Thursday, August 2, 2007

บทความที่ ๑๙๑. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๔

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”
จากพระบรมราชาธิบายดังกล่าวมานี้ พระองค์ทรงยอมรับในหลักการทั่วไปในการจำกัดพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในประเทศยุโรป ยกเว้นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม พระองค์จึงทรงกล่าวว่า

“เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นสมควรว่าราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน (สยาม) ควรจะกำหนดตามแบบเดิม”

กำหนดตามแบบเดิม คือ

“พระบรมราชานุภาพองพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามนี้ ไม่ได้มีปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อใดสิ่งใด หรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้”

ซึ่งก็หมายถึง ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง การจัดให้มีกระทรวง ทบวง กรม การจัดให้มีสภาต่างๆ ซึ่งมีลักษณะก้าวหน้า แต่ก็เป็นการก้าวหน้าภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีพระบรมราชานุภาพหรือพระราชอำนาจอย่างล้นพ้น ไม่มีข้อใดสิ่งใดหรือผู้ใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้

ข้อ ๓ รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตไปแล้ว แต่กระบวนการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจกษัตริย์ไม่มีจำกัด มาเป็นการจำกัดหรือระบอบราชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหาได้ล้มหายตายจากไปไม่ หากแต่ได้ขยายกว้างขวางออกไปทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ จนกระทั่งได้มีการรวมตัวกันขึ้นของคณะนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “คณะ ร.ศ.๑๓๐” วัตถุประสงค์ในการรวมตัวกันก็เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินที่เรียกกันในเวลานั้นว่า “เก็กเหม็ง” หรือ “ปฏิวัติ” ตามแบบอย่างของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่ทำการเก๊กเหม็งในเมืองจีน

ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ผู้เป็นบุคคลสำคัญในคณะนายทหารหนุ่ม ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “หมอเหล็งรำลึก” (ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ – เหล็งศรีจันทร์ หัวหน้าคณะนายทหารหนุ่ม ร.ศ.๑๓๐) มีความตอนหนึ่ง ดังนี้

“สาเหตุส่วนสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่ความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงจำต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้นที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนชาวไทย และแก้ไขการปกครองให้เกิดแต่ตราชูสมองของผู้ที่เป็นเจ้าของชาติร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกแยกกันว่าการกสิกรรม การอุตสาหกรรม และการพาณิชยกรรม ยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ๆ กับประเทศไทยสมัยปิดเมืองท่า

แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบปรมิตตาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตยใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้าหาประชาชาติของเขาอย่างรวดเร็ว จนเกินหน้าประเทศไทยไปอย่างไกลลิบ

ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาปลุกระดมพลเมืองของเขาให้รักชาติ ฉลาดหลักแหลมและมั่นคงในวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยโครงการศึกษาอันแน่นอนตามเงื่อนเวลา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาเป็นกำลังการปกครองและแก้เศรษฐกิจแห่งชาติ โดยวางโครงการขึ้นเป็นขั้นตอน พร้อมกันนั้นก็จัดระบบสหกรณ์อย่างทะมัดทะแมงจากกำลังแรง กำลังทรัพย์ของพลเมือง ส่วนกำลังเงินงบประมาณของชาติที่เคยฟุ่มเฟือยก็รวบรวมสะสมด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความประหยัด

จากการเปลี่ยนแปลงระบอบประเพณีการปกครองนั้นชั่วไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็มีการค้าไปทั่วโลกจากผลิตผลแห่งโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง...

แต่ส่วนไทยเราสิ ยังล้าหลังอย่างน่าเวทนาสงสารยากที่จะหยิบยกภาวะใดอันเป็นความเจริญก้าวหน้าแห่งสังคมชาติมาเทียบเคียงให้ชื่นอกชื่นใจได้ มิหนำซ้ำยังมีเหตุการณ์ภายในบ้านเมืองค่อนข้างยุ่งเหยิงไม่เป็นล่ำเป็นสัน ถึงกับขาดความพึงพอใจจากพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศเสียอีกด้วย เพราะอำนาจการปกครองประเทศชาติได้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของคนๆ เดียว คือ กษัตริย์ ผิดสุภาษิตที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว”

ข้อคิดควรคำนึงถึงความล้าหลังของชาติดังกล่าวนั้นเอง ได้ปลุกนายทหารหนุ่มผู้มีมันสมองปฏิวัติให้ลุกขึ้นคิดปฏิวัติชาติไทย”

ดังกล่าวนี้คือความมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ในความคิดก่อการกบฏของชาวคณะ ร.ศ.๑๓๐ และจากความคิดดังกล่าวนี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงระบอบการปกครองและสังคมขณะนั้นว่าเป็นประการใด

No comments: