Sunday, April 5, 2009

ลำดับ๕๓๔.แผนแบ่งลาว ๓ ฝ่าย


กองทัพของกองแลสมารถถอนกำลังออกจากเวียงจันทน์ได้ โดยการช่วยเหลือจากกองทัพของฝ่ายปเทดลาวภายใต้การนำของสหายสิงกะโป จากนั้นจึงไปยึดทุ่งไหหินไว้ได้เมื่อวันขึ้นปีใหม่ของปี ๒๕๐๔ ก่อให้เกิดความเดือดดาลแก่ภูมีและวอชิงตันอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าพิจารณาในแง่ความสำคัญทางการทหารนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาถือว่ายอมเสียที่มั่นในกรุงเวียงจันทน์ยังดีกว่าเสียทุ่งไหหินเป็นไหนๆ มิหนำซ้ำกองทหารของกองแลยังสามารถเอารถบรรทุกและยานเกราะของอเมริกันมาใช้ลำเลียงกำลังรบของตนออกไปจากเวียงจันทน์เสียอีก

เมื่อต้องเผชิญหมากตาใหม่ ภูมี หน่อสวันจึงใช้ลูกไม้เดิมที่เคยใช้กันมานานแล้วคือ ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ กุเรื่องขึ้นว่ามีกองทหารเวียดมินห์บุกเข้ามาหลายกองพัน มีผู้บันทึกไว้ในหนังสือ Laos: Buffer State or Battleground(๑๙๖๘) ว่า

“กองแลทิ้งปืนสองกระบอกไว้ตามทาง กำลังสู้รบของเขามีเพียงพลร่มสามกองร้อยและมีปืนครกบ้างเท่านั้น แต่ ภูมี หน่อสวัน แถลงว่ามีทหารเวียดมินห์ถึงเจ็ดกองพันข้ามพรมแดนลาวเข้ามา ในจำนวนนี้มีสองกองพันที่เข้ามายังทุ่งไหหินแล้ว จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ว่า ทหาร(รัฐบาล)ประจำการที่มั่นสำคัญที่นั่นจะเผ่นหนีไปโดยไวในทันทีที่กองทหารกองแลเข้าไปในวิถีกระสุน…ตราบจนกระทั่งบัดนี้กองแลได้รับความช่วยเหลือจากปเทดลาวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือไม่ได้รับเลย…”

“ต่อมาอีก ๒-๓ วันในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ที่เวียงจันทน์ ภูมี หน่อสวัน ก็ต้องยอมรับต่อหน้าเจ้าบุญอุ้มและทูตานุทูตว่า ไม่มีหลักฐานอะไรเลยเกี่ยวกับ กองทหารเวียดนามเหนือหลายกองพันบุกเข้ามาในลาว”

ในกรุงวอชิงตัน คณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดี ไอเซนฮาวเออร์แตกออกเป็น ๒ ฝ่ายต่อกรณีวิกฤติที่เกิดขึ้นในลาว ปัญหาที่ตามมาก็คือ คำถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาควรจะมีปฏิกิริยาอย่างไรในเรื่องนี้

นายพลบางคนในกระทรวงกลาโหมหรือ “เพนทากอน” เสนอให้ใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดราชอาณาจักรเล็กๆแห่งนี้ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารเข้าไปในลาว ซีไอเอก็แบ่งเป็น ๒ พวก ฝ่ายยหนึ่งสนับสนุนฝ่ายขวา และอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนฝ่ายเป็นกลางในลาว

เสียงของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ใช้กรณีของลาวเป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายของเมริกา ในขณะที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยคนหนึ่งในกระทรวงต่างประเทศชื่อว่าวิล เลียม ซัลลิแวน ได้ร่างแผนการแบ่งประเทศลาวออกเป็น ๓ ส่วน คือ ฝ่ายนิยมกษัตริย์หรือฝ่ายขวา ฝ่ายนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ และฝ่ายเป็นกลาง

ในส่วนความรับผิดชอบของไอเซนฮาวเออร์นั้น เขาจะไม่รับเป็นผู้บริหารแผนนี้ ขณะนั้นเป็นช่วงใกล้จะจบสมัยที่ ๒ ในตำแหน่งของเขาและจะมีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกับระหว่างรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันและวุฒิสมาชิก จอห์น เอฟ เคนนาดี้ แห่งรัฐแมสซาจูเซต ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ไอเซนฮาวเออร์ไม่ต้องการเริ่มนโยบายใหม่ไว้ให้ผู้รับทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากเขา

No comments: