Sunday, March 8, 2009

บทความที่๔๗๕.สงคราม๓๐ปีหลังประกาศเอกราชลาว(๕)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว-สงคราม ๓๐ ปีหลังประกาศเอกราช
บทที่ ๕  เสรีไทยช่วยเหลือเรื่องงบประมาณ

ส่วนในด้านงบประมาณ รัฐบาลลาวพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ ต้องพึ่งตนเอง ทุนรอนในการดำเนินการกู้ชาติได้มาจากการจำนำทรัพย์สินตามโรงจำนำต่างๆ โดยทรัพย์สินเหล่านี้เจ้าเพ็ดชะลาดนำติดตัวมา ส่วนเงินที่นำมาใช้ซื้ออาวุธนั้นหม่อมอภิณพรได้กู้ยืมเงินจากหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมกันนี้ก็แสวงหาการสนับสนุนช่วยเหลือจากแหล่งต่างๆ

แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากนายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ก็เป็นเพียงจำนวนน้อยเพราะมิใช่เป็นการช่วยเหลือในนามรัฐบาล กอปรกับการที่มีสมาชิกอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากทำให้มีรายจ่ายมาก ต้องดิ้นรนแสวงหาทุนทรัพย์จากแหล่งต่างๆ อีกทั้งต้องเก็บออมเงินส่วนหนึ่งไว้ซื้อหาอาวุธเพื่อกู้ชาติ สมาชิกในรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นหลายคนต้องออกไปทำงาน

ด้านอุ่น ชะนะนิกอน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหัวหน้าลาวอิสระประจำเมืองสะหวันนะเขด เรียนมาทางด้านสัตวแพทย์ และเคยทำงานในกรมโฆษณาการของไทย ได้ใช้สายสัมพันธ์อันดีที่มีกับพันตรี เจมส์ ธอมสัน แห่งหน่วยบริการยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (O.S.S.) ร่วมเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจการค้าผ้าไหม(คือต่อมาเป็นบริษัทจิม ธอมสัน)ขณะเดียวกันก็ติดต่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์จากทางนายเตียง ศิริขันธ์ โดยได้รับคำแนะนำจากพันตรี เจมส์ ธอมสัน

ในช่วงที่ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนั้น กองกำลังลาวอิสระภายใต้การบัญชาการของอุ่น ชะนะนิกอน มีฐานบัญชาการอยู่ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและพันตรี เจมส์ ธอมสันได้แนะนำให้อุ่น ชะนะนิกอน ย้ายฐานบัญชาการมาอยู่จังหวัดอุดรธานีและสกลนครเพื่อติดต่อขอรับการช่วยเหลือจากเสรีไทยได้สะดวก อีกทั้งการที่เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจค้าผ้าไหมกับพันตรี เจมส์ฯ ได้เอื้ออำนวยให้อุ่นเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาค อิสานบ่อยครั้ง และได้พบปะเจรจาขอรับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอีสาน

นายเตียง ศิริขันธ์ได้ส่งมอบเงินช่วยเหลือจำนวนมากผ่านทางโง่น ชะนะนิกอน ไปให้ผู้ปฏิบัติงานกู้ชาติในเมืองต่างๆ ตามที่ลาวอิสระได้มอบหมายหน้าที่ไว้แล้ว คือ เมืองสะหวันนะเขด โดยมี พูมี หน่อสะหวัน,เกื้อ วงวงส์ เป็นผู้รับผิดชอบ และ ดร.พูวง หน่อสะหวัน (น้องพูมี) เป็นผู้ติดต่อประสานงาน เมืองท่าแขกมีโง่น ชะนะนิกอน และพง ชะนะนิกอนเป็นผู้รับผิดชอบ

ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลลาวอิสระพลัดถิ่นคือ การแสวงหาแหล่งขายอาวุธและหาเงินมาจัดซื้ออาวุธสำหรับกองทหารเพื่อกลับไปกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงนั้นมีการแย่งกันซื้อถึง ๕ ชาติ คือ เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย และลาว สมาชิกในขบวนการกู้เอกราชทั้ง ๕ ชาติได้มีการประชุมตกลงกันเป็นการลับในกรุงเทพฯ และมีข้อตกลงร่วมกัน ๒ ข้อคือ

๑.การสืบแหล่งค้าปืนเถื่อน หากชาติใดสืบพบ ให้ชาตินั้นซื้อจนพอแก่ความต้องการ จากนั้นชาติอื่นจึงซื้อได้ ถ้าชาติที่สืบพบไม่มีเงิน ชาติอื่นควรยื่นมือให้ความช่วยเหลือ และ

๒. เนื่องจากขบวนการกู้ชาติทั้ง ๕ ชาติต่างทำงานโดยอิสระไม่มีการร่วมมือกันมาแต่แรกเป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูได้เปรียบ จึงมีมติร่วมกันระหว่างเวียดนาม กัมพูชา และลาวว่า ต่างมีศัตรูร่วมกันคือ ฝรั่งเศส

พร้อมกันนี้ยังมีข้อตกลงย่อยอีก ๒ ประการ คือ

๑.แต่ละชาติจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอาณาจักรของฝ่ายใดก็ได้ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายนั้น เช่น ญวนเข้ามาอยู่ในลาวก็ต้องขึ้นกับลาว

๒.ลาวและกัมพูชามีพลเมืองน้อย ไม่ให้ทำการรบใหญ่ในสนาม ให้ปฏิบัติการแบบกองโจรรบกวนทุกแห่งทุกโอกาส เพื่อหน่วงกำลังฝรั่งเศสให้อยู่ในกัมพูชาและลาวให้มากที่สุด อย่าให้รวมกำลังไปเล่นงานเวียดนามได้ ส่วนเวียดนามมีพลเมืองมาก เมื่อมีโอกาสให้ใช้กำลังโจมตีเพื่อทำลายฝรั่งเศสในเวียดนามให้ละลายไปทีละน้อย ขณะที่เวียดนามเปิดการรบใหญ่คราวใด ให้กัมพูชาและลาวเปิดการรบแบบกองโจร ประวิงไว้ให้นานเท่านานเท่าที่จะทำได้

No comments: