Friday, August 17, 2007

บทความที่ ๒๓๑.กษัตริย์ผู้ทำลายพระพุทธศาสนา

กษัตริย์ผู้ทำลายพระพุทธศาสนา
ในช่วงเวลาที่ทัพมุสลิมอาหรับและต่อมามุสลิมเตอร์กรุกเข้ามาเพื่อครอบครองดินแดนในชมพูทวีป ได้เข่นฆ่าทำลายทั้งชีวิตทรัพย์สินและพรากพระพุทธศาสนาไปเสียจากแผ่นดินต้นกำเนิดนั้น แต่ก่อนหน้านั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียก็อยู่ในภาวะเสื่อมถอยไปจากหลักพุทธธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์มากแล้ว ดังจะได้กล่าวถึงความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดียซึ่งอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่มุสลิมจะเข้าปิดฉากอย่างสิ้นเชิง ในหนังสือ “จาริกบุญ จารึกธรรม” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)หน้า ๔๗๖ มีข้อความว่า

G.C. Pande เขียนไว้ว่า

“การโจมตีพุทธศาสนาในด้านหลักคำสอน ไม่สามารถอธิบายความเสื่อมของพระพุทธศาสนา(หมายความว่า ถึงจะมีการโจมตีหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อมไปได้) ความเป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนาของพวกพราหมณ์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การโจมตีหลักธรรม”
(Joshi,313)

พระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้เผชิญกับการทำลายล้างด้วยการใช้กำลังรุนแรงหลายยุคหลายสมัย ขอยกเหตุการณ์ที่สำคัญมาให้ดูให้ฟัง โดยเฉพาะการทำลายฆ่าฟันโดยกษัตริย์หรือราชานอกพุทธศาสนา

กษัตริย์ ปุษยมิตร ประมาณ พ.ศ. ๓๕๖-๓๙๒ อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้าเมนานเดอร์ หรือ มิลินทะ กษัตริย์พุทธแห่งแคว้นโยนก หรือ Bactria ซึ่งครองราชย์ที่เมืองสากละ ในปัญจาบปัจจุบัน กษัตริย์ปุษยมิตรเดิมทีเป็นพราหมณ์ รับราชการเป็นเสนาบดีอยู่กับราชาองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมริยะ หรือเมาริยะ ซึ่งเป็นราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ปุษยมิตรได้จับราชาองค์สุดท้ายนั้นไปฆ่าเสีย แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ศุงคะ

มีเรื่องบันทึกไว้ว่า ปุษยมิตรได้รื้อฟื้นประกอบพิธีอัศวเมธ ฆ่าม้าบูชายัญ ที่พระพุทธศาสนาติเตียนและทำให้ประเพณีนี้ซบเซาเงียบหายไปนาน นอกจากนั้นได้ทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัด กำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยถึงกับตั้งค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าพระภิกษุได้ รูปละ ๑๐๐ ทินาร์

กษัตริย์อินเดียที่ทำลายพระพุทธศาสนาองค์ที่ ๒ ที่จะกล่าวถึงคือ กษัตริย์มิหิรกุละ เป็นชนเผ่าฮั่นขาวหรือหูณะ ที่บุกเข้าอินเดียมาทางอิหร่านและอาฟกานิสถาน ครองราชย์ พ.ศ.๑๐๕๐ เศษที่เมืองสากละ มิหิรกุละเป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระศิวะ คือ อิศวร) ได้พิโรธที่พระสงฆ์ส่งพระผู้น้อยมาอธิบายคำสอนในพุทธศาสนา

ในบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง บันทึกไว้ว่า มิหิรกุละได้สั่งให้กำจัดพระพุทธศาสนาให้หมดสิ้นจากดินแดนของพระองค์ทุกแห่ง เป็นเหตุให้ถูกพระเจ้าพาลาทิตย์ กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะแห่งมคธ ตอบโต้ทำสงครามกัน มิหิรกุละถูกจับไปจองจำไว้

ต่อมามิหิระกุละหลบหนีไปลี้ภัยที่แคว้นกัสมีระ (แคชเมียร์) จากนั้นสังหารกษัตริย์แห่งกัสมีระที่ให้ตนหลบลี้ภัยนั้นเสีย สถาปนาตนเป็นกษัตริย์เสียเอง แล้วรื้อฟื้นแผนการกำจัดพระพุทธศาสนา โดยล้มล้างพระสถูปทั้งหลาย ทำลายวัด ๑,๖๐๐ แห่ง สังหารพุทธศาสนิกชนจำนวน ๙๐๐ โกฏิ แต่ในที่สุด ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม โดยโจนเข้ากองไฟ เรื่องหาอ่านได้ เช่น Joshi,321; Smith,177;Encycl.Britannica 1998, vol. 20, p.592)

ศาศางกะ กษัตริย์ผู้ทำลายพุทธศาสนาองค์ต่อมา เป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะเช่นเดียวกัน ครองราชย์ในแคว้นเคาฑะ (ปัจจุบันเป็นแคว้นเบงกอลภาคกลาง)ประมาณ พ.ศ.๑๑๕๐ ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์พุทธนามว่าราชยวรรธนะ

หลวงจีนเหี้ยนจังบันทึกไว้ว่า ศาศางกะได้สังหารพระภิกษุในแถบกุสินารา (กุศินคร)หมดสิ้น ทำให้สงฆ์พินาศไป และเป็นราชาที่ไปโค่นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาลง ขุดรากขึ้นมาเผา กับทั้งนำเอาพระพุทธรูปออกไปจากพระวิหารทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น แล้วนำเอาศิวลึงค์สัญลักษณ์ของชาวฮินดูไปไว้แทน

ศาศางกะได้ทำลายพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย แม้แต่เหรียญเงินตราของกษัตริย์นี้ ก็เขียนกำกับชือราชาไว้ว่า “ผู้ปราบพุทธศาสนา”

ท้ายที่สุด ประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐ กองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาแถบรัฐพิหารและเบงกอลนั้น แล้วทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการเผาวัด ฆ่าพระภิกษุสงฆ์จดหมดสิ้น พระพุทธศาสนาก็สูญไปจากประเทศอินเดีย

ผู้เขียนคำ “Hinduism” ใน Encyclopaedia Britannica, 1998 เขียนไว้ว่า “ตอนมุสลิมบุกเข้ามานั้น พระพุทธศาสนาก็กำลังถูกกลืนกลับเข้าไปในศาสนาฮินดู”

ที่อาตมานำเรื่องการทำลายพระพุทธศาสนาในอินเดียมาเล่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ไปโกรธแค้น เพราะจุดเน้นของเราอยู่ที่ ภัยภายใน คือความย่อหย่อน อ่อนแอ เสื่อมโทรม ในหมู่พุทธบริษัท ที่เกิดจากความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติที่ออกนอกลู่นอกทาง ผิดจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้กระทั่งไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ว่า “พระพุทธเจ้าสอนอะไร”

ความเสื่อมโทรมที่เป็นภัยภายในนี้แหละ คืออันตรายที่ร้ายแรงที่สุด ถึงไม่มีภัยภายนอกมาทำลาย ก็ทำลายตัวหมดไปเอง

เพราะฉะนั้น จะต้องระลึกถึงคำเตือนของพระพุทธเจ้าเสมอ ให้ไม่ประมาท ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติและสั่งสอนธรรม พร้อมทั้งแก้ไขปรัปวาท ถ้ายังรักษาธรรมไว้ได้ ความเป็นไทก็ยั่งยืน จะรักษาความเป็นไทได้ ก็ต้องรักษาธรรม

No comments: