บิล แลร์เข้ามาปฏิบัติภารกิจในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๙๔ ขณะนั้นสงครามเกาหลีกำลังดำเนินอยู่ห่างจากประเทศไทยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว ๒,๐๐๐ ไมล์ อเมริกาพยายามแผ่อิทธพลเข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน สำหรับในกรณีที่สงครามขยายขอบเขตออกไป ศูนย์บัญชาการยุทธวิธีทางอากาศของอเมริกาได้เข้ามาสร้างสนามบินในประเทศไทยเพื่อเตรียมไว้รองรับเครื่องบินบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไปทิ้งระเบิดประเทศจีน
ซีไอเอยังได้อุดหนุนเงินแก่พวกนักการเมืองและนายพลในประเทศแถบนี้และได้ให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในบางประเทศ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หากกองทหารจีนส่งทหารผ่านลาวที่เป็นเหมือนรัฐกันชนเข้ามาในไทย ซีไอเอ ได้ฝึกฝนนายตำรวจไทยจำนวนหนึ่งในทักษะการรบแบบกองโจร แลร์และนายตำรวจรุ่นหนุ่มชาวไทยคนหนึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ควบคุมโครงการฝึกซึ่งขณะนั้นไม่มีใครให้ความสำคัญเท่าใดนัก
เมื่อไม่มีการบุกของทหารจีนอย่างที่คาดไว้ โครงการฝึกดังกล่าวจึงยุบไป แต่แลร์โน้มน้าวผู้อำนวยการซีไอเอในกรุงเทพฯและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยให้เห็นชอบกับโครงการนำตำรวจไทยจำนวนหนึ่งมาฝึกและจัดตั้งเป็นกองกำลังชั้นหัวกะทิ นายตำรวจผู้กว้างขวางขณะนั้นคือ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้ที่รู้ดีว่าแลร์ทำงานให้กับซีไอเอ และเห็นด้วยกับโครงการใหม่ของแลร์
แลร์ใช้โอกาสนี้เข้าเป็นนายตำรวจไทยโดยผ่านการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายร้อยตำรวจในกรมตำรวจไทย สร้างความยินดีให้กับพวกซีไอเอที่จะไม่ต้องเหนื่อยหาฉากบังหน้าให้เขาด้วยตนเอง แลร์ยังได้แต่งงานกับผู้หญิงไทยที่มาจากครอบครัวชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมความมั่นคงแก่หน้าที่การงานของเขา
ต่อจากนี้ไปประเทศไทยคือบ้านที่สองของเขาอย่างแท้จริง และแลร์จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศนี้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่ขัดกับผลประโยชน์ของอเมริกาและซีไอเอ.
No comments:
Post a Comment