Wednesday, August 1, 2007

บทความที่ ๑๘๙. เส้นทางชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

เส้นทางชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

ลูกพระยา
๒๔๔๕ กำเนิด
๒ มกราคม ด.ญ.พูนศุข ณ ป้อมเพ็ชร์ เกิดในเมืองสมุทรปราการ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) และพระยาชัยวิชิตวิศิษณ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพ็ชร์) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ นามพูนศุข ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

๒๔๖๑ การศึกษา
ครอบครัวย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ ด.ญ.พูนศุข เข้าเรียนที่โรงเรียนเชนต์โยเซฟคอนแวนต์ ถนนสีลม ซึ่งเป็นโรงเรียนฝรั่งที่โก้และแพงมาก มีรถเปิดประทุนจากที่บ้านไปรับส่งตลอด

๒๔๗๑ เริ่มต้นชีวิตครอบครัว
๑๖ พฤศจิกายน นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพ็ชร์ เข้าพิธีสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ บุตรนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์ ปรีดี และ พูนศุขมีบุตรธิดา ๖ คนคือ ลลิตา ปาน สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี

ภริยานักการเมือง
๒๔๗๕ อภิวัฒน์สยามประเทศ
๒๔ มิถุนายน พูนศุขไม่ทราบมาก่อนเลยว่า สามีของตนเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรที่ได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะนายปรีดีต้องการรักษาความลับ จึงหลอกภรรยาว่าช่วงนั้นจะไปบวชที่อยุธยา

๒๔๗๖ เดินทางไกลครั้งแรก
หลังจากนายปรีดีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติหรือสมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากแต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาบีบให้เดินทางออกนอกประเทศทันที พูนศุขจำต้องทิ้งลูกน้อยไว้ให้คุณแม่เลี้ยง แล้วติดตามนายปรีดีเดินทางไกลสู่ต่างประเทศ

๒๔๘๒ บรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง
๒๐ กันยายน พูนศุข พนมยงค์ ในวัยเพียง ๒๘ ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมิหดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์


ในห้วงสงคราม
๒๔๘๓ หนังพระเจ้าช้างเผือก
สงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้นในยุโรป ปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก อันมีเนื้อหาว่าด้วยสันติภาพเพื่อต่อต้านการทำสงคราม โดยพูนศุขทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองถ่าย

๒๔๘๔ ขบวนการเสรีไทย
๘ ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย ต่อมารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ปรีดี พนมยงค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ขณะที่พูนศุขทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามขณะนั้น และเขียนรหัสด้วยลายมือเพื่อรักษาความลับ

๒๔๘๘ วันสันติภาพ
๑๖ สิงหาคม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสันติภาพขึ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า การประกาศสงครามต่อประเทศสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย และการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามเหมือนญี่ปุ่น เยอรมนี และ อิตาลี

มรสุมชีวิต
๒๔๘๙ กรณีสวรรคต
-๒ มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสัตยา (สาย โรจนดิศ) อัญเชิญบัตรอวยพรวันเกิดพระราชทานแด่ท่านผู้หญิงพูนศุข ที่ทำเนียบท่าช้าง
-๙ มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคต พรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับ ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวหาว่านายปรีดีมีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคต ถึงกับจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดี ฆ่าในหลวง”สิงหาคม ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เดินทางไปพบผู้นำประเทศในเอเซีย ยุโรป และอเมริกาตามคำเชิญ และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติเป็นเวลา ๓ เดือน

๒๔๙๐ รัฐประหารเลือด
คืนวันที่ ๘ พฤศจิกายน คณะรัฐประหารนำโดยผลโท ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจการปกครองและตามล่าปรีดี โดยใช้ปืนกลกราดยิงเข้าไปในทำเนียบท่าช้างที่ขณะนั้นพูนศุขกับลูกๆ อยู่ในบ้าน พูนศุขตะโกนออกไปว่า “อย่ายิง อย่ายิง ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”

๒๔๙๒ ขบวนการประชาธิปไตยถูกทำลาย
๒๖ กุมภาพันธ์ ปรีดีนำกองกำลังผู้รักประชาธิปไตย ประกอบด้วยทหารเรือ อดีตเสรีไทย ฯลฯ เข้าต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แต่ไม่สำเร็จดังที่เรียกกันในภายหลังว่ากบฏวังหลวง พูนศุขพาสามีไปหลบซ่อนตัวที่บ้านสวนฉางเกลือ ย่านฝั่งธน และวางแผนให้ปรีดีลงเรือหนีออกนอกประเทศอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางการไล่ล่าของฝ่ายตรงข้าม

๒๔๙๕ ติดคุกข้อหากบฏ
พฤศจิกายน พูนศุขและปาน ลูกชายคนโตถูกตำรวจสันติบาลค้นบ้านและจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” พูนศุขถูกจองจำอยู่ในกรงขัง ๘๔ วัน เพื่อให้ยอมสารภาพว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน

ลี้ภัยการเมืองในต่างแดน
๒๔๙๖ ถูกบีบให้ออกนอกประเทศ
เมษายน เมื่อออกจากคุก พูนศุขมีสภาพจิตใจบอบช้ำมาก ลูกติดคุก สามีหายไป ขาดการติดต่อมา ๔ ปี และครอบครัวไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจพาลูกสาว ๒ คนเดินทางไปหาลูกสุดาที่เรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสไม่นานนักปรีดีส่งข่าวมาว่าลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน พูนศุขกับลูกเดินทางไกลด้วยรถไฟขบวนยาวที่สุดในโลก (ทรานไซบีเรีย)จากยุโรปตะวันออกสู่ประเทศจีน เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ครอบครัวพนมยงค์ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีกครั้งในบ้านพักกรุงปักกิ่งได้รับทราบข่าวทางวิทยุว่าปาลถูกศาลตัดสินจำคุก ๒๐ ปี

๒๔๙๙ จากเหนือสู่ใต้
มิถุนายน นายปรีดีทำเรื่องถึงรัฐบาลจีนเพื่อขอย้ายครอบครัวไปอยู่ทางใต้ เพราะทนอากาศหนาวในกรุงปักกิ่งช่วงฤดูหนาวไม่ไหว ต่อมาได้รับอนุญาตให้อพยพไปอยู่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง

๒๕๐๐ กลับมาเยี่ยมบ้าน
เมษายน พูนศุขบินกลับมาเยี่ยมบ้านเมื่อได้รับข่าวว่าคุณแม่ป่วยหนัก และปาลได้รับนิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาล

๒๕๑๑ ครบรอบ ๔๐ ปีแห่งการสมรส
๑๖ พฤศจิกายน ปรีดีเขียนจดหมายถึงภรรยามีความตอนหนึ่งว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุทิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”

๒๕๑๓ อพยพมาอยู่ฝรั่งเศส
นายปรีดีขออนุญาตรัฐบาลจีนย้ายครอบครัวมาอยู่ในเมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส เพราะรู้สึกเกรงใจทางจีนที่ให้การดูแลอย่างดี และที่ฝรั่งเศสสามารถติดต่อกับคนในประเทศไทยได้สะดวกกว่า ตอนนั้นปรีดีมีรายได้จากเงินบำนาญปีละ ๔,๐๐๐ บาทกันยายน ได้รับเชิญจากลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบตแตน อดีตผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ไปเยือนที่บ้านพักในอังกฤษ

ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ
๒๕๑๘ ฟ้องหมิ่นประมาท
พูนศุขเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านอีกครั้ง เพื่อติดตามคดีที่นายปรีดีฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ที่เขียนโจมตีนายปรีดีว่าพัวพันกรณีสวรรคต จนนายปรีดีชนะคดี

๒๕๒๕ ลูกชายเสียชีวิต
ปาล ลูกชายคนโต เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย ๕๐ ปี ก่อนมอบร่างให้โรงพยาบาล แม่พูนศุขจูบลาลูกเป็นครั้งสุดท้ายและบอกลูกว่า “ชาตินี้ลูกมีกรรมเกิดมาอาภัพและลำบาก ถ้าชาติหน้ามีขอให้ลูกมีชีวิตที่สบายกว่านี้”

๒๕๒๖ คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ
๒ พฤษภาคม ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ที่บ้านพักอองโตนี สิริอายุได้ ๘๓ ปี

๒๕๒๙ ปรีดีกลับเมืองไทย
พูนศุขนำอัฐิของนายปรีดีกลับมาเมืองไทยก่อนจะนำอังคารไปลอยในอ่าวไทย

๒๕๓๐ กลับบ้าน
พูนศุขย้ายไปอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรที่บ้านพักในซอยสวนพลู ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ และช่วยงานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์

๒๕๔๓ ๑๐๐ ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์
พูนศุขเป็นแม่งานจัดงานครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

๒๕๔๕ บั้นปลายชีวิต
ในวัย ๙๐ ปี พูนศุขผู้มีความทรงจำแม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ เคยเขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบ มิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกัน รำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตรายช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้นด้วยความขอบคุณ”

๒๕๕๐ วาระสุดท้าย
๑๒ พฤษภาคม เวลา ๑๒.๐๐ น. พูนศุข พนมยงค์ ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน ก่อนจากไปได้เขียนสั่งลูกๆ ไว้ว่า “มอบศพให้โรงพยาบาล และไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น”
จากวารสาร สารคดีฉบับที่ ๒๖๙ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐

No comments: