Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๖. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๖

“กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร”

“ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกก็ไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจ ทำลายทุกอย่างหมด”

หลังจากปรีดีลี้ภัยไปอยู่เมืองจีน พูนศุขต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่เลี้ยงลูกทั้ง ๖ คน หารายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยการทำขนมเค้กขาย และติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด พูนศุขเคยพูดถึงลูก ๆ ว่า

“ลูกทั้ง ๖ คนเลี้ยงมาเอง แต่ก็มีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วย ฉันให้นมลูกคนละประมาณ ๑ ถึง ๓ เดือน ต่อมาไม่มีน้ำนมก็ให้นมผง แล้วก็เสริมอาหารประเภทน้ำข้าว กล้วยน้ำว้า มะละกอ... ลูกฉันทั้ง ๖ คน เว้นคนโต (ลลิตา) ซึ่งสมองไม่พัฒนา ทุกคนมีการมีงานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อสังคม แค่นี้สำหรับผู้เป็นแม่ก็พอใจแล้ว”

จนกระทั่งในปี ๒๔๙๕ เกิดสงครามที่คาบสมุทรเกาหลี ระหว่างฝ่ายเกาหลีเหนือที่มีจีนและสหภาพโซเวียตสนับสนุน กับฝ่ายเกาหลีใต้ที่สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ ซึ่งในเวลานั้นกองทัพไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบด้วย

ปัญญาชนหลายคนในเมืองไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง “คณะกรรมการสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย” เพื่อเรียกร้องสันติภาพและต่อต้านการใช้ระเบิดปรมาณู มีการล่ารายชื่อผู้ที่เห็นด้วยกับสันติภาพ แต่ก็ถูกรัฐบาลทหารกวาดจับ หาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ รัฐบาลได้จับกุมนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง ทนายความ อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ปาล พนมยงค์ ในข้อหายุยงให้เกิดความแตกแยกไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ทั้งหมดถูกตั้งข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กบฏสันติภาพ” พูนศุขรำลึกความหลังให้ฟังว่า

“ตอนนั้นลูกปาลถูกเกณฑ์ทหารและอยู่ระหว่างลาป่วย ตำรวจก็มาจับตัวถึงในบ้าน ฉันพยายามทำใจเข้มแข็งเมื่ออยู่ต่อหน้า พอพวกนั้นกลับไปฉันวิ่งขึ้นไปร้องไห้ด้วยความคับแค้นใจ ลูกปาลถูกข้อหากบฏสันติภาพ”

พูนศุขหารู้ไม่ว่า ไม่เพียงลูกชายที่ถูกพรากไป แต่อีกไม่นานตัวเองก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกัน

“หลังจากตำรวจเอาลูกฉันไป สองวันต่อมา ฉันเป็นเถ้าแก่หมั้นคุณศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) ตำรวจก็มาจับในงานไปสอบสวนที่สันติบาล ตอนนั้นลูกสาวสองคนยังเล็กอยู่ เลยต้องเอามานอนที่สันติบาลด้วยสองคืน”

พูนศุข และปาล ลูกชายคนโตถูกตำรวจสันติบาลค้นบ้านและจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภาพนอกราชอาณาจักร” พูนศุขถูกจองจำอยู่ในกรงขัง 48 วัน เพื่อให้ยอมสารภาพว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน

วันนั้นตำรวจนำตัวไปตรวจค้นที่บ้าน ระหว่างทางพูนศุขจึงแวะรับลูกดุษฎีและวาณีที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และคืนนั้นต้องพาไปนอนในคุกด้วยกันเพราะที่บ้านไม่มีใครดูแล พูนศุขถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับหัวแม่มือและนิ้วทั้งสิบกดลงบนจานหมึกสีดำ พิมพ์ลายนิ้วมือในกระดาษ ราวกับเป็นผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์

“นายตำรวจที่ทำหน้าที่สอบสวนฉันคือพระพินิจชนคดี พี่เขยของ ม.ร.ว. เสนีย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เชี่ยวชาญในการสร้างพยานเท็จกรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๘ เขาถามว่ารู้จัก พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธิน ที่ตอนนั้นทางการกำลังล่าตัวอยู่ไหม คือภายหลังการทำรัฐประหารจนทำให้นายปรีดีต้องออกนอกประเทศไปนั้น สถานการณ์ตอนนั้นก็ไม่น่าวางใจ ยังมีการติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้อง หากจับสามีไม่ได้ก็มาจับภรรยาไปแทน ฉันจึงไปอาศัยบ้านพักคุณทหารอยู่ที่สัตหีบชั่วคราว คุณทหารต้อนรับฉันกับลูก ๆ อย่างดี เราอยู่ที่สัตหีบเกือบสามเดือน คุณทหารเป็นผู้ก่อการ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีบุญคุณกับครอบครัวเรามาก ตอนหลังคณะรัฐประหารจะจับคุณทหาร แต่จับไม่ได้ คุณทหารหลบไปที่เมืองปราณฯ หรืออยู่ที่ไหนสักแห่งไม่แน่ชัด

“ทีนี้มีคนมาติดต่อ บอกว่าคุณทหารเข้าป่า ฉันก็ฝากข้าวของไปให้ เขียนโน้ตใส่เศษกระดาษฝากคนไป บอกว่าถ้ามีหนทางอะไรก็ยินดีที่จะช่วยเหลือ พอคุณทหารถูกจับได้ ก็พบเศษกระดาษที่มีลายมือของฉัน ดังนั้นเมื่อตำรวจถาม ฉันก็ไม่ปฏิเสธ เขาถามว่านี่ใช่มั้ยลายมือฉันไหม ฉันก็รับว่าใช่ ฉันเขียนจริง ๆ ข้อหาฉันมีข้อนี้เท่านั้นเท่าที่ดูในสำนวนฟ้อง นอกนั้นถามว่านายปรีดีอยู่ที่ไหน ฉันไม่ทราบทั้งนั้น ตอบไม่ได้”

หลังจากนายปรีดีหนีออกนอกประเทศเป็นเวลา ๓ ปีกว่าแล้ว พูนศุขก็ไม่เคยได้ทราบข่าวของสามีอีกเลย ขาดการติดต่อกันโดยสิ้นเชิง

“ฉันไม่ได้คิดกบฏกับใคร ลูกก็ไม่เกี่ยว ไม่พัวพันกันเลย แต่เขาก็จับฉันไปทำลายจิตใจ ทำลายทุกอย่างหมด อิสรภาพเรื่องเล็ก จิตใจนี่เรื่องใหญ่ ถูกขังติดลูกกรงเหล็กอยู่ ถ้าเผื่อไฟไหม้เราก็ตายในนั้น และฉันเป็นคนที่กินกาแฟยาก พอคนในบ้านเอากาแฟที่บ้านชงใส่กระติกมาให้ ก็ยังเอาเข้าไม่ได้”

พูนศุขติดคุกได้ ๑๒ วัน ตำรวจก็พาไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจฝากขังต่อ และทุก ๑๒ วันเธอก็ต้องถูกนำมาฝากขังต่อ ด้วยข้ออ้างของตำรวจว่าพยานที่รู้เห็นการกระทำของเธออยู่ต่างประเทศ มาให้การไม่ได้

“ตำรวจพาไปศาล ผู้ต้องหาหญิงคนเดียว ไม่รู้ใช้กำลังเท่าไหร่ ไปศาลแล้วพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมาถ่ายรูป ตำรวจพยายามจะเอาฉันหลบกล้อง พอถึงศาลแล้วก็เห็นพวกผู้ต้องหาคนอื่น ๆ นั่งเป็นแถว แต่ของฉันไปนั่งเฉพาะ มีตำรวจคุม แหม ทุเรศจริง ๆ เชียว ทำกับฉันขนาดนี้

“ตอนนั้นไม่กลัวเลยนะ หลังจากติดคุกได้ ๘๔ วัน อัยการยกฟ้องฉัน ตอนนั้นมีตำรวจคนหนึ่งเป็นสารวัตร (พ.ต.ต. เสริม พัฒนกำจร) ขณะนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แหม ดีกับฉันเหลือเกิน เวลานั้นท่านเป็นนายพันตำรวจตรี ก็คุมฉันบ้างบางเวลา ท่านก็อุตส่าห์วิ่งไปหาเพื่อนที่เป็นอัยการ ไปสืบดูว่าฉันจะถูกฟ้องหรือเปล่า อุตส่าห์ไปเหน็ดเหนื่อยกันดึกดื่น ผลสุดท้ายฉันไม่ถูกฟ้อง”

เมื่อฝากขังครบ ๘๔ วัน ตำรวจก็เสนอสำนวนสอบสวนไปกรมอัยการเพื่อให้ฟ้องพูนศุขข้อหากบฏ แต่กรมอัยการพิจารณาสมควรไม่สั่งฟ้องเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ขณะที่ปาลและพวกถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” พูนศุขเล่านาทีที่ทราบข่าวให้ฟังว่า

“พอศาลตัดสินแล้วจะเอาลูกขึ้นรถไปเรือนจำลหุโทษ ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ฉันก็ขึ้นรถไปด้วย นายตำรวจคนหนึ่งก็พูดขู่ว่า นี่จะเอาไปคุกแล้วนะวันนี้ ฉันก็บอกว่าคุณไม่รู้ประวัติของฉันดี คุณนึกว่าฉันกลัวคุกเหรอ คุณปู่ของฉัน คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา เป็นแม่กองสร้างคุกแห่งนี้ และเป็นผู้บัญชาการคนแรกของทัณฑสถานแห่งนี้ และคุณพ่อของฉัน พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนสุดท้ายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วฉันจะกลัวคุกได้อย่างไร”

พูนศุขนั่งรถมาส่งลูกชายคนโตเดินเข้าเรือนจำด้วยความสะเทือนใจ ลูกติดคุก สามีก็หายไปไม่รู้เป็นตายร้ายดีประการใด เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า บีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจของเธอเกินกว่าที่จะอยู่เมืองไทยซึ่งไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยได้ น้ำหนักลดฮวบฮาบลงเหลือเพียง ๔๒ กิโลกรัม ในเดือนเมษายน ๒๔๙๖ พูนศุขจึงตัดสินใจเดินทางไปหาลูกสุดาที่เรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

ในเวลานั้น พูนศุข พนมยงค์ คงไม่ทราบว่าการเดินทางครั้งนั้นเป็นการไปใช้ชีวิตในต่างแดนยาวนานถึง ๓๔ ปี

No comments: