Tuesday, August 28, 2007

บทความที่๒๔๒.ผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง

ผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง
จากหนังสือ "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
เจตนาดีของนักปราชญ์แห่งระบบทุนนิยม ที่ต้องการรวบรวมเจตจำนงของประชาชนมาทำการปกครอง หรือ
นัยหนึ่งทำการปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของประชาชน โดยวิธีการให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าสู้รัฐสภา อันเป็นที่สำแดงเจตจำนงของประชาชนทั่วทั้งสังคม ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้น หาได้บรรลุความสำเร็จสูงสุดตามเจตนาดีนั้นไม่ คือยังไม่อาจที่จะรวบรวมเจตจำนง หรือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมาทำการปกครองได้ ยังเป็นการปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของบางฝ่ายในสังคมเท่านั้น เช่นเดียวกับยุคทาสและยุคศักดินาที่สังคมนั้นปกครองตามเจตจำนงของชนชั้นนายทาสและชนชั้นเจ้าศักดินา
ทั้งนี้เพราะว่าระบบทุนนิยม ได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในทางเศรษฐกิจ อย่างที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และจากการแข่งขันอย่างเสรีเช่นนี้ คนที่เข้มแข็งกว่า คนที่ฉลาดกว่าคนที่มือยาวกว่า ย่อมได้เปรียบคนที่อ่อนแอกว่า คนที่โง่กว่า คนที่มีมือสั้นกว่า

จนในที่สุดทำให้คนที่เข้มแข็งกว่า คนที่ฉลาดกว่า คนที่มือยาวกว่า กลายเป็นฝ่ายกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นฝ่ายบงการทางเศรษฐกิจในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก

โดยที่โครงสร้างของสังคมประกอบขึ้นด้วยเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ในโครงสร้าง ๓ ส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างเบื้องล่างหรือโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเมืองและวัฒนธรรมเป็นโครงสร้างเบื้องบนและฝ่ายใดกุมโครงสร้างเบื้องล่าง ฝ่ายนั้นจะกุมโครงสร้างเบื้องบนไว้ได้ด้วย หรือฝ่ายใดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ฝ่ายนั้นจะกุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย นี่เป็นสัจธรรมเป็นกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

ในยุคทาส ชนชั้นนายทาสเป็นฝ่ายกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมด้วย

ในยุคศักดินา ชนชั้นเจ้าศักดินาเป็นฝ่ายกุมอำนาจเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย

ในยุคทุนนิยม ชนชั้นนายทุนเป็นฝ่ายกุมอำนาจเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

คำว่าเข้ากุมอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่ได้หมายความว่านายทาสทุกตัวคน เจ้าศักดินาทุกตัวคน และนายทุนทุกตัวคน จะเข้าไปมีบทบาทกุมอำนาจทางการเมือง แต่หากหมายความว่า ตัวแทนผลประโยชน์แห่งชนชั้นนั้นๆ ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลปกครองรัฐหรือประเทศแล้วปกครองรัฐหรือประเทศตามเจตจำนงหรือความต้องการของชนชั้นที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ

รัฐบาลยุคทาสปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของชนชั้นนายทาส เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทาส

รัฐบาลยุคศักดินา ปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการชนชั้นเจ้าศักดินา เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินา

รัฐบาลยุคทุนนิยม ปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการชนชั้นนายทุน เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน

ดังนั้นภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจกันอย่างเสรีในเบื้องต้น แต่โดยกลไกของระบบทุนนิยมเอง ได้พัฒนาจากการแข่งขันกันโดยเสรีไปสู่การผูกขาดในลำดับต่อมา เศรษฐกิจจึงตกอยู่ในกำมือของนายทุนผูกขาดเพียงไม่กี่ตระกูล เช่นที่ปรากฏอยู่ในบ้านเมืองของเราในเวลานี้

และดังนั้น การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ภายใต้เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการจำกัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างกวดขันตรงไปตรงมาเช่นประชาธิปไตยแบบกรีกก็ตาม แต่การเลือกตั้งภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด อำนาจมืดและอิทธิพลทางเศรษฐกิจได้เข้าไปมีบทบาทเป็นตัวชี้ขาด ซึ่งเป็นผลส่งให้ฝ่ายที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับชัยชนะ และได้เข้ากุมอำนาจทางการเมือง

การเลือกตั้งเช่นนี้ จึงเป็นแต่เพียงความชอบธรรมโดยพิธีการ หรือโดยรูปแบบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความชอบธรรมโดยเนื้อหา อันเป็นความชอบธรรมที่แท้จริง จึงไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาของชาติ หรือปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม คือปัญหาความอยู่ดีกินดี เพราะว่าโดยเนื้อหาแล้ว ระบอบประชาธิปไตยชนิดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยแบบกรีกในยุคทาส หรือประชาธิปไตยนายทาส เราจึงเรียกประชาธิปไตยชนิดนี้ว่าประชาธิปไตยนายทุน (Bourgeois Democracy) ไม่ใช่ประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democracy)

ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในสังคม

รัฐบาลในยุคทาส ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของเจ้าทาส

รัฐบาลในศักดินา ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของเจ้าศักดินา

รัฐบาลในทุนนิยม ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของนายทุน.

No comments: