Monday, March 2, 2009

บทความที่๔๕๒.การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว(๑)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว
 
บทที่ ๑ ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองดินแดนอินโดจีน ทอนประชาชนลาว กัมพูชาและเวียดนามลงเป็นทาส แต่ก็เว้นสยามไว้เป็นรัฐกันชนกับดินแดนที่จักรวรรดินิยมอังกฤษยึดครองคือพม่าและมลายู

ประเทศลาวแม้จะไม่มีพรมแดนติดทะเลแต่ก็มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือมีพรมแดนเชื่อมต่อทั้งกับ จีน พม่า ไทย เวียดนามและกัมพูชา จึงเป็นดินแดนที่จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส(และต่อมาสหรัฐอเมริกา)ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ในเวลานั้นฝรั่งเศสใช้ฮานอยเป็นเมืองศูนย์กลางในการปกครองอินโดจีนทั้งหมด และการที่ลาวแบ่งออกเป็น ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง,อาณาจักรเวียงจันทน์,และ อาณาจักรสะหวันนะเขด ฝรั่งเศสจึงใช้วิธีคานอำนาจของทั้งสามอาณาจักรโดยการติดอาวุธให้ชนพื้นเมืองที่ฝักใฝ่รับใช้อำนาจจักรวรรดินิยม

ในปี พ.ศ.๒๔๔๕ – ๒๔๔๖ (ค.ศ.๑๙๐๒-๑๙๐๓) ฝรั่งเศสนักล่าเมืองขึ้นโดย ออกุส ปาวี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นทูตฝรั่งเศสประจำกรุงสยาม ได้บีบบังคับให้ไทยยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากเซและฝั่งตรงข้ามนครหลวงพระบางให้แก่ฝรั่งเศส(เรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒)ดังนั้นดินแดนลาวที่เคยอยู่ภายใต้อธิปไตยของศักดินาสยามก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนับแต่บัดนั้น แต่เรียกชื่ออย่างหลอกลวงว่า “รัฐในอารักขา” ต่อมาเจ้าอุปราชอุ่นคำเจ้าชีวิตของลาวได้ลงนามมอบประเทศลาวให้อยู่ภายใต้การอารักขาของฝรั่งเศส

ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ ๘๐ ปีที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองดินแดนอินโดจีน กล่าวได้ว่า แนวทางหลักที่นำมาใช้ในการปกครองเป็นกลวิธีที่ออกุส ปาวี ได้ค้นคิดและนำมาใช้ปฏิบัติแทบทั้งสิ้น ซึ่ง ฝรั่งเศสได้ใช้วิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง โดยออกประกาศในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ให้ผนวกลาวเป็นแคว้นที่ ๕ ของสหพันธ์ฝรั่งเศส ต่อจากแคว้นตังเกี๋ย (เวียดนามภาคเหนือ)แคว้นอันนัม (เวียดนามภาคกลาง)แคว้นโคชินไชน่า(เวียดนามภาคใต้)และแคว้นกัมพูชา โดยอยู่ภายใต้ระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบเงินตราของสหพันธ์ฝรั่งเศส.

หลังการยึดครองได้ ๘ ปี ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการลุกฮือขึ้นต่อต้าน ทั้งจากคนลาวและคนกลุ่มน้อย ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๔ คนลาวทั้งจากฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงได้รวมตัวกันในรูปของ “ขบวนผู้มีบุญ” จับอาวุธต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส โดยเริ่มที่เมืองสองคอนและเมืองเขมลาด แต่ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งจักรวรรดิ์ฝรั่งเศสในเข้าครอบครองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ไว้ได้

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครองแล้ว ฝรั่งเศสยังใช้ยุทธศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับสถาบันกษัตริย์ของลาว โดยออกุส ปาวี ได้เสนอให้คงไว้ซึ่งสถานภาพของกษัตริย์เหมือนเดิม ให้การสนับสนุนระบอบการปกครองดั้งเดิมแบบสมบูรณาญาสิทธิราช และยินยอมให้เจ้าชีวิตมีสิทธิอำนาจในบางเรื่อง เว้นในเรื่องสำคัญต้องอยู่ภายใต้การอนุมัติเห็นชอบจากผู้สำเร็จราชการอินโดจีน 

ที่สำคัญ ฝรั่งเศสมีอำนาจเต็มในการจัดการด้านการเงิน-การคลัง การจัดเก็บภาษีในอินโดจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษีฝิ่นจากบรรดาชาวเขาในภาคเหนือ ส่วนหนึ่งของเงินภาษีนี้ ฝรั่งเศสได้นำมาจัดแบ่งเป็นงบประมาณสำหรับสถาบันกษัตริย์ลาวในรูปของเงินงบประมาณใช้จ่ายรายปี ด้วยวิธีนี้ สถาบันกษัตริย์ของราชอาณาจักรลาวจึงดำรงอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศสอย่างแนบแน่น โดยที่เจ้าชีวิตไม่รู้สึกแปลกแยกหรือเกิดปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด

แม้ว่าผู้สำเร็จราชการอินโดจีนจะมีอำนาจครอบคลุมทั่วดินแดนอินโดจีน แต่ก็มิได้ใช้อำนาจดังกล่าวโดยตรง หากแต่ใช้วิธีลอยตัวอยู่ข้างบน โดยแต่งตั้งคนไปปกครองและพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ในรูปของผู้สำเร็จราชการหัวเมืองเวียดนาม ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองกัมพูชา

สำหรับกลวิธีอันแยบยลของฝรั่งเศสที่ใช้ในการดำเนินความพยายามเพื่อมุ่งครอบงำอาณานิคมอินโดจีนไว้ใต้อาณัติของตนให้เนิ่นนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ขึ้นมาสืบทอดอำนาจของผู้นำรุ่นเก่า


2 comments:

Nanny_doc said...

ได้เข้ามาอ่านข้อความประวัติศาสตร์นี้แล้วค่ะ ขอบคุณนะคะ ที่ได้อุตสาหะ นำบทความที่ให้ความรู้นี้ มาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนค่ะ ขอบคุณค่ะ

์ืNapha said...

๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง,อาณาจักรเวียงจันทน์,และ อาณาจักรสะหวันนะเขด

อานาจักรที่ ๓ ไม่ใช่สะหวันนะเขด อานาจักรจำปาสัก ต่างหาก