Monday, August 6, 2007

บทความที่ ๑๙๖. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๙

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”


ในหนังสือ “พระราชอำนาจ” ของประมวล รุจนเสรี หน้า ๔๔ ในหัวข้อรัฐธรรมนูญ ๑๖ ฉบับมีความว่าดังนี้

“ผู้คนโดยทั่วๆ ไป ถูกชี้นำให้เข้าใจว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็เลยยกฐานะของรัฐธรรมนูญเหนือกว่าฐานะของพระมหากษัตริย์”

ประมวลฯ อธิบายต่อไปอีกว่า

“ความเข้าใจเช่นนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่า พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการใช้ถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ว่า Constitutional Monarchy”

แล้วประมวลฯ ก็ให้คำอธิบายต่อไปว่า

“ที่จริงแล้วพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ”

ก็ใช่ ! ไม่มีใครเถียง พระองค์ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ แล้วประมวลฯก็อธิบายต่อไป

“ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” นี่ก็ใช่เช่นกัน ดังที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา ๘ ชัดเจนแล้วว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ประมวลฯ ยังให้คำอธิบายต่อไป

“อยู่ในฐานะที่สูงกว่ารัฐธรรมนูญ”

ก็ไม่รู้ว่าประมวล รุจนเสรี คิดอย่างไร จึงเอาฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ไปเปรียบเทียบกับฐานะของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฏกติกาของการปกครองประเทศ (ที่ใครต่อใครเหยียบย่ำและฉีกทิ้งกันมาแล้วหลายฉบับ นับแต่คณะรัฐประหาร ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ) ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐) มาตรา ๓ ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งประมวลฯ เองก็ยอมรับในข้อความถัดไปจากข้อความที่ผมยกมาข้างต้นว่า

“เพียงแต่ว่าจะทรงใช้พระราชอำนาจใดๆ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการ ก็ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” ซึ่งก็สอดคล้องกับมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผมยกมาข้างต้นนั้นแล้ว แต่ประมวลฯ ยังแสดงความเป็น Ultra Royalist ด้วยข้อความว่า

“ส่วนพระราชอำนาจอื่นๆ ที่กฏหมายรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้ก็ยังมีอีก โดยเฉพาะ พระราชประเพณี ที่จะได้นำมากล่าวต่อไป”

นี่ประมวลฯ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ ที่ทำความสับสนให้กับผู้อ่านในคำว่า “พระราชอำนาจ” กับ “พระราชประเพณี” เช่นเดียวกับคำว่า “พระราชอัธยาศัย” ให้ผู้อ่านสับสนมาแล้ว

พระราชอำนาจหมายถึง อำนาจอธิปไตย หรือ อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงดำรงสืบมาแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์พระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อ ๖ เมษายน ๒๓๒๕

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นรัชทายาทพระองค์ที่ ๗ ขึ้นเสวยราชย์สืบพระราชอำนาจและราชสมบัติต่อมา ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ และทรงดำรงพระราชอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า

“โดยที่คณะราษฎรได้ขอให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และ โดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้โดยมาตราต่อไปนี้” และมาตราต่อไปนี้มาตรา ๑ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

พระบรมราชโองการที่ผมยกมาข้างบนนี้ เพื่อยืนยันว่าองค์พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีที่สืบพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหนือกฎหมายมาเป็นเวลา ๑๕๐ ปีนับแต่ ๖ เมษายน ๒๓๒๕ จนถึง ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎรให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ แต่ประมวลฯ มาเขียนไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้ที่มีความจงรักภักดีที่แท้จริงลองพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน

ประมวลฯ พูดถึงรัฐธรรมนูญ ๑๖ ฉบับ โดยไม่นับธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว (ฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕) อันเป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ก็ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่นับรวมเข้าไปด้วย แต่แน่ๆ คือทำให้ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญขาดตอนไปช่วงหนึ่ง และเป็นช่วงสำคัญที่สุดในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีชื่อเต็มว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เปรียบเสมือนพินัยกรรมที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มอบอำนาจที่พระองค์ทรงอยู่ให้กับปวงชนชาวสยาม ดังปรากฏอยู่ในมาตรา ๑ ของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

No comments: