Monday, July 30, 2007

บทความที่ ๑๘๗. อธิปไตยพระราชทาน ตอนที่ ๑

อธิปไตยพระราชทาน
จากหนังสือ “สุพจน์ ด่านตระกูล โต้ ประมวล รุจนเสรี เรื่องพระราชอำนาจ”

ประมวล รุจนเสรี ได้พยายามอธิบายให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีพระราชดำริที่จะพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชนชาวไทย ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ สืบต่อจากการวางรากฐานที่รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงดำเนินการไว้บ้างแล้ว

ประมวลฯ ได้พูดถึงสภาการแผ่นดินและสภาองคมนตรี ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ แล้วได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และฉบับต่อมาจนถึงฉบับที่ ๑๖ ในปี ๒๕๔๘ แล้วประมวลฯ ได้ลงท้ายหัวข้อ อธิปไตยพระราชทาน ด้วยบทสรุปว่า

“อำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน เป็นมรดกตกทอดมาจากอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ที่พระมหากษัตริย์มีมาอย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ของไทยได้วางแนวทางการพระราชทานอำนาจนี้ให้แก่ปวงชนชาวไทยไว้อย่างเป็นระบบ ที่ทรงใช้เวลาเตรียมการถึง ๒-๓ รัชกาล แต่ในที่สุด คณะราษฎรได้ฉกฉวยโอกาสและราชปณิธานในการพระราชทานอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ทำการยึดอำนาจเสียก่อน..”

ในบทนี้มีข้อเท็จจริงที่สับสนและฝ่าฝืนสัจจะหลายตอน อันเป็นที่เสียหายทางประวัติศาสตร์ ดังที่ผมจะได้ชี้แจงให้เห็นต่อไปนี้

ข้อ ๑. การแต่งตั้งสภาที่ปรึกษาต่างๆ ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ไม่เกี่ยวกับแผนการเตรียมพระราชทานอธิปไตยแก่ประชาชนชาวไทยแต่ประการใด แต่เป็นแผนการยึดพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จของพระมหากษัตริย์กลับคืนมาจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งขณะนั้นก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

ดังคำอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ซึ่ง หลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์(วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์)ผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม เนติบัณฑิตสยามและอังกฤษ บี.เอ. มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็นผู้เขียน พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ พ.ศ.๒๔๗๕ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๔๗ โดยสถาบันพระปกเกล้า มีข้อความว่าดังนี้ (อักขระตามต้นฉบับ)

“ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น กรุงสยามของเรานี้นับแต่พระร่วงเจ้าได้ปลดแอกของเขมรออก และตั้งกรุงศุโขทัยเป็นราชธานีสืบอิสสระภาพมาจนบัดนี้ พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ย่อมทรงใช้พระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองประเทศแต่ผู้เดียว แต่อำนาจนี้โดยปกติประเพณีของไทย พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงเลือกใช้โดยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแก่พลเมืองของท่านได้ นัยหนึ่งกษัตริย์ของเราได้ทรงใช้วิธีการปกครองราษฎรอย่างละมุมละม่อมฉันท์บิดาปกครองบุตร์เสมอมา แต่ก็เคยพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ซึ่งไม่ประพฤติตนอยู่ในทศพิธราชธรรม กดขี่ข่มเหงประชาราษฎร์ ให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นเนืองนิตย์ หรือมิฉะนั้นก็มีพระเจ้าแผ่นดินที่ไร้ความสามารถขาดกำลังจะยึดบังเหียนแห่งการปกครองประเทศไว้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่สามารถกว่าก็ย่อมฉวยโอกาสกำจัดพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ เสีย แล้วขึ้นนั่งเมืองแทนเป็นธรรมดาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้

แต่ส่วนประเพณีการปกครองนั้นก็คงใช้ของเก่าไปตามเดิม มิได้มีใครคิดหรือพยายามเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองให้ดีขึ้น ด้วยถือเป็นธรรมเนียมเสียว่าเมื่อเจ้าไม่ดีก็หาเจ้าใหม่ที่ดีมาแทนได้ ดังนี้

ครั้นมาในสมัยรัชชกาลที่ ๕ แห่งกรุงเทพพระมหานครนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกู้อำนาจของกษัตริย์ซึ่งตกไปอยู่ในเงื้อมมือผู้สำเร็จราชการแผ่นดินตั้งแต่ต้นรัชชกาลนั้นกลับคืนมาได้ โดยใช้วิธีเอาขุนนางอื่นๆ เข้าเป็นกำลังช่วยพระเจ้าแผ่นดิน

ในที่สุดจึงได้ทรงตั้งสภารัฐมนตรีเรียกตามภาษาอังกฤษว่า เคาน์ซิลออฟสเตต (Council of State) ขึ้นสำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในปีจุลศักราช ๑๒๓๖ (พ.ศ.๒๔๑๗)และต่อมาก็ประกาศตั้งอีกสภาหนึ่ง เรียกว่า ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) คือองคมนตรีสภา สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการในพระองค์บ้าง ราชการแผ่นดินบ้างและช่วยวินิจฉัยฎีกาต่างๆ ทำนององคมนตรีอังกฤษ

เมื่อจะทรงตั้งสภาองคมนตรีขึ้นนั้น ได้มีประกาศแสดงพระราชประสงค์จะทรงจัดการบ้านเมืองให้เจริญดีขึ้นโดยยกเลิกการกดขี่อันมีอยู่ในบ้านเมืองไทยให้น้อยลง

ส่วนเหตุที่ตั้งสภารัฐมนตรีขึ้น ก็โดยทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า ถ้าจะทรงจัดการบ้านเมืองแต่ลำพังพระองค์เดียว การคงจะไม่สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องมีผู้ช่วยกันคิดหลายปัญญา ความเจริญจึงจะมีแก่บ้านเมือง

ทรงพระราชดำริดั่งนี้ จึงได้เลือกสรรข้าราชการที่มีสติปัญญาเข้าเป็นคณะ เพื่อโต้เถียงปัญหาต่างๆ ก่อนออกพระราชบัญญัติ เมื่อตกลงกันเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จึงให้เอาข้อตกลงนั้นไปร่างเป็นกฎหมายขึ้น แล้วให้นำเข้าถวายในที่ประชุมคราวหน้า เมื่อที่ประชุมตกลงเห็นชอบพร้อมกันแล้ว ถ้าเป็นการใหญ่ต้องเอาไปปรึกษาเสนาบดีอีกชั้นหนึ่ง ต่อเสนาบดีเห็นชอบด้วยจึงลงพระนามประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติต่อไป แต่ถ้าเป็นการเล็กน้อยก็ประกาศใช้ทีเดียวโดยไม่ต้องปรึกษาเสนาบดี

ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น แต่แรกมีขุนนางชั้นพระยา ๑๓ คน ต่อมาภายหลังจึงได้เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ความลำบากครั้งนั้นอยู่ที่หาคนพูดยาก (เพราะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำจัดโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์-สุพจน์) อันเป็นการตรงกันข้ามกับความลำบากสมัยนี้ ซึ่งมักมีคนชอบพูดมากเกินไปในที่ประชุม เพราะในสมัยนั้นผู้ที่เข้าใจการปกครองแบบปาเลียเมนต์แทบว่าจะไม่มีเลย ใครเสนออะไรขึ้นมา มนตรีอื่นๆ ก็มักยอมตามโดยไม่ออกความเห็น

จนในที่สุด ทรงเห็นว่าการที่จะประชุมต่อไปไม่มีประโยชน์ จึงปล่อยให้รัฐมนตรีสภานั้นดับศูนย์ไปเอง พระเจ้าแผ่นดินคงมีแต่เสนาบดีสภาและองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาตลอดมาจนถึงปลายรัชกาลที่ ๖”

No comments: