Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๑๐. บทความชิ้นสุดท้าย ตอนที่ ๑

บทความชิ้นสุดท้ายของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
๑. ช่วงพุทธศักราช ๒๔๕๕-๒๔๘๔

ร.ศ. ๑๓๐ (พุทธศักราช ๒๔๕๔) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงวิชิตสรไกร ไปรับราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระสมุทรบุรานุรักษ์” (ขำ)

พระสมุทรบุรานุรักษ์ บิดาของข้าพเจ้า ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวรุณฤทธีศรีสมุทรปราการ พระยาเพชรฎา และ “พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา” ตามลำดับ

สมัยนั้นชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการมีพลับพลาที่ประทับแรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเสด็จไปเปลี่ยนพระอิริยาบถในฤดูร้อน

พลับพลาที่ประทับแรมอยู่ในบริเวณเดียวกับจวนเจ้าเมือง

ปลายเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๕ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ได้เสด็จไปประทับ ณ พลับพลานั้น

พระสมุทรบุรานุรักษ์กับภรรยาถวายการต้อนรับสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์ทรงทราบว่าพระสมุทรฯ เป็นน้องชายท่านผู้หญิงตลับ สุขุม ภรรยาของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

พระสมุทรฯ กับภริยาได้นำบุตรีวัย ๔ เดือนเศษเข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานนาม

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ อัญเชิญพระราชหัตถเลขา พระราชทานนามเด็กหญิงนั้นว่า “พูนศุข” และพระราชทานเหรียญทองลงยาอักษรพระนาม “ส.ผ.”

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา) ได้ตามเสด็จสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ดังนั้น ในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงครั้งนี้ จึงได้เข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ด้วย

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับแรมที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ได้พระราชทานนามสกุล “ณ ป้อมเพชร์” แก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยการพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นอันดับที่ ๑๕๐

ปรีดี พนมยงค์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง “การพระราชทานนามสกุล ณ ป้อมเพชร์” ตอนหนึ่งว่า

ท่านเจ้าคุณ๑ ผู้รับพระราชทานนามสกุลได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับแรมที่อ่างศิลานั้น ท่านเจ้าคุณขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการเมือง (ต่อมาเปลี่ยนเรียกว่าจังหวัด) สมุทรปราการซึ่งเป็นเขตติดต่อกับจังหวัดชลบุรี ได้ไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยยังมิได้คิดขอพระราชทานนามสกุล เพราะเรื่องนี้ยังมิได้ปรึกษาญาติที่สืบจากบรรพบุรุษเดียวกัน แต่เมื่อได้เข้าเฝ้าถวายบังคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ได้ทรงมีพระราชกระแสขึ้นก่อนว่า “ถ้าจะมาขอนามสกุลละกระมัง” (ระหว่างนั้นกำลังทรงพระสำราญในการทรงพระราชดำรินามสกุลของข้าราชบริพารที่ใกล้ชิด) ท่านเจ้าคุณฯ ก็เลยกราบบังคมทูลสนองพระราชกระแสรับสั่ง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงปรารภในท่ามกลางผู้เข้าเฝ้าหลายคน อาทิ พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา) ถึงการที่ทรงทราบประวัติบรรพบุรุษของพระสมุทรฯ (ขำ) พระองค์ทรงคุ้นเคยกับพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) อดีตผู้รักษากรุงฯ บิดาของพระสมุทรฯ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาตที่บ้านท่านผู้นี้ ขณะที่พระองค์ดำรงอิสริยยศมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศน์ และทรงคุ้นเคยกับท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม) พี่สาวของพระสมุทรฯ ขณะที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ พระองค์ทรงปรารภว่า บรรพบุรุษของพระสมุทรฯ เป็นคนในบ้านสมเด็จพระปฐมฯ (พระราชบิดารัชกาลที่ ๑) ตั้งบ้านอยู่บริเวณป้อมเพชร์ รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงอุทิศที่บ้านส่วนใหญ่สร้างเป็นวัดสุวรรณดาราราม ที่เหลืออยู่ก็ให้ข้าหลวงเดิม ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณป้อมเพชร์ต่อ ๆ กันมา และตั้งลูกหลานเป็นผู้ช่วยผู้รักษากรุงฯ บ้าง ผู้รักษากรุงฯ บ้างต่อ ๆ มาหลายชั่วคน แล้วรับสั่งว่า “จะให้ว่า ณ อยุธยาก็ไม่ได้ เพราะอยุธยาเป็นของฉัน” คือทรงหมายถึงพระองค์เคยทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหลวงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา (ควรสังเกตว่าขณะแรกมี พ.ร.บ. นามสกุลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้บุคคลที่สืบสายจากราชสกุลนั้นใช้คำว่า ณ กรุงเทพฯ ต่อท้าย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น ณ อยุธยา เริ่มใช้ตั้งแต่วันมหาจักรีที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ครั้นแล้วมีพระราชดำรัสให้ราชเลขานุการที่ตามเสด็จเขียนบัตรตั้งนามสกุลโดยพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยวชิราวุธ ป.ร. พระราชทานแก่พระสมุทรบุรานุรักษ์ (ขำ) ว่า ณ ป้อมเพชร์ เขียนเป็นอักษรโรมันว่า na Pombejra

พระสมุทรฯ จึงได้แจ้งให้ญาติที่สืบสายจากบรรพบุรุษทราบตามความสมัครใจของผู้ที่ประสงค์ใช้นามสกุลนี้ แต่ก็มีบางสายที่ได้รับพระราชทานนามสกุลอย่างอื่น

เมื่อบิดาข้าพเจ้ากลับพระนคร ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มารดาข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ อยู่เสมอ

งานเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ หลายครั้ง โปรดเกล้าฯ พระราชทานการ์ดเป็นพระราชเสาวนีย์ให้มารดาข้าพเจ้านำบุตรธิดาเข้าเฝ้ารับพระราชทานเลี้ยง ณ วังพญาไท

พระองค์รับสั่งถามเด็ก ๆ ที่เข้าเฝ้าว่า “ชื่ออะไร” “ลูกใคร”

จากนั้นพระราชทานสลากของเล่นแก่บุตรธิดาข้าราชการ บรรจุอยู่ในตลับเซลลูลอยด์เล็ก ๆ โดยมีคุณข้าหลวงพาไปรับของเล่นพระราชทาน

ส่วนอาหารพระราชทานในวันนั้นที่จำได้มี ทอดมันกุ้ง หมูหวาน แกงจืด และขนมหวาน

พ.ศ. ๒๔๖๒ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ ๕๗ พรรษา

สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ประทับ ณ ตำหนักในสวนสุนันทา

มารดาข้าพเจ้าเข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ เป็นประจำ ทุกครั้งจะถวายสิ่งละอันพันละน้อย เช่นน้ำปลาดี ที่บรรจุในภาชนะน่ารับประทาน ด้วยฝีมือของมารดาข้าพเจ้า

ตอนเย็น ๆ ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ จะเสด็จไปวังสระปทุม

มารดาข้าพเจ้าก็มักจะไปวังสระปทุมและเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ จนเป็นที่ทรงคุ้นเคย สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับสั่งให้ “คุณหญิงเพ็ง” มารดาข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่บริเวณอัฒจันทร์ ชั้นสองของพระตำหนัก



สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงฉลองพระชนมายุ ๖๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๕ มีงานสมโภชใหญ่ มารดาข้าพเจ้าได้เข้าไปช่วยงานที่ตำหนักทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ในสวนสุนันทา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ พระราชทานเข็มกลัด พระนามาภิไธย “สว” ทองลงยาให้มารดาข้าพเจ้า ส่วนลูก ๆ ได้รับพระราชทานเหรียญ “สว” เงินลงยา

เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ ข้าพเจ้าเข้าสู่พิธีมงคลสมรสกับนายปรีดี พนมยงค์ และมารดาข้าพเจ้าได้พาเข้าเฝ้าในเวลาต่อมา

ในการเข้าเฝ้าครั้งนั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงถามถึงการศึกษาของนายปรีดี เมื่อทรงทราบว่า สำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ จึงรับสั่งถามว่า “พูดได้กี่ภาษา”

สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ได้พระราชทานเข็มเงินลงยา “เจริญสุข” ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ประทานปลอกผ้าเช็ดมือถมเงิน ก่อนหน้านั้นยังประทานบุหงาเป็นของชำร่วยในงานสมรส นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างสูง

ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ประทานชื่อบุตรสาวคนโตของข้าพเจ้าว่า “ลลิตา” และประทานเหรียญห้อยคอทองลงยามีอักษรพระนาม “วอ”

มารดาข้าพเจ้านำน้องสาว ๓ คนของข้าพเจ้า เพียงแข, นวลจันทร์, อุษา เข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์เป็น “ข้าหลวงเรือนนอก” ให้ศึกษาที่ ร.ร. ราชินี

ฤดูหนาวปีหนึ่ง อากาศหนาวเย็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ทรงให้คุณข้าหลวงนำผ้าห่มมาพระราชทานมารดาข้าพเจ้าที่บ้านป้อมเพชร์ พระองค์รับสั่งว่า “อากาศหนาว เห็นใจคนแก่”

พุทธศักราช ๒๔๘๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชา เสด็จนิวัตพระนคร สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. สั้น นพวงศ์ ข้าหลวงอาวุโส นำพระราชเสาวนีย์รับสั่งโปรดเกล้าฯ ให้มารดาข้าพเจ้าตามเสด็จไปปากน้ำ สมุทรปราการ เพื่อรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ซึ่งต่อมา เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ได้เทียบท่าที่ท่าราชวรดิฐ

บรรดาคุณข้าหลวงในสมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ มีอยู่ท่านหนึ่ง คือ นางสาวอำไพ ณ ป้อมเพชร์ ญาติข้าพเจ้า เป็นธิดาของพระยาเพชรฎา (สอาด) กับ ม.ล. จิตรจุล (สกุลเดิม กุญชร) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้คุณอำไพไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อถวายพระอักษรภาษาไทยพระราชนัดดา คุณอำไพ ณ ป้อมเพชร์ นั้นเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มารดาข้าพเจ้าและข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ พระองค์มิได้ทรงกริ้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รับสั่งว่า “ทั่วโลกเขาก็เป็นแบบนี้ แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบ”

ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงฯ ทรงพระเมตตามารดาข้าพเจ้ามาก พระองค์เสด็จไปต่างประเทศเพื่อรักษาพระวรกาย ๒ ครั้ง เมื่อเสด็จกลับครั้งแรก ประทานกระเป๋าใส่เครื่องสำอางแก่มารดาข้าพเจ้า ในนั้นมีขวดแก้วจุกขวดสีม่วง สวยงามสะดุดตา ครั้งที่ ๒ ประทานผ้าแพรคลุมไหล่ มารดาข้าพเจ้าไปเฝ้าที่วังคันธาวาส ถนนวิทยุ ขณะนั้นพระองค์กำลังประชวร และจากนั้นไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์

เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่สิ่งของประทานต่าง ๆ ได้สูญหายไปเมื่อครอบครัวข้าพเจ้าเผชิญสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด อันเนื่องจากมรสุมการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า

No comments: