางเจ้าสุวรรณภูมาได้ให้ตัวแทน “คณะลาวอิสระ” ไปรอคำตอบหรือรอรับเอกสารร้องขอความเป็นเอกราชของเจ้าเพ็ดชะลาด เพื่อนำไปมอบให้แก่ตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตร คือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ประจำจังหวัดสกลนครและหนองคาย
สองวันต่อมา เจ้าสนิด วงกดรัตนะ ได้นำเอกสารร้องขอการรับรองความเป็นเอกราชของลาวจากเจ้าอุปราชเพ็ดชะลาดมาให้ เอกสารดังกล่าวมีจำนวน ๓ซองสำหรับนำไปมอบให้นายทหารตัวแทนสหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดสกลนคร นายทหารตัวแทนอังกฤษ ประจำหนองคาย และนายปกรณ์ อังสุสิงห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เพื่อให้เสนอผ่านขึ้นไปยังรัฐบาลไทย
นอกเหนือจากการดำเนินความพยายามเรียกร้องเอกราชอย่างสันติ โดยยื่นเอกสารขอการรับรองความเป็นเอกราชของลาวต่อผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทยแล้ว ยังมีการจัดตั้งกองทหารขึ้นมากองหนึ่ง โดยรวบรวมอาวุธของทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้หลังประกาศยอมจำนนและเดินทางกลับประเทศ
ต่อมามีการเปลี่ยนตัวเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จากนายเอ็ด.เอ็ฟ.แสตนตัน มาเป็นนายโดโนแวน เจ้าเพ็ดชะลาดได้ส่งเจ้าสุภานุวงศ์เดินทางเข้ามาติดต่อขอให้เป็นคนกลางเจรจากับฝรั่งเศสอีกครั้ง โดยมีพันเอก เวอร์จิเนีย ทอมสัน ทูตทหารอเมริกันเป็นผู้ช่วยเหลือ ต่อมาพันเอก เวอร์จิเนีย ทอมสัน ถูกปลดและมีการแต่งตั้งพันเอก ลอว์มารับหน้าที่แทน
เจ้าอุปราชเพ็ดชะบาด พยายามดำเนินการเรียกร้องเอกราชด้วยวิธีเจรจาอย่างสันติวิธี ทว่าความพยายามดังกล่าวไม่เป็นผล แม้จะพยายามอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ความพยายามที่ล้มเหลวอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่านี้ ทางฝ่ายลาวได้สรุปว่า เป็นผลจากสหรับอเมริกาเกรงใจฝรั่งเศสที่ร่วมรบด้วยกันในนามฝ่ายสัมพันธมิตร
No comments:
Post a Comment