Monday, July 30, 2007

บทความที่ ๑๘๘. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๒

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”

ดังที่ผมกล่าวแล้วข้างต้นว่า การแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาต่างๆ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่เกี่ยวกับการเตรียมพระราชทานอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย ดังที่ประมวลฯ พยายามอธิบายให้เข้าใจเช่นนั้น แต่เป็นแผนการยึดอำนาจของพระองค์คืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้ทรงเปิดเผยความจริงดังกล่าวนี้ให้ปรากฏอยู่ในพระบรมราโชวาท ฉบับที่ ๒ ที่ทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสยามมงกุฎราชกุมาร พระองค์แรก ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“..ในเวลานั้นอายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์-สุพจน์) และจะต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ใดได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอันอาจจะหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องที่ร่วมบิดาหรือร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่..”

ข้อ ๒. เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะรักษาอธิปไตยของพระองค์ไว้ให้มั่นคงด้วยการปฏิรูปหรือที่พระองค์เรียกว่า รีฟอม ดังพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือกราบบังคมทูล ลงวันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๒ ปีวอก ฉศก ศักราช ๑๒๔๖ ตรงกับวันที่ ๘ เดือนมกราคมคริสตศักราช ๑๘๘๕ ของเจ้านายและข้าราชการสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ประกอบด้วย
๑.พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์
๒.พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต(ต่อมาเป็นกรมขุนพิทยลาภพฤติธาดา)
๓. พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระสวัสดิ์รัตนวิศิษฏ์)
๔. พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
๕. พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี)
๖. หลวงนายเวร (สุ่น สาตราภัย)
๗. หลวงวิศิษสาลี (นาค ณ ป้อมเพ็ชร์ ต่อมาเป็นพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา ผู้รักษากรุงเก่า)
๘. บุศย์ เพ็ญกุล
๙. ขุนปฏิภาณพิจิตร (หรุ่น)
๑๐. สับเลฟท์เทอแนนท์ สะอาด สิงหเสนี
๑๑. นายเปลี่ยน

หนังสือกราบบังคมทูลขึ้นต้นด้วยข้อความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือเล่มนี้ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท..

ความซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไปนี้ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน

๑.คือภัยอันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยามได้ด้วยความปกครองของกรุงสยามอย่างเช่นมีอยูในปัจจุบันนี้ (สมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์) จะเป็นไปด้วยเหตุต่างๆ ดังเช่นมีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่โตได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันปกครองมิได้

๒. คือการที่จะต้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตราย ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย การปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ (สมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์)โดยทางยุติธรรมฤาอยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้วแล ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้

๓. ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้อย่างเดียว แต่จะตั้งพระราชหฤทัย ว่าสรรพสิ่งทั้งปวงจะต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์ (ปฏิวัติ-สุพจน์)ทุกสิ่งทุกประการไม่เว้นว่าง”

ครั้นแล้วหนังสือกราบบังคมทูลดังกล่าวได้บรรยายถึงรายละเอียดในอันตรายที่จะได้รับจากการปกครองในระบอบเก่าคือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์) ไว้อย่างยืดยาวหลายหน้ากระดาษรวมทั้งหนทางที่จะแก้ไขอันตรายเหล่านั้น คือ เดินตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว (คือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ดังมีความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ด้วย ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมีความเชื่อถืออันแน่วแน่ว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระราชหฤทัยทรงพระอุตสาหะ ดังที่ได้มีมาเป็นพยานอยู่แต่ก่อนแล้ว ที่จะทรงพระราชวินิจฉัยในราชกิจทำนุบำรุงพระราชอาณาเขต และไพร่ฟ้าประชาราษฎรให้มีความสุขความเจริญต่อไป แลทั้งโดยความกตัญูสวามิภักดิ์ ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงโดยเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงนำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์อันแรงกล้าที่จะได้เห็นรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปด้วยความดี ความเจริญ

เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงสามารถขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลพระกรุณา ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทควรทรงพระราชดำริถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในสมัยอันประเสริฐคือ “ศิวิไลเซชัน” นี้ ไม่ควรจะให้มีความดีความเจริญเพียงเสมอรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่โบราณมา ด้วยราชกิจแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช่แต่จะทรงทำนุบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ให้พ้นจากภัยอันตรายตลอดไปชั่วรัชกาลหนึ่งมิได้ ต้องให้ความดีความเจริญที่ใต้ฝ่าฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทรงพระราชอุตสาหะประพฤติมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นการป้องกันรักษาอันแน่นอนของกรุงสยามและเป็นรากของความเจริญที่จะเจริญต่อไป

และเมื่อรัชกาลในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสุดสิ้นไปแล้ว ให้ผู้ที่จะมารักษาพระราชประเพณีสืบไปแลทั้งข้าราชการ ราษฎรนั้นได้ระลึกถึงรัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยความเคารพนับถือ ว่าเอกราชของกรุงสยามและกำเนิดของความสุขความสบายที่ตั้งอยู่เจริญรุ่งเรืองมาจนวันนี้นั้น เพราะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทพระองค์เดียวได้ทรงทำนุบำรุงในทางอันประเสริฐมา และจะได้เป็นแบบอย่างของรัชกาลข้างหน้าสืบไป”

No comments: