Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๓. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๓

ในห้วงสงคราม

“ตั้งแต่แต่งงานมา นายปรีดีมอบเงินเดือนให้ฉันหมดเลย เมื่อต้องการอะไรก็ให้ฉันหาให้ คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีรายได้จากโรงพิมพ์ นายปรีดีตั้งโรงพิมพ์นิติสาส์น พิมพ์ นิติสาส์น รายเดือน พิมพ์หนังสือชุด ประชุมกฎหมายไทย เพื่อเผยแพร่ มีคนสั่งจองซื้อมาก และรายได้อีกทางจากค่าสอนที่โรงเรียนกฎหมาย เวลานั้นได้ชั่วโมงละ ๑๐ บาท พอเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เลิกโรงพิมพ์ ยกให้เป็นโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมทั้งพนักงาน จึงไม่มีรายได้ทางโรงพิมพ์ต่อไปอีก พอเป็นรัฐมนตรีมีรายได้เดือนละ ๑,๕๐๐ บาทก็ให้ฉันอีก บางทีก็ลืมเงินเดือนไว้ที่โต๊ะทำงาน สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ต้องเอาไปให้ถึงบ้าน แล้วตอนหลังนายปรีดีก็ไม่รับเงินเดือนเอง ให้เลขาฯ นำเงินมาส่งให้ฉันเลย ตอนรับตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็มีเงินประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยเบิกมาใช้ จัดให้เป็นเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลน”

๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พันเอก พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล และเชิญนายปรีดีกลับประเทศ ต่อมานายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗

พูนศุข พนมยงค์ ในวัยเพียง ๒๘ ปี ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๐ กันยายน ๒๔๘๒ พร้อมกับ ละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น

แม้ว่าจะได้เป็นท่านผู้หญิงอายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง เป็นภรรยารัฐมนตรี ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภรรยานายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา แต่ตลอดชีวิตของท่านยังใช้ชีวิตเหมือนเดิมทุกประการ ไม่เคยก้าวก่ายงานราชการของสามี ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน จ่ายกับข้าวเอง เลี้ยงลูกทั้งหกเอง ทำอาหารให้ครอบครัวเยี่ยงชาวบ้านทั่วไปไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ท่านมักพูดกับลูกหลานเสมอว่า หากใครหารูปถ่ายตอนแต่งชุดท่านผู้หญิงได้ จะให้รางวัล แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีใครหาพบ เพราะท่านไม่เคยแต่งชุดเหล่านี้เลย

ในปี ๒๔๘๐ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มตั้งเค้าขึ้นในทวีปยุโรป กองทัพเยอรมนีและอิตาลีประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ขณะที่ในเอเชีย กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศจีน เมฆหมอกแห่งสงครามปกคลุมไปทั่วโลก ในปี ๒๔๘๓ นายปรีดีผู้มีแนวคิดต่อต้านสงครามจึงได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก นิยายอิงประวัติศาสตร์สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยแก่นของเรื่องว่าด้วยสันติภาพ พูนศุขมีหน้าที่ดูแลกองถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งยกกองไปถ่ายทำที่เมืองแพร่ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีโอกาสไปฉายที่นิวยอร์ก สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ ในปี ๒๔๘๔ ซึ่งปรีดีเคยกล่าวถึงว่า

“ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้นมิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

แต่แล้วสงครามก็เดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อเช้ามืดวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐอเมริกา และได้แบ่งกำลังบุกเข้าทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทยหลายจุด มีการปะทะต่อสู้กับทหาร ตำรวจ และพลเรือนไทยอย่างดุเดือด ขณะที่ในกรุงเทพฯ ก็มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างฉุกเฉิน ซึ่งพูนศุขบันทึกไว้ว่า

“คืนนั้นเวลาประมาณสองยาม ได้มีโทรศัพท์จากวังสวนกุหลาบ เชิญนายปรีดีไปประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในพระนคร ไปราชการต่างจังหวัด พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ขณะนั้นนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการประชุมคืนนั้น คณะรัฐมนตรีมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งไม่สู้ญี่ปุ่น กับอีกฝ่ายหนึ่งคือนายปรีดี ต้องการสู้เพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตย...แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับมาถึงที่ประชุมในตอนเช้า ได้สั่งให้ผู้ที่ต่อสู้วางอาวุธ อ้างว่าราษฎรได้ตายไปเป็นอันมากและมีมติให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย...นายปรีดีเสียใจที่คณะรัฐมนตรียอมจำนนต่อทหารญี่ปุ่น”


หนังสือพิมพ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นยกทัพเข้ามารุกรานประเทศไทย


การสู้รบของทั้งสองฝ่ายยุติลง กองทัพญี่ปุ่นได้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ แปดวันต่อมา สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้ง ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้นายปรีดีพ้นสถานะรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่พอใจของฝ่ายญี่ปุ่น ต่อมาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ปีเดียวกัน รัฐบาลได้ทำสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น และในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีอย่างเต็มที่

นายปรีดีจึงได้รวบรวมบรรดาผู้รักชาติ ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทำการต่อต้านผู้รุกรานอย่างเงียบ ๆ เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และติดต่อกับสัมพันธมิตรนอกประเทศ คือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีขบวนการใต้ดินที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อเอกราช ภายใต้ชื่อว่า ขบวนการเสรีไทย โดยนายปรีดีเป็นหัวหน้าเสรีไทย มีรหัสว่า “รูธ” ขบวนการเสรีไทยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับว่า ประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม และการประกาศสงครามของรัฐบาลในวันที่ ๒๕ มกราคมนั้นเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญและยากมาก ดังที่พูนศุขเคยให้สัมภาษณ์ว่า

“เมื่อทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามจุดต่าง ๆ ในประเทศ ความรู้สึกของฉันก็เหมือนกับคนไทย ๑๔ ล้านคนในขณะนั้น คือเศร้าสลดที่เอกราชของชาติไทยเราถูกย่ำยี โดยปรกติแล้วฉันกับนายปรีดีพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง เรื่องเสรีไทยนายปรีดีก็ไม่ได้ปกปิดฉัน เพราะปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง หากเป็นหน้าที่รับใช้ชาติของคนไทยทุกคน ต่างกับเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่ไม่ได้บอกให้ฉันรู้เลย และฉันก็ไม่ได้ซอกแซกถามในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง”

บรรยากาศในพระนครเวลานั้น ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยทหารญี่ปุ่น เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดสลับกับเสียงปืนต่อสู้อากาศยานของทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ ทำเนียบท่าช้าง ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นบ้านพักผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้กลายเป็นที่ทำงานของขบวนการเสรีไทยอย่างลับ ๆ ส่วนการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรในต่างประเทศมีเสรีไทยสายอังกฤษและสายอเมริกาเป็นตัวเชื่อม โดยบางคนลักลอบเข้ามาทางเรือดำน้ำแล้วขึ้นฝั่งแถวเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ บางคนแอบกระโดดร่มเข้ามา อย่างนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำให้เสรีไทยในประเทศและสัมพันธมิตรนอกประเทศสามารถติดต่อกันได้ พูนศุขเล่าให้ฟังว่า

“ตอนแรกอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง ซึ่งรัฐบาลให้เป็นบ้านพักรับรองของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ ตอนนั้น แต่เราไม่ได้ขุดหลุมหลบภัย ท่าช้างนี่ชั้นล่างอยู่ติดพื้นดิน แล้วก็ชั้นสอง ชั้นสาม ก็เอากระสอบทรายมากองสูงท่วมหัวที่ชั้นล่าง ทำเนียบท่าช้างอยู่ใกล้ ๆ จุดยุทธศาสตร์ เยื้องสถานีรถไฟบางกอกน้อย เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดบ่อยมาก เวลานั้นลูก ๆ ก็ยังเล็ก เวลาเครื่องบินมาก็อุ้มลูกจากที่นอนมาหลบที่หลังเนินกระสอบ ก็เลยอพยพไปอยู่อยุธยาสักพักหนึ่ง พอการทิ้งระเบิดค่อยเพลาลงไป ก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ จ้างครูมาสอนลูกเรียนหนังสือ ปรากฏว่าพอถึงปี ๒๔๘๘ ปลายสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดหนักขึ้นอีก ทั้งตอนกลางคืนและกลางวัน ตึกรามบ้านช่องพังจำนวนมาก ต้องวิ่งหนีกัน เด็กเล็กลูกคนอื่นมาเรียนกับลูกเราด้วยก็ไม่ปลอดภัย นายปรีดีก็ทูลเชิญสมเด็จพระพันวัสสาฯ ไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเพื่อความปลอดภัย และเราก็อพยพตามไปถวายการรับใช้ด้วย นายปรีดีได้ติดต่อกับสัมพันธมิตร บอกให้ทราบว่าบางปะอินเป็นที่ประทับของเจ้านาย อย่ามาทิ้งระเบิด ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ แต่บริเวณทำเนียบท่าช้างยังทิ้งระเบิดกัน นายปรีดียังอยู่ประจำที่นั่น ทิ้งระเบิดริมน้ำ เขื่อนพังทลาย แต่ตัวอาคารใหญ่ไม่เป็นอะไร พอหวอมา ชาวบ้านแถวนั้นเข้ามาหลบในบ้านเต็มไปหมด เพราะว่ามีค่ายเชลยอยู่ที่ธรรมศาสตร์ คิดว่าเครื่องบินคงไม่มาทิ้งระเบิดเชลยศึกซึ่งเป็นพวกเดียวกัน”

ในช่วงเวลานั้นพูนศุขได้ช่วยสามีติดตามสถานการณ์ข่าวสารการสู้รบในสมรภูมิต่าง ๆ ทั่วโลกจากการฟังวิทยุ ทั้งที่ทางการห้ามราษฎรฟังวิทยุของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ มีสิทธิพิเศษใบอนุญาตถึงฟังได้ และคอยอำนวยความสะดวกแก่เสรีไทยที่มาประชุมกันที่ทำเนียบท่าช้าง บางครั้งก็ช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือภาษาอังกฤษโดยไม่ใช้พิมพ์ดีด

“ใช้วิธีเขียนเป็นตัวหนังสือ คือฉันเขียนตัวบรรจง จึงช่วยเขียนรหัสด้วยลายมือ เป็นภาษาอังกฤษแบบตัวพิมพ์ใหญ่ก่อนที่จะนำไปเข้าเป็นโค้ดลับเพื่อเป็นการพรางหลักฐาน เพราะหากถูกจับได้ก็ไม่รู้ว่าเป็นลายมือใคร และตอนนั้นใช้พิมพ์ดีดไม่ได้ หากพวกญี่ปุ่นเขาจับได้ สมัยนั้นมันตรวจกันรู้นี่ว่าเป็นพิมพ์ดีดจากไหน บางครั้งก็เขียนคำสั่งของนายปรีดีที่จะส่งไปต่างประเทศ ส่วนฝ่ายถอดรหัสนั่นมีพวกเสรีไทยสายอังกฤษหรือสายอเมริกาเป็นคนจัดการ”

พูนศุขอธิบายให้ฟัง ทั้งยังเล่าว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งตื่นเต้นที่สุด คือวันหนึ่งนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางมาเมืองไทย ตามธรรมเนียมการทูต นายพลโตโจต้องมาลงนามแสดงความเคารพผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ทำเนียบท่าช้าง

“ช่วงนั้นหน้าสิ่วหน้าขวานมากที่สุดเชียว นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็มาเซ็นชื่อเยี่ยมที่ทำเนียบของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการฯ แล้วก็เดินเข้ามาที่ศาลาริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่พวกเสรีไทยใช้เป็นที่ทำงาน โตโจคงอยากเห็นทัศนียภาพแม่น้ำเจ้าพระยา น่ากลัวเหมือนกัน แต่โชคดีที่พวกญี่ปุ่นคงไม่ระแคะระคาย”

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ดำเนินอยู่ ๔ ปีจึงยุติลง เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ หลังจากที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ และฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งสาส์นด่วนถึงนายปรีดีให้รีบประกาศว่า การประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ ดังนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ปรีดี พนมยงค์ ได้ประกาศสันติภาพขึ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า

“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย”

จากคำประกาศสันติภาพและการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทย ทำให้ประเทศสัมพันธมิตรยอมรับสถานะเดิมของประเทศไทยที่มีเอกราชและอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงครามเหมือนญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี

“ลึก ๆ แล้วฉันดีใจและโล่งใจยิ่งกว่าวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้เสียอีก การประกาศสันติภาพเท่ากับเป็นการรับรองสถานะว่าประเทศไทยยังคงดำรงเอกราชและอธิปไตย” พูนศุขกล่าวไว้เช่นนั้น

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ได้มีการตั้งศาลอาชญากรสงครามที่กรุงโตเกียว เพื่อไต่สวนคดีบุคคลสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดสงครามโลกในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก นายปรีดีเป็นคนคัดค้านไม่ยอมส่งจอมพล ป. กับพวกไปให้ศาลอาชญากรสงครามตัดสิน มิเช่นนั้นจอมพล ป. อาจถูกตัดสินประหารชีวิตหรือถูกจองจำเป็นเวลานาน ในฐานะอาชญากรสงครามคนหนึ่ง เรื่องนี้พูนศุขได้อธิบายให้ฟังว่า

“รัฐบาลได้ตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้นในประเทศไทย พิจารณาตัดสินคนไทยด้วยกันเอง ถ้าส่งไปเมืองนอกก็ไม่แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นโดนจับหลายคน หลวงวิจิตรฯ เอย ใครต่อใครเอย เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น ฆ่ากันไม่ลงหรอก”

No comments: