Wednesday, August 1, 2007

บทความที่ ๑๙๐. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๓

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”

ต่อหนังสือกราบบังคมทูลอย่ากล้าหาญของท่านผู้รักชาติและปรารถนาดีต่อชาติดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยในความปรารถนาดีของท่านเหล่านั้น แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วยที่จะทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างญี่ปุ่น คือปฏิวัติประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยที่จะทรงสูญเสียพระราชอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ทรงรับได้แค่การปฏิรูประบบราชการ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลโดยสรุปดังนี้

“..เพราะฉะนั้น การต้องการในเมืองเราเวลานี้ที่เป็นต้องการสำคัญคือ คอเวินเมนต์ฟอม จำเป็นที่จะให้พนักงานของราชการแผ่นดินทุกๆ กรมทำการให้ได้เนื้อเต็มหน้าที่ และให้ประชุมปรึกษาหารือกันทำการเดินให้ถึงกันโดยง่าย โดยเร็ว ทำการรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว หลีกลี้ไม่ได้ นี่เป็นความต้องการหนึ่ง...

รวมความก็อย่างเดียว คือ คอเวินเมนต์ฟอม นี่แลเป็นต้นเหตุที่จะจัดการทั้งปวงได้สำเร็จตลอด..”

ต่อมาได้มีนักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ที่มีความคิดก้าวหน้า และยืนหยัดอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน ๒ ท่าน ท่านแรกคือ ท่านเทียนวรรณ ซึ่งมีฉายาว่า “วรรณาโภ” ท่านผู้นี้มีคติประชาธิปไตย ได้ออกนิตยสารชื่อว่า “ตุลวิภาคพจนกิจ” เรียกร้องให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดให้มีการปกครองโดยรัฐสภาตามแบบอย่างอารยประเทศ ดังที่ท่านได้เขียนเรียกร้องไว้ในหนังสือตุลวิภาคพจนกิจ เล่ม ๗ วันที่ ๘ กันยายน ร.ศ.๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๕๐) มีความว่าดังนี้

ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นิ่งช้าล้าหลังยังไม่ทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยกับเทียนวรรณอีกท่านหนึ่งคือ ก.ส.ร.กุหลาบ ได้ออกหนังสือชื่อ “สยามประเภท” แคะไค้ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งฝ่ายปกครองขณะนั้นเห็นว่าการแคะไค้เช่นนี้เป็นอันตรายต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงหาทางกำจัดและทำลายความเชื่อถือของราษฎรที่มีต่อความคิดเห็นของ ก.ส.ร.กุหลาบโดยใส่ความโฆษณาแพร่หลายว่า ก.ส.ร.กุหลาบ มีจิตฟุ้งซ่านเสียสติ

ดังกล่าวแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับเหตุผลในการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างกษัตริย์ญี่ปุ่น พระองค์ทรงกระทำได้อย่างมาก็แค่การปฏิรูประบบราชการ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นการกระชับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคง เพราะการปฏิรูปภายในระบอบไหนก็เป็นการกระทำให้ระบอบนั้นมั่นคงยิ่งขึ้น และก็ยังเป็นระบอบนั้นอยู่นั่นเอง ดั่งที่พระองค์ได้ทรงอธิบายไว้ในการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน มีความตอนหนึ่งว่า ดังนี้

“อนึ่ง พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฏหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุนี้ถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อใดสิ่งอันใด หรือผู้ใดจะบังคับขัดขวางได้ แต่เมื่อว่าตามความที่เป็นจริงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประพฤติการอันใด ก็ต้องเป็นไปตามที่สมควรและที่เป็นยุติธรรม

เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่มีความรังเกียจอันใดเลย ซึ่งจะมีกฎหมายกำหนดพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น ประเทศทั้งปวงมีกำหนดต่างๆ กัน เมื่อจะกระทำกฎหมายสำหรับแผ่นดินให้เป็นหลักฐานทั่วถึง ก็ควรจะต้องว่าด้วยพระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นหลักฐานไว้ แต่การซึ่งควรจะกำหนดอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าต้องขอชี้แจงความเห็นอันมิใช่ความเห็นที่เข้ากับตัวไว้โดยย่อว่า

พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ หมายเอาประเทศยุโรปซึ่งปกครองบ้านเมืองมีกำหนดพระบรมราชานุภาพต่างๆ กันด้วยอาศัยเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยความไม่พอใจของราษฎร จึงได้มีข้อบังคับสกัดกั้นเป็นชั้นๆ ตามลำดับเหตุการณ์ ซึ่งมีขึ้นในบ้านเมืองนั้นๆ เหตุการณ์ทั้งปวงนั้นก็ยังไมมี ไม่เป็นได้ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นแบบอย่างจึงยังไม่คงเป็นแบบเดียวกันทั่วไปได้ทุกประเทศ

ส่วนที่กรุงสยามนี้ยังไม่มีเหตุการณ์อันใดซึ่งเป็นการจำเป็นแล้วจึงไม่เป็นขึ้นเหมือนประเทศอื่นๆ ประเทศอื่นๆ ราษฎรเป็นผู้ขอให้ทำ เจ้าแผ่นดินจำใจทำ ในเมืองเรานี้เป็นแต่พระเจ้าแผ่นดินคิดเห็นว่าควรจะทำ เพราะจะเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองและเป็นความเป็นสุขแก่ราษฎรทั่วไปจึงได้คิดทำ เป็นการผิดกันตรงกันข้าม และการที่จะปกครองบ้านเมืองเช่นประเทศสยามนี้ตามอำนาจ อย่างเช่นพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ คือประเทศยุโรป ก็จะไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้และจะไม่เป็นที่ชอบใจของราษฎรทั่วหน้าด้วย

เหมือนอย่างถ้ามีปาลีเมนต์ จะไม่มีผู้ใดสามารถเป็นสมาชิกได้สักกี่คน และโดยว่าจะมีสมาชิกเหล่านั้นเจรจาการได้ ก็ไม่เข้าใจในราชการทั้งปวงทั่วถึง เพราะไม่มีความรู้และการฝึกหัดอันใดแต่เดิมมาเลย ก็คงจะทำให้การทั้งปวงไม่มีอันใดสำเร็จไปได้ และจะซ้ำเป็นที่หวาดหวั่นของราษฎรผู้ซึ่งยังไม่เข้าใจเรื่องราวอันใด เพราะไม่ได้นึกไม่ได้ต้องการเกิดขึ้นในใจเลย

ราษฎรคงจะเชื่อพระเจ้าแผ่นดินมากกว่าผู้ซึ่งจะมาเป็นแมมเบอร์ออฟปาลีเมนต์ เพราะปกติทุกวันนี้ราษฎรย่อมเชื่อถือพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นผู้อยู่ในยุติธรรม และเป็นผู้รักใคร่คิดจะทำนุบำรุงให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งกว่าผู้อื่นทั้งสิ้นทั่วหน้ากันเป็นความจริง

เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นสมควรว่าราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินควรจะกำหนดตามแบบเดิม แต่ในข้อนี้เป็นข้อจริงอย่างไร คือ เหมือนหนึ่งไม่กำหนดตามคำพูดอันนอกๆ แบบ เช่น เรียกพระนามว่า เจ้าชีวิต ซึ่งเป็นที่หมายว่า มีอำนาจอันจะฆ่าคนให้ตายโดยไม่มีความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งความจริงสามารถจะทำได้ แต่ไม่เคยทำเลยนั้น ก็จะเป็นการสมควรแก่บ้านเมืองในเวลานี้อยู่แล้ว”

No comments: