Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๑๒. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสุมทรอินโดจีน ตอนที่๑

ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน

เมื่อกองทัพมุสลิมเตอร์ก ยาตราทัพมาตีชมพูทวีปและตั้งรัฐแห่งสุลต่านขึ้นที่เมืองเดลี ในปี ค.ศ.๑๒๐๖ (พ.ศ.๑๗๔๙) เป็นจุดกำหนดแห่งการสิ้นสุดของพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย

เนื่องจากชมพูทวีปเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและดินแดนข้างเคียงโดยรอบมาช้านาน เรื่องราวความเป็นมาของประเทศข้างและใกล้เคียงกับประเทศไทยจึงควรจะได้กล่าวถึงพอสังเขป

จีน-อินเดีย แล้วเกิดมี อินโดจีน-อินโดนีเซีย

จีนและอินเดีย เป็นบ่อกำเนิดอารยธรรมแหล่งใหญ่ ที่เจริญต่อเนื่องมายาวนานหลายพันปี สองประเทศสองวัฒนธรรมนี้ได้ติดต่อค้าขายกันมาแต่โบราณ

ในช่วงเวลาที่ทางตะวันตกเริ่มต้นคริสต์ศักราช แต่พระพุทธศาสนาอยู่ในช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองมากในชมพูทวีป และแผ่มาถึงประเทศจีน ดังหลักฐานที่พระเจ้ามิ่งตี่แห่งราชวงศ์ฮั่นได้ทรงรับนับถือพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ. ๖๐๘ และในอินเดียเอง ไม่กี่ปีหลังจากนั้น คือใน พ.ศ.๖๒๑ ก็เข้าสู่ยุคสมัยของพระเจ้ากนิษกมหาราช มีนครหลวงอยู่ที่เมืองปุรุษปุระ หรือเมือง Pershawar (เปอรชวาร์) พระองค์เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่มากถัดจากพระเจ้าอโศกมหาราช

ในยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองนี้ ผู้เดินทางระหว่างจีนกับอินเดีย นอกไปจากพ่อค้าวาณิชแล้ว ก็มีพระภิกษุที่เป็นธรรมาจารย์ และหลวงจีนที่จาริกมาศึกษาและสืบพระพุทธศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ

จีนกับอินเดียนั้น แม้ว่าดินแดนจะไม่ห่างไกลกันนัก แต่มีภูเขาหิมาลัยกั้นขวางอยู่ การเดินทางโดยทางบกไปมาระหว่างกัน จึงต้องอ้อมไกลไปโดยทางที่เรียกกันมาว่า “ทางสายไหม” (Silk Road) เส้นทางสายนี้ขยายไปเชื่อมกับถนนของจักรวรรดิโรมันด้วย, การเดินทางต้องผ่านแผ่นดินแห้งแล้งกันดารแห่งเอเชียกลาง ข้ามภูเขาและทะเลทราย ยากลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีภัยจากโจร ตลอดจนบางกาลสมัยมีสงครามการรบพุ่งระหว่างคนต่างเผ่า ต่างถิ่น ซึ่งเป็นอุปสรรคมาก

ด้วยเหตุนี้จึงมีการค้นหาทางเดินเรือขึ้นมาเป็นทางเลือก และการจาริกทางทะเลก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ทางบกนั้นถ้าเดินทางจากจีนมาอินเดีย ก็ต้องผ่านเอเชียกลาง อ้อมวกเข้ามาทางแคว้นโยนก และหรือแคว้นคันธาระ (คือ อัฟกานิสถาน และปากีสถานในปัจจุบัน)โดยเฉพาะการผ่านเมืองตักกศิลาแล้วลงมาทางตะวันออกตามลำดับ

แต่ทางทะเล มีแผ่นดินเป็นแหลมใหญ่หรือคาบสมุทรคั่นขวางระหว่างจีนกับอินเดียนั้น สมัยเมื่อ ๕๐ ปีก่อนมีคำเรียกรวมๆ ว่า “อินโดจีน” หรือคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินหรือคาบสมุทรที่อยู่ระหว่างอินเดีย กับ จีน คาบสมุทรอินโดจีนที่กล่าวถึงนี้ ไม่ใช่ อินโดจีนของฝรั่งเศส ที่มีเพียง ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเกิดขึ้นโดยทางการเมืองซึ่งดำรงอยู่เพียงในระหว่างปี ค.ศ.๑๘๙๓-๑๙๕๔ ก็มีอันต้องสลายหมดไป

คาบสมุทรอินโดจีนประกอบด้วย เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย พม่าและมาลายู(ต่อมาขยายเป็นมาเลเซีย)

จากแผ่นดินบนคาบสมุทรอินโดจีน มองลงไปในทะเล มีหมู่เกาะที่เป็นเส้นทางผ่าน เช่น สุมาตรา ชวา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่รวมอยู่ในอาณาจักรที่ชาวตะวันตกเรียกให้ว่า อินโดนีเซีย ซึ่งแปลว่า “แดนหมู่เกาะอินเดีย”

นอกจากการค้าขายแล้ว พ่อค้าวาณิชและนักเดินทางที่เดินทางผ่านไปมานั้น เมื่อต้องแวะพำนักอยู่ในท้องถิ่นนั้นนานๆ ก็เกิดการตั้งหลักปักฐานเป็นหลักแหล่ง นานๆไปก็กลายเป็นเจ้าถิ่นเสียเอง จึงปรากฏว่า ต่อมาได้มีบ้านเมืองตลอดจนอาณาจักรต่างๆ ขึ้นมา ตามชายฝั่งทะเล บนเกาะ และบนเส้นทางพาณิชย์เหล่านี้

ผู้ที่สร้างบ้านเมืองเหล่านี้ มีทั้งชาวชมพูทวีปที่เป็นผู้นำตั้งตัวเป็นใหญ่ และคนท้องถิ่นที่จัดตั้งบ้านเมืองขึ้นตามระบบแบบแผนของชมพูทวีป ที่ถือว่าเป็นผู้เจริญ ดังที่ตำราตะวันตกเรียกแว่นแคว้นเหล่านี้ว่า Indianized Kingdoms คือเป็นอาณาจักรเยี่ยงอย่างอินเดีย

No comments: