Monday, March 2, 2009

บทความที่๔๕๓.การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว(๒)

การอภิวัฒน์ของประชาชนลาว

บทที่ ๒ โรงเรียนผู้นำ

เพื่อให้ฝรั่งเศสสามารถครอบงำทางความคิด และหล่อหลอมความคิดคนลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้อยู่ในกรอบแห่งอำนาจการปกครองของตนอย่างยาวนาน ออกุส ปาวี จึงได้คิดวิธีให้อภิสิทธิ์แก่ลูกหลานเชื้อพระวงศ์ และผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับเชื้อพระวงศ์ หรือบรรดาลูกหลานของผู้ทำงานรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เดินทางไปศึกษาที่โรงเรียนของฝรั่งเศสในเวียดนาม ส่วนลูกหลานของประชาชนคนธรรมดา ไร้ซึ่งยศฐาบรรดาศักดิ์ใดๆ หากสนใจใฝ่ศึกษา พ่อแม่ก็สามารถพาไปฝากฝังให้บวชเรียนเป็นสามเณรในวัดวาอารามที่มีอยู่มากมายในเมืองหลวงพระบาง อันเป็นรูปแบบการศึกษาตามประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ฝรั่งเศสมุ่งใช้กลวิธีระบบอุปถัมภ์ ด้วยการให้ผู้ตรวจราชการหัวเมืองฝรั่งเศสคัดเลือกบรรดาคนหนุ่มผู้เป็นลูกหลานเชื้อพระวงศ์ของลาวและลูกหลานเหล่าขุนนางเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำงานรับใช้สถาบันกษัตริย์ในหลวงพระบาง เดินทางไปศึกษาต่อยังกัมพูชา เวียดนาม และฝรั่งเศส เพื่อนำความรู้กลับไปรับใช้ฝรั่งเศสปกครองอาณานิคมอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน

ออกุส ปาวี ได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในปี พ.ศ.๒๔๔๒ โดยปาวีได้คัดเลือกนักเรียนชุดแรกจากกัมพูชา ๑๐ คน ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนอาณานิคม ช่วงต่อมาได้คัดเลือกนักเรียนจากเวียดนามและลาวอีกจำนวนหนึ่งส่งไปเข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว พร้อมกันนี้ปาวีก็ได้เล็งผลเลิศว่า ในอนาคตหลังจากคนกลุ่มนี้สำเร็จการศึกษา ก็จะกลับมาทำงานในฝ่ายบริหารของสำนักงานผู้สำเร็จราชการอาณานิคมในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาว ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองเวียดนาม และผู้สำเร็จราชการหัวเมืองกัมพูชา เพื่อช่วยทำหน้าที่ปกครองดูแลเมืองขึ้นและรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศสต่อไป (ให้ทุนการศึกษาเพื่อให้กลับมารับใช้ผู้ให้ทุน)

สำหรับโรงเรียนอาณานิคมนั้น กระทรวงอาณานิคมของรัฐบาลฝรั่งเศสได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อฝึกฝนอบรมบุคลากรที่เตรียมตัวสมัครเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองหัวเมืองขึ้นหรือเมืองอาณานิคมฝรั่งเศสเป็นการเฉพาะ โดยแบ่งออกเป็น ๒ แผนกคือ แผนกสำหรับผู้ที่จะไปอยู่ในอาณานิคมอินโดจีนและแผนกสำหรับผู้ที่จะไปอยู่ในอาณานิคมแอฟริกา

ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้อนุมัติให้โรงเรียนอาณานิคมได้เปิดแผนกใหม่ขึ้นเป็นกรณีพิเศษตามคำขอของออกุส ปาวี คือ แผนกสำหรับชาวอินโดจีนเพื่อรองรับลูกหลานเชื้อพระวงศ์หรือชนชั้นสูงของประเทศในอินโดจีนเป็นการเฉพาะ อาทิ จากเวียดนาม เขมร ลาว

การเปิดแผนกดังกล่าวนี้ นอกเหนือจากให้การศึกษาด้านวิชาหลักการปกครองดินแดนอาณานิคมแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อหล่อหลอมความคิดและสร้างทัศนคติให้ลูกหลานเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงของประเทศในอินโดจีนมีความจงรักภักดีต่ออาณานิคมฝรั่งเศส

เมื่อพิจารณาถึงกลวิธีที่ฝรั่งเศสนำมาใช้ในการปกครองเมืองขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ออกุส ปาวีนำมาใช้ในการปกครองดินแดนอาณานิคมลาว นอกเหนือจากการใช้ระบบอุปถัมภ์และการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแล้ว กลวิธีสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการปิดกั้นโอกาสและปิดหูปิดตาคนลาวไม่ให้ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร เว้นแต่ลูกท่านหลานเธอเชื้อพระวงศ์ดังที่ว่ามีความจงรักภักดีต่ออาณานิคมฝรั่งเศสเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาชั้นสูงในต่างประเทศ (หรือจะเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่าหากจะกดขี่ประชาชนไว้ให้นานตราบนานก็จะต้องปิดหูปิดตาประชาชนให้โง่งม มืดบอดไว้)

ตลอดช่วงระยะเวลา ๘๐ ปีที่ฝรั่งเศสปกครองลาว มีการตั้งโรงเรียนขึ้นมาให้การศึกษาแก่คนลาวเพียงแค่แห่งเดียว และมีเด็กๆ ผู้เป็นลูกหลานของประชาชนลาวเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าศึกษา นั่นคือ โรงเรียนออกุส ปาวี (Lycee Auguste Pavie) ที่ปาวีก่อตั้งขึ้นริมถนนล้านช้าง ใกล้ประตูชัยกรุงเวียนจันทน์ ในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๐ ปัจจุบันคือโรงเรียนอุดมเวียงจันทน์

ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างปมปัญหาที่เปรียบเสมือนบาดแผลร้ายในจิตใจของประชาชนลาวทั้งมวล นั่นคือการออกกฎระเบียบอันเข้มงวด กฎระเบียบดังกล่าวคือการห้ามมิให้นักเรียนพูดภาษาลาวในโรงเรียนอย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี แต่แม้ว่าโรงเรียนแห่งนี้จะมีระเบียบเคร่งครัดคือไม่ให้พูดภาษาลาวกับนักเรียน แต่ความรัก ความสามัคคีระหว่างครูลาวกับนักเรียนลาวยังคงมีอยู่แน่นแฟ้น นักเรียนส่วนหนึ่งไปพูดคุยกับคูรอย่างพี่น้องที่บ้านพักครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง

ต่อมา มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความเกลียดชังที่ประชาชนลาวมีต่อนายออกุส ปาวี อดีตกงสุลฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก โดยแสดงออกมาในวันสังขารล่องหรือวันปีใหม่สงกรานต์ โดยประชาชนชาวเมืองหลวงพระบางได้ชุมนุมรวมพลัง ช่วยกันชักลากรูปหล่อของออกุส ปาวี ที่ตั้งอยู่หน้าสำนักงานกงสุลฝรั่งเศสประจำหลวงพระบางไปทิ้งลงในแม่น้ำโขง ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้ว่าจ้างให้งมรูปหล่อดังกล่าวนี้ขึ้นมา แล้วนำไปตั้งไว้หน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเวียงจันทน์ในปัจจุบัน.

No comments: