มะละกาลับหาย สุมาตรา-ชวา เฟื่องฟูขึ้นมาใหม่
เมื่อทางด้านบนแผ่นดินที่มาเป็นมาเลเซีย รัฐสุลต่านแห่งมะละกาสลายลงโดยตกเป็นของโปรตุเกสในปี ค.ศ.๑๕๑๑ อย่างที่กล่าวแล้ว ทางด้านเกาะในทะเลที่มาเป็นอินโดนีเซีย ก็มีผู้อาศัยช่องว่างแห่งอำนาจนั้น ตั้งรัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ขึ้นที่สุมาตราภาคเหนือในปี ค.ศ.๑๕๒๔
รัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์นี้ เจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งมาก มีอำนาจควบคุมเมืองท่าในสุมาตรา ฝั่งตะวันตกทุกแห่ง และฝั่งตะวันออกส่วนมาก ตลอดถึงรัฐเคดาห์ รัฐเปรัก และรัฐปะหังบนแหลมมลายู กับทั้งสามารถยืนหยัดสู้กับพวกโปรตุเกสที่พยายามจะเข้ายึดครอง และไม่เพียงรักษาเอกราชอยู่ได้นานเท่านั้น แต่กลายเป็นฝ่ายรุก ทำให้โปรตุเกสแทบตั้งรับไม่ไหว
อาเจะห์เป็นชนพวกแรกในดินแดนแถบนี้ ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (เปลี่ยนมาก่อนนี้กว่า ๒๐๐ ปี)และในยุคที่อาเจะห์รุ่งเรืองนี้ อิสลามก็เฟื่องฟูด้วย จำนวนผู้นับถือเพิ่มมากขึ้น มีการแปลคัมภีร์อัลกุรอาน (Qur’an) สู่ภาษามาเลย์เป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.๑๖๔๐-๑๖๖๑
อย่างไรก็ดี ต่อมาก็สิ้นยุคของโปรตุเกส โดยพวกดัทช์ คือฮอลลันดาเข้ามาแทนที่ คราวนี้ รัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ ซึ่งยืนยงอยู่มาได้หลายศตวรรษ แม้จะสู้รบเต็มที่นานกว่า ๒๕ ปี ก็ต้านทานไม่ไหว ในที่สุดก็ถึงกาลอวสาน ต้องตกเป็นอาณานิคมของฮอลลันดาในปี ค.ศ.๑๙๐๓
ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อรัฐสุลต่านแห่งมะละกาที่มาเลเซียล่มไปนั้น ที่ชวาได้มีรัฐมุสลิมอิสระเกิดขึ้นแล้วหลายอาณาจักร
ในบรรดารัฐเหล่านั้น รัฐสำคัญที่ยิ่งใหญ่สุดท้าย ซึ่งแผ่อำนาจไปจนคุมชวาได้เกือบหมดทั้งเกาะ อันควรกล่าวถึงไว้เล็กน้อย คือ รัฐสุลต่านแห่งมาตาราม ที่ทำให้นาม “มาตาราม” ของอาณาจักรฮินดู-พุทธ อันหายไปเมื่อหลังปี ค.ศ.๑๐๑๙ กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และสืบอายุยืนยาวต่อไปเกือบ ๒๐๐ ปี
มาตารามใหม่นี้ เดิมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชื่อว่า ปชัง แต่ผู้นำได้ปราบปชังลงได้ แล้วขึ้นเป็นราชาองค์แรกมีพระนามว่า “เสนาปติ อิงคะลคะ (Senapati Ingalaga) อ่านแบบไทยก็เป็น เสนาบดี อิงคลัค และต่อมาเรียกกันว่า อาทิวิโชโย คือ อาทิวิชยะ เรียกแบบไทยว่า อาทิวิชัย แปลว่าผู้มีชัยชนเป็นต้นแรก หรือผู้เริ่มต้นแห่งชัยชนะ คือเป็นผู้เริ่มสร้างชัยชนะให้แก่ประเทศชาติ
แต่ราชาสำคัญที่ปรากฏนามใน พ.ศ.๒๑๕๘ ใช้คำนำพระนามเป็นสุลต่าน คือสุลต่านอากุง ครองในปี ค.ศ.๑๖๑๓-๑๖๔๕ ได้ปรับศาสนาอิสลามให้เข้ากับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่เป็นฮินดูแบบชวา รวมทั้งจัดทำปฏิทินขึ้นใหม่ที่เข้ากับวิถีปฏิบัติทั้งอย่างอิสลามและแบบชวา
มีเรื่องเล่ากันมาในอินโดนีเซียว่า เมื่อราชาองค์แรกที่ยังเป็นพุทธหรือฮินดูได้สวรรคต โอรส ๒ องค์รบชิงราชย์กัน องค์พี่ชนะแล้วต่อมาเป็นมานับถืออิสลาม องค์น้องหลบไปอยู่บาหลี และลั่นวาจาว่าอีก ๕๐๐ ปีจะกลับมา
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การแผ่ขยายเข้ามาของศาสนาอิสลามในดินแดนแถบที่เป็นมาเลเซียและอินโดนีเซียนี้ ดำเนินไปกับวิถีของการค้าขาย มิใช่มากับกองทัพอย่างที่เป็นไปบนแผ่นดินใหญ่เช่นชมพูทวีป ดังนั้น โดยทั่วไปจึงเป็นการแผ่ขยายโดยทางสันติ
อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ได้ชี้ลึกลงไปให้เห็นข้อพึงสังเกตเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะชวานี้ (ซึ่งเชื่อมโยงให้เข้าใจปัจจุบันด้วย)ว่า แต่เดิมมาในยุคของศรีวิชัย และมัชปาหิต ชาวชนบท โดยเฉพาะตามชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญ ยังเข้าไม่ค่อยถึงพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ไม่ซึมซาบนักในวัฒนธรรมที่มากับศาสนาทั้งสองนั้น
ในภาวะเช่นนี้ พ่อค้ามุสลิมจากอินเดียและอาหรับก็เข้ามาค้าขายตลอดจนเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งทะเล คนเหล่านี้มีฐานะดีตามวิถีของพาณิชย์ นำชุมชนใหม่ๆ ให้เจริญขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมนั้นก็เผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ชาวถิ่น ซึ่งไม่เพียงเข้ามาตามทางแห่งศรัทธาเท่านั้น แต่เพื่อได้โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในวงธรุกิจการค้าขายด้วย
ต่อมาก็เกิดอาณาจักรใหม่ๆ ขึ้นแถบทะเล ปรากฏว่าอาณาจักรมุสลิมที่เกิดใหม่เหล่านี้ ได้นำวิธีบังคับเข้ามาใช้ด้วย ในการทำให้คนนับถือศาสนาอิสลาม และได้ดำเนินการตามวิธีนี้ ทั้งที่ชวาภาคตะวันตกและแม้บนเกาะสุมาตราภาคใต้ถึงปาเล็มบัง
ต่อมาอาณาจักรมุสลิมใหม่ๆ นี้ก็ผนวกการบังคับคนให้นับถือศาสนาเข้ากับการเมืองการทหารในการขยายดินแดน ดังที่อาณาจักรเดมัก (Demark) ได้ยกทัพบุกลึกเข้ามายังส่วนในของชวา เมื่อกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๖ (ราว พ.ศ.๒๑๐๐)
ปฏิบัติการนี้แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทำให้อาณาจักรในแผ่นดินที่อยู่ลึกเข้ามา ซึ่งยังแนบแน่นในวัฒนธรรมเดิม และถือตัวว่าเป็นพวกชวาแท้ เกิดความขัดเคืองมาก
เหตุการณ์ถึงจุดเดือด เมื่ออาณาจักรมาตาราม ในชวาภาคกลางที่แม้จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่สืบวัฒนธรรมเดิม เรืองอำนาจขึ้นมา และในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ด้วยกลัวว่าพวกรัฐชายฝั่งทะเลจะไปทำลายพวกตน จึงได้ออกหน้านำทัพมาทำลายรัฐมุสลิมแถบชายฝั่งทะเลให้แหลกไป
การณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้ศาสนาอิสลามแถบนั้นชะงัก หยุดแผ่ขยายตัวมาอีกนาน แล้วยังมาเจอกับสถานการณ์ใหม่อีกแบบหนึ่งในยุคที่พวกดัทช์เข้ามา จนกระทั่งสิ้น คริสตศตวรรษที่ ๑๙ จึงฟื้นกำลังเฟื่องฟูได้ใหม่
พวกดัทช์ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในชวาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๖๐๒ นับแต่นั้นมา มาตารามก็ต้องต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคม ซึ่งระยะแรกมาตารามยังเป็นต่อ แต่หลังสิ้นสุลต่านองค์ที่ ๓ แล้ว มาตารามก็มีแต่เสื่อมอำนาจ และสูญเสียดินแดนไปเรื่อยๆ
พอถึงปี ค.ศ.๑๗๔๙ มาตารามก็กลายเป็นเมืองขึ้นของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา จากนั้นอีก ๖ ปี เกิดศึกสืบราชย์กันเองภายใน เมื่อปี ค.ศ.๑๗๕๕ ทำให้แบ่งออกเป็นเขตตะวันตก กับตะวันออก กลายเป็น ๒ แดน คือ Surakarta กับ Yogykarta และอีก ๒ ปีต่อมาก็ถูกจัดแบ่งเป็น ๓ เขต มาตารามก็ถึงวาระแห่งอวสาน
ครั้งถึงปี ค.ศ.๑๗๙๙ เนื่องจากบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา ได้ล้มละลายลงและถูกยุบ รัฐบาลฮอลลันดาจึงเข้าครอบครองและควบคุมทรัพย์สินของบริษัททั้งหมด แล้วดินแดนแถบนี้ก็ถูกเรียกรวมกันว่าเป็น “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา” (Dutch East Indies) ถือว่าเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๑๖
ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองหมู่เกาะนี้ในปี ค.ศ.๑๙๔๒ และได้สนับสนุนให้ชาวถิ่นเรียกร้องอิสรภาพ แล้วเกิดการดิ้นรนขวนขวายจนถึงปี ค.ศ.๑๙๔๕ ขบวนการชาตินิยมนำโดย ซูการ์โน ได้ประกาศอิสรภาพแต่ก็ยังต่อสู้กันอีก ๔ ปี เนเธอร์แลนด์จึงยอมให้เป็นเอกราช ในปี ค.ศ.๑๙๔๙ เรียกว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีคนแรก
เรื่องของดินแดนมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่าที่เกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและฮินดู จนถึงอิสลามเห็นว่าควรเล่าไว้เท่านี้ก่อน.
เรียบเรียงจาก “จาริกบุญ จารึกธรรม” ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ปัจจุบันดำรงสมณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment