รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย
"การที่จะอนุญาตหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่มีอำนาจแต่อย่างใด เพราะท่านก็ทราบดีแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อำนาจสั่งไม่ให้ต่อสู้นั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่ง ... ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศเป็นคำสั่งประจำไว้แล้วว่า ไม่ว่ากองทหารประเทศใด ถ้าเข้ามาแผ่นดินไทย ให้ต่อต้านอย่างเต็มที่ ฉะนั้นผู้ที่จะยกเลิกคำสั่งนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด"
นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวภายหลังเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ยื่นคำขาดขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อไปโจมตีพม่าและมลายู ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของอังกฤษ ในเวลา ๒๒.๓๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยขอให้รัฐบาลตอบภายใน ๔ ชั่วโมง
นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวภายหลังเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ยื่นคำขาดขอให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย เพื่อไปโจมตีพม่าและมลายู ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของอังกฤษ ในเวลา ๒๒.๓๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยขอให้รัฐบาลตอบภายใน ๔ ชั่วโมง
แต่ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังตรวจราชการอยู่ที่ชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สงครามกับมหามิตรที่กลายเป็นผู้รุกรานเพียงข้ามคืน ก็มิอาจเลี่ยงได้
ระหว่างรอยต่อของคืนวันที่ ๗ ถึง ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นเริ่มยุทธการสายฟ้าแลบ ด้วยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ล ฮาเบอร์ เกาะฮาวาย หลังจากนั้นจอมพล เคานท์ ฮิซะอิจิ เทราอูจิ แม่ทัพใหญ่ภาคใต้ที่มีกองบัญชาการอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ได้สั่งการให้กองทัพญี่ปุ่นทุกหน่วยเคลื่อนเข้าประเทศไทยตามจุดต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
การเคลื่อนทัพผ่านไทยผ่านมาทางพระตะบอง ไม่ปรากฏการต่อต้านจากกองทัพไทย เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัฐบาลอาจจะทำความตกลงกับกองทัพญี่ปุ่นไว้แล้ว เนื่องจากจอมพล ป. เพิ่งเดินทางออกจากพระตะบองเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า
ขณะที่การยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่นที่สมุทรปราการ ต้องพบกับการเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรัดกุม ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำได้เพียงการคุมเชิงกัน
แต่การยกพลขึ้นบกที่ภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันทั้งจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีทั้งการตอบโต้การโจมตีทางอากาศ การต่อสู้ระยะใกล้ จนถึงการรบที่มีลักษณะประชิดและถึงขั้นเข้าตะลุมบอนกันของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่คณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมตั้งแต่ ๒๓.๐๐ น. ของวันที่ ๗ ธันวาคม ทำได้แต่เพียงส่งตัวแทนไปเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อยืดระยะเวลาเท่านั้น แต่ก็ไร้ผล
เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม เวลา ๐๖.๕๐ น. จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อได้รับฟังการประเมินศักยภาพทางการทหารแล้วว่ามิอาจต่อต้านญี่ปุ่นได้ ขณะเดียวกันความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรก็เป็นไปได้อย่างยากยิ่ง คำตอบที่ได้จากนายกรัฐมนตรีก็คือ
ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน เพราะไทยไม่มีกำลัง ทางที่ดีที่สุดคือรักษาชีวิตของชาติและพลเมืองไว้ก่อน
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในเวลา ๐๗.๓๐ น. ให้ยุติการสู้รบ และได้มีการลงนามในยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้โดยมีเงื่อนไข คือ
๑. ญี่ปุ่นต้องไม่ปลดอาวุธฝ่ายไทย
๒. ญี่ปุ่นจะไม่พักอยู่ที่กรุงเทพฯ
๓. ให้มีข้อตกลงเฉพาะทางทหารเท่านั้น
๔. ข้อตกลงนี้เด็ดขาดจะไม่มีการขออะไรมากกว่านี้
รัฐบาลได้แถลงต่อประชาชนในเวลา ๑๒.๐๐ น. ว่า
"จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นและผ่อนผันให้ทางเดินแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รับคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น การต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง"
แต่ความเป็นจริงแล้วการสู้รบหาได้ยุติลงเมื่อรัฐบาลแถลง เพราะในเวลานั้นการสื่อสารยังเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับในเวลาสงครามข่าวสารที่ได้รับนั้นถ้ามีความไม่มั่นใจก็เป็นการยากที่จะยอมรับได้ ความเชื่อที่ว่ารัฐบาลจะสั่งยอมแพ้อย่างง่ายดายนั้น ไม่เคยมีอยู่ในความคิดของผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้าแลก เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น
จุดสุดท้ายที่ยุติการสู้รบคือบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเวลา ๑๒.๐๐ น. ของวันที่ ๙ ธันวาคม
หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ก็ถลำลึกมากขึ้น ๑๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีการทำสัญญาพันธมิตรร่วมรบ อีก ๑๐ วันต่อมาก็ทำสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ ในสงครามมหาเอเชียบูรพากับญี่ปุ่น
สุดท้ายก็นำมาสู่การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งก็เท่ากับการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว
กระแสความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความไม่พอใจที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ก่อนหน้านั้นมีท่าทีแข็งกร้าวในอันที่จะต่อต้านผู้รุกราน คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่ไม่พอใจนโยบายของจอมพล ป. เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
กลุ่มคนไทยในต่างประเทศกรรมกร หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เคยสนับสนุนนโยบายชาตินิยม เมื่อคราวเรียกร้องดินแดนคืน แต่ละกลุ่มได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาล และการเข้ามารุกรานของญี่ปุ่น แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความ "ชอบธรรม" อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่ได้ตราไว้ก่อนหน้านั้น เช่น การกำหนดหน้าที่คนไทยในการรบ การจำกัดสิทธิคนไทยผู้กระทำการอันเป็นภัยต่อชาติ ฯลฯ โดยมีบทลงโทษมีตั้งแต่การจำคุก ไปจนถึงการประหารชีวิต อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่า ดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น
ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกราน จึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ แม้แต่คนใกล้ชิดก็ให้รับทราบไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องจำกัดวงของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละฝ่าย เป็นการรักษาความลับในกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดถูกจับกุม เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อขบวนการโดยรวม
จากจุดเริ่มต้นของแต่ละกลุ่ม ที่มีความหลากหลายทางความคิด หรือแม้กระทั่งเคยขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้น แต่เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต และจุดหมายเฉพาะหน้าคือการรักษาเอกราชอธิปไตยและขับไล่ผู้รุกราน ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานร่วมกันจนกลายเป็นขบวนการเสรีไทย
และเมื่อรำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ก็ขอให้เป็นอย่างที่ "นายฉันทนา" ได้เขียนไว้ในหนังสือ XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย ว่า
"ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคลซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ขอให้นึกถึงงานอันอมตะของเขา บุคคลอาจจะแตกต่างด้วยกำเนิด ด้วยฐานะและการศึกษา แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรม ที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน"
กลุ่มคนไทยในต่างประเทศกรรมกร หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เคยสนับสนุนนโยบายชาตินิยม เมื่อคราวเรียกร้องดินแดนคืน แต่ละกลุ่มได้รวมตัวกันทำกิจกรรมที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาล และการเข้ามารุกรานของญี่ปุ่น แต่รัฐบาลถือว่าตนเองมีความ "ชอบธรรม" อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่ได้ตราไว้ก่อนหน้านั้น เช่น การกำหนดหน้าที่คนไทยในการรบ การจำกัดสิทธิคนไทยผู้กระทำการอันเป็นภัยต่อชาติ ฯลฯ โดยมีบทลงโทษมีตั้งแต่การจำคุก ไปจนถึงการประหารชีวิต อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาประจำการในประเทศ ก็ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่า ดำเนินกิจกรรมต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น
ดังนั้นปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลและญี่ปุ่นผู้รุกราน จึงต้องเป็นงาน "ใต้ดิน" ที่ปิดลับ แม้แต่คนใกล้ชิดก็ให้รับทราบไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องจำกัดวงของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละฝ่าย เป็นการรักษาความลับในกรณีที่ผู้หนึ่งผู้ใดถูกจับกุม เพื่อไม่ให้เป็นผลเสียต่อขบวนการโดยรวม
จากจุดเริ่มต้นของแต่ละกลุ่ม ที่มีความหลากหลายทางความคิด หรือแม้กระทั่งเคยขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านั้น แต่เมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต และจุดหมายเฉพาะหน้าคือการรักษาเอกราชอธิปไตยและขับไล่ผู้รุกราน ส่งผลให้คนเหล่านี้เข้ามาทำงานร่วมกันจนกลายเป็นขบวนการเสรีไทย
และเมื่อรำลึกถึงขบวนการเสรีไทย ก็ขอให้เป็นอย่างที่ "นายฉันทนา" ได้เขียนไว้ในหนังสือ XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย ว่า
"ขอให้เราอย่านึกถึงตัวตนของบุคคลซึ่งย่อมร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ขอให้นึกถึงงานอันอมตะของเขา บุคคลอาจจะแตกต่างด้วยกำเนิด ด้วยฐานะและการศึกษา แต่การเสียสละเป็นยอดแห่งคุณธรรม ที่ยกให้มนุษย์อยู่ในระดับเดียวกัน"
No comments:
Post a Comment