Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๒๐. รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่ ๗

เสรีไทยสายอังกฤษ

"การเข้าข้างผู้รุกราน แม้เป็นฝ่ายชนะก็น่าอับอาย เชื่อว่าคนไทยทั้งมวลไม่เห็นชอบในการร่วมมือกับผู้รุกราน ดังนั้นแม้สัมพันธมิตรจะแพ้ และขบวนการเสรีไทยจะล้มเหลว เพื่อนร่วมชาติของเราก็จะเห็นว่า เราทำหน้าที่ของคนไทยผู้รักชาติรักความเป็นไทย"
ทศ พันธุมเสน

เช่นเดียวกับคนไทยในอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวว่ารัฐบาลยอมให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษต่างไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และได้ประณามการกระทำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทว่าสถานการณ์ในประเทศอังกฤษต่างจากสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ พระมนูเวทวิมลนาท (เบี๋ยน สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทย ไม่เพียงแต่ไม่คัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ยังได้ปรามนักเรียนไม่ให้เคลื่อนไหว โดยการอ่านโทรเลขที่ได้รับจากประเทศไทยให้คณะนักเรียนไทยฟังว่า

"รัฐบาลเปรียบเหมือนช้างเท้าหน้า พวกเราเป็นช้างเท้าหลัง ฉะนั้นขอวิงวอนให้คนไทยทุกคนร่วมใจกันสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลทุกประการ"

ดังนั้นการทำงานร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มต้นจากปัจเจกบุคคลมากกว่า

ดังข้อความใน บันทึกลับของพันโท อรุณ เสรีไทย ๑๓๖ ของ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น ซึ่งเล่าไว้ว่า

"ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายถึงนายเชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อขอรับอาสาเข้าช่วยร่วมมือทำการสู้รบญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เขียนจดหมายลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๕ แสดงความขอบใจที่จะเข้าร่วมมือ และขอให้ข้าพเจ้าช่วยทำการในกรมเสนาธิการข่าวของอังกฤษ ในการทำแผนที่ในประเทศไทย และรวบรวมข่าวคราวเกี่ยวกับประเทศไทย"

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อรัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ และรัฐบาลอังกฤษประกาศสงครามตอบในเวลาต่อมา สถานภาพของคนไทยในตอนนั้นจะอยู่ในสภาพ คนของชนชาติศัตรู

เมื่อจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ มีคนไทยเดินทางกลับเพียง ๓๓ คนจากทั้งหมด ๙๑ คน ส่งผลให้รัฐบาลประกาศถอนสัญชาติคนไทยที่ไม่เดินทางกลับประเทศ

มีนาคม ๒๔๘๕ หลังจาก เสนาะ ตันบุญยืน เข้าพบ ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ เพื่อแจ้งความจำนงว่ามีนักเรียนไทยในอังกฤษเป็นจำนวนมากต่อต้านญี่ปุ่น ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ ก็ทำหนังสือเสนอ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพื่อก่อตั้งกองทหารสู้รบกับญี่ปุ่นในประเทศไทย

แต่เมื่อสรรหาบุคคลที่จะมารับตำแหน่งหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ กลับไม่มีบุคคลใดได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้ เสนาะ ตันบุญยืน ต้องเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

มณี สาณะเสน ในฐานะผู้ที่เคยทำงานในอังกฤษ ได้รับหน้าที่ช่วยรวบรวมคณะเสรีไทยในอังกฤษ แต่ก็ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่นเนื่องจากเขาไม่เป็นที่รู้จักกันของนักเรียนไทยในอังกฤษมาก่อน

แม้สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะไม่มีบทบาทนำในการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่มีคนไทยและนักเรียนไทยสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกองทัพอังกฤษจำนวน ๕๐
คน ผ่านการคัดเลือกเป็นทหาร ๓๕ คน ที่เหลือเป็นอาสาสมัครในแนวหลัง รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษด้วย

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในเสรีไทยได้เขียนถึงความมุ่งหมายของขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษไว้ว่า

"(คนเหล่านี้)อาจจะอาสาสมัครเสรีไทยด้วยเหตุต่าง ๆ กัน ได้มีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้ในระหว่างสมัครเข้ามาใหม่ ๆ ... บางคนก็ว่าสมัครเพื่อกู้ชาติ บางคนสมัครเพื่อเสรีภาพและความชอบธรรมแห่งชีวิต บางคนก็พูดไม่ออก นอกจากนี้ก็เห็นว่าเป็นหน้าที่ อย่างไรก็ตามพอพูดได้ว่า ความมุ่งหมายร่วมกันของพวกเราคือ

๑. พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษ มิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษ แต่ต้องการรับใช้ชาติไทย โดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ

๒. คณะของเรามิต้องการเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศ และไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดเป็นเสรีไทยในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น พวกเราจะร่วมมือทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้ว คณะเสรีไทยอังกฤษจะสลายตัวไป

๓. คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างความดีใด ๆ มาเรียกร้องแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในด้านลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด

๔. คณะเสรีไทยสายอังกฤษได้แสดงให้ทางอังกฤษเห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรกว่า ขณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นทหารก็ยินยอม ทั้งหมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชน ถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานะทหาร"

นอกจากจะมีกลุ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ดำเนินการเป็นขบวนการแล้ว ยังมีประชาชนชาวไทยอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล และการที่ญี่ปุ่นรุกล้ำอธิปไตยไทย หากไม่สามารถแสดงออกมาได้ แต่พร้อมที่จะเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย ภายหลังจากมีการรวมตัวเป็นขบวนการที่แน่นอน

No comments: