Monday, April 20, 2009

ลำดับ๕๖๐.วอร์เกม-โอเมก้า(๒)

บทที่ ๒
กระทรวงกลาโหม หรือเพนทากอนได้มอบหมายให้แรนด์ คอเปอเรชั่น สถาบันวิจัยด้านความมั่นคงระดับแนวหน้า ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ซานตา โมนิก้า ในแคลิฟอร์เนีย ออกแบบเกมจำลองสงครามขึ้น เกมจำลองสงครามในเวียดนามซึ่งกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี มีรหัสว่า “โอเมก้า” จะถูกนำมาลองเล่นในวอชิงตัน โดยจะใช้เวลาในการเล่นทั้งสิ้น ๑ สัปดาห์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล แบ่งบทบาทเป็นผู้นำฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายข้าศึก จากนั้นทำการแข่งขันชิงชัยกัน ทีมสีฟ้าแทนพันธมิตรซึ่งได้แก่อเมริกา เวียดนามใต้ และประเทศที่ให้การสนับสนุน(แน่นอนว่าไทยย่อมเป็นหนึ่งในพันธมิตรของสหรัฐในการรุกรานเวียดนาม) ส่วนทีมสีแดงแทนเวียดนามเหนือ โซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์

บิล ซุลลิแวน รับบทหัวหน้าทีมสีฟ้า ในแต่ละวันจะใช้เวลาเล่นนาน ๘ ชั่วโมง ที่ปรึกษาอาวุโสของทีมสีฟ้า ซึ่งมีหน้าที่วางนโยบายโดยรวม ได้แก่นายพลแม็กเวล เทย์เลอร์ที่ปรึกษาด้านการทหารของทำเนียบขาว เทย์เลอร์ได้บอกแก่ซุลลิแวนว่า “ไม่ต้องใส่ใจกับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อหากมีโอกาส และให้โกหกไปเลยหากทำได้”

เมื่อเวลา ๑ สัปดาห์ผ่านไป เกมจำลองสงครามเวียดนามที่จะเกิดขึ้นใน ๑๐ ปีก็มาถึงบทสรุป ในปีที่ถูกสมมติให้เกิดขึ้นในปี ๑๙๗๒ แผนที่แสดงพื้นที่ของแหลมอินโดจีนมีสีแดงแต้มอยู่ทั่วไปหมด ทั้งในลาว เวียดนามใต้และกัมพูชา ฝ่ายซุลลิแวนสูญเสียกำลังทหารไปมากมาย แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบกระเทือนโครงสร้างการบังคับบัญชาในกองทัพ

ซุลลิแวนย้อนเล่าความหลังว่า “เราส่งทหารอเมริกันเข้าสู่สมรภูมิแห่งนี้ร่วม ๕๐๐,๐๐๐ คน เป็นกองกำลังขนาดใหญ่ จากทั้งกองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลไปอย่างไม่ได้ผลคุ้มค่านัก ทั้งยังก่อให้เกิดความอลหม่านในหมู่ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในกลุ่มปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัย ยิ่งไปกว่านั้น อเมริกายังถูกโดดเดี่ยวในเวทีสหประชาชาติและในสายตาชาวโลกทั่วไป ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความโกลาหลอย่างในรัฐสภาอเมริกัน เนื่องจากเกิดความไม่พอใจสงครามที่ยืดเยื้อ"

ผู้ร่วมเล่นเกมโอเมก้าบางคน ต้องฝืนใจยอมรับผลลัพธ์ที่ออกมา หนึ่งในนั้นก็คือจอห์น แม็กโคน ผู้อำนวยการใหญ่ซีไอเอ ผู้มีหัวอนุรักษ์นิยมจากแคลิฟอร์เนีย ในเกมสงครามโอเมก้า แม็กโคนรับบทเป็นหัวหน้าฝ่ายนโยบายของทีมสีฟ้า การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อทีมสีแดง ทำให้เขาหันเหไปมีจุดยืนต่อต้านสงครามเวียดนามในที่สุด

No comments: