Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๗.พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่ ๗

ชีวิตในต่างแดน

“ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น น้องได้ปฏิบัติเปนภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอุททิศตนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบากเนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้า คุณความดีของน้องก็จะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”

จดหมายจากปรีดีถึงพูนศุข เนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปีของการสมรส

พูนศุขและลูก ๆ พำนักที่กรุงปารีสได้ไม่นาน อยู่มาวันหนึ่งเธอก็ได้รับจดหมายจากปรีดีซึ่งขาดการติดต่อนานถึง ๔ ปี ในเนื้อความจดหมายนายปรีดีแจ้งให้ภรรยาเดินทางไปประเทศสวีเดน ติดต่อสำนักผู้แทนการทูตจีน เพื่อเดินทางเข้าประเทศจีน

เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่านายปรีดีลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ เป็นที่หวั่นกลัวของประเทศตะวันตก การเดินทางไปประเทศจีนเป็นเรื่องอันตรายและเป็นไปได้ยาก พูนศุขทราบดีว่าเพื่อความปลอดภัย การเดินทางไปเมืองจีนจึงต้องเก็บเป็นความลับสุดยอด

พูนศุขพร้อมด้วยดุษฎีและวาณีเดินทางไปยังกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เพื่อพบทูตจีนผู้ได้มอบตั๋วเครื่องบินให้สามแม่ลูกเดินทางไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จากที่นั่นเป็นหนทางที่จะข้ามไปสหภาพโซเวียต พอถึงกรุงมอสโก เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนมารอรับ แล้วออกเดินทางโดยรถไฟขบวนยาวที่สุดในโลกจากยุโรปตะวันออกสู่ทวีปเอเชียเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน

พอข้ามแดนมาถึงประเทศจีน นายปรีดีมายืนรอรับที่เมืองหม่านโจ๊วหลี่ และพาครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง นับเป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในปี ๒๔๙๐

ไม่นานหลังจากนั้น ประธานเหมาเจ๋อตง ผู้นำจีน ได้มีโอกาสพบกับนายปรีดี ณ กรุงปักกิ่ง ประโยคแรกที่ประธานเหมาเอ่ยขึ้นคือ

“รู้สึกยินดีที่ได้พบกับท่านปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมเอง แต่เดิมมีอาชีพเพียงเป็นครูประชาบาลชั้นประถมเท่านั้น”

ระหว่างใช้ชีวิตร่วมกันที่กรุงปักกิ่งก็ได้ทราบข่าวจากวิทยุว่า ปาลถูกศาลตัดสินจำคุก ๒๐ ปี ซึ่งต่อมาได้รับการลดโทษลงเหลือ ๑๓ ปี ๔ เดือน จนเมื่อถูกขังอยู่เกือบ ๕ ปี ในปี ๒๕๐๐ ปาลกับผู้ต้องหาคดีกบฏสันติภาพก็ได้รับการพระราชทานนิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล

ต่อมาเมื่อนายปรีดีอายุมากขึ้น ประกอบกับปัญหาสุขภาพไม่สามารถทนความหนาวจัดในกรุงปักกิ่งที่อุณหภูมิติดลบ ๑๕ องศาได้นาน ๆ ตลอดช่วงฤดูหนาว จึงได้ทำเรื่องถึงทางการจีน และได้รับอนุญาตให้ย้ายบ้านพักมาอยู่ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ที่มีสภาพภูมิอากาศอบอุ่นกว่า

ในช่วงเวลานั้น ลูก ๆ ของพูนศุข-ปรีดีต่างก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญากันทุกคน ปาลจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดาจบปริญญาโทอักษรศาสตร์ที่ฝรั่งเศส ขณะที่ศุขปรีดาจบทางด้านภาษาที่กวางโจว ดุษฎีจบทางด้านดนตรีและวาณีจบปริญญาโทอักษรศาสตร์ที่กรุงปักกิ่ง ส่วนลลิตาลูกสาวคนโตมีปัญหาด้านสมองไม่พัฒนาตั้งแต่เด็ก

จนถึงปี ๒๕๑๓ นายปรีดีจึงขออนุญาตรัฐบาลจีนย้ายครอบครัวมาอยู่ในเมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพราะรู้สึกเกรงใจทางจีนที่ให้การดูแลอย่างดีเยี่ยมมานานแล้ว ประกอบกับการติดต่อกับประเทศไทยลำบากมาก เพราะจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เต็มรูปแบบ แม้แต่ญาติสนิทมิตรสหายจากเมืองไทยจะมาเยี่ยมก็ถูกทางการเพ่งเล็งอยู่ตลอด การฟังข่าวสารจากหนังสือพิมพ์หรือวิทยุก็ไม่สะดวก และถึงเวลาที่จะต้องเลือกดำเนินชีวิตเป็นของตัวเองแล้ว ถ้าอยู่ในกรุงปารีสจะสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้สะดวกกว่า พูนศุขเคยกล่าวว่า

“ฉันไม่ลืมบุญคุณรัฐบาลจีนและราษฎรจีน ฉันเป็นคนไม่ลืมบุญคุณคน ตอนที่ทางจีนเกิดอุทกภัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ฉันก็ส่งเงินตามมีตามเกิดไปช่วยเหลือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ส่งไปอีก”

สนทนากับคนรุ่นใหม่ในสวนบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส

กรุงปารีสเป็นเมืองที่นายปรีดีคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน เขาเคยมาศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นเวลานานถึง ๘ ปี เป็นสถานที่ที่บรรดาผู้ก่อการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เคยมาปรึกษาหารือกันเป็นประจำ เมื่อนายปรีดีอพยพครอบครัวมาอยู่ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง เขาก็ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับญาติสนิทมิตรสหาย ลูกศิษย์ลูกหา นักศึกษาที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนสม่ำเสมอ และใช้เวลาเขียนสำนวนคดีฟ้องหมิ่นประมาทผู้ที่กล่าวหาว่าท่านพัวพันในกรณีสวรรคต ซึ่งทุกคดีที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้อง ศาลตัดสินให้ชนะคดีทั้งหมด

“แต่การย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศส ครอบครัวพนมยงค์ต้องประหยัดมัธยัสถ์อย่างมาก เพราะอาศัยเพียงรายได้จากบำนาญของปรีดี และค่าเช่าบ้านที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่มาก ดุษฎี ลูกสาวของท่านเคยเขียนไว้ว่า

“ชีวิตของคุณพ่อดำรงอยู่ด้วยเงินบำนาญเพียงเดือนละ ๔ พันกว่าบาท ทำให้ลูก ๆ ทุกคนต้องทำงานเพราะเงินเพียงเท่านี้อยู่ไม่ได้แน่ เราต้องทำงานทุกอย่าง สมาชิกในครอบครัวของเราทำกระทั่งไปทำงานในร้านอาหาร และรับจ้างทำความสะอาดตามบ้าน ทำอาหารขาย ฯลฯ”

จนถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ อันเป็นวันครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการสมรสของพูนศุข-ปรีดี ซึ่งเรียกว่า “การสมรสทองคำ” ทั้งคู่ได้ฉลองสมรสโดยการบำเพ็ญกุศลสาธารณสงเคราะห์โดยส่งผ่านสภากาชาดไทยที่นายปรีดีเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเวลานั้นเป็นเงิน ๕,๐๐๐ บาท

No comments: