Thursday, August 9, 2007

บทความที่ ๑๙๘.คุณจาตุรนต์ ฉายแสงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับ ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

คุณจาตุรนต์ ฉายแสงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีสาธารณะเพื่อการประชันทางความคิด (ดีเบต) จุดเด่น จุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐


ท่านผู้มีเกียรติ พี่น้องที่รัก ประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้านทุกท่าน ในหลายเดือนมานี้เรามักจะได้ฟังผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองอธิบายว่า

“รัฐธรรมนูญนี้ดีอย่างไร การไปลงประชามติเป็นหน้าที่ที่ประชาชนควรจะไปลงให้ผ่านรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ผ่านแล้วทุกอย่างก็จะดีไปหมด”

เราไม่ค่อยมีโอกาสเห็นผู้มีความเห็นแตกต่าง หรือมีความเห็นคัดค้านได้มีโอกาสเสนอความเห็นบ้างเท่าไหร่เลย มาวันนี้ได้มีโอกาสมาพูดกันแต่ก็ยังคนละเล็กคนละน้อย

เมื่อเราจะพิจารณารัฐธรรมนูญสักฉบับหนึ่ง เราจะพิจารณายังไง เราจะพิจารณายังไงว่าควรจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ? ตั้งแต่ดั้งเดิมมาประเทศของเราปกครองกันมาโดยเฉพาะเจ็ดสิบกว่าปีมานี้ ถ้าพูดไปแล้วส่วนใหญ่ ประชาชนจะไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องเท่าไรกับการปกครอง ไม่มีอำนาจ บ้านเมืองเป็นเรื่องของระบบราชการ ประชาชนหลายๆช่วงเวลาไม่มีแม้แต่กระทั่งตัวแทนของตัวเอง การบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องของการแต่งตั้ง โดยผู้ที่ยึดอำนาจ

ยิ่งพอพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ในช่วงระยะ ๙-๑๐ เดือนมานี้ยิ่งเห็นชัด ปัญหาในระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ในความหมายที่มันควรจะเป็นรัฐธรรมนูญจริงๆคือบางคนบางกลุ่มเท่านั้นใช้อำนาจ (เสียงปรบมือ)

คนกลุ่มเล็กๆ มีอำนาจออกประกาศอะไรก็ได้ คำสั่งอะไรก็ได้ ทุกคนต้องทำตามหมด ! สร้างระบบกลไกต่างๆ ขึ้นมาบริหารจัดการประเทศไป ประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียง เสรีภาพหลายอย่างถูกริดรอนหมด ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะไปตรวจสอบการบริหารบ้านเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร นี่คือสภาพที่เราเจอกันมา ๑๐ เดือนนี้และก็คือสภาพการปกครองที่เป็นมาส่วนใหญ่ในช่วง ๗๕ ปีที่ผ่านมา

การจะมีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งจึงจะต้องตอบปัญหา ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องตอบปัญหาสำคัญว่า จะเป็นกฎหมายหลัก เป็นกฎหมายสูงสุดที่ทุกต้องต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันไหม ? ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนั้นไหม ? อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไหม ? ประชาชนจะไปใช้อำนาจนั้นได้อย่างไรและจะไปตรวจสอบการใช้อำนาจนั้นได้อย่างไร ? ไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบราชการทำกันไป

การใช้อำนาจต้องมีการแบ่งแยกกันให้ชัดเจนพอสมควร ไม่ใช่ก้าวก่ายแทรกแซงจนสับสนกันไปหมด ที่สำคัญในการตรวจสอบนั้นต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ! ไม่ใช่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครองเสรีภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองในทางที่จะกำหนดการปกครองบริหารบ้านเมือง

อันนี้คือสาระสำคัญที่จะวัดว่า เราจะได้รับรัฐธรรมนูญหรือไม่ได้ ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ผมและเพื่อนหลายคนไม่ได้ตั้งแง่แต่ต้นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคณะที่ยึดอำนาจ เขาตั้งกันขึ้นมาเพราะฉะนั้นเราต้องไม่รับตั้งแต่ไก่โห่-ไม่ใช่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าเราจะเชื่อเหมือนกันว่า “การร่างรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร ย่อมไม่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้เลย” (เสียงปรบมือ)

แต่เวลาเราจะไปลงประชามติ เราจะพิจารณาว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไหม เราก็ต้องมาดูเนื้อหาสาระ ซึ่งพวกผมก็ได้ทำการบ้านกันมาตลอดเหมือนกัน ฟังจากอาจารย์นักวิชาการ ศึกษาด้วยตนเอง บอกตามตรงนะครับว่า ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษา ยิ่งพบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาและมีปัญหาร้ายแรงมาก ถึงขั้นว่า ในความเห็นของผมและเพื่อนๆ ไม่น่าเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะขาดหลักการที่ผมกล่าวมาข้างต้น..

ถามว่าเรามองเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างเสริมให้เกิดความมั่นคงของระบอบเผด็จการ ระบอบอำมาตยาธิปไตย อย่างชัดเจน ! (เสียงปรบมือ)

ทำไมผมถึงพูดอย่างนั้น หนึ่งคือเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น มีการเน้นมากขึ้นก็จริง แต่จะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติ นักวิชาการบางท่านก็พูดเรื่องนี้มาแล้ว สิทธิเสรีภาพทางตรงที่บางท่านได้พูดไป ว่ามีสิทธิเสรีภาพทางตรงมากขึ้นในหลายๆ ด้าน นั่นก็เป็นเรื่องดีฉบับที่แล้วก็ส่งเสริมอยู่ มักมีจะผลในทางภาคปฏิบัติ แต่ที่สำคัญกว่านั้นที่เป็นปัญหาก็คือว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ว่าเป็นทางตรงนี่ เป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้ หลายๆ เรื่อง แต่ขาดเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ควรจะมีกลับไม่มี คือสิทธิเสรีภาพในการมากำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง กำหนดการปกครองบริหารบ้านเมืองและการตรวจสอบการปกครองบริหารบ้านเมือง รัฐธรรมนูญนี้กลับไม่ให้ !

ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ? พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ- ที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ ได้เห็น เมื่อ(ประชาชน)มีเรื่องก็ไม่รู้จะไปหาใคร ไม่มีผู้แทน ไม่รู้จะร้องหาใคร คนบอกว่าต้องมีเลือกตั้ง พอมีเลือกตั้งก็มีผู้แทนมาเป็นปากเป็นเสียงให้ ผู้แทนไปเลือกรัฐบาล รัฐบาลมาบริหารประเทศ ผู้แทนก็คอยควบคุม ประชาชนคอยควบคุม หลังๆมา รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะปี ๔๐ ก็เพิ่มเรื่องการตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเข้มแข็งขึ้น ตรวจสอบรัฐบาล กลไกต่างๆ มากขึ้น

แต่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้แทนราษฎรเป็นยังไง ? ผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่สามารถทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้ จะทำได้น้อยมาก การรับฟังปัญหา-การเข้าใจปัญหาก็จะน้อยลงเพราะการแบ่งเขตที่ย้อนกลับไปสมัยผมเริ่มเล่นการเมืองใหม่ๆ บางท่านบอกว่า(สสร.)ไปฟังความเห็นประชาชนมาแล้ว ผมติดตามการทำโพลล์ของหน่วยงานราชการและขององค์กรเอกชนต่างๆ ทั้งหมด พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ ๗๐ เห็นด้วยกับให้เลือกตั้งแบบเดิมในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ และถ้าบอกว่าถ้าเอาทั้งสองอย่างเลย ไม่เลือกแบ่งเขตเท่านั้นคือเอาระบบบัญชีรายชื่อด้วย ประชากว่าร้อยละ ๙๐ ลงคะแนนมาในการการทำโพลล์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ! บอกว่าให้เอาแบบปี ๒๕๔๐ จึงไม่แน่ใจว่า สสร. ฟังประชามติที่ไหนมา ? (เสียงปรบมือ)

การตรวจสอบหน่วยงานราชการทำไม่ได้ ! รัฐธรรมนูญนี้บอกว่าห้ามก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของราชการประจำ เรื่องไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องการแต่งตั้งโยกย้ายนั้นเข้าใจ มีแล้วในรัฐธรรมนูญที่แล้ว แต่ครั้งนี้การเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของราชการประจำก็ทำไม่ได้ด้วย ถามว่าเวลามีเรื่อง เวลาที่ประชาชนเดือดร้อนทุกวี่วัน มักจะมาหาผู้แทน ผู้แทนไปประสานหน่วยงานราชการ หน่วยงานราชการอาจจะบอกว่ามาก้าวก่ายแทรกแซง (ผู้แทน)จะถูกทำให้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลยตามกฎหมายนี้ !

ความเป็นผู้แทนของประชาชนเนื่องจากระบบแบ่งเขตจะน้อยลง เพราะว่าอิทธิพลของผู้มีอิทธิพล อิทธิพลของระบบราชการ กลไกของราชการ ซึ่งเตรียมซักซ้อมกันไว้แล้วตั้งแต่ตอนทำประชามติ ซึ่งมีผลทำให้ผู้แทนราษฎรมีความเป็นตัวแทนประชาชนน้อยลงด้วย นอกจากนั้นจะไปอาศัยพรรคการเมืองนั้นก็ยาก พรรคการเมืองอ่อนแอลงไปมาก เสนอนโยบายอะไรก็ไม่ได้ เพราะนโยบายส่วนใหญ่กำหนดไว้หมดแล้ว อยู่ในแนวนโยบายแห่งรัฐ ใครไปทำผิดสักคนหนึ่งสามารถจะโยงไปโยงมาแล้วบอกว่าทั้งพรรคต้องยุบไปเลยได้ ! ตัดสินโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนและไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย !

ระบบพรรคการเมืองจะอ่อนแอ ระบบแบ่งเขตก็จะทำให้การเลือกตั้งที่มุ่งนโยบายน้อยลง และระบบบัญชีรายชื่อจะทำให้คนเลือกเป็นภูมิภาคมากขึ้น เลือกจากบุคคลมากขึ้นแทนที่จะเลือกที่นโยบาย เพราะฉะนั้นในแง่นี้ผู้แทนราษฎรมีบทบาทน้อยมากในรัฐธรรมนูญนี้

มาดูเรื่องรัฐบาล รัฐบาลนี่ข้อดีคือยังรักษานายกที่มาจาก ส.ส.ไว้ แต่นายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.แล้วจะมามี ครม.เป็น ส.ส.บ้างไม่เป็น ส.ส.บ้าง เราจะพบว่าไม่มีอำนาจหน้าที่อะไรเท่าไหร่เลย เป็นเรื่องแปลกประหลาด ! เรามาพูดเรื่อง “โอ จะมีประชาธิปไตย” แต่ว่ารัฐบาลที่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งนี้จะไม่มีอำนาจอะไรเท่าไหร่นะครับ

กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐไว้ละเอียดมากอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีทั้งแผนต่างๆ สารพัด มีทั้งสร้างองค์กรเกิดขึ้น มีรายละเอียดยิบไปหมด บางท่านอาจจะบอกว่าดี แต่วันข้างหน้าถ้าไม่ดีล่ะ? (เพราะถ้านโยบายแห่งรัฐบางประการที่ไม่ดี ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ก็จะไม่สามารถแก้ไขนโยบายแห่งรัฐนั้นได้โดยการเลือกตั้ง แต่จะต้องไปผ่านการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น) รัฐบาลจึงทำอะไรมากไม่ได้ มีนโยบายที่แตกต่างกันมากไม่ได้

ห้ามก้าวก่ายการปฏิบัติราชการและการดำเนินการของข้าราชการประจำ เอามาบัญญัติไว้กับคณะรัฐมนตรีด้วย ??? ต่อไปนี้คณะรัฐมนตรีจะไปทำยังไง ? ความอ่อนแอที่ว่าเกิดมาจากรัฐบาลผสมนั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่เรื่องใหญ่ก็คือว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะทำอะไร(เพราะ)ก้าวก่ายการปฏิบัติราชการและการดำเนินการของข้าราชการประจำไม่ได้ และคราวนี้หนักไปกว่านั้นคือบอกว่าบริหารบุคคลแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา ๒๖๖ ๒๖๗ ไม่ได้ด้วย ! รัฐมนตรีนะครับถ้ามีปัญหา ใครฝ่าฝืนต้องพ้นตำแหน่ง

(ร่าง รธน นี้)มีองค์กรอิสระปฏิรูปกฎหมายเกิดขึ้น เป็นองค์กรอิสระ(แล้ว)รัฐมนตรีทำอะไร ??? ครม.ทำอะไร ??? การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยองค์กรอิสระ (แล้ว)ครม.ทำอะไร ??? ประชาชนเลือกเขามาเป็นรัฐบาล (แต่)มีองค์อิสระกันไว้หมดแล้ว สร้างกันขึ้นมาโดย สสร.

การจัดงบประมาณต้องเพียงพอสำหรับรัฐสภา ศาล องค์การตามรัฐธรรมนูญ(นี่)เป็นบทบังคับ, มี คณะ ค.ต.ง.-คณะตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งจะตั้งคณะวินัยทางการเงินการคลังมีอำนาจเหนือกว่าผู้มาจากการเลือกตั้ง คือมาตรวจสอบหมดว่า การใช้เงินนี่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ซึ่งตามปกตินี่ ทั่วโลกเขาถือว่าถ้าเสียภาษีต้องมีผู้แทนราษฎรเข้าไปควบคุม เวลานี้บอกว่า ”เสียภาษีแล้ว จะใช้เงินต้องมีองค์กรที่ไม่เกี่ยวกับประชาชนเลยมาควบคุม” (ที่กล่าวมาทั้งหลาย)นี่คือการผิดหลักการในเรื่องของรัฐบาล

นอกจากนั้น ปัญหาที่รัฐบาลไม่มีอำนาจ มีความอ่อนแอ ถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจโดยระบบที่มีอำนาจมากกว่า ยังจะมีอีกในเงื่อนไขแวดล้อมที่ผมจะได้กล่าวต่อไป ถามว่าใครมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญนี้ ? ถ้าบอกว่าผู้แทน ผู้แทนก็ไม่มี(อำนาจ) ครม.ก็ไม่มี แต่ผู้มีอำนาจมี ๓ พวก

๑) คมช.และกลไกที่ คมช. ตั้งไว้๒) ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บวกกับ ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ไม่มีส่วน เชื่อมโยงกับประชาชนเลย (เสียงปรบมือ) และ๓)ข้าราชการ หรือระบบราชการ

สามกลุ่มใหญ่นี้คือผู้มีอำนาจที่แท้จริงในรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่ประชาชน !!!!

ทำไมจึงพูดอย่างนั้น-??? คมช.ตั้ง สสร.มา สสร.มากำหนดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ สร้างองค์กรต่างๆ ขึ้นมาอีกมาก กำหนดว่ามีแผนต่างๆ อีกมาก แล้ว คมช. ไปแล้ว ไปรอว่าจะมาลงเล่นการเมืองอีกด้วย !!

ส.ว.ที่มาจากการสรรหา มีอำนาจถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ครม.และ ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นเสียงข้างมากในการสรรหา ส.ว. นี่คืออำนาจอยู่ที่นี่ !!!

นอกจากนั้นยังสรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ (โดย)ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้สรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นการสรรหา(องค์กรตามรัฐธรรมนูญ)จะส่งไปที่ ส.ว.ซึ่งมากจากการเลือกตั้งให้ลงมติอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เมื่อส่งไปให้ ส.ว. หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วย แต่พวกนี้เขายืนยันก็ทำให้มีผลตามนั้น นั่นก็คือการสรรหาทั้งหมดไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนเลย !! แต่เอามามีอำนาจมากมายมหาศาล จัดการเลือกตั้ง,ตัดสินว่าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่, ใช้อำนาจทั้งหมดโดย ก.ก.ต. ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ สามารถวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ อำนาจต่างๆ เหล่านี้เต็มไปหมด โดยที่ไม่มีการเชื่อมโยงกับประชาชนข้าราชการนั้นแน่นอนครับ ทำตามแผนต่างๆ ไม่ต้องทำตามนโยบายรัฐบาลเพราะว่าก้าวก่ายแทรกแซงไม่ได้

ในเรื่องการตรวจสอบนี่มีปัญหามาก ที่เราบอกว่าเน้นการตรวจสอบ คราวที่แล้วเขาออกแบบมามีข้อบกพร่องไหม-มี ต้องปรับไหม-ต้องปรับ แต่ครั้งนี้นี่ หลายเรื่องมันเกินกว่าปรับนะครับ มันทำจนเปลี่ยนสาระสำคัญไปหมด การตรวจสอบจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ท่านคิดดูว่า ส.ว.มาจากไหน ? มาจากศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้ว ส.ว.ครึ่งหนึ่งนั้นซึ่งไปร่วมกับอีกฝ่ายนิดหนึ่งก็ได้เสียงข้างมากแล้ว จะไปถอดถอนศาลไปถอดถอนประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ??? ในเมื่อมาจากเขา แล้วระหว่างเป็นไปอีกสามปีจะพ้น จะต้องมีการสรรหาใหม่ แม้จะกลับมาเป็นใหม่อีกก็ได้ แต่ก็ต้องถูกสรรหาจากศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ก็ตรวจสอบกันไม่ได้อยู่แล้วครับ !!! ไม่มีทางตรวจสอบกันได้ มันไขว้กันไปกันมา และก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจกันมากไปด้วย ทำอย่างนี้จะเป็นผลเสียต่อศาลในระยะยาวด้วย เพราะเอามาสู่การเมืองมากเกินไป

แล้วเราเข้าใจผิดว่าการจะแก้ปัญหาประเทศในเรื่องการตรวจสอบ ต้องเอาผู้ที่ปลอดจากการเมืองมาดูแล จริงๆ แล้วต้องถามว่าที่ปลอดจากการเมืองนั้น ปลอดจากประชาชนด้วยหรือเปล่า ??? เพราะถ้าปลอดจากประชาชนก็ขาดความชอบธรรมที่จะมากำกับตรวจสอบ หลักของประชาธิปไตยคือประชาชนต้องกำหนดผู้มาบริหารประเทศและต้องตรวจสอบการปกครองของประเทศได้ด้วย !(เสียงปรบมือ)

บทหนึ่งที่มีปัญหามากคือเรื่องนิรโทษกรรม เห็นชัดเจนว่าการไปนิรโทษตัวเองของ คปค,คำสั่ง, การปฏิบัติตามคำสั่ง คปค เป็นเรื่องเสียหายมาก ทำอะไรผิดกฎหมายไว้ก็ได้รับการคุ้มครอง และการนิรโทษ อย่างนี้เท่ากับเป็นการรับรอง ยอมรับการทำรัฐประหาร

โดยสรุปเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ก็คือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจ อำนาจไปอยู่ที่ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การปกครองแบบนี้ประชาชนจะไม่มีทางเสนอความต้องการและไม่มีใครมารับเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ปัญหาของประเทศ ยิ่งวิกฤติจะยิ่งลำบากเพราะกลไกที่บริหารปกครองประเทศ ไม่ต้องฟังประชาชน !!! แต่ฟังคนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชน นี่คือเรื่องใหญ่มาก (เสียงปรบมือ)

ที่ว่าเงื่อนไขแวดล้อมที่ยิ่งทำให้เราไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือว่า มีการเตรียมการมาเป็นลำดับ หนึ่ง-พ.ร.บ.ความมั่นคงจะเกิดขึ้น ผบ.ทบ.จะมีอำนาจมหาศาล ตามอำนาจนี้ห้ามสื่อเสนอข้อมูลข่าวตามใจชอบได้ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาลของพนักงานสอบสวนก็ได้ และดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เปิดช่องให้ พรบ. ความมั่นคงสวมเข้าไปได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อยกเว้นห้ามเลย !!!

นอกจากนั้นมีการทำลายพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คมช. มาเป็นลำดับ บีบให้นักการเมืองไปสนับสนุน คมช. ไปรวมกันในซีกสนับสนุน คมช. มีการถ่วงเวลา การที่ประชาชนจะตั้งพรรคการเมืองจนบัดนี้ก็ยังตั้งไม่ได้ ประชาชนทั่วไปด้วยนะไม่ใช่กลุ่มพวกผมอย่างเดียว แต่ว่ามีการสร้างพรรคการเมืองเพื่อให้ผู้มีอำนาจใน รสช.เข้ามาสู่อำนาจได้ด้วย

โดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลไกอีกหลายอย่างที่จะสร้างเสริมทำให้เกิดความมั่นคงของระบบเผด็จการ ระบอบอำมาตยาธิปไตยก็คือข้าราชการและผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

คำถามสำหรับคุณจาตุรนต์๑)ถามว่าการรับร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ รับไปก่อนได้ไหมแล้วก็สมัครเป็น ส.ส.เพื่อเข้าไปแก้ไขในมาตราที่เราไม่พอใจ ในภายหลัง

อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก ว่ารับไปก่อนแล้วจะดี ไปหลงเชื่อผู้มีอำนาจว่ารับไปก่อนแล้วจะมีเลือกตั้ง ก็รับไปแล้วมีการเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งนั้นมันไม่มีผลอะไรเลย ผู้มาจากการเลือกตั้งเป็นปากเสียงแทนประชาชนก็ไม่ได้ บริหารประเทศก็ไม่ได้ !!! อยู่ใต้กรงเล็บ อยู่ใต้อุ้งมือของผู้มีอำนาจอื่นทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากทางอื่นดีกว่า รัฐธรรมนูญนี้ถ้าผ่านไปประชามติครั้งนี้มันเป็นครั้งสำคัญ เป็นการเข้ามาถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำไหม ? พ่อครัวทั้งหลายปรุงอาหารแล้วมาถามประชาชน ประชาชนถ้าตอบว่าไม่อร่อย-ไม่ได้ ห้ามตอบว่าไม่อร่อย ต้องตอบว่าอร่อยอย่างเดียว นี้มันจะเป็นประชามติที่ถูกต้องได้อย่างไร ???

ถ้าเห็นชอบกันไป โดยเข้าใจผิดว่ามีหน้าที่ต้องไปเห็นชอบเท่านั้น ถ้าไม่เห็นชอบแล้วบ้านเมืองจะวุ่นวายไม่สิ้นสุด ถ้าเราไปเห็นชอบเท่ากับเรายอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะนำมาซึ่งการบริหารประเทศที่ล้าหลังที่เสียหายแก่ประเทศอย่างมาก เพราะฉะนั้นเมื่อรับไปแล้วเขาจะไปอ้างว่า นี่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นชอบแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องแล้ว ระบบการปกครองที่ล้าหลังนี่เป็นการปกครองที่ดีแล้ว

เราต้องใช้โอกาสการลงประชามติครั้งแรกของประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์อย่างไร ? ยึดอำนาจทีไร มีคนเอาดอกไม้ไปให้ คนส่วนใหญ่อยู่บ้านไม่เห็นด้วย ก็พึมพำอยู่ บ้างก็ขว้างโทรทัศน์ ไม่สามารถประท้วงคัดค้านอะไรได้ ครั้งนี้เขาให้เราลงประชามติ คือเขาให้ประชาชนทั่วประเทศไปบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ รัฐประหารแบบนี้ แล้วมาสร้างระบอบเผด็จการแบบนี้ เพราะฉะนั้นจึงควรใช้การลงประชามติครั้งนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ในการที่จะพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยบอกกับผู้มีอำนาจ ผู้ยึดอำนาจว่า “ทีหลังอย่าทำ ทีหลังยอมให้ทำไม่ได้แล้ว” (เสียงปรบมือ)

เพราะฉะนั้นไม่ควรให้ผ่านแบบขอไปที ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันใช้เวลาในการที่จะหาแก้ปัญหาของบ้านเมืองต่อไปและก็ไม่ได้ยาวนานกว่าเดิมเท่าไหร่.

๒)ในฐานะที่ท่านไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และหากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไม่ผ่านประชามติท่านคิดว่าควรหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้หรือควรดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การเมืองไทยสามารถเดินต่อไปได้ครับ

เวลานี้ก็พูดกันมามากแล้ว หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญก็พูดตรงกัน และถ้าพูดไปแล้วหลายฝ่ายในประเทศนี้ก็เห็นตรงกันมาตลอดว่า ต้องใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ เป็นหลัก รัฐธรรมนูญปี ๔๐ มีปัญหาอยู่บ้าง มีปัญหาหลายเรื่องต้องแก้ อันนี้ยอมรับ แต่ที่มันมีปัญหามากที่สุดคือการที่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ใครจะเปลี่ยนรัฐบาลแล้วใช้รถถังมาเปลี่ยน (เสียงปรบมือ)เขาเลยต้องฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี ๔๐ จึงไม่ได้มีปัญหาร้ายแรง ถึงขั้นจะโละทิ้งไปหมดแล้วทำใหม่แบบตรงกันข้ามแบบที่ทำกันอยู่นี้

เพราะฉะนั้นถ้าไม่รับ ก็เอารัฐธรรมนูญปี ๔๐ มาใช้จะต้องมีบทเฉพาะกาลอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้เลือกตั้งไปได้ จะต้องมี ๙๐ วันมาล็อค ส.ส.เพื่อให้สามารถดำเนินการไปได้ การดำเนินการทางการเมืองต่างๆ ดำเนินไปได้ก็ทำ เราสามารถจะนำรัฐธรรมนูญปี ๔๐ มาใช้ได้และไม่ได้เสียเวลามาก แก้ไม่กี่มาตรานี่ เนติบริกร นักนิติศาสตร์ที่ดีๆ นักกฎหมายมหาชนที่ดีๆ ช่วยกันคิด เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ เมื่อเสร็จแล้วก็มีการเลือกตั้ง ไม่ได้ช้าอย่างที่มีการมาหลอกลวงกันว่าไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องเสียเวลา ไม่รู้จะมีเลือกตั้งหรือไม่

ถามหน่อยว่าถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีผู้มีอำนาจกล้ามาบอกประชาชนว่าต่อไปนี้จะไม่ให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งอีกแล้วหรือ ??? ถึงตอนนั้นเขาไม่กล้าแล้ว แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเกิดวุ่นวายอะไร เพราะว่านี่คือกระบวนการที่สรุปที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เขาเขียนไว้ เขาบอกไว้แล้วว่าถ้าประชามติไม่ผ่าน มีกระบวนการให้กระทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเป็นการเข้าใจผิดหมดว่า ต้องรับผ่านไปที ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

การเอารัฐธรรมนูญปี ๔๐ มาใช้ ก็ไม่ใช่เป็นปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้นสามารถทำได้แล้วไปแก้กันทีหลังอีกที โดยองค์กร โดยผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ให้รัฐธรรมนูญร่างกันมา เขียนกันมาโดยผู้ที่มาจาก คมช. เป็นหลักอย่างที่ทำกันอยู่นี้ - ขอบคุณครับ

No comments: