Friday, August 31, 2007

บทความที่ ๒๔๖.ฝากไว้ให้นักปกครองรุ่นหลัง

“การบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรนี้ เป็นจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าในการทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ข้าพเจ้ามิปรารถนาที่จะเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ ซึ่งเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่เปลือกนอกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือ “บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” และถือว่ารัฐธรรมนูญเปรียบประดุจกุญแจประตูเปิดช่องให้ราษฎรได้มีส่วนมีเสียงในการปกครองให้จัดถูกต้องตามความต้องการของตน และเมื่อประตูที่กีดกั้นอยู่ได้เปิดออกแล้ว รัฐบาลก็จะต้องนำราษฎรผ่านประตูนั้นเข้าไปสู่ชัยภูมิแห่งความสุขสมบูรณ์ มิใช่นำราษฎรเดินถอยหลังเข้าคลอง”

ปรีดี พนมยงค์
๑๒ มีนาคม ๒๔๗๖

บทความที่ ๒๔๕.ศิลปะแห่งความสำเร็จ

ศิลปะแห่งความสำเร็จ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวในการเปิดอบรมนักศึกษาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๐

“ก่อนจะได้มา ณ มหาวิทยาลัยเพื่อรับการอบรมนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านคงจะได้ทราบความประสงค์และแนวทางแห่งการอบรมแล้ว เพราะเหตุว่าการอบรมคราวนี้เป็นการอบรม ครั้งที่ ๒ ต่อจากที่ได้ทำมาแล้วเมื่อต้นปีนี้ครั้งหนึ่ง

การที่ได้จัดให้มีการอบรมขึ้นในคราวนี้ก็เพื่อจะให้โอกาสแก่ท่านทั้งหลายซึ่งได้สอบไล่วิชาในทางหลักการได้ครบบริบูรณ์ทั้ง ๖ แล้ว ครั้นจะรอไว้ให้มีการอบรมในปีหน้าก็จะทำให้ท่านจำเป็นที่จะต้องรอคอยอยู่อีกเป็นเวลาหลายเดือน

การที่ได้จัดให้มีการอบรมนั้น ท่านคงจะได้ทราบจากแนวการซึ่งผู้ที่ได้รับการอบรมครั้งที่หนึ่งจัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้น หนังสือนี้ชื่อว่า ธรรมศาสตร์บัณฑิตย์ ๒๔๘๐ การที่ให้มีการอบรมนั้น ก็ด้วยเหตุที่เรามาคำนึงถึงท่านทั้งหลายที่ได้เล่าเรียนสอบไล่ได้จนกระทั่งครบ ๖ ภาคแล้วนั้น สิ่งที่ท่านจะได้รับไปคือ ได้รับในทางหลักวิชา แต่ว่าบุคคลเราเมื่อได้มีหลักวิชาแล้ว ในการที่จะนำเอาหลักวิชาไปใช้ให้เป็นประโยชน์นั้น ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง คือว่า หลักวิชาเปรียบประดุจสิ่งซึ่งเราเก็บไว้ในตู้ ในการที่เราจะไขตู้นำเอาหลักวิชามาใช้ให้เป็นประโยชน์นี้เป็นศิลปะ

ซึ่งความสำเร็จของแต่ละคน จะมีได้หรือไม่นั้นก็ย่อมอาศัยความชำนาญ อาศัยการอบรมบ่มนิสัยของบุคคลเท่านั้น เหตุฉะนั้นในครั้งอบรมคราวที่แล้วมา ข้าพเจ้าจึงได้ชี้ให้เห็นว่า ในการศึกษาเราจะต้องแยกออกเป็นสองอย่าง คือศึกษาในทางหลักวิชาการ ในทาง Instruction อย่างหนึ่ง และศึกษาในทางอบรมบ่มนิสัย คือในทาง Education อีกอย่างหนึ่ง และข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นแน่วแน่ว่า บุคคลเราถ้าเห็นว่าไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยไปแลว้ แม้จะมีหลักวิชาดีประการใดก็ตาม บุคคลนั้นก็ไม่สามารถที่จะนำความสำเร็จมาให้แก่ชีวิตของตน หรือความสำเร็จหรือประโยชน์มาให้แก่หมู่คณะหรือประเทศชาติได้ เหตุฉะนั้นจึงจำเป็นที่สุดที่จะต้องมีการฝึกฝน การที่จะฝึกฝนนี้เราจะฝึกฝนผู้ใดบ้าง

ในครั้งที่แล้วมาข้าพเจ้าได้ชี้แจงให้เห็นว่า การที่จะฝึกฝนนั้นเราจะต้องนำเอาผู้ที่ได้สำเร็จการศึกษาแล้วทั้ง ๖ ภาคมาอยู่รวมกัน การอยู่รวมกันก็เพื่อที่จะกระทำให้ท่านทั้งหลายได้มีความรู้จักกัน ได้รู้นิสัยซึ่งกันและกัน ตลอดจนกระทั่งให้รู้จักในเรื่องความสามัคคีในเรื่องหมู่คณะ นอกจากนั้นในการอบรมนี้เราพยายามให้หนักไปในทางที่จะอบรมให้ท่านได้สามารถเป็นบุคคลที่จะเข้าร่วมในหมู่คณะได้ ทั้งนี้ก็คือหลักในเรื่องมรรยาท ในการที่จะเข้าสมาคมและจะอบรมไปในทางกีฬาและทางพลศึกษา ทั้งนี้ก็เพราะมีความเห็นว่าในการที่เราจะดำรงชีวิตของเรานั้น ชีวิตของเราก็จะเต็มไปด้วยการต่อสู้ หมายความว่าเราจะต้องต่อสู้ธรรมชาติ และอุปสรรคอีกหลายประการ ซึ่งท่านทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้คงจะได้ประสบ และบางทีท่านจะได้ต่อสู้มาบางแล้วก็เป็นได้ หมายความว่าต่อสู้จากความเหนื่อยยากลำบากด้วยประการต่างๆ แต่เมื่อชีวิตของเราเป็นสิ่งซึ่งจะต้องกระทำการต่อไปเช่นนี้แล้ว เราก็ควรที่จะอบรมให้ไปในทางความเป็นนักกีฬา คือหมายความว่าในทางร่างกายและอุปนิสัย ให้รู้จักการต่อสู้ ไม่ใช่เราจะต่อสู้โดยไม่มีธรรมก็หาไม่ การต่อสู้ในทางกีฬาก็เป็นการต่อสู้ในทางธรรม หมายความว่าแม้เราจะแพ้ เราก็ไม่ถือโกรธ หรือว่าเราชนะก็ไม่ซ้ำเติม นี่แหละเป็นวัตถุประสงค์ ซึ่งจะอบรมไปในทางที่ให้เป็นนักกีฬา

นอกจากนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการที่เราจะต่อสู้ในชีวิตของเรา ก็จำเป็นจะต้องรู้จักกาละและภูมิประเทศ ในหลักวิชาการต่างๆ ที่ท่านได้มานั้นความจริงเป็นหลักวิชาซึ่งได้สั่งสอน หรือได้วางไว้เป็นกลางๆ แต่การที่จะนำไปใช้ก็จำเป็นจะต้องดูว่า จะเหมาะแก่กาละแล้วหรือยัง ดังเช่นการศึกษาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น การที่จะนำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้จำเป็นจะต้องพิจารณาว่าในท้องที่นั้นเหมาะแล้วหรือยังในการที่จะนำเอาหลักเศรษฐศาสตร์ไปใช้ หรือเหมาะสมแก่กาลสมัยหรือสภาพแล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่าจะนำไปใช้ได้ในทุกกรณีและในทุกกาละ เพราะฉะนั้น ในการที่อบรมนี้ก็จะพยายามที่สุดที่จะให้เป็นไปตามแนวดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ด้วยเหตุว่าเวลาการอบรมกำหนดไว้เพียงแค่ ๒ สัปดาห์เท่านั้น ในการที่จะทำให้สำเร็จสมประสงค์ทั้งหมดย่อมเป็นการยาก แต่อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดเวลาไว้ ๒ สัปดาห์ ก็เพื่อจะให้เป็นแนวทาง เมื่อท่านอบรมไปแล้วอย่างน้อยจะได้รู้แนวทางนำวิชาและหลักวิชาซึ่งได้สอบไล่ได้แล้วนั้นไปใช้ ท่านจะต้องอาศัยหลักเกณฑ์และอบรมอย่างใดบ้าง ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เพียงแต่ว่าจะให้ผลแห่งการอบรมนี้ฝังอยู่ในจิตใจของท่าน และเป็นแนวทางเพื่อท่านจะได้ไปปฏิบัติในวิถีของชีวิตต่อไปอีก เมื่อได้สำเร็จการอบรมแล้ว

ข้อความพิสดารเกี่ยวแก่การอบรมนี้หวังใจว่าท่านคงจะได้รับเอกสารจากมหาวิทยาลัย เพราะว่าในครั้งแรกก็ได้มีเอกสารอยู่หลายอย่าง เพื่อที่จะไม่ต้องกล่าวข้อความให้ยืดยาว ข้าพเจ้าจะได้สั่งให้เจ้าพนักงานแจกเอกสารนี้แก่ท่านเพื่อท่านจะได้ไปอ่านในเมื่อมีโอกาส หวังว่าในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขออวยพรให้ท่านนักศึกษาทั้งหลาย ที่ได้มาอบรมในคราวนี้ ขอให้มีความสุขกายสบายใจและขอให้ได้รับผลแห่งการอบรมสมดังความมุ่งหมายของมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะนำความเจริญมาสู่ตัวท่าน สู่ครอบครัว และประเทศชาติ”.

Wednesday, August 29, 2007

บทความที่ ๒๔๔. กฎุมพี ตอนที่๒ (จบ)


ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนถึงความเป็นมาของคำว่า “กฎุมพี” มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“ต่อมาในปลายสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก คือเมื่อประวัติคริสตศตวรรษที่ ๑๓ ได้มีบุคคลจำพวกที่ออกสำเนียงตามภาษาฝรั่งเศสว่า “บูรชัวส์” เขียนเป็นอักษรฝรั่งเศสว่า “Bourgeois” คือพ่อค้าและผู้ประกอบหัตถกรรมที่อยู่ในย่านตลาดการค้า ซึ่งเรียกว่า “บรูก์” เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Bourg” คำนี้เทียบได้คำไทยว่า “บุรี”

ฉะนั้น “บูรชัวส์” เทียบได้กับคำไทยว่า “บุรี” ซึ่งได้เป็นผู้เริ่มแรกในการจัดตั้งเป็นขบวนการต่อต้านเผด็จการศักดินาที่ปกครองท้องที่ ชาวบุรีได้รวมกำลังกันเป็นองค์การร่วมที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า คอมมิน (Commune) ซึ่งแผลงมาจากคำลาติน Commuis อันเป็นองค์กรที่ชาวบุรีผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนและต่อสู้เจ้าศักดินาท้องที่ เพื่อมีอิสระในการปกครองท้องที่ของตนเองออกต่างหากจากเผด็จการของเจ้าศักดินาท้องที่ แต่ยังยอมขึ้นตรงต่อพระราชาธิบดีซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ

การต่อสู้ได้ใช้เวลายาวนาน ชาวบุรีจึงได้รับสัมปทานจากพระราชาธิบดีให้มีสิทธิปกครองท้องถิ่นของตนเอง อันเป็นประวัติของระบบเทศบาลในฝรั่งเศสและในหลายประเทศของยุโรปตะวันตก

ชาวบุรีก็หมดสภาพเป็นข้าไพร่ของเจ้าศักดินาแห่งท้องที่ โดยพระราชาธิบดีรับรองให้มีฐานนันดรที่ ๓ ของสังคม คือเป็นฐานันดรถัดลงมาจากขุนนางบรรพชิต-ขุนนางฆราวาส คือมีสภาพเป็นชนชั้นกลางระหว่างฐานันดรสูงกับผู้ไร้สมบัติ (Proletariat) ซึ่งยังคงฐานะเป็นข้าไพร่ของศักดินาท้องถิ่น

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ชาวบุรีมีฐานะเป็นนายทุนชั้นกลาง ต่อมาชาวบุรีได้พัฒนาเครื่องมือหัตถกรรมให้มีสมรรถภาพดีขึ้นตามลำดับ ได้ขยายการค้ากว้างขวางขึ้นตามลำดับ และสะสมสมบัติเป็นทุนได้มากขึ้น และเมื่อได้เกิดมีผู้ประดิษฐ์เครื่องมือใช้พลังงานไอน้ำในปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๘ ชาวบุรีก็อาศัยทุนอันได้สะสมไว้นั้นเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมและวิสาหกิจสมัยใหม่ สภาพของชาวบุรีซึ่งเดิมเป็นเพียงนายทุนชั้นกลาง จึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนใหญ่สมัยใหม่

ผมถือว่าสาระสำคัญที่นายทุนสมัยใหม่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของสังคม จึงได้ถ่ายทอดคำที่เรียกชนชั้นนี้ว่า บูรชัวส์ นั้นเป็นภาษาไทยว่า ชนชั้นเจ้าสมบัติ”


ดังนั้น ในภาษาไทยเราปัจจุบันจึงมีคำอยู่ ๒ คำที่ถ่ายทอดคำภาษาอังกฤษ Bourgeois ในความหมายเดียวกัน คือ คำ กฎุมพี และคำว่า เจ้าสมบัติ ซึ่งเป็นคำที่ท่านปรีดี พนมยงค์เป็นผู้บัญญัติขึ้นใหม่ โดยท่านให้เหตุผลในการบัญญัติศัพท์ เจ้าสมบัติ หมายถึง Bourgeois ในภาษาอังกฤษดังนี้

“เดิมผมได้คิดว่าจะใช้คำว่า ธนสารบดี โดยถือว่าปัจจัยการผลิตนั้นเป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นแก่นสาร ต่อมาผมได้เปลี่ยนใหม่ โดยเห็นว่า สมบัตินั้น ภาษาไทยแผลงมาจากมูลศัพท์บาลี สันสกฤต สมฺปตฺติ แปลว่าเงินทองของมีค่า เมื่อเติมคำว่า “เจ้า” ไว้ข้างหน้าเป็น เจ้าสมบัติ แล้ว ก็พอจะแสดงว่า นายทุนชนิด (Species) นี้มีลักษณะเฉพาะซึ่งแสดงว่าเป็น “เจ้า” ชนิดหนึ่ง คือ เจ้าสมบัติ ซึ่งเมื่อได้ทำลายเจ้าศักดินาแล้ว ก็เป็นเจ้าของสังคมทุนนิยม โดยใช้สมบัติกดขี่เบียดเบียนกรรมกรสมัยใหม่

ส่วนคำว่า กฎุมพี นั้น เคยให้ข้อสังเกตไว้ก่อนแล้วว่า สามัญชนคนทั่วไป ใช้ควบกับคำว่า ไพร่ เป็นไพร่กฎุมพี คือ เป็นผู้มีทุนอันดับต่ำกว่าคหบดีและเศรษฐี”



จากหนังสือ ปทานานุกรม การเมือง ฉบับ ชาวบ้าน ของสุพจน์ ด่านตระกูล

บทความที่ ๒๔๓.กฎูมพี ตอนที่๑

กฎุมพี

กฎุมพี ตามความหมายของคำ แปลว่าชนชั้นกลางที่มีอาชีพเป็นพ่อค้า หรือเป็นช่างฝีมือที่เป็นเจ้าของโรงงานหัตถกรรมเล็กๆในสมัยศักดินา และเป็นเจ้าของโรงงานใหญ่ๆในสมัยทุนนิยม พวกนี้เป็นที่ดูถูกของพวกชนชั้นสูงหรือพวกศักดินาในยุคศักดินา และต่อมาพวกนี้ก็กลายเป็นที่เกลียดชังของคนชั้นต่ำในยุคทุนนิยม

กฎุมพี หรือ พวกกฎุมพี อุบัติขึ้นครั้งแรกในตอนปลายของยุคศักดินา ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติกล่าวว่า ในยุคศักดินานอกจากมีชนชั้นศักดินากับพวกเลกหรือทาสกสิกรแล้ว ยังปรากฏมีอิสรชนอยู่อีกพวกหนึ่ง แต่ทว่าเป็นส่วนน้อย พวกอิสรชนนี้ส่วนมากมีอาชีพเป็นช่างฝีมือที่มีโรงงานหัตถกรรมเล็กๆ เป็นของตัวเอง และบางทีก็มีพวกทาสอยู่ช่วยเหลือด้วย แต่ทว่าไม่ใช่อยู่ในฐานะทาส หากแต่อยู่ในฐานะลูกมือ และพวกทาสลูกมือเหล่านี้แหละภายหลังก็ได้กลายมาเป็นกรรมกร นอกจากช่างฝีมือแล้วก็ยังมีการค้าอีกด้วยที่อยู่ในความสนใจของพวกอิสรชน จากอาชีพดังกล่าวทำให้พวกอิสรชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าพวกเลกหรือทาสกสิกร แต่ก็ยังเลวกว่าพวกศักดินาอยู่นั่นเอง ดังนั้นพวกนี้จึงได้ชื่อพวกชั้นกลางหรือ กฎุมพี

และจากการที่พวกเลกหรือทาสกสิกร ได้ลุกขึ้นทำการโค่นล้มระบบศักดินาหลายครั้งหลายหน และถึงหากว่าจะไม่เป็นผลสำเร็จก็ตาม แต่ทว่าก็ทำให้ระบบศักดินาลั่นสะเทือนถึงโคนราก พร้อมกันนั้นก็เป็นโอกาสให้พวกกฎุมพีได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้น และในที่สุดพวกกฎุมพีได้เข้านำการโค่นล้มระบบศักดินาจนประสบผลสำเร็จ พร้อมกับกาลอวสานของระบบศักดินานั้น ระบบทุนนิยมเยาว์วัยภายใต้การนำของกฎุมพีก็ปรากฏตัวออกมาและค่อยๆ เติบโตเข้มแข็งขึ้นตามพัฒนาการของสังคม คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เจริญเติบโตและจะดับไปในที่สุด

ในขณะเดียวกับกับที่ระบบทุนนิยมอันเยาว์วัยของพวกกฎุมพี ได้ลงหลักปักมั่นในสมรภูมิแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่นั้น การเศรษฐกิจก็ได้คลี่คลายขยายตัวกว้างขวางออกไปอีก โรงงานหัตถกรรมซึ่งเคยใช้ลูกมือไม่กี่คน ก็ได้กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มีคนงานจำนวนหลายร้อยคน และโดยที่พวกเลกหรือทาสกสิกรไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องมือและปัจจัยในการผลิต ดังนั้น,ถึงหากว่าพวกเลกและพวกทาสจะได้รับการปลดปล่อยจากระบบศักดินาแล้วก็ตาม แต่พวกนี้ก็หนีจากการถูกกดขี่ขูดรีดไปไม่พ้นอยู่นั่นเอง นั่นคือ พวกนี้ได้กลายมาเป็นกรรมกรหรือชาวนารับจ้างหรือชาวนายากจน ส่วนพวกกฎุมพีหรือพวกชนชั้นกลางเก่าก่อนนั้น ก็กลายมาเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมหรือพ่อค้าที่ร่ำรวย และกลายเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นที่ถูกกดขี่ขูดรีดหรือชนชั้นกรรมาชีพจนกระทั่งบัดนี้

จากการที่พวกกฏูมพีมีความคิดเห็นในทางเศรษฐกิจไปในแนวเสรีนิยม ดังนั้นในด้านอุตสาหรรมจึงได้มีการแข่งขันการผลิตกันอย่างขนานใหญ่ และจากการแข่งขันการผลิตกันนี้เองได้ก่อให้เกิดลัทธินายทุนขึ้นอย่างแท้จริง พวกกฎุมพีบางส่วนได้กลายเป็นนายทุนใหญ่ บางส่วนก็เป็นนายทุนน้อยและบางส่วนก็ต้องล้มละลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ
แต่พวกนี้แม้จะอยู่ในฐานะต่ำต้อยหาเช้ากินค่ำก็ตาม เขาก็ยังหวังไม่วายที่จะมีความคิดเห็นในแนวทางเสรีนิยมอยู่นั่นเอง เขายังหวังว่าวันหนึ่งโชคคงจะนำให้เขาได้พบกับความร่ำรวย และดังนั้นพวกนี้จึงกลัวการปฏิวัติ แต่ศรัทธาในลัทธิปฏิรูป และพวกนี้ก็นิยมในสิ่งลึกลับและสิ่งศักดิสิทธิ์เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยม พวกนี้พยายามพิสูจน์ว่า “จะคงอยู่ชั่วนิรันดรในฐานะรูปแบบการผลิตแบบสุดท้าย” และก็พร้อมกับที่พยายามปฏิเสธความขัดแย้งระหว่างชนชั้น พวกนี้มีทัศนะต่อการพัฒนาการสังคมว่า

“มีความเจริญอย่างสงบสุขจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม โดยไม่ต้องผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ และการก้าวกระโดด หากแต่จะเป็นโดยค่อยเป็นค่อยไป (ตามยถากรรม)”

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ ตราบนั้นระบบสังคมนิยมจะไม่อาจสถาปนาขึ้นได้ มาร์กซ์ ได้กล่าวเกี่ยวแก่พวกกฎุมพีไว้ว่า

“ชนชั้นกฎุมพีได้เคยมีบทบาทปฏิวัติสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ แต่เมื่อชนชั้นกฎุมพีได้ครองอำนาจแล้วได้พัฒนาระบบทุนนิยม โดยรวบรวมการผลิตทางสังคมทั้งหมดไว้ในกำมือของพวกตน ซึ่งเป็นคนส่วนข้างน้อยของสังคม ทำการขูดรีดเบียดเบียนชนชั้นผู้ไร้สมบัติ อันเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และเมื่อระบบทุนนิยมสมัยใหม่ได้พัฒนายิ่งขึ้นเท่าใด ก็ทำให้ชนชั้นกลาง ชนชั้นนายทุนน้อยต้องถูกแข่งขันยิ่งขึ้น และถูกเบียดขับไปเป็นชนชั้นผู้ไร้สมบัติในที่สุด ชาวนาซึ่งมีลักษณะเป็นชนชั้นนายทุนน้อยก็จะประสบชะตากรรมเช่นนั้นด้วย คนส่วนใหญ่ของสังคมก็จะได้รับความอัตคัดขัดสน”

แต่ในที่สุดสังคมทุนนิยมของชนชั้นกฎุมพีก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสังคมที่ยังความเดือดร้อนและอัตคัดขัดสนให้กับคนส่วนใหญ่ หรือนัยหนึ่ง เพราะสังคมทุนนิยมไม่อาจรับใช้ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ จึงหมดภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์และจึงต้องลงจากเวทีประวัติศาสตร์ไปเช่นเดียวกับสังคมทาส สังคมศักดินา ที่จากลงเวทีประวัติศาสตร์ไปล่วงหน้าแล้ว

และแล้วสังคมใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าจะเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อไป เช่นเดียวกับที่สังคมทุนนิยมของกฎุมพีซึ่งเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อจากสังคมศักดินา สังคมใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าที่จะเข้ามารับภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์สืบต่อจากสังคมทุนนิยม คือ “สังคมนิยม” และนี่คือกฎวิวัฒนาการของสังคมอันเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีใครสามารถจะหลีกเลี่ยงหรือยับยั้งได้ เช่นเดียวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

Tuesday, August 28, 2007

บทความที่๒๔๒.ผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง

ผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจคือผู้กุมอำนาจอย่างแท้จริง
จากหนังสือ "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล
เจตนาดีของนักปราชญ์แห่งระบบทุนนิยม ที่ต้องการรวบรวมเจตจำนงของประชาชนมาทำการปกครอง หรือ
นัยหนึ่งทำการปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของประชาชน โดยวิธีการให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าสู้รัฐสภา อันเป็นที่สำแดงเจตจำนงของประชาชนทั่วทั้งสังคม ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานั้น หาได้บรรลุความสำเร็จสูงสุดตามเจตนาดีนั้นไม่ คือยังไม่อาจที่จะรวบรวมเจตจำนง หรือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมาทำการปกครองได้ ยังเป็นการปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของบางฝ่ายในสังคมเท่านั้น เช่นเดียวกับยุคทาสและยุคศักดินาที่สังคมนั้นปกครองตามเจตจำนงของชนชั้นนายทาสและชนชั้นเจ้าศักดินา
ทั้งนี้เพราะว่าระบบทุนนิยม ได้เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในทางเศรษฐกิจ อย่างที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” และจากการแข่งขันอย่างเสรีเช่นนี้ คนที่เข้มแข็งกว่า คนที่ฉลาดกว่าคนที่มือยาวกว่า ย่อมได้เปรียบคนที่อ่อนแอกว่า คนที่โง่กว่า คนที่มีมือสั้นกว่า

จนในที่สุดทำให้คนที่เข้มแข็งกว่า คนที่ฉลาดกว่า คนที่มือยาวกว่า กลายเป็นฝ่ายกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นฝ่ายบงการทางเศรษฐกิจในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก

โดยที่โครงสร้างของสังคมประกอบขึ้นด้วยเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ในโครงสร้าง ๓ ส่วนนี้ เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างเบื้องล่างหรือโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนการเมืองและวัฒนธรรมเป็นโครงสร้างเบื้องบนและฝ่ายใดกุมโครงสร้างเบื้องล่าง ฝ่ายนั้นจะกุมโครงสร้างเบื้องบนไว้ได้ด้วย หรือฝ่ายใดกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ฝ่ายนั้นจะกุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย นี่เป็นสัจธรรมเป็นกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

ในยุคทาส ชนชั้นนายทาสเป็นฝ่ายกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมือง และวัฒนธรรมด้วย

ในยุคศักดินา ชนชั้นเจ้าศักดินาเป็นฝ่ายกุมอำนาจเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย

ในยุคทุนนิยม ชนชั้นนายทุนเป็นฝ่ายกุมอำนาจเศรษฐกิจ จึงได้กุมอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

คำว่าเข้ากุมอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่ได้หมายความว่านายทาสทุกตัวคน เจ้าศักดินาทุกตัวคน และนายทุนทุกตัวคน จะเข้าไปมีบทบาทกุมอำนาจทางการเมือง แต่หากหมายความว่า ตัวแทนผลประโยชน์แห่งชนชั้นนั้นๆ ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลปกครองรัฐหรือประเทศแล้วปกครองรัฐหรือประเทศตามเจตจำนงหรือความต้องการของชนชั้นที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในยุคนั้นๆ

รัฐบาลยุคทาสปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการของชนชั้นนายทาส เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทาส

รัฐบาลยุคศักดินา ปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการชนชั้นเจ้าศักดินา เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินา

รัฐบาลยุคทุนนิยม ปกครองตามเจตจำนง หรือความต้องการชนชั้นนายทุน เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน

ดังนั้นภายใต้ระบบทุนนิยม ซึ่งมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจกันอย่างเสรีในเบื้องต้น แต่โดยกลไกของระบบทุนนิยมเอง ได้พัฒนาจากการแข่งขันกันโดยเสรีไปสู่การผูกขาดในลำดับต่อมา เศรษฐกิจจึงตกอยู่ในกำมือของนายทุนผูกขาดเพียงไม่กี่ตระกูล เช่นที่ปรากฏอยู่ในบ้านเมืองของเราในเวลานี้

และดังนั้น การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ภายใต้เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีการจำกัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างกวดขันตรงไปตรงมาเช่นประชาธิปไตยแบบกรีกก็ตาม แต่การเลือกตั้งภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด อำนาจมืดและอิทธิพลทางเศรษฐกิจได้เข้าไปมีบทบาทเป็นตัวชี้ขาด ซึ่งเป็นผลส่งให้ฝ่ายที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจได้รับชัยชนะ และได้เข้ากุมอำนาจทางการเมือง

การเลือกตั้งเช่นนี้ จึงเป็นแต่เพียงความชอบธรรมโดยพิธีการ หรือโดยรูปแบบเท่านั้น ไม่ใช่เป็นความชอบธรรมโดยเนื้อหา อันเป็นความชอบธรรมที่แท้จริง จึงไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาของชาติ หรือปัญหาของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม คือปัญหาความอยู่ดีกินดี เพราะว่าโดยเนื้อหาแล้ว ระบอบประชาธิปไตยชนิดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยแบบกรีกในยุคทาส หรือประชาธิปไตยนายทาส เราจึงเรียกประชาธิปไตยชนิดนี้ว่าประชาธิปไตยนายทุน (Bourgeois Democracy) ไม่ใช่ประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democracy)

ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า “รัฐบาล” ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของชนชั้นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจในสังคม

รัฐบาลในยุคทาส ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของเจ้าทาส

รัฐบาลในศักดินา ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของเจ้าศักดินา

รัฐบาลในทุนนิยม ก็คือผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของนายทุน.

Monday, August 27, 2007

บทความที่๒๔๑.เสรีประชาธิปไตยกลายเป็นทุนนิยมผูกขาด

เสรีประชาธิปไตยกลายเป็นทุนนิยมผูกขาด
(จากหนังสือ "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล)
ดังกล่าวมาแล้วว่า “กำลัง” เป็นที่มาแห่งอำนาจ ผู้แสวงหาอำนาจจึงต้องแสวงหากำลังเป็นเบื้องแรก และจะต้องบำรุงกำลังนั้น ก็เพื่อรักษาอำนาจต่อไป กำลังและอำนาจจึงเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

นายทาสและเจ้าศักดินา ขึ้นมามีอำนาจสถาปนาสังคมทาสและสังคมศักดินา และควบคุมสังคมนั้น ในเบื้องแรกก็โดยอาศัยกำลังทางการทหารเป็นเสาหลักในการรักษาระบอบนั้น โดยมีกำลังความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อชนชั้นปกครองเป็นส่วนประกอบ

ส่วนพวกกฎุมพีหรือประชาธิปไตยนายทุน ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีการทหารโค่นล้มระบบศักดินาในเบื้องแรกแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ยึดเอากำลังทางทหารเป็นเสาหลักในการพิทักษ์ระบอบนั้น หากแต่ถือเอากำลังทางการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากเศรษฐกิจเป็นหลักนำ

ทั้งนี้ เนื่องจากระบอบนี้สนับสนุนเสรีภาพของบุคคล ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ประชาชนภายใต้ระบอบใหม่นี้จึงมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่นการรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมือง และใช้กำลังทางการเมืองเช่นนี้เป็นฐานอำนาจขึ้นไปเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ ตามวิธีการของระบอบประชาธิปไตย และโดยที่อำนาจปกครองขึ้นมาจากกำลังหรือพลังทางการเมืองของประชาชนเช่นนี้ ในคำประกาศอิสระภาพของอเมริกา จึงได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในอันที่จะถอดถอนรัฐบาลที่ทรยศต่อประชาชน สาระของคำประกาศนั้นว่าดังนี้

“ประชาชนมีสิทธิอันแน่นอนที่ผู้ใดจะแย่งชิงมิได้ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการมีอิสรภาพ และสิทธิในการแสวงหาความสุข เพื่อที่จะทำให้สิทธิเหล่านั้นมั่นคง รัฐบาลย่อมตั้งขึ้นโดยประชาชน ได้อำนาจอันชอบธรรมมาจากความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครอง เมื่อใดรัฐบาลได้กลายเป็นผู้ทำลายสิทธิเหล่านั้น ย่อมเป็นสิทธิของประชาชน ที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกรัฐบาลนั้นเสีย และตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่”

โดยนัยแห่งคำประกาศอิสระภาพดังกล่าวนี้ ประธานาธิบดีลินคอล์น จึงให้คำนิยามความหมายของประชาธิปไตยว่า เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ดังกล่าวแล้วข้างต้น

แต่โดยที่ระบอบประชาธิปไตยกฎุมพี ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

ดังนั้นภายใต้ระบอบนี้ จึงได้มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจกันอย่างเสรี ทำให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าไปอย่างมากมาย ทั้งในด้านเครื่องมือการผลิตและพลังการผลิต ทั้งในด้านวิธีการผลิตและปริมาณการผลิต

ดังนั้น ในทางการเมือง จังเรียกประชาธิปไตยแบบนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ประชาธิปไตยเสรีหรือเสรีประชาธิปไตย และในทางเศรษฐกิจเรียกระบบการผลิตชนิดนี้ว่า ทุนนิยมเสรี

แต่โดยกลไกของระบบทุนนิยมเสรีเอง ที่ทำให้การแข่งขันโดยเสรีในเบื้องต้นนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด เมื่อพวกทุนขนาดย่อยๆ ถูกทุนใหญ่กว่าตีจนล้มหายตายจากไป หรือไม่ก็เพื่อความอยู่รอดของทุนขนาดย่อยเอง ก็ต้องเข้าร่วมกลุ่มกับทุนขนาดใหญ่ และได้กลายเป็นทุนผูกขาดไป

ดังนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดเช่นนี้ ในทางการเมือง ถึงแม้ว่าจะยังคงเรียกตัวเองว่า เสรีประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยเสรี แต่ในทางเศรษฐกิจเรียกว่า ทุนนิยมผูกขาด ตามปรากฏการณ์ที่เป็นจริง

ปรากฏการณ์ที่เป็นจริงของระบบทุนนิยมผูกขาดที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ คือ

๑.การรวมตัวของทุน และผูกขาดการผลิตภายในประเทศ
๒.ทุนอุตสาหกรรมกับทุนธนาคารหรือทุนการเงิน รวมทั้งทุนพาณิชยกรรม ได้รวมตัวขึ้นเป็นคณาธิปไตย
๓.การส่งทุนออกนอกประเทศ (ที่เรียกว่าทุนข้ามชาติในปัจจุบัน)
๔. การผูกขาดระหว่างประเทศ
๕.การแบ่งโลก (คือแบ่งตลาดระหว่างจักรวรรดินิยมด้วยกัน ดังเช่นที่สหรัฐอเมริกา,ตลาดร่วมยุโรปและญี่ปุ่นกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ (พ.ศ.๒๕๒๖)

จากระบบทุนนิยมผูกขาดเช่นนี้ จึงทำให้ชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งภายในประเทศแห่งระบบทุนนิยมผูกขาดนั้น กวาดเอาทรัพยากรของชาติ ที่ธรรมชาติได้ประทานมาให้แก่มนุษยชาติ และกวาดเอาความอุดมสมบูรณ์ ที่เพื่อนมนุษย์ได้ร่วมกันสร้างขึ้นด้วยหยาดเหงื่อแรงกายไปเป็นสมบัติส่วนตัวของพวกเขาอย่างเหลือล้น เสมือนกับคนบ้า จึงทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศอัตคัดขาดแคลน

และดังที่กล่าวมาแล้วว่า เศรษฐกิจเป็นโครงสร้างเบื้องล่างของสังคม ฝ่ายใดกุมเศรษฐกิจฝ่ายนั้นจะได้กุมอำนาจทางการเมืองด้วย และใช้อำนาจทางการเมืองทำให้การกดขี่ขูดรีดทางเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

และดังนั้น ประชาธิปไตยเสรีหรือเสรีประชาธิปไตยในเบื้องแรกที่ย่างก้าวออกมาจากระบบศักดินา แต่บัดนี้ประชาธิปไตยเสรี ได้พัฒนาเป็นประชาธิปไตยของนายทุนอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยนายทาสของกรีกในสมัยที่เอเธนส์รุ่งโรจน์

และการใช้วิธีการประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด ล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ต่อนายทุนชนกลุ่มน้อยจำนวนหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น และก็เท่ากับเป็นการทำให้การกดขี่ขูดรีดเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับของสังคม

และเมื่อมาถึงยุคสมัยเช่นนี้ ถุงเงินย่อมมีอำนาจเหนือปืนอย่างเด็ดขาด ดังปรากฏการณ์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีอำนาจเหนือสังคมของมวลชน ผู้ยากไร้ เช่นเดียวกับนายทาสที่มีอำนาจเหนือทาสฉันใดก็ฉันนั้น

บทความที่๒๔๐. การจะเปลี่ยนแปลงอำนาจมิอาจปราศจากอำนาจ

การจะเปลี่ยนแปลงอำนาจมิอาจปราศจากอำนาจ
(จากหนังสือ "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล)


ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละยุค เช่นจากยุคชุมชนบุพกาลมาสู่ยุคทาส สู่ยุคศักดินา และสู่ยุคทุนนิยม ตามที่เป็นมา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุประการแรกก็จริง แต่ตัวที่กุมการเปลี่ยนแปลง หรือนำการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่าที่ล้าหลัง แล้วสถาปนาระบอบใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าขึ้นแทนที่นั้น คือตัว “อำนาจ” ถ้าปราศจากเสียซึ่ง “อำนาจ” แล้ว ไม่มีทางที่จะล้มระบอบเก่าและสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาได้เลย

แต่อย่างไรก็ดีตัว “อำนาจ” ก็ไม่อาจจะมีขึ้นโดดๆ หากจะต้องมีตัว “กำลัง” เป็นเครื่องสนับสนุน ปราศจากเสียซึ่ง “กำลัง” แล้ว จะไม่อาจมี “อำนาจ” ได้อย่างแน่นอน

กำลังจึงเป็นที่มาแห่งอำนาจ

ในปลายยุคชุมชนบุพกาล คนกลุ่มน้อยส่วนส่วนหนึ่งที่มีความผูกพันกันในฐานะเครือญาติทางสายโลหิต ได้เริ่มสะสมกำลัง อันเป็นฐานแห่งอำนาจ ทั้งกำลังทางเศรษฐกิจและกำลังคน และครั้นแล้วคนกลุ่มน้อยส่วนนี้ ก็ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันสง่างามแห่งยุคชุมชนบุพกาลลงเสีย แล้วสถาปนาระบบทาสขึ้นมาแทนที่

ภายใต้ระบอบทาส การทำสงครามล่าทาสเกิดขึ้นบ่อยๆ ปริมาณทาสจึงถูกแย่งชิงและรวมกลุ่มกันมากขึ้น แรงงานของพวกทาสไม่เพียงแต่ถูกใช้ในงานผลิตอย่างเดียว หากถูกใช้ไปในการทำสงครามด้วยประวัติศาสตร์ของยุคทาส จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ดิ้นรนอย่างนองเลือด ทั้งระหว่างนายทาสต่อนายทาสที่แย่งชิงทาสกัน และระหว่างนายทาสผู้กดขี่กับพวกทาสผู้ถูกกดขี่ที่ปรารถนาจะปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการ

จากการลุกฮือของพวกทาสบ่อยครั้ง และถึงแม้ว่าจะถูกปราบปรามและพ่ายแพ้ก็ตาม แต่ก็ทำให้สังคมทาสสั่นสะเทือนลงไปถึงรากฐาน และได้ทำให้มีนักรบทาสผู้มีฝีมือเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการเสริมสร้างเงื่อนไขทางสังคม อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

แต่ในที่สุด จากการพยายามทำการกบฏหลายครั้งหลายหนของพวกทาส และอิสรชนที่ได้รับการปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้ว ความพยายามของพวกเขาก็ได้ถึงซึ่งความสำเร็จ นั่นคือสังคมทาสได้ถึงซึ่งความพินาศฉิบหาย และสังคมศักดินาได้เข้ามาแทนที่ แต่ก็ยังเป็นสังคมที่แบ่งคนในสังคมเดียวกันออกเป็นชนชั้นอยู่เช่นเดิม ยังคมมีการกดขี่ขูดรีดกันอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบของการกดขี่ขูดรีดเท่านั้น จากการกดขี่ขูดรีดในรูปแบบของระบบทาสมาเป็นการกดขี่ขูดรีดของระบบศักดินา

แต่ระบบศักดินาก็ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับระบบทาสในที่สุด เมื่ออิสรชนโดยการร่วมมือสนับสนุนของพวกไพร่ ได้ต่อสู้ขัดขืนกับระบบศักดินาที่จำกัดสิทธิ์ต่างๆ อันเป็นการขัดขวางเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของการผลิตแบบทุนนิยมที่เพิ่งแตกหน่ออ่อน

ในชั้นต้น พวกอิสรชนต่อสู้โดยวิถีทางสันติ มีการถวายคำร้องทุกข์ต่อพระราชาธิบดี แต่ไม่เป็นผล พวกเขาจึงจำต้องต่อสู้โดยวิธีการทางทหาร อย่างเช่น นายพลครอมเวล นำกองทัพของฝ่ายสภา ต่อสู้กับระบบกษัตริย์ในอังกฤษในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อันเป็นการเบิกโรงการปฏิวัติประชาธิปไตยกฎุมพีครั้งแรก นายพลจอร์ช วอชิงตัน นำการต่อสู้กับระบอบอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกา เมื่อคริสตศตวรรษ ๑๗๗๖ การอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศสในอีก ๑๓ ปีต่อมาคือในปี ๑๗๘๙ และอีกหลายประเทศในยุโรป และนับแต่บัดนั้น ระบอบประชาธิปไตยกฎุมพีหรือประชาธิปไตยนายทุน ก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบเผด็จการศักดินา

ดังที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ในการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่งนั้น นับแต่การสถาปนาระบบทาส ระบบศักดินา และระบอบประชาธิปไตยกฎุมพีหรือประชาธิปไตยนายทุน ทั้งในยุโรปและอเมริกา ล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้กำลังบังคับหรือใช้กำลังทางการทหารเป็นหลักนำ และกำลังทางการเมืองหรือประชาชนเป็นเครื่องสนับสนุน

ส่วนการผลัดเปลี่ยนอำนาจปกครองภายในระบอบนั้นๆ ในเวลาต่อมา มีการผลัดเปลี่ยนทั้งโดยอาศัยกำลังทางการทหารและโดยสันติตามวิถีทางแห่งประเพณีของระบอบการปกครองนั้นๆ

Saturday, August 25, 2007

บทความที่๒๓๙.บันทึกวันสำคัญ

บันทึกวันสำคัญ
(บทความนี้บันทึกไว้เมื่อปลายปี ๒๕๔๔)

แสงตะวันรอนทอแสงระยับสะท้อนผืนน้ำเจ้าพระยา เสียงออดแอดของโลหะส่วนประกอบเสาท่าเรือเสียดสีกันเป็นจังหวะตามการกระเพื่อมขึ้นลงของน้ำ ข้าพเจ้านั่งอยู่บนม้านั่งปูนซีเมนต์ใต้ต้นหูกวางที่ใบและผลหล่นอยู่กล่นเกลื่อน สังเกตผู้คนที่ทยอยมาถึงงาน นาฬิกาข้อมือข้าพเจ้าบอกว่าเป็นเวลาเกือบสิบแปดนาฬิกาแล้ว

วันที่ ๑๐ ธันวาคม ณ. ลานปรีดี พนมยงค์แห่งนี้ได้ถูกจัดสถานที่ให้รองรับการจัดงานฉลองปิดงานชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งครบรอบการจัดงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ๑ ปีในวันนี้ งานฉลองในวันนี้เป็นวันสุดท้ายของงานซึ่งจัดมาตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม บรรยายกาศของงานเป็นไปอย่างเรียบง่าย มีโต๊ะและเก้าอี้ที่จัดเรียงไว้สำหรับบุคคลสำคัญของงาน มีซุ้มอาหารแบบบุฟเฟ่ จัดไว้ด้านข้างติดกับสวนร่มรื่น ข้าพเจ้ามาในฐานะประชาชนผู้มีความสนใจและขอเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญนี้

บุคคลที่มีชื่อเสียงและบุคคลที่เป็นเอทัคคะในงานของตนทยอยเดินมาถึง พลันสายตาข้าพเจ้าก็จับไปที่ร่างของท่านผู้หญิงพูนศุข พยมยงค์ ภริยาของท่านอดีตรัฐบุรุษอาวุโส ข้าพเจ้าพบว่าในวัยกว่า ๙๐ ปี ท่านยังแข็งแรงกว่าปุถุชนทั่วไปในวัยเดียวกันมาก ความทรงจำเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่ครอบครัวท่านได้รับ ยังคงอยู่เสมอกับท่านเหมือนว่าเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นในวันวาน แต่ในวันนี้บุคคลที่ได้ก่อกรรมกับครอบครัวท่านไว้ก็ลาโลกไปแล้วทั้งหมด ถ้าจะคิดว่าการไม่ยอมตายเพียงเพื่อจะอยู่ดูคนที่ก่อเวรไว้มอดม้วยไปเสียก่อนเป็นการอยู่ด้วยความอดทน ท่านก็นับได้ว่าผ่านความอดทนนั้นมาแล้ว และท่านชนะ...

มีบุคคลสำคัญอีกหลายต่อหลายคนที่มีส่วนสำคัญในการจัดงาน อาทิ ส.ศิวลักษ์ อังคาร กัลยาณพงศ์ และอีกหลายท่านที่มีชื่อเสียงในฐานะนักวิชาการ นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสังคม ก็มาถึงในงานสำคัญนี้ ข้าพเจ้าแปลกใจที่พบว่ามีประชาชนจากถิ่นชนบท และเป็นผู้ยากไร้ ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาจากจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๒๐ คนเดินทางร่วมงานในวันนี้ด้วย และความสงสัยก็หายไปเมื่องานได้เริ่มขึ้น

งานในวันนี้นอกจากจะเป็นการกล่าวสรุปปิดงานที่จัดมาครบ ๑ ปีแล้ว ยังได้มีการมอบเหรียญที่ระลึกให้แก่บุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลฯ และแล้วเวลาเริ่มงานอย่างเป็นทางการก็มาถึง.. นาฬิกาบอกเวลาสิปแปดนาฬิกา สามสิบนาทีตรง

นายพิภพ ธงชัย ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน ได้อ่านแถลงปิดงานต่อ นายสุธรรม แสงปทุม ตัวแทนพณฯ นายกรัฐมนตรี(ข้าพเจ้าพบว่าแถลงการณ์นั้นนำถ้อยคำสำนวนของ คุณ ส.ศิวลักษ์ มากกล่าวเสียดสีต่อชนชั้นขัตติยะอยู่มากกว่าหนึ่งประโยค--ช่วยไม่ได้ที่ข้าพเจ้าจะจำสำนวนนั้นได้)
จากนั้นตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นหญิงวัยกลางคนได้อ่านแถลงการณ์ขอความเป็นธรรมจากพณฯนายกผ่านทาง คุณสุธรรม แสงปทุม เธออ่านแถลงการณ์ด้วยเสียงกังวานแต่ติดขัดและอ่านผิดบ่อยครั้งคงเป็นเพราะเธอไม่ได้ร่างแถลง การณ์นั้นเอง

จากนั้นนาย สุธรรม แสงปทุมในฐานะตัวแทนของพณฯนายกได้กล่าวตอบแขกผู้มีเกียรติ โดยรับปากในหลายเรื่อง ที่สำคัญคือจะนำเรื่องการจัดตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ในฐานะเป็นองค์กรให้คำแนะนำเกี่ยวกับนิตินัยที่ไทยจะกับทำต่างชาติ ไปเสนอต่อนายกฯต่อไป

ต่อมาจึงเป็นพิธีการมอบเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้มีส่วนสำคัญในการจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปี ชาติกาลฯ โดยนาย ส.ศิวลักษ์เป็นผู้อ่านชื่อ ให้ผู้มีรายชื่อหรือตัวแทนมารับเหรียญฯจากมือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ข้าพเจ้าคุ้นเคยชื่อเสียงของหลายๆท่านชื่อของบางท่านในฐานะศิลปินก็ทำความฉงนให้กับข้าพเจ้าเช่นนาย ยืนยง โอภากุล แต่ชื่อของบางท่านในฐานะนักการเมืองนักวิชาการก็ทำความแปลกใจให้ข้าพเจ้าไม่น้อยเช่นกัน อาทิ น.ส.กาญจนา ศิลปอาชา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายอานนท์ ปันยารชุน ทั้งนี้ความแปลกใจที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากทัศนะที่คับแคบของข้าพเจ้านั่นเอง

แต่บุคคลที่สร้างความปิติและไม่คาดคิดว่าจะท่านจะมาร่วมงาน เพราะท่านเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวไม่ทำตัวให้มีชื่อเสียงมาก ท่านผู้นั้นมีงานเขียนที่สะเทือนสังคมทั้งในยุคอดีตที่ถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏสันติภาพ สืบเนื่องมาในยุคเผด็จการท่านก็มีงานเขียนตอบโต้ผู้กล่าวร้าย ท่านปรีดี อย่างนาย ส.ศิวลักษ์ นายชัยอนันต์ สมุทรวานิช แม้กระทั่งบุคคลผู้ได้รับการนับถือจากท่านผู้นี้ว่าเป็นอาจารย์ คือนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ท่านผู้นี้ก็ได้เขียนตอบโต้มาอย่างเผ็ดร้อนแต่อิงในข้อเท็จจริง ให้ปรากฎสัจจะในสังคมมาแล้ว (ต่อมานาย ส.ศิวลักษ์ ได้เกิดสัมมาทิฏฐิค้นหาความจริงเกี่ยวกับท่านปรีดีและได้กลับมายืนในตำแหน่งตรงข้าม และเป็นตัวตั้งตัวตีในการเชิดชูสรรเสริญ ท่านปรีดี ในหลายวาระ ส่วนอีกสองท่าน ท่านแรกข้าพเจ้าไม่ทราบว่าได้สำเหนียกเพรียกหาสัจจะหรือไม่เพียงใด ส่วนท่านหลังได้วายชนม์ไปแล้วพร้อมอคติติดตัวไปสู่สัมปรายภพ)

ท่านผู้มีความสำคัญนั้นคือคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ข้าพเจ้าปีติที่ได้พบหน้าท่านจริงๆเป็นครั้งแรกในวัยที่ท่านอายุเกือบ ๘๐ ปี

หลังจากพิธีมอบเหรียญฯ แล้วก็มีการสดุดีร้อยกรองโดยท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ และคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีการจุดดอกไม้ไฟ ดนตรีขับร้องเพลงสดุดี

ข้าพเจ้าจากงานพิธีนั้นมาในเวลาที่นาฬิกาข้อมือบอกไว้ว่า เกือบ ๒๐ นาฬิกา...

Thursday, August 23, 2007

บทความที่ ๒๓๘.วาสนาคนไทยได้แค่ไสยศาสตร์ (จบ)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)บรรยายธรรมเรื่อง
“การบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” และเรื่อง
“เข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับจตุคามรามเทพ”
บรรยายธรรมที่วัดญาณเวศกวัน วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๐
ผู้กราบเรียนถาม : ตอนนี้มีเรื่องน่าเป็นห่วงคือเรื่องจตุคามรามเทพ เป็นการนับถือเทพมากกว่าพระพุทธเจ้า ตอนนี้วัยรุ่น พ่อแม่ให้ห้อยพระไม่ห้อย แต่ห้อยจตุคาม-

พระพรหมคุณาภรณ์ : ไม่ใช่เฉพาะญาติโยม เป็นพระด้วยคือ -

ผู้กราบเรียนถาม : เป็นเรื่องน่าหัวเราะมากเลย ห้อยจตุคามองค์เบ้อเริ่ม -

พระพรหมคุณาภรณ์ : เหรอ,อันนั่นอาจจะเป็นแฟชั่นได้ แต่ทีนี้วัดน่ะไปถือโอกาสหา-รายได้ หาผลประโยชน์, หนึ่ง -

ผู้กราบเรียนถาม : มีตั้งหลายวัด มีตั้งหลายหน้า -

พระพรหมคุณาภรณ์ : หนึ่ง-หาลาภ,สอง-มาเสียหลักการ เพราะว่าวัดไปปลุกเสกเทพได้อย่างไร ? ไปปลุกเสกในวัด ?

มันมีเข้าหลักอยู่นิดหนึ่ง แต่ว่าเราต้องเข้าใจด้วย ไม่ใช่ไปมัวเถียงกันสองฝ่ายอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นฝ่ายเอาหรือไม่เอาเรื่องจตุคามรามเทพ มันมีเรื่องต้องเข้าใจเขาด้วย แล้วก็มีแง่น่าเห็นใจอยู่นิดหน่อย แต่ไม่มีแง่ที่จะตามใจ ! เข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่ตามใจ !

คือว่า จตุคามรามเทพนี่ ตามประวัติเป็นเทพเฝ้าพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อันนี้ก็คือหลักที่อาตมาเลยเล่าไว้แล้วในเรื่องนี้ เรื่อง -

ผู้กราบเรียนถาม : เรื่อง ”พระพรหม พระภูมิ”

พระพรหมคุณาภรณ์ : อยู่ในเรื่อง “พระพรหมพระภูมิ” คือให้เห็นความเป็นมาของพระพุทธศาสนา คติโบราณของเราที่ถือว่าพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างหลวงพ่อโสธร พระแก้วฯ ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องกัน ก็นึกไปว่าหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้บันดาลโน่นนี่ มันไม่ใช่ !!!

มันมีเทพผู้ใหญ่คอยรักษา คือเวลามีการสร้างสถานที่สำคัญอะไรต่างๆ เป็นคติโบราณมาตั้งแต่ในคัมภีร์ต่างๆ พอสร้างที่สำคัญแม้แต่บ้านชาวบ้านพวกเทวดาก็จะไปจับจองยึดครองสถานที่ ถ้าเป็นบ้านผู้ร่ำรวยเศรษฐีก็เช่นว่าซุ้มประตูบ้าน เช่นซุ้มประตูบ้านอนาถบิณฑเศรษฐี อันนี้เป็นคติโบราณเก่า นี่ก็จะมีเรื่องในคัมภีร์เยอะที่ว่าพวกเทพเหล่านี้ก็ไม่พอใจเวลาพระไป เพราะเขาเคยอยู่สบายๆ พอเวลาพระไป เขาต้องมาแสดงความเคารพ อย่างที่บ้านอนาถบิณฑเศรษฐีนี่ เวลาที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เสด็จ แล้วก็เสด็จบ่อยด้วย เพราะว่าอนาถบิณฑเศรษฐีท่านมีศรัทธา ถึง(วันไหน)พระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาเอง แต่ท่านเศรษฐีก็นิมนต์พระมารับบาตร

เวลาพระไป เทวดาที่อยู่ซุ้มประตูก็ต้องลงมา ไม่สามารถจะอยู่ข้างบนได้ เพราะพระเป็นผู้มีศีลต้องแสดงความเคารพ เทวดานี้ก็เลยคิดขัดเคืองว่า เรานี้ลำบากเหลือเกิน พระนี่ยุ่ง ทำอย่างไรจะให้ท่านไม่ต้องมาซะที ตอนนั้นอนาถบิณฑเศรษฐีชักยากจนลง เทวดาก็เลยได้โอกาส วันหนึ่งจึงไปปรากฏตัวแก่อนาถบิณฑเศรษฐี แล้วก็พรรณนาต่างๆว่า ท่านเศรษฐีเป็นผู้มีศรัทธา ทำความดีช่วยเหลือผู้คน แต่เวลานี้ได้จนลงเพราะว่าสละทรัพย์มากเหลือเกิน ฯลฯ เป็นเพราะมาถวายพระพุทธศาสนา ถวายพระสงฆ์ต่างๆ

เทวดาก็พูดจะให้แยก แล้วก็บอกว่า เนี่ย-ทรัพย์ที่ท่านสูญสิ้นไปเนี่ย ถ้าท่านตั้งตัวให้ดีท่านก็จะร่ำรวยอีก ข้าพเจ้าก็อยากจะช่วย แต่ทำอย่างไรจะให้ท่านเข้าสู่ทางที่จะไม่ผลาญเงินอีก แล้วข้าพเจ้ามีวิธีที่จะช่วยท่าน ข้าพเจ้ารู้ขุมทรัพย์ จะบอกขุมทรัพย์ให้ไปขุด

ทีนี้เศรษฐีนี้ก็เป็นผู้มั่นคงในพระรัตนตรัย ทำความดี ช่วยเหลือพระศาสนา ทำทานแก่คนยากจน ยากไร้ ก็ไม่เสียดาย (ท่านอนาถบิณฑเศรษฐีได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จากนั้นท่านจึงขอซื้อสวนของเจ้าองค์หนึ่งเพื่อถวายในพระพุทธศาสนา เรียกว่าพระวิหารเชตวัน-ผู้ถอดความ) พอท่านได้ยินเทวดาว่าอย่างนี้ ก็คิด เอ๊ะ! เทวดานี่ชวนผิดทางเสียแล้ว ฟังไปๆ ท่านก็เลยไม่เอาด้วย ท่านก็บอกว่า ไม่เห็นด้วยที่เทวดามาบอกเช่นนี้ เป็นการชวนออกนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าในฐานะเจ้าบ้านไม่อยากจะให้ท่านอยู่บ้านนี้

อ้าว อันนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของเจ้าของบ้าน คติโบราณอันนี้คนไทยไม่ค่อยรู้หรอก เจ้าบ้านมีสิทธิ เทวดานี่ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าเจ้าบ้านเขาไม่ให้อยู่ ฝ่ายเทวดานี่เลยเดือดร้อน โอ้ เศรษฐีไล่ไม่ให้เราอยู่ ทำอย่างไรก็เลยไปหาพระอินทร์ (พระอินทร์ เป็นเทพผู้เป็นใหญ่ที่สุดในสวรรค์ชั้นที่สองคือชั้นดาวดึงส์ ท่านมีหลายพระนาม ในพระไตรปิฎกมักกล่าวถึงท่านในพระนามว่าท้าวสักกะ พระอินทร์หรือท้าวสักกะท่านได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคแล้วก็บรรลุโสดาบัน ท่านจึงมีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา-ผู้ถอดความ)พระอินทร์ก็บอกว่า ข้าพเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่ว่าจะแนะอุบายให้อย่างหนึ่ง ก็คือท่านก็ไปพูดกับเขา(ท่านเศรษฐี)สิ บอกว่าท่านเศรษฐีทำบุญทำกุศลช่วยเหลือผู้คน ทำสังคมสงเคราะห์มากมายนี่ดีเป็นประโยชน์มาก ข้าพเจ้าจะสนับสนุน จะบอกขุมทรัพย์ให้ท่าน จะได้มีเงินมาทำมากๆเทวดาก็เลยใช้วิธีใหม่(ที่ท้าวสักกะแนะนำ)มาปรากฏตัวกับเศรษฐีใหม่แล้วก็พูดอีกแบบหนึ่ง ท่านเศรษฐีก็เลยยอมให้อยู่

อันนี้เป็นเพียงความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นระหว่าง คนกับเทวดา ตามคติแต่โบราณ แล้วคตินี้ก็เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คตินี้ก็คือว่า เทวดานี้จะไม่ใหญ่กว่ามนุษย์ ใหญ่กว่าในแง่โดยทั่วไป แต่ว่ามีธรรมเป็นตัวตัดสิน ธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เปลี่ยนจากเทพสูงสุดเป็นธรรมสูงสุด

ก็จะมีเรื่องในคัมภีร์หลายเรื่องที่ว่าเทวดากับมนุษย์ขัดกัน ทีนี้ท่านก็จะสอนคติไว้ให้เพื่อเป็นตัวอย่างว่า ถ้ามนุษย์ถูกต้อง เอาธรรมมาตัดสิน เทวดาอยู่ไม่ได้ แพ้ทุกที ก็มีเรื่องทำนองนี้ เมื่อชาวพุทธไม่ศึกษาคติของพุทธศาสนาเรื่องให้ถือธรรมเป็นใหญ่(ก็เลยไม่รู้ในคตินี้) มนุษย์จะมีเรื่องขัดแย้งกับเทวดาอย่างไร ต้องยุติที่ธรรมะ ถ้าเทวดาผิดธรรมะ เทวดาต้องไป ! มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ คือท่านพยายามสอนเพื่อให้ชาวพุทธเปลี่ยนเบนจากทิศทางของคนโบราณ ที่หวังพึ่งเทวดา อ้อนวอน ขอให้ท่านบันดาล ให้มายึดถือธรรมเป็นใหญ่-นี่นะมีมาเรื่อย

ที่นี้ต่อมา เทวดาจำนวนมากก็มานับถือพุทธศาสนา ก็ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ด้วย ทีนี้เดิมก็บอกแล้วว่า เวลาเขาสร้างสถานที่สำคัญๆ อะไร เทวดาก็จะไปยึดครองที่อยู่ ทีนี้เวลาสร้างที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ เทวดาก็จะมายึดครองเป็นที่สำหรับตัวจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ แล้วก็ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาด้วย ! ก็เลยมีเทวดาคุ้มครองรักษาพระพุทธรูปสำคัญๆ ทั่วไปหมด

ที่ว่าพระพุทธรูปองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ๆ บันดาลโน้นนี่ ก็คือเทวดาที่คุ้มครอง เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่เที่ยวมาบันดาลลาภ ยศ ให้ใครหรอก ! แล้วก็พระพุทธเจ้าท่านนิพพานแล้วด้วย (คือพระองค์ทรงพ้นจากสังสารวัฏฏ์สิ้นเชิง ไม่มีรูปธรรม นามธรรมใดๆที่จะเกิด-ดับอีกเลย เป็นการดับสนิท ไม่ใช่ว่าพอพระองค์นิพพานแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นสูงสุด หรือไปอยูในพรหมโลกซึ่งความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อของพุทธศาสนานิกายอื่นที่ไม่ใช่เถรวาท-ผู้ถอดความ)ก็เป็นเรื่องของเทวดาที่รักษา เทวดาที่รักษาพระแก้วฯ(พระแก้วมรกต)ก็อาจจะอยู่ที่ฉัตร อยู่ที่ฐานพระอะไรอย่างนี้นะ ก็เป็นหลักมาอย่างนี้

ทีนี้พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชก็เลยมีประวัติซึ่งเข้าคติทางนี้ ก็เป็นเจดีย์ใหญ่อุทิศต่อพระพุทธเจ้า พวกเทวดาก็ต้องมาเฝ้า เทวดานี่ชื่อจตุคามรามเทพ มีประวัติไปกันใหญ่ว่าที่จริงท่านจตุคามรามเทพนี่เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยเก่า ! ได้สวรรคตแล้วก็มาเป็นเทพ แล้วก็ได้มาเฝ้าพระบรมธาตุ ก็หวังจะทำความดีจะได้บำเพ็ญบารมีต่อไป จะได้เป็นพระโพธิสัตว์ จะได้ตรัสรู้ อะไรต่อมิอะไรก็ว่ากันไป

นี้ก็เป็นคติพระพุทธศาสนา ตกลงท่านก็เป็นเทพที่เข้าแนวนี้ แต่ว่าข้อสำคัญคือพระและญาติโยมนี้จะต้องจับให้ถูกจุด ก็คือต้องมาเน้นจุดที่ว่าท่านทำหน้าที่ของผู้มีศรัทธา เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เป็นตัวอย่างของการที่มาปกปักรักษาพุทธศาสนา ชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตัวอย่างนี้ๆ แบบเดียวกับท่าน ไม่ใช่มาหวังผลที่จะได้รับจากความศักดิ์สิทธิ์ ให้ท่านมาบันดาล ฯลฯ

หนึ่ง-ต้องโยงเข้าหาหลักการคติอย่างเดิมที่ท่านมาเป็นเทวดาคุ้มครองพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ, สองก็คือหลักการที่ว่า วิธีปฏิบัติตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ คือการทำตามที่ว่าประพฤติดี ตามอย่างท่าน ท่านมีแนวทางการประพฤติอะไร มีวัตรปฏิบัติอะไร ก็เอามาสอน ก็เหมือนพระพรหม ตอนพระพรหมเอราวัณก็ได้นำมาเล่าเหมือนกัน

พระพรหมเอราวัณก็แบบเดียวกัน ผู้สร้างเขาก็บอกแล้วพระพรหมองค์นี้ที่เป็นมหาพรหม จะมาประทับที่ศาลพระพรหมเอราวัณ ทุกวันทุกค่ำ เว้นวันพระ เพราะวันพระไปเฝ้าพระพุทธเจ้า นี่เขาผูก(เรื่อง)ไว้ให้เสร็จเลย แล้วคนไทยและนักปกครองนี่ไม่เอาเรื่องเลย คตินี้มีทางที่จะทำให้พัฒนามนุษย์ได้ คือเราก็เอามาเตือน คือ เอา! แกจะไปขอก็ขอไป เราขัดขวางไม่ไหวล่ะ แต่ว่าทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นมาบ้าง ก็คือเตือน พระพรหมนี้นะท่านไม่มานะวันพระ วันพระท่านไปวัดไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพวกเราก็เหมือนกัน อย่ามาขอในวันพระ ! ให้ไปวัดไปฟังธรรมกัน เอาอย่างพระพรหม (หัวเราะ)นี่ก็สอนไปสิ

ให้มันได้แง่ที่เป็นประโยชน์ คือ เป็นจุดเชื่อมที่จะพัฒนา เพราะเราไม่สามารถจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าได้ เขานับถืออย่างนี้อยู่ก็เอาเป็นจุดบรรจบ แล้วก็จุดบรรจบนี้ดึงให้เดินก้าวหน้าต่อไป แต่เขาไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย

อย่างตอนนั้นนายกรัฐมนตรี พอศาล(พระพรหม)ถูกทุบทำลายก็กลัวว่าตัวเองจะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นลางร้ายแก่ตัวเอง ก็ไปทำแก้เคล็ด แทนที่จะมองไปถึงบ้านเมือง ประโยชน์ของประชาชน ไปมองอยู่แค่ตัวเอง ที่จริงมันต้องมองถึงประเทศชาติ ถือโอกาส หนึ่งให้ความรู้แก่ประชาชนว่า คุณรู้หรือยังว่าศาลท้าวพระพรหมนี้มายังไง สร้างขึ้นยังไง พระพรหมองค์นี้ไม่ใช่พรหมของศาสนาพราหมณ์ เป็นพรหมในพุทธศาสนา เป็นมหาพรหม มหาพรหมนี้เป็นชั้นหนึ่งในพรหมสิบหกชั้น รูปพรหม ๑๖ ชั้นแบ่งเป็นระดับ ฌาน ๔ ระดับ ระดับปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีพรหมอยู่..เขาเรียกว่า พรัหมปาริฉัตต์, พรัหมปุโรหิตา,มหาพรัหมมา ซึ่งมหาพรัหมมาเป็นพรหมระดับที่สามในชั้นปฐมฌานของพรหม ๑๖ ชั้น ท่านก็กำลังบำเพ็ญความดีอยู่ ท่านถึงต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าคือไปฟังธรรม

เนี้ยเรื่องอย่างนี้มันมีทางที่จะเอามาประสานแล้วก็พัฒนามนุษย์ ไม่ใช่ หนึ่ง-พระก็หาลาภ ถือโอกาสว่า “ขายดี” จะได้เงินปลุกเสกกัน สอง-ก็ทำให้คนลุ่มหลงผิดหลักผิดทาง เอามาปลุกเสกในวัด อะไรต่ออะไร แล้วคนก็เข้าใจผิดเฉออกจากพุทธศาสนาไป แทนที่จะเชื่อมโยงว่าที่จริงเป็นอย่างนี้ๆ สัมพันธ์กันอย่างนี้

ตกลงพูดให้ดีก็ว่า จตุคามรามเทพก็ไม่ใช่ใครหรอก เป็นกษัตริย์ศรีวิชัย ก็สวรรคตมาเป็นเทวดาเฝ้าพระบรมธาตุอยู่นี่แหละ กำลังบำเพ็ญบารมี -

ผู้กราบเรียนถาม : อาจจะใช่ก็ได้ ??

พระพรหมคุณาภรณ์ : อ้าว, ก็ไม่รู้หล่ะ ตามเรื่องก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้ก็โยงเรื่องไปศรีวิชัยก็เอาละสิ, ศรีวิชัยนี่อยู่สุมาตรา-ว่าเข้านั้น พวกมลายูนี่แหละ (หัวเราะ)พวกมลายง มลายู ลูกน้องกษัตริย์องค์นี้หมดเลย (หัวเราะ)บอกว่าชาวใต้ ๓-๔ จังหวัดนี่ลูกน้องของจตุคามรามเทพ (หัวเราะ)ใช่ไหม ? เพราะเป็นมลายู, มลายูก็คือกษัตริย์ศรีวิชัย

ผู้กราบเรียนถาม : สมัยก่อนดินแดนทางใต้เขาก็เชื่อมโยงกัน

พระพรหมคุณาภรณ์ : ที่เล่าน่ะ เจ้าชายนั้นน่ะ ปรเมศวรนั้นน่ะก็มาจากสุมาตรา เป็นมลายู มาจากสุมาตรามาขึ้นสิงคโปร์ถูกไล่จากสิงคโปร์มาขึ้นมะละกา มาตั้งอาณาจักรมะละกา แล้วก็ศูนย์กลางความเป็นมลายูอยู่ที่มะละกา-ก็คือพวกศรีวิชัย (ความเป็นมาของเจ้าชายปรเมศวร ที่เดิมนับถือพุทธศาสนามหายาน-ฮินดู ต่อมาถูกศัตรูทางการเมืองขับไล่ ไล่ล่าหนีตายมาสิงคโปร์แล้วถอยร่นขึ้นไปมะละกา เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามกลายเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ โปรดอ่านได้จากหนังสือจากริกบุญ จารึกธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือเข้าไปอ่านได้ที่ http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/08/blog-post_6007.html-ผู้ถอดความ)

ก็ย้ำเอาความรู้พวกนี้ย้ำเข้าไปเพราะชอบแยกตัวนักว่า ฉันเป็นมลายูไม่พวกคนไทย ไม่ใช่ชาวพุทธใช่ไหม ??ของเรามันแน่ มันจริงกว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ค้านไม่ได้ แล้วทำไมประเทศชาติบ้านเมือง วิทยุก็มี ทีวีก็มี ถึงไม่ให้ความรู้ประชาชน เอาเข้าไปสิ บอกไปสิว่ามลายูเป็นอย่างไร ศรีวิชัยเป็นอย่างไร เล่าไปสิ !!!ใครจะมีค้านได้หล่ะ ???ข้อมูล ต้องใช้ประโยชน์จากความรู้ ตกลงกันนี่ ถ้ารู้เรื่องจตุคามรามเทพ ก็อาจมีทางทำให้มันได้ประโยชน์


ผู้กราบเรียนถาม : กำลังฮิตกันมาก

พระพรหมคุณาภรณ์ : นั่นสิฮิตกันมาก ก็รีบเผยแพร่ความรู้นี้เข้า (ความรู้เรื่องเกี่ยวกับเจ้าชายศรีวิชัยซึ่งคือเจ้าปรเมศวรที่ต่อมาได้นับถือศาสนาอิสลามเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ แล้วเจ้าชายผู้เป็นมุสลิมนี่ละหรือจะมารักษาพระพุทธศาสนา ??? หรือแท้จริงนิทานเรื่องเล่านี้มุ่งหวังประโยชน์เรื่องการเรียกร้องดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้ แล้วคนไทยชาวพุทธจะมาเป็นเครื่องมือให้แก่กลุ่มบุคคลที่ใช้จตุคามรามเทพมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองกระนั้นหรือ ??? -ผู้ถอดความ)

ผู้กราบเรียนถาม : มติชนสุดสัปดาห์เมื่อเช้า บอกว่า(การขายจตุคาม)ทำรายได้สองหมื่นสองพันล้าน เขาบอกว่าอะไรนะ ยุคทักษิโณมิกส์ (หัวเราะ)

พระพรหมคุณาภรณ์ : เปิดวิทยุ อ้าว วัดนั้นก็จะทำพิธีปลุกเสกจตุคามรามเทพ ทำพิธี -

ผู้กราบเรียนถาม : เพี้ยนเหมือนกัน มีคุณยายคนหนึ่งไปรอกันตั้งแต่ตีหนึ่ง -

พระพรหมคุณาภรณ์ : วัดใหญ่เสียด้วยนะ

ผู้กราบเรียนถาม(หลายคน) : เหยียบกันตายที่นั่น นครศรีธรรมราช - ไม่ใช่เหยียบกันตาย เขารอจนโทรมตาย – ไม่ เห็นเขาบอกโดนเหยียบ – เบียดกันตาย – แต่ว่าเขาไปรอกันนะ เบียดกันจนตาย – เห็นว่าอายุ ๕๐ กว่าเอง – รอเสร็จหัวใจวายตาย คนนั้นยาย คนนี้อายุ ๕๑ ฯลฯ

แล้วเวลาสังคมมีกระแสอย่างนี้ เกี่ยวกับเงินทอง แล้วเราจะหยุดกระแสนี้อย่างไร

พระพรหมคุณาภรณ์ : อ้าวก็นี่ละ คือเรารู้อยู่ ก็ต้องรู้ทันว่าของผมนี่กำลังต้องการเงินทองมาก เป็นเรื่องสังคมธุรกิจและเป็นสังคมบริโภคนิยม เห็นแก่การเสพบริโภค หาผลประโยชน์ หาเงิน หาทอง ระบาดเข้ามากระทั่งวัด ! ทีนี้กระแสใหญ่เป็นอย่างนี้ เราก็จะทำอย่างไรจะโยงกระแสใหญ่มาหาหลักก็คือ นี่ เรื่องราวนี้

สมัยก่อนก็เหมือนกัน สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็อยู่ในสภาพสังคมคล้ายอย่างนี้ สังคมสมัยนั้นกำลังเฟื่องธุรกิจ เรามองไปประวัติศาสตร์ก็คล้ายๆอย่างนี้ สังคมสมัยพุทธกาลกำลังเจริญรุ่งเรือง การค้าขายระหว่างแคว้นต่างๆ มีคาราวานกองเกวียนไปกันเยอะ แล้วก็เศรษฐีกำลังเป็นชนชั้นนำขึ้นมา เดิมมีวรรณะ ๔ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ตอนแรกพราหมณ์นี่เป็นใหญ่ที่สุด แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่าแต่แรกนั้นกษัตริย์เป็นใหญ่ก่อน ยุคพระอินทร์คือพวกอารยันเข้ามาจากทางอิหร่านมาบุกอินเดีย ระยะนี้พวกนักรบเป็นใหญ่ ตอนนั้นพระอินทร์เป็นใหญ่ตอนที่ยกทัพมา ยุคพระอินทร์ก็ยุคกษัตริย์ พระอินทร์นี่ยิ่งใหญ่มากเป็นเทพสำคัญ ทีนี้พออารยันเข้ามาอินเดีย ยึดครองพวกชมพูทวีปได้ อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ฯลฯ ก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอารยัน พวกมิลักขะเจ้าถิ่นกลายเป็นชนวรรณะศูทร ถูกเขาเหยียดลงไปเป็นทาสเกิดเป็นวรรณ ๔ (โปรดอ่านเรื่องที่มาของระบบวรรณะที่http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post.html-ผู้ถอดความ)

ทีนี้ก็มี กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พอตั้งหลักแหล่งแล้วทีนี้ปัญญาชนเริ่มเป็นใหญ่ พวกนักรบพระอินทร์ที่เดิมมานี้ ชักจะอับแสง แต่ก่อนนั้นพระอินทร์ใหญ่ต่อมาอับแสงลง พระพรหมขึ้น ที่ขึ้นไม่ใช่ตอนพวกอารยันเดินทัพ(มาอินเดีย)เพราะตอนนั้นพระพรหมไม่มี พอเข้ามาตั้งหลักแหล่งพระพรหมขึ้น แล้วพวกพราหมณ์ก็ใหญ่ พราหมณ์ก็เป็นนักวิชาการด้วย เป็นปัญญาชน เป็นผู้ประกอบพิธีตอนนี้ใครๆ ต้องมาอาศัยพระพรหม ให้พราหมณ์เป็นผู้บอกว่าจะเอายังไง ผลประโยชน์อย่างไร ต้องทำพิธีบูชายัญ กษัตริย์ก็เลยตกอันดับ พราหมณ์ขึ้นเป็นหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร

ตอนนี้พระอินทร์ก็มีเรื่องเสียหายอย่างโน้นอย่างนี้ เยอะแยะหมด กลายเป็นเทพที่ไม่ค่อยมีความหมาย เนี่ยพระพรหมขึ้น แล้วพระพรหมมาตกตอน พ.ศ.๕๐๐-๖๐๐ พระศิวะ พระนารายณ์ขึ้น,พระพรหมตก ตอนนั้นพระพรหมเป็นใหญ่ตอนพุทธกาล

เอาล่ะ ก็มี กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร พอถึงพุทธกาลจะเห็นว่าชนชั้นหนึ่งกำลังขึ้นคือพวกเศรษฐี คหบดีมีอิทธิพลมาก พวกนี้ก็พวกพ่อค้าวาณิช ทั้งๆ ทีเดิมน่าจะอยู่ในชนชั้นแพศย์ ไวศยะ ด้วยซ้ำ แต่กำลังมีอิทธิพลมาก กลายเป็นตำแหน่งแล้วเศรษฐี ต้องราชาตั้งเชียวนะ ประจำเมืองเลย มีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละสองครั้ง แล้วทีนี้เมืองไหนรัฐไหนไม่มีเศรษฐีที่มีทรัพย์มาก ก็เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรือง ก็จะต้องหาทางมีเศรษฐี ในพุทธกาลก็มีรัฐบางรัฐต้องขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง นางวิสาขาก็ต้องไปเพราะเรื่องนี้เพราะว่าพ่อเป็นธนัญชัยเศรษฐี แล้วก็รัฐนั้นเขาต้องการมีเศรษฐีบ้าง เขาก็เลยขอจากอีกแคว้นหนึ่ง แล้วธนัญชัยเศรษฐีก็เลยเดินทางไป นางวิสาขาเป็นลูกก็เลยต้องไปด้วย เขาต้องแข่งกันว่ารัฐมีเศรษฐีกี่คน เศรษฐีใหญ่ เศรษฐีร่ำรวย เศรษฐีมีอิทธิพลมากก็เพราะการค้าขาย เรียกได้ว่ากำลังเฟื่องในทางเศรษฐกิจ การค้าขายและหว่างรัฐ ระหว่างแคว้นก็ถึงกันทั่ว มีสิ่งอุปโภค บริโภคต่างๆ มากมาย

ทีนี้ในท่ามกลางสภาพแบบนั้น พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้สภาพกระแสความนิยมของเขา มาเป็นจุดเริ่มในการที่จะสอนให้เขามาใฝ่ธรรมะ อย่างเช่นเศรษฐี จะทำอย่างไรให้ หนึ่ง ไม่ใช่อิทธิพลไปข่มเหงคนอื่นและไม่ใช้ในทางทุจริต แล้วก็เอาทรัพย์มาทำประโยชน์ อนาถบิณฑเศรษฐีพอมานับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านจะสูญเสียในการทำประโยชน์เท่าไร ท่านไม่คำนึง ก็ตั้งที่บริจาคทาน โรงทาน จนมีชื่อว่า อนาถบิณฑิก เดิมท่านชื่อสุทัตตะ แต่เพราะท่านได้ทำประโยชน์ ช่วยเหลือคนยากจนมาก ก็เลยได้ชื่อว่า อนาถบิณฑิก แปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา นี่คือสมญาของท่าน..

นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถ้าเราดูลึกลงไป ไม่ได้มีแค่เพียงคำสอน คำสอนนั้นเนื่องอยู่กับสภาพสังคมความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าต้องไปยุ่งไปเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นว่าทำยังไงเขาจะอยู่กันดี สังคมจะดี ชีวิตเขาจะดี อันนี้ก็เหมือนกัน นี่ก็สังคมเวลานี้เป็นอย่างนี้ก็ต้องรู้เข้าใจ ทำยังไงจะให้ธรรมะไปเกิดประโยชน์กับคนเหล่านั้นได้

ผู้กราบเรียนถาม : เรื่องจตุคามนี้ มีคนที่เขาใส่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาใส่มานานแล้ว ถ่ายรูปออกมาแล้วปรากฏว่าหน้าเขาหายไปเลย เป็นรูปเหรียญ ก็สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร น้องเขาเล่ามา เป็นที่ทำงานของน้องสาวเลย ก็เลยสงสัยว่าถ้าเป็นการปลุกกระแส พยายามสร้างอภินิหาร แต่ทำไมต้องเกิดกับคนนั้นที่ห้อยเหรียญอยู่ แล้วไม่มีใครในที่ทำงานรู้เลยว่าเขาห้อยเหรียญจตุคามมานานแล้ว

พระพรหมคุณาภรณ์ : อ้าว เขาก็อาจจะสร้างเรื่องทั้งหมดก็ได้นี่นะ (หัวเราะ)คืออย่างนี้มันได้สองอย่าง หนึ่งเขาเตรียมกันอย่างนั้น สองก็คือว่ากระแสมนุษย์ความเชื่อมันทำให้เกิดผลได้ พอเชื่อก็ปลุกใจให้ขึ้นมา เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามกระแสนี้ ถ้าเราจับเรื่องได้มีความรู้ก็โยงเข้าหาพระบรมธาตุ พวกคุณนี่ลูกศิษย์จตุคาม แล้วจตุคามเป็นลูกศิษย์พระบรมธาตุ คุณต้องไปแล้ว คุณต้องไปไหว้พระบรมธาตุ มันก็ตรงเลย ก็ในเมื่อคุณนับถือจตุคาม แล้วจตุคามก็เฝ้าพระบรมธาตุอยู่ ถ้าคุณอยากจะถึงจตุคามจริง คุณก็ต้องไปพระบรมธาตุ หนีไม่พ้นเลยใช่ไหม

ตกลงว่าถ้าพูดให้ถูกต้อง ก็มาเข้าทางเลย ตอนนี้วัดพระบรมธาตุรับไม่ไหว (หัวเราะ) โยงให้ได้สิ โยงให้ถึง ก็ที่เล่าเมื่อกี้ ประวัติของท่าน ประวัติที่แท้ก็คือจตุคามรามเทพนี่เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยที่สวรรคตแล้วไปเฝ้าอยู่ที่พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช แล้วคนที่เขานับถือก็รู้เรื่องเดิมนี้อยู่ ก็คือท่านที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเนี่ย ท่านเป็นผู้นับถือจตุคาม ท่านรู้ว่าจตุคามรามเทพนี่เป็นเทพที่เฝ้าพระบรมธาตุ คือคนเดิมนะรู้ แต่ตอนมาเชื่อกันทีหลังนี้มันขาดตอน

ผู้กราบเรียนถาม : เลยเป็นการสร้างกระแส

พระพรหมคุณาภรณ์ : มันไปอยู่ที่เงินอย่างเดียว (หัวเราะ) เราก็ดึงกลับไปซะให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์บ้าง คุณนับถือตั้งนานยังไม่รู้เรื่องอีก จตุคามรามเทพมาจากไหนลองตอบสิ (หัวเราะ)

ผู้กราบเรียนถาม : มีประเด็นว่าพอเราไปขัดผลประโยชน์เขา กลุ่มที่เสียประโยชน์เขาก็พยายามสร้างกระแส ก็เลยบลั๊ฟกันไปมา

พระพรหมคุณาภรณ์ :ก็ไม่เป็นไร เรื่องนี้มันชัดเจนเพราะมันมีมาเก่ากว่า เขาจะหนีไปไหนไม่พ้นถ้าใช้คำว่าจตุคามรามเทพ หนีไม่พ้น นอกจากเขาจะเปลี่ยนใหม่ ต้องหาองค์ ปัญจคามรามเทพ (หัวเราะ)

Wednesday, August 22, 2007

บทความที่ ๒๓๗.ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน (จบ)

มะละกาลับหาย สุมาตรา-ชวา เฟื่องฟูขึ้นมาใหม่

เมื่อทางด้านบนแผ่นดินที่มาเป็นมาเลเซีย รัฐสุลต่านแห่งมะละกาสลายลงโดยตกเป็นของโปรตุเกสในปี ค.ศ.๑๕๑๑ อย่างที่กล่าวแล้ว ทางด้านเกาะในทะเลที่มาเป็นอินโดนีเซีย ก็มีผู้อาศัยช่องว่างแห่งอำนาจนั้น ตั้งรัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ขึ้นที่สุมาตราภาคเหนือในปี ค.ศ.๑๕๒๔

รัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์นี้ เจริญรุ่งเรืองและเข้มแข็งมาก มีอำนาจควบคุมเมืองท่าในสุมาตรา ฝั่งตะวันตกทุกแห่ง และฝั่งตะวันออกส่วนมาก ตลอดถึงรัฐเคดาห์ รัฐเปรัก และรัฐปะหังบนแหลมมลายู กับทั้งสามารถยืนหยัดสู้กับพวกโปรตุเกสที่พยายามจะเข้ายึดครอง และไม่เพียงรักษาเอกราชอยู่ได้นานเท่านั้น แต่กลายเป็นฝ่ายรุก ทำให้โปรตุเกสแทบตั้งรับไม่ไหว

อาเจะห์เป็นชนพวกแรกในดินแดนแถบนี้ ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (เปลี่ยนมาก่อนนี้กว่า ๒๐๐ ปี)และในยุคที่อาเจะห์รุ่งเรืองนี้ อิสลามก็เฟื่องฟูด้วย จำนวนผู้นับถือเพิ่มมากขึ้น มีการแปลคัมภีร์อัลกุรอาน (Qur’an) สู่ภาษามาเลย์เป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.๑๖๔๐-๑๖๖๑

อย่างไรก็ดี ต่อมาก็สิ้นยุคของโปรตุเกส โดยพวกดัทช์ คือฮอลลันดาเข้ามาแทนที่ คราวนี้ รัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ ซึ่งยืนยงอยู่มาได้หลายศตวรรษ แม้จะสู้รบเต็มที่นานกว่า ๒๕ ปี ก็ต้านทานไม่ไหว ในที่สุดก็ถึงกาลอวสาน ต้องตกเป็นอาณานิคมของฮอลลันดาในปี ค.ศ.๑๙๐๓

ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อรัฐสุลต่านแห่งมะละกาที่มาเลเซียล่มไปนั้น ที่ชวาได้มีรัฐมุสลิมอิสระเกิดขึ้นแล้วหลายอาณาจักร

ในบรรดารัฐเหล่านั้น รัฐสำคัญที่ยิ่งใหญ่สุดท้าย ซึ่งแผ่อำนาจไปจนคุมชวาได้เกือบหมดทั้งเกาะ อันควรกล่าวถึงไว้เล็กน้อย คือ รัฐสุลต่านแห่งมาตาราม ที่ทำให้นาม “มาตาราม” ของอาณาจักรฮินดู-พุทธ อันหายไปเมื่อหลังปี ค.ศ.๑๐๑๙ กลับฟื้นขึ้นมาใหม่ และสืบอายุยืนยาวต่อไปเกือบ ๒๐๐ ปี

มาตารามใหม่นี้ เดิมเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชื่อว่า ปชัง แต่ผู้นำได้ปราบปชังลงได้ แล้วขึ้นเป็นราชาองค์แรกมีพระนามว่า “เสนาปติ อิงคะลคะ (Senapati Ingalaga) อ่านแบบไทยก็เป็น เสนาบดี อิงคลัค และต่อมาเรียกกันว่า อาทิวิโชโย คือ อาทิวิชยะ เรียกแบบไทยว่า อาทิวิชัย แปลว่าผู้มีชัยชนเป็นต้นแรก หรือผู้เริ่มต้นแห่งชัยชนะ คือเป็นผู้เริ่มสร้างชัยชนะให้แก่ประเทศชาติ

แต่ราชาสำคัญที่ปรากฏนามใน พ.ศ.๒๑๕๘ ใช้คำนำพระนามเป็นสุลต่าน คือสุลต่านอากุง ครองในปี ค.ศ.๑๖๑๓-๑๖๔๕ ได้ปรับศาสนาอิสลามให้เข้ากับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่เป็นฮินดูแบบชวา รวมทั้งจัดทำปฏิทินขึ้นใหม่ที่เข้ากับวิถีปฏิบัติทั้งอย่างอิสลามและแบบชวา

มีเรื่องเล่ากันมาในอินโดนีเซียว่า เมื่อราชาองค์แรกที่ยังเป็นพุทธหรือฮินดูได้สวรรคต โอรส ๒ องค์รบชิงราชย์กัน องค์พี่ชนะแล้วต่อมาเป็นมานับถืออิสลาม องค์น้องหลบไปอยู่บาหลี และลั่นวาจาว่าอีก ๕๐๐ ปีจะกลับมา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การแผ่ขยายเข้ามาของศาสนาอิสลามในดินแดนแถบที่เป็นมาเลเซียและอินโดนีเซียนี้ ดำเนินไปกับวิถีของการค้าขาย มิใช่มากับกองทัพอย่างที่เป็นไปบนแผ่นดินใหญ่เช่นชมพูทวีป ดังนั้น โดยทั่วไปจึงเป็นการแผ่ขยายโดยทางสันติ

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ได้ชี้ลึกลงไปให้เห็นข้อพึงสังเกตเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะชวานี้ (ซึ่งเชื่อมโยงให้เข้าใจปัจจุบันด้วย)ว่า แต่เดิมมาในยุคของศรีวิชัย และมัชปาหิต ชาวชนบท โดยเฉพาะตามชายฝั่งทะเลซึ่งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางความเจริญ ยังเข้าไม่ค่อยถึงพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ไม่ซึมซาบนักในวัฒนธรรมที่มากับศาสนาทั้งสองนั้น

ในภาวะเช่นนี้ พ่อค้ามุสลิมจากอินเดียและอาหรับก็เข้ามาค้าขายตลอดจนเข้าตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายฝั่งทะเล คนเหล่านี้มีฐานะดีตามวิถีของพาณิชย์ นำชุมชนใหม่ๆ ให้เจริญขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมนั้นก็เผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ชาวถิ่น ซึ่งไม่เพียงเข้ามาตามทางแห่งศรัทธาเท่านั้น แต่เพื่อได้โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในวงธรุกิจการค้าขายด้วย

ต่อมาก็เกิดอาณาจักรใหม่ๆ ขึ้นแถบทะเล ปรากฏว่าอาณาจักรมุสลิมที่เกิดใหม่เหล่านี้ ได้นำวิธีบังคับเข้ามาใช้ด้วย ในการทำให้คนนับถือศาสนาอิสลาม และได้ดำเนินการตามวิธีนี้ ทั้งที่ชวาภาคตะวันตกและแม้บนเกาะสุมาตราภาคใต้ถึงปาเล็มบัง

ต่อมาอาณาจักรมุสลิมใหม่ๆ นี้ก็ผนวกการบังคับคนให้นับถือศาสนาเข้ากับการเมืองการทหารในการขยายดินแดน ดังที่อาณาจักรเดมัก (Demark) ได้ยกทัพบุกลึกเข้ามายังส่วนในของชวา เมื่อกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๖ (ราว พ.ศ.๒๑๐๐)

ปฏิบัติการนี้แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทำให้อาณาจักรในแผ่นดินที่อยู่ลึกเข้ามา ซึ่งยังแนบแน่นในวัฒนธรรมเดิม และถือตัวว่าเป็นพวกชวาแท้ เกิดความขัดเคืองมาก

เหตุการณ์ถึงจุดเดือด เมื่ออาณาจักรมาตาราม ในชวาภาคกลางที่แม้จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่สืบวัฒนธรรมเดิม เรืองอำนาจขึ้นมา และในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ด้วยกลัวว่าพวกรัฐชายฝั่งทะเลจะไปทำลายพวกตน จึงได้ออกหน้านำทัพมาทำลายรัฐมุสลิมแถบชายฝั่งทะเลให้แหลกไป

การณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้ศาสนาอิสลามแถบนั้นชะงัก หยุดแผ่ขยายตัวมาอีกนาน แล้วยังมาเจอกับสถานการณ์ใหม่อีกแบบหนึ่งในยุคที่พวกดัทช์เข้ามา จนกระทั่งสิ้น คริสตศตวรรษที่ ๑๙ จึงฟื้นกำลังเฟื่องฟูได้ใหม่

พวกดัทช์ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในชวาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๖๐๒ นับแต่นั้นมา มาตารามก็ต้องต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิอาณานิคม ซึ่งระยะแรกมาตารามยังเป็นต่อ แต่หลังสิ้นสุลต่านองค์ที่ ๓ แล้ว มาตารามก็มีแต่เสื่อมอำนาจ และสูญเสียดินแดนไปเรื่อยๆ

พอถึงปี ค.ศ.๑๗๔๙ มาตารามก็กลายเป็นเมืองขึ้นของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา จากนั้นอีก ๖ ปี เกิดศึกสืบราชย์กันเองภายใน เมื่อปี ค.ศ.๑๗๕๕ ทำให้แบ่งออกเป็นเขตตะวันตก กับตะวันออก กลายเป็น ๒ แดน คือ Surakarta กับ Yogykarta และอีก ๒ ปีต่อมาก็ถูกจัดแบ่งเป็น ๓ เขต มาตารามก็ถึงวาระแห่งอวสาน

ครั้งถึงปี ค.ศ.๑๗๙๙ เนื่องจากบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา ได้ล้มละลายลงและถูกยุบ รัฐบาลฮอลลันดาจึงเข้าครอบครองและควบคุมทรัพย์สินของบริษัททั้งหมด แล้วดินแดนแถบนี้ก็ถูกเรียกรวมกันว่าเป็น “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของฮอลลันดา” (Dutch East Indies) ถือว่าเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๘๑๖

ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองหมู่เกาะนี้ในปี ค.ศ.๑๙๔๒ และได้สนับสนุนให้ชาวถิ่นเรียกร้องอิสรภาพ แล้วเกิดการดิ้นรนขวนขวายจนถึงปี ค.ศ.๑๙๔๕ ขบวนการชาตินิยมนำโดย ซูการ์โน ได้ประกาศอิสรภาพแต่ก็ยังต่อสู้กันอีก ๔ ปี เนเธอร์แลนด์จึงยอมให้เป็นเอกราช ในปี ค.ศ.๑๙๔๙ เรียกว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีคนแรก


เรื่องของดินแดนมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่าที่เกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและฮินดู จนถึงอิสลามเห็นว่าควรเล่าไว้เท่านี้ก่อน.


เรียบเรียงจาก “จาริกบุญ จารึกธรรม” ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ปัจจุบันดำรงสมณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์

บทความที่ ๒๓๖. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๘

อ่านบทความตอนที่ ๑ - ๗ ได้ที่
เข้าสู่ยุคอิสลาม มะละกาที่แดนมาเลเซีย ขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือ ชวา

บนผืนแผ่นดินแหลมมลายู หรือคาบสมุทรมาเลย์ ที่ประเทศมาเลเซียปัจจุบันตั้งอยู่ ในภาคเหนือของดินแดนมาเลเซียนั้น ตลอดถึงตอนล่างของประเทศไทย เมื่อคริสตศตวรรษต้นๆ คือเกือบๆ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู ที่ฝรั่งเรียกว่า Indianized State ขนาดย่อมๆ ทยอยเกิดขึ้นและเสื่อมไป รวมแล้วอาจจะถึง ๓๐ อาณาจักร โดยเฉพาะอาณาจักรลังกาสุกะ ที่เล่ามาแล้ว

ต่อมา เมื่ออาณาจักรใหญ่ๆ เจริญขึ้นมาบนแหลมอินโดจีนและในเกาะทางอินโดนีเซีย อาณาจักรเล็กๆ เหล่านี้ ก็ถูกอาณาจักรใหญ่ๆ เหล่านั้นครอบครอง เช่นอาณาจักรฟูนัน แล้วก็ศรีวิชัย จนถึงมัชปาหิตและอยุธยา

ได้เล่ามาถึงอาณาจักรมัชปาหิต ในเกาะชวา และเรื่องของมัชปาหิตนั้น ก็มาต่อกับเรื่องบนแผ่นดินมาเลเซีย ด้วยเรื่องอาณาจักรมะละกา ที่เคยเล่าไปบ้างแล้ว ซึ่งในที่นี้ขอทบทวนเพื่อเชื่อมความสักหน่อย ดังนี้

เมื่ออาณาจักรศรีวิชัย ที่ปาเล็มบังในสุมาตรา เสื่อมลง และอาณาจักรมัชปาหิตในชวา ได้เป็นใหญ่แล้ว ครั้นถึงปี ค.ศ. ๑๓๘๙ ราชาองค์สำคัญของมัชปาหิตสวรรคต จึงถูกทางมัชปาหิตขับไล่ ได้หนีมาขึ้นที่สิงคโปร์

ดังกล่าวแล้วว่า สิงคโปร์เป็นเมืองหน้าด่านแห่งหนึ่งของศรีวิชัยต่อมาเมื่อศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง สิงคโปร์ก็ขึ้นต่อมัชปาหิต แล้วจากนั้นได้ขึ้นต่ออยุธยา จนกระทั่งอาณาจักรมะละกาใหญ่ขึ้น สิงคโปร์ก็ตกเป็นของมะละกาในตอนต้นคริตศตวรรษที่ ๑๕

ต่อจากนี้ เข้าสู่ยุคอาณานิคม สิงคโปร์ถูกโปรตุเกสเข้าครองในปี คริสตศตวรรษที่ ๑๖ แล้วหลุดไปเป็นของฮัลลันดาใน คริสตศตวรรษที่ ๑๗ จนกระทั่งอังกฤษเอาเป็นศูนย์บัญชากิจการอาณานิคมในปี ค.ศ.๑๘๑๙ แล้วเดินทางยาวไกลมาเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซียในปี ค.ศ.๑๙๖๓ และในที่สุดได้เป็นเอกราชสมบูรณ์ตั้งเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) ในปี ค.ศ.๑๙๖๕

เรื่องต่อไปว่า ในปี ค.ศ.๑๓๙๐ เจ้าปรเมศวรได้เข้ายึดอำนาจที่สิงคโปร์ โดยสังหารเจ้าเมืองเสีย แล้วครองสิงคโปร์อยู่ได้ ๓-๕ ปี ก็ถูกพระราชบัญชาจากอยุธยาให้ขับไล่ ต้องหนีต่อไปยังแผ่นดินแหลมมลายู (บางตำราบอกว่า มัชปาหิตได้ตามมาทำลายสิงคโปร์พินาศไปในคราวนั้น) เจ้าปรเมศวรไปถึงเมืองมะละกาในราวปี ค.ศ.๑๔๐๐

มะละกาเป็นเมืองค้าขายชายฝั่งทะเล เวลานั้นพ่อค้ามุสลิมจากอินเดียมาตั้งหลักแหล่งกันมาก จึงเจริญด้วยเศรษฐกิจการพาณิชย์

นักประวัติศาสตร์ทราบเรื่องคร่าวๆ ว่า เจ้าปรเมศวรได้ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ที่นั่น และเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูเข้าอิสลาม กลายเป็นมุสลิมเฉลิมพระนามว่าสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ ปกครองรัฐสุลต่านแห่งมะละกาเริ่มแต่ปี ค.ศ.๑๔๐๒ หรือ ค.ศ.๑๔๐๓

รัฐสุลต่านแห่งมะละกานี้ ถือว่าเป็นความภูมิใจและเป็นแหล่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากเจ้าปรเมศวรมาจากดินแดนมลายูแห่งสุมาตรา จึงนำความเป็นมลายูมาด้วย เหมือนกับเป็นผู้นำความเป็นมลายูมาสถาปนาในแผ่นดินมาเลเซีย

(คำว่า “มลายู” ก็เป็นศัพท์ที่คงต้องสืบค้นที่มากันต่อไป แต่ที่ชัดเจนก็คือเป็นชื่อของถิ่นที่เป็นฮินดู-พุทธมานาน มีคำจารึกหนึ่งอันเก่าแก่เมื่อปี ค.ศ.๑๓๔๗ เขียนว่า “เมลายุปุระ”)

เนื่องจากเวลานั้น อาณาจักรสยามแห่งอยุธยากำลังมีอำนาจมาก สุลต่านแห่งมะละกาจึงหันไปพึ่งจีน เพื่อให้ตนพ้นจากอิทธิพลของอยุธยาและจากการขอความคุ้มครอง ในปี ค.ศ.๑๔๐๕ พระจักรพรรดิจีนก็ได้ทรงยกย่องสุลต่านแห่งมะละกาให้เป็นราชาธิบดี กับทั้งต่อมาในปี ๑๔๑๑ สุลต่านแห่งมะละกาก็ได้เดินทางไปกับกองทัพเรือของจีนเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าจักรพรรดิที่กรุงปักกิ่ง

แต่กระนั้นอีก ๓๔ ปีต่อมา คือในปี ค.ศ.๑๔๔๕ และ ๑๔๕๖ ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งกองทัพมาตีมะละกา เป็นการลงโทษที่มะละกาไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการ แต่ถึงตอนนั้นมะละกาเข้มแข็งมากแล้ว จึงตีต้านทัพศรีอยุธยาแตกกลับไปทั้ง ๒ ครั้ง

รัฐสุลต่านแห่งมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างยิ่ง จนได้เป็นศูนย์กลางพาณิชย์ใหญ่ที่สุดแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทางการเมืองก็แผ่อำนาจไปอย่างกว้างขวาง ทั้งขึ้นไปทางเหนือบนผืนแผ่นดินจนถึงปัตตานี และลงไปตามชายฝั่งทะเลถึงสุมาตราภาคตะวันตก

ดินแดนแถบนี้ (แม้ถึงถิ่นที่เคยเป็นลังกาสุกะ อย่างน้อยบางส่วน) ได้เปลี่ยนเข้าอิสลามนานแล้ว ก่อนรัฐสุลต่านแห่งมะละกาเกิดขึ้น (อาจจะเปลี่ยนในยุคเดียวกับอาเจะห์) แต่ตอนนั้นอิสลามยังขยายไปเชื่องช้า จนกระทั่งเมื่อเข้ายุคที่มะละกายิ่งใหญ่ และได้เป็นศูนย์กลางสำคัญในการเผยแพร่ อิสลามจึงแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางจริงจัง

ในยุคมะละกานี้เอง พลเมืองที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นมุสลิม ได้เริ่มเรียกตนเองว่าเป็นคนมาเลย์ หรือมลายู และต่อมา คำว่า มาเลย์หรือมลายูนี้ อย่างที่ได้กล่าวแล้วว่าความเป็นมลายูนั้น มากับเจ้าปรเมศวร จากศรีวิชัยเดิม ก็ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนนับถืออิสลามและพูดภาษามาเลย์แบบเฉพาะของพวกตน

อย่างไรก็ตาม รัฐสุลต่านแห่งมะละกายิ่งใหญ่อยู่ได้ไม่ถึงศตวรรษก็ถึงกาลอวสาน เมื่อโปรตุเกสเข้ามายึดเป็นอาณานิคมได้ในปี ค.ศ.๑๕๑๑ ชนชั้นปกครองต้องหนีภัยเข้ามาในแผ่นดินจนไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ยะฮอร์

โปรตุเกสครองมะละกาอยู่ได้ศตวรรษเศษ ก็ต้องเสียมะละกานั้นให้แก่ฮอลลันดา เมื่อปี ค.ศ.๑๖๔๑

ทางฝ่ายอังกฤษได้ปีนัง จากสุลต่านแห่งเคดาห์ในปี ค.ศ.๑๗๘๖ ต่อมาเมื่อตั้งฐานที่สิงคโปร์ในปี ค.ศ.๑๘๑๙ แล้ว ก็คืบหน้ามาตามลำดับ ถึงปี ค.ศ.๑๘๒๔ ก็ได้มะละกา และในที่สุดปี ๑๘๙๕ ก็ตั้งอาณานิคมที่เรียกว่า Federated Malay States

อังกฤษให้เอกราชในปี ๑๙๕๗ เรียกชื่อประเทศว่า Federation of Malaya ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๖๓ ขยายเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย (Federation of Malaysia) แต่สิงคโปร์ถอนตัวออกไปในปี ๑๙๖๕

บทความที่๒๓๕. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีนตอนที่๗

ชวาขึ้นมาล้ำสุมาตรา

บนเกาะชวา ที่อยู่ต่อลงไปทางใต้ ถัดจากสุมาตรา โดยมีช่องแคบซุนดาคั่นอยู่ มีอาณาจักรที่เจริญมาแต่โบราณ ซึ่งอาจจะเก่ากว่าศรีวิชัย อย่างน้อยก็เคียงข้างหรือแข่งคู่กันมา แต่ไม่ใหญ่โตเท่า จึงไม่ปรากฏชื่อเด่น

เมื่อหลวงจีนฟาเหียนเดินทางกลับเมืองจีนทางทะเล ตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๕ ราว พ.ศ.๙๕๖ เรือที่ท่านโดยสารมาถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งบนเกาะหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเกาะชวา และพระคุณวรมัน ที่ออกบวชจากราชวงศ์ ซึ่งมาจากกัศมีระ (แคชเมียร์)ก็ได้เขียนเรื่องราวในยุคเดียวกันนี้บอกไว้ เกี่ยวกับการที่ท่านได้มาสั่งสอน

บันทึกที่ว่านั้น ทำให้คนยุคหลังรู้ว่า การเดินทางค้าขายระหว่างจีนกับชวาได้มีมานานแล้ว และพระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่แล้วที่นั่นซึ่งคงนานแล้ว ก่อนที่ท่านทั้งสองไปถึง

มีศิลาจารึกบอกไว้ให้ทราบว่า แถวๆ เมืองจาการ์ตาในปัจจุบันนี้เมื่อย้อนไปคริสตศตวรรษที่ ๕-๖ เคยมีอาณาจักรโบราณเก่าแก่ที่สุดแห่งชวาตะวันตก ชื่อว่า ตรุมา (Taruma) เรียกเต็มว่า ตรุมานคร บันทึกฝ่ายจีนเรียกว่า โตโลมา ซึ่งเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา (บางตำราว่าเป็นฮินดู) มีราชาที่เข้มแข็งที่สุด พระนามว่าปูรณวรมัน แต่เรื่องราวของอาณาจักรนี้ นักประวัติศาสตร์ไม่อาจหารายละเอียดมาเล่าได้

ครั้นถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๗ (ยุคเดียวกับศรีวิชัยในสุมาตรา)ก็ได้มีอาณาจักรสำคัญเกิดขึ้นแล้วในชวาหลายแห่ง ทั้งอาณาจักรค้าขายชายฝั่งทะเล และอาณาจักรกสิกรรมทำนาข้าวลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน

โดยเฉพาะในชวาภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ ๘ (พ.ศ.๑๓๐๐) อาณาจักรมาตาราม ได้เสื่อมลงไป โดยมีอาณาจักรใหม่ของชาวพุทธแห่งราชวงศ์ไศเลนทร (Sailendra) เจริญขึ้นมาบนที่ราบเกทุ (Kedu Plain) ที่อยู่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ดี เรื่องราวตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ว่าไว้ต่างกัน บางพวกว่า อาณาจักรมาตารามนั่นเองมีกษัตริย์เป็นราชวงศ์ไศเลนทร คือเป็นอาณาจักรเดียวกัน และกล่าวว่ากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้ ตอนต้นนับถือศาสนาฮินดู แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นนับถือพระพุทธศาสนา แต่มีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งอยู่คือ หากกษัตริย์นับถือฮินดูก่อนแล้วเปลี่ยนมานับถือพุทธ จะมาสร้างบุโรพุทโธก่อนแล้วไปสร้าง Prambanan ทีหลังอย่างไรได้

กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร ได้สร้างมหาสถูปยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า Borobudur (สันนิษฐานว่าอาจเลือนมาจากคำว่า “บรมพุทโธ”)ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๑๓๕๐ (บางตำราว่าสร้างตอนกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ อยู่ห่างจากเมืองจาการตาประมาณ ๖๘ กิโลเมตร)

มหาสถูป Borobudur มีความยิ่งใหญ่เพียงได้นั้น เห็นได้จากการสร้างนั้นใช้ก้อนหินภูเขาไฟประมาณ ๒ ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๑๒๑ เมตร (๔๐๓ ฟุต) สูงขึ้นไปเป็นรูปแบบปิระมิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ๘ ชั้น และในแปดชั้นนั้น ๕ ชั้นล่างเป็นลานสี่เหลี่ยม ๓ ชั้นขึ้นไปเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้นสูงสุด มีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก ๓๑.๕ เมตร

ส่วนอาณาจักร มาตาราม ที่เสื่อมลงไป ต่อมาก็ตั้งขึ้นใหม่อีกในตอนกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ แล้วเจริญต่อมาอีกหลายศตวรรษ โดยเฉพาะตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๐ (ประมาณ พ.ศ.๑๔๔๓-๑๔๗๓)มาตารามซึ่งเป็นอาณาจักรฮินดู ได้สร้างมหาเทวสถาน เรียกว่า ปรัมพนัน Prambanan (เขียนว่าปรัมพนัมก็มี) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่บูชาพระศิวะ อันนับได้ว่าเป็นศิวเทวาลัยใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

มหาสถูป Borobudur ฝ่ายพุทธศาสนามหายาน ของราชวงศ์ไศเลนทรกับมหาเทวสถานปรัมพนัน ฝ่ายฮินดูของอาณาจักรมาตารามนี้ ต่างก็ใหญ่มหึมาทั้งสองแห่งและอยู่ใกล้กันด้วย ห่างกันไม่ถึง ๘๐ กิโลเมตร จึงเป็นที่สังเกต และเป็นแหล่งศึกษาเชิงเปรียบเทียบสำหรับนักค้นคว้า

เรื่องของราชวงศ์ไศเลนทรนี้ นอกจากที่เกี่ยวกับการสร้างมหาสถูป Borobubur แล้ว ก็ไม่ค่อยรู้อะไรกันอีก หรือรู้กันไม่ค่อยชัด

นักประวัติศาสตร์เห็นกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (Jayavarman II) ผู้สถาปนาอาณาจักรขอมโบราณมีเชื้อสายทางวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนันด้วย มาจากราชสำนักแห่งไศเลทรในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ ๘ เมื่อประมาณ ค.ศ.๗๙๐ และได้ประกาศอาณาจักรขอมเป็นอิสระจากไศเลนทร ในปี ค.ศ.๘๐๒

เท่าที่พูดกันอันสำคัญอีกตอนหนึ่งคือเรื่องทีว่า ในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ (ราว พ.ศ.๑๔๐๐) ขณะที่ราชวงศ์มาตารามเข้าครองดินแดนของไศเลนทรในชวา กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้ ก็ได้ไปเป็นใหญ่ครองอาณาจักรศรีวิชัยในสุมาตรา โดยมีอำนาจครองแหลมมลายูส่วนใหญ่ด้วย จนกระทั่งศรีวิชัยที่ราชวงศ์ไศเลนทรไปปกครองนั้นเสื่อมลงไปในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๑

ในยุคที่ศรีวิชัยในสุมาตราเสื่อมลงช่วงต้นๆ คือในคริสตศตวรรษที่ ๑๑ ได้เกิดมีอาณาจักรใหม่ขึ้นในชวาตะวันออก ชื่อว่ากาทิรี (Kadiri;ปัจจุบันเรียกว่า Kediri) มีเมืองหลวงชื่อว่าดาหา

ตรงนี้ตำราทั้งหลายต่างกล่าวกันจนสับสน แต่สืบค้นแล้วก็มีหลักฐาน ๒-๓ แห่งได้ความว่าเป็นเรื่องสืบต่อมาจากอาณาจักรมาตารามนั่นเอง ซึ่งหลังจากตั้งขึ้นใหม่ใน คริสตศตวรรษที่ ๘โดยพระเจ้าสญชัยแล้วก็มีอำนาจขยายออกไปตั้งแต่ชวาภาคกลางถึงภาคตะวันออก

ต่อมาต้นคริสศตวรรษที่ ๑๐ ศูนย์อำนาจของมาตารามได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันออก

เวลาผ่านไป ได้เกิดภัยพิบัติ ถูกศรีวิชัยที่ขัดแย้งกันมาทำลายบ้าง ถูกกบฏทำลายบ้าง จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๐๑๙ เกิดมีราชาองค์สำคัญของมาตาราม เรียกพระนามกันว่า Airlangga รวมกำลังฟื้นอาณาจักรให้เข้มแข็ง แล้วแบ่งอาณาจักรให้โอรส ๒ องค์ครอง

ครั้งนั้น มาตารามหายไป แยกเป็น ๒ อาณาจักร คือ กาทิรี กับ ชังคละ ทำให้แตกกันและอ่อนแอลง กระทั่งราชาชยาภัย รวมชังคละเข้ากับกาทิรีได้ กาทิรีขยายดินแดนออกไปได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าคุมสุมาตราที่ศรีวิชัยครองอยู่ได้ แล้วในที่สุด ถึงปี ค.ศ.๑๒๒๒ ได้มีกบฏโค่นพระเจ้ากฤตชัย ราชาองค์สุดท้ายของอาณาจักรกาทิรีลง และตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาแทนที่ ชื่อว่าสิงหสารี

อาณาจักรสิงหสารีแห่งชวาตะวันออก เป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รุ่งเรืองเด่นในรัชกาลพระเจ้ากฤตนคร (ค.ศ.๑๒๖๘-๑๒๙๒) โดยมีอำนาจควบคุมดินแดนเป็นอันมากในสุมาตรา ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของศรีวิชัย

ต่อมาในปี ๑๒๘๙ จักรพรรดิกุบไลข่าน เมืองจีนทรงพิโรธว่าทางสิงหสารีปฏิบัติต่อราชทูตของพระองค์อย่างไม่ควรแก่เกียรติยศ จึงเตรียมจะส่งทหารมาลงโทษ

แต่ระหว่างนั้นในปี ค.ศ.๑๒๙๒ อาณาจักรกาทิรีคู่แข่ง ที่ถูกสิงหสารีปราบลงก่อนนั้น ได้ก่อการกบฏมายึดพระราชวังและได้สังหารพระเจ้ากฤตนครเสีย ทำให้อาณาจักรสิงหสารีสิ้นสลาย

คราวนั้นปี ค.ศ.๑๒๙๒ เจ้าชายวิชัยโอรสของพระเจ้ากฤตนครหลบหนีไปได้ ครั้นทัพมองโกลมาถึง เจ้าชายวิชัยก็ร่วมกับทัพมองโกลกำลังกษัตริย์แห่งกาทิรีได้ เสร็จแล้วเจ้าชายวิชัยก็หันมาสู้กับพวกมองโกลและสามารถขับไล่ทัพมองโกลออกไปจากชวาได้สำเร็จ

จากนั้น เจ้าชายวิชัยได้ตั้งอาณาจักรแห่งชวาตะวันออกขึ้นใหม่ ชื่อว่ามัชปาหิตในปี ค.ศ.๑๒๙๓ ซึ่งได้เจริญขึ้นเป็นใหญ่ที่สุดในแถบนี้ โดยครองดินแดนที่เป็นอินโดนีเซียบัดนี้ และแผ่นดินแหลมมลายูเป็นอันมาก ตลอดทั้งสิงคโปร์

เป็นอันว่า มาตารามหายมาเป็นกาทิรี แล้วกาทิรีถูกแทนด้วยสิงหสารี แล้วสิงหสารีก็เปลี่ยนเป็นมัชปาหิต

มัชปาหิตที่ชวารุ่งเรืองอยู่นาน แต่นับจากปี ค.ศ.๑๓๘๙ อำนาจก็เริ่มถูกท้าทาย ดังได้เล่าแล้วว่าทางด้านสุมาตรา เจ้าชายปรเมศวรแห่งแดนศรีวิชัยเดิม คิดตั้งตัวเป็นอิสระ แม้ว่าปัชปาหิตจะขับไล่ผู้ท้าทายนั้นพ้นไป และตามไปกำจัดที่สิงคโปร์จนเสร็จ แต่เจ้าชายปรเมศวรก็ไม่ลดละหนีต่อไปตั้งตัวที่มะละกา กลายเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ ทำให้เกิดรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้น ดังเล่าข้างต้น เมื่อปีค.ศ.๑๔๐๒-๑๔๐๓

มัชปาหิตเสื่อมอำนาจลง จนในที่สุดก็ถูกชนมุสลิมโค่นลงในปี ค.ศ.๑๔๗๘ แต่ยังไม่หมดกำลังสิ้นเชิง กระทั่งถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๖ อำนาที่ยังเหลืออยู่บ้างนั้นจึงถูกกำจัดไปในราวปีค.ศ.๑๕๒๗

ในช่วงที่ชนมุสลิมเข้าครองนั้น ชาวฮินดูมัชปาหิตทั้งเจ้านาย ขุนนางและประดาชนชั้นสูง ได้พากันอพยพหนีภัยไปยึดเอาบาหลีเป็นที่มั่นสุดท้าย

เกาะบาหลี คือ พลี ที่แปลว่า มีกำลังแข็งแรง อยู่ห่างไปทางตะวันออกของเกาะชวา โดยข้ามช่องแคบเพียงประมาณ ๒ กิโลเมตร และบาหลีเป็นถิ่นแดนเดียวในอินโดนีเซียปัจจุบัน ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นฮินดูแบบบาหลี (Balinese Hinduism) มีพุทธศาสนาแทรกเสริม ผสมผสานกับลัทธินับถือบรรพบุรุษผีสางและไสยเวท ถือระบบวรรณะของฮินดู แม้จะหย่อนกว่าในอินเดีย ชาวบาหลีส่วนใหญ่ราว ๙ ใน ๑๐ คนเป็นคนวรรณะศูทร

ถึงตอนนี้ก็ควรตามไปดูบนผืนแผ่นดินแหลมมลายู คืออาณาจักรมะละกาที่เคยกล่าวไว้ แต่ก็จะย้อนมาที่ชวาอีก เพราะจะมีอาณาจักรมาตารามเกิดขึ้นใหม่ในยุคเป็นแดนมุสลิมในกาลข้างหน้า หลังสิ้นมาตารามเก่าไป ๕๐๐ กว่าปี

Tuesday, August 21, 2007

บทความที่๒๓๔.วาสนาคนไทยได้แค่ไสยศาสตร์ ตอนที่๑

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) บรรยายธรรมเรื่อง
“การบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” และเรื่อง
“เข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับจตุคามรามเทพ”


บรรยายธรรมที่วัดญาณเวศกวัน วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๐


พระพรหมคุณาภรณ์ : อาตมาไม่ได้เข้าฝ่ายไหนว่าจะเขียน ไม่เขียน (เขียนบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ-ผู้ถอดความ)แต่ว่าจะเขียนหรือไม่เขียนก็ควรจะพูดและแสดงถึงการรู้ เข้าใจเรื่อง และให้มีประโยชน์ในทางสร้างสรรค์เพราะว่าเมื่อจะเขียนหรือไม่เขียนมันมีทาง เราต้องมองไปที่ว่าแล้วเราจะจัดการอย่างไร ให้มันเกิดผลขึ้นมา ทำอย่างไรให้เกิดผลดี ก็ถือโอกาสจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ “พระศาสนา” ไม่ใช่มีแค่ความเห็นอย่างเดียว ถ้าไปพูดทำนองว่า “เขียนหรือไม่เขียนก็เป็นอยู่แล้วแหละ แล้วก็บอกว่ารัฐธรรมนูญนั้นน่ะไม่ต้องเขียน” (หัวเราะ)ก็เพราะอยู่ได้อยู่แล้วใช่ไหม เออ-เขียนทำไมรัฐธรรมนูญก็ประเทศมันก็อยู่ ก็เป็นอย่างนี้

ควรถือเป็นโอกาสว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดผลดี ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติประชาชน สร้างความเข้าใจแล้วมาจัดอะไรต่างๆ เขียนหรือไม่เขียนก็(ต้อง)ทำให้เกิดประโยชน์

ผู้กราบเรียนถาม : แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นชาวพุทธไม่เอาไหน อย่างจตุคามรามเทพอย่างนี้ !

พระพรหมคุณาภรณ์ : ที่จริงอยากจะย้ำอีกด้วยซ้ำ บอกว่าการเขียนก็ต้องระวัง มันอาจะเป็นเหตุให้เกิดความประมาท แล้วพอเป็นเข้าแล้ว-ศาสนาประจำชาติ,ชื่อเป็นพระพุทธศาสนาแต่เนื้อแท้เป็นไสยศาสตร์ ! หมายความว่าประเทศไทยนี้นะมีอะไรเป็นศาสนาประจำชาติ ? อ๋อ-ก็มีไสยศาสตร์เป็นศาสนาประจำชาตินะสิ-ใช่ไหม ? เวลานี้มันก็จะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เวลานี้ที่ว่าไม่เขียนก็เป็นอยู่แล้ว ก็คือมีไสยศาสตร์ประจำชาติไง (หัวเราะ)ทีนี้เราควรจะถือโอกาสว่า นี่มันมีปัญหานี้อยู่แล้ว เราจะถือโอกาสอย่างไรทำให้มันได้ประโยชน์กับประชาชน ให้เข้าสู่หลักการพระพุทธศาสนา เอาเลย(ไปพูด)กับพระ(ทั้งหลาย)นี่ พูดบอกว่า

“โอ้ท่าน เรื่องนี้(เรื่องบัญญัติพระพุทธศาสนาฯ-ผู้ถอดความ)สำคัญครับ แต่ผมดูแล้วประชาชนเนี่ย ไม่ได้เข้ากับหลักพุทธศาสนาเลย ยังอยู่กับหลักไสยศาสตร์ แล้วเราจะมาทำยังไง”

ท่านลองพยายามดู เรื่องนี้มาช่วยกันคิด ถือโอกาสมาพูดเรื่องนี้กันซะ มันจะเป็นประโยชน์ดีกว่าที่จะมัวมาเถียงกันอยู่ แล้วทั้งสองฝ่ายก็เข้าใจคำที่พูดไม่เหมือนกัน คือคนหนึ่งที่จะเรียกร้องเอานี่นะ ในความคิดในสมองเขาน่ะ เขามองคำว่า ”ศาสนาประจำชาติ” ในความหมายหนึ่ง ทีนี้คนที่ค้านจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการอะไรนี่นะ ก็มองความหมายของคำเดียวกันนี้นะคือคำว่า “ศาสนาประจำชาติ” อีกความหมายหนึ่ง ! เขาเถียงคำเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่เขาคิดอยู่คนละเรื่อง นี่ก็ใช้คำว่าอะไรนะ ? คนละเรื่องเดียวกันอะไรทำนองนั้น คือสิ่งที่เขาเถียง เขาเข้าใจกันไปคนละเรื่อง มันเป็นอย่างนั้น เขาไม่ได้เข้าใจเรื่องเดียวกันหรอก ความหมายของคำว่าศาสนาประจำชาตินี่นะ ชาวบ้านก็บอกอย่างหนึ่ง-คิดพร่าๆ แล้วก็ไม่ชัดด้วย ชาวบ้านก็ไม่ชัด นักวิชาการก็ไม่ชัด
บังเอิญว่าสองวันนี่ไปอ่านหนังสือ บทความอันหนึ่ง เขาพูดถึงพระศาสนา เขาไม่ได้พูดตรงๆ แต่เขาพูดเป็นนัยทำนองว่า “ในพุทธศาสนาเถรวาท ไม่มีรัฐพุทธศาสนา” - เนี่ย,แสดงว่าเขากำลังมองว่าศาสนาประจำชาติในความหมายแบบฝรั่ง คือถ้าเอาศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็เหมือนกับตะวันตกยุคที่ศาสนาคริสต์เป็นใหญ่ คือเป็นรัฐคริสต์ หรืออย่างมุสลิมก็เป็นรัฐอิสลาม

เขา(ผู้เขียนบทความนั้น)ไม่เข้าใจความหมาย วิธีปฏิบัติ ประเพณี ความสัมพันธ์อะไรของเรา เขาก็ไม่รู้ อย่างนั้นก็ควรทำความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ก่อน เริ่มต้นคุณก็ต้องลงกันก่อนว่า คำว่า ”ศาสนาประจำชาติ” หมายความว่าอย่างไร ? ที่เราจะเถียงกันนี่นะ มีความหมายว่าอย่างไร ?

ผู้กราบเรียนถาม : เข้าใจตรงกันหรือเปล่า

พระพรหมคุณาภรณ์ : ใช่,เข้าใจตรงกันหรือเปล่า

ผู้กราบเรียนถาม : มนุษย์เราเป็นอย่างนี้ ทะเลาะกันแทบตาย เข้าใจกันคนละอย่าง

พระพรหมคุณาภรณ์ : เรื่องนี้มันเข้าใจคนละอย่างกันอยู่แล้ว เพราะว่านักวิชาการหลายคนเวลานี้ เวลาพูดก็มองไปทิศตะวันตก ! เช่นอ้างว่า “โอ้,ฝรั่งเขาก็แยกรัฐกับศาสนา” วันนั้นพอดีอาตมาฟังข่าววิทยุแห่งประเทศไทยประจำ พอชั่วโมงข่าวก็ฟัง หนึ่งทุ่ม,หนึ่งโมงเช้า หลังจากที่(อาตมา)พูด(เรื่องนี้)ว่า “รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสนาประจำชาติ ว่าเป็นยังไง”

ไม่รู้เขาได้ยินหรืออย่างไรนะ อีกวันหนึ่งเขาออกว่า เนี่ย,”ต้องให้ประชาชนได้มีความรู้(เรื่อง)ศาสนาประจำชาติว่าเวลานี้ในตะวันตกนั้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ เขาก็แยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน” -พูดแค่เนี้ย ! รู้แล้วก็ตัดสินใจกันเอาเอง (หัวเราะ)แสดงว่า (ผู้เอาคำไปพูดต่อ)ยิ่งไม่รู้ใหญ่ !!

ก็นี่ละเรื่องนี้,เรื่องของเราที่ต้องมาให้ความรู้ที่ชัดเจน - อะไรไม่รู้กล่าวมาแค่นี้ (เรื่องสำนักข่าวเอาคำท่านไปกล่าวให้ผิดไปจากความหมาย –ผู้ถอดความ)

Sunday, August 19, 2007

บทความที่๒๓๓.ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๖

มลายู ขยายจากสุมาตรา ขึ้นยังมาเลเซีย

ได้กล่าวมาแล้วว่า ศรีวิชัยที่มีศูนย์กลางอยู่ในสุมาตราภาคใต้ หลังจากพ่ายแพ้แคว้นโจละแห่งอินเดียใต้ในปี ค.ศ.๑๐๒๕(พ.ศ.๑๕๖๘)แล้ว ก็อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ อาณาจักรต่างๆ ที่ตกอยู่ใต้อำนาจ ทั้งในสุมาตราเอง ทั้งในชวา และบนแผ่นดินแหลมมลายู ต่างก็ทยอยแตกตัวออกไปเป็นอิสระ

โดยเฉพาะที่โดดเด่นขึ้นมาจนแทนที่ศรีวิชัยก็คืออาณาจักรมัชปาหิตในชวา ซึ่งมีอำนาจปกครองปาเลมมังที่เคยเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยด้วยในสุมาตราเอง ทางภาคตะวันตก เป็นถิ่นชื่อว่า มลายู หรือชัมพี ของชนชาติที่เรียกว่ามีนังกะเบา ซึ่งมีคนอินเดียอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๒ (ราว พ.ศ.๗๐๐) จึงเป็นดินแดนที่นับถือศาสนาฮินดู

เมื่อศรีวิชัยรุ่งเรืองตั้งแต่คริสตศตวรรษที่๗ (พ.ศ.๑๒๐๐ เศษ)เป็นต้นมา ชัมพีก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัยนั้น และราว ค.ศ.๑๑๐๐ ได้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่หนหนึ่ง

เมื่อศรีวิชัยเสื่อมลงๆ จนถึงคริสตศตวรรษที่ ๑๔ ชาวมีนังกะเบาก็ได้ตั้งอาณาชัมพีของตนขึ้น แต่ขาดโอกาสที่จะสร้างฐานกำลังนาวีให้แข็งแกร่งอย่างศรีวิชัยในอดีต จึงกลายเป็นช่องว่างให้มัชปาหิตในชวายิ่งใหญ่ขึ้นมา

เมื่อมัชปาหิตเรืองอำนาจมาก ชัมพีก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัชปาหิตแห่งชวาด้วย เช่นเดียวกับดินแดนศรีวิชัยในอดีต ที่หมดอำนาจไปแล้ว

เมื่อจะสิ้นคริสตศตวรรษที่ ๑๔ ทั้งชัมพีและปาเลมบังคือศูนย์เดิมของศรีวิชัย ได้พยายามตั้งตัวเป็นอิสระแต่ไม่สำเร็จ โดยเฉพาะพระเจ้าปรเมศวร ผู้ครองปาเลมบัง ได้ประกาศในปี ค.ศ.๑๓๘๙ ทำนองว่าจะไม่ขึ้นต่อมัชปาหิตแล้วถูกพวกชวาแห่งมัชปาหิตขับไล่ หนีไปตั้งตัวที่สิงคโปร์ ก็ถูกตามไปกำจัด ต้องหนีต่อไปขึ้นแผ่นดินมลายู แล้วเปลี่ยนตัวเป็นมุสลิมตั้งอาณาจักรมะละกาขึ้นมา โดยสถาปนาตนเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์

มีงานวิจัยทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงมติว่า ดินแดนที่เรียกว่า มลายู ในสุมาตรานั้น มิใช่เฉพาะส่วนของอาณาจักรชัมพี(ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของอินโดนีเซียในปัจจุบัน)เท่านั้น แต่รวมตลอดทั้งปาเลมบังด้วย พูดคร่าวๆ ว่าสุมาตราเป็นถิ่นแท้ดั้งเดิมของมลายู

ดังนั้น การที่เจ้าชายปรเมศวรจากสุมาตรา ไปตั้งรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้นบนแผ่นดินด้านปลายแหลมนั้น จึงเป็นการนำเอาความเป็น “มลายู” ไปสถาปนา หรือไปขยาย บนแผ่นดินซึ่งเรียกในบัดนี้ว่า แหลมมลายู หรือคาบสมุทรมาเลย์ (Malay Peninsula)

มีการพยายามสืบค้นกันในเรื่องนี้ เช่นงานวิจัยของ Professor Leonard Y. Anadaya เรื่อง The Search for the ‘Origins’ of Melayu ที่พิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies ในอังกฤษ ฉบับ October 2001 บางมติถึงกับว่า แหล่งเดิมของมลายูเริ่มที่บอร์เนียว แล้วจึงมาพัฒนาที่สุมาตรา

แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคม อาณาจักรมะละกาก็สิ้นอำนาจไป โดยถูกโปรตุเกส เข้าครอบครองใน ค.ศ.๑๕๑๑ (พ.ศ.๒๐๕๕)

ถึงตอนนั้น ช่องว่างแห่งอำนาจเกิดขึ้น อาณาจักรมุสลิมยิ่งใหญ่ชื่อว่าอาเจะฮ์ ก็เรืองอำนาจขึ้นมาที่สุดมาตราภาคเหนือเวลาผ่านมาถึงบัดนี้ คือในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๐๐๐ เศษ) กษัตริย์มีนังกะเบาแห่งชัมพี ที่เป็นแห่งเดิมของมลายู ก็ได้เปลี่ยนเป็นมุสลิม ดินแดนนี้จึงเข้าสู่ยุคของศาสนาอิสลาม

จะเห็นว่า ศูนย์อำนาจ หรือความยิ่งใหญ่เคลื่อนย้ายไปหมุนเป็นวง เริ่มจาก ศรีวิชัยที่สุมาตรา ย้ายสู่มัชปหิตในชวา แล้วเลื่อนไปมะละกาบนแหลมมลายู ครบแล้วก็เหมือนมาตั้งต้นใหม่ที่สุมาตราอีก

ข้อต่างคือ เมื่อเริ่มรอบแรก ในคริสตศตวรรษที่ ๗ สุมาตราเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ครั้งเริ่มรอบใหม่ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ สุมาตราเป็นดินแดนแห่งศาสนาอิสลาม

Saturday, August 18, 2007

บทความที่ ๒๓๒.พุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมไปแล้วก่อนที่มุสลิมจะทำลาย

ความวิกฤติของแผ่นดินไทยในขณะนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องอำนาจการปกครองของมวลประชาชนกำลังจะถูกทำลาย แล้วถูกบีบคั้นบังคับโดยคณะผู้ยึดอำนาจทุกวิถีทางเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองสูงสุดของประเทศให้เป็นอำนาจของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า "คณาธิปไตย" อันเป็นการปกครองที่ล้าหลังต่อความเจริญของประเทศชาติ, แต่วิกฤติของพระพุทธศาสนาในประเทศก็หนักหนาไม่แพ้กัน

เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทในแผ่นดินไทยส่วนมาก ไม่ได้ศึกษาหลักธรรมว่าพระพุทธองค์ทรงสอนธรรมอะไร และหลักธรรมที่จะนำสัตว์จากทุกข์ได้นั้นคืออย่างไร จึงไม่ต่างจากพุทธบริษัทในอินเดียก่อนที่พระพุทธศาสนาจะถูกทำให้สูญสิ้นไป คือขาดความสนใจ ขาดความเข้าใจแม้หลักธรรมเบื้องต้นของพุทธบริษัท คือเรื่องกรรมและผลของกรรม จึงปรากฏทั่วไปแล้วว่าพุทธบริษัทในประเทศไทย นิยมแสวงหาเครื่องราง ของขลัง บูชาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ กราบไหว้วัตถุที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ เป็นมงคล ทั้งนี้ก็เพราะเขาเหล่านั้นมุ่งหวังความร่ำรวย สะดวก สบาย การหายจากโรคภัย การได้รับผลสำเร็จต่างๆ

จึงปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปว่า ทั้งผู้ที่ประกาศตนว่าเป็นภิกษุ เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่กลับกระทำการเป็นอลัชชี นอกรีต ปลุกเสก เครื่องรางของขลัง ทำการค้าขายไม่ผิดกับชาวบ้านผู้ครองเรือน, และฆราวาสที่มุ่งหวังเพียงขอให้ตนได้ วัตถุ ลาภ ยศ ความร่ำรวย จากการศิโรราบ กราบไหว้ "วัตถุ" ทั้งหลาย โดยไม่พิจารณาว่าการกระทำเพียงเพราะหวังว่าตนจะได้ จะทำลายประเทศให้เสื่อมจากพระพุทธศาสนาไปมากเพียงใด

ซ้ำร้ายประเทศยังเสื่อมจากพระพุทธศาสนาลงไปอีก เมื่อมีการปลุกกระแส บูชาจตุคามรามเทพ ให้ระบาดไปในหมู่คนไทยที่ใจคอยแต่จะหวัง จะได้ จะเอา ลาภ ยศ เงินทอง ความสำเร็จ โดยการหาสิ่งนั้นมา "บูชา" !!! มิใยจะฉุกคิดสักนิดว่า จตุคามรามเทพ นั้นเป็นคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่ พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้พุทธบริษัทบูชาสิ่งนอกศาสนากระนั้นหรือ ? พระพุทธองค์จะทรงตรัสสอนให้พุทธบริษัท พึ่งหวัง อ้างอิงกับวัตถุที่ไม่ทำให้เกิดปัญญาอย่าง เหรียญจตุคามรามเทพ กระนั้นหรือ ? ก็เหตุใดไม่ฉุกคิดสักนิดล่ะว่า การที่ได้รับ ลาภ ยศ เงินทอง ความสำเร็จ เป็นเพราะ "บูชา" จตุคามรามเทพ หรือเป็นเพราะ ผลของกุศลกรรมที่ตนได้เคยกระทำไว้แล้วกันแน่ ก็เพราะเรื่องกรรมและผลของกรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งที่พุทธบริษัทจะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้อง พุทธบริษัททั้งภิกษุและฆราวาสจึงไม่ศึกษาให้เข้าใจ จึงมุ่งหวังจะได้โดยเร็ว ได้โดยสะดวก จากการบูชาจตุคามฯ

เมื่อเมื่อภิกษุก็ไม่สามารถจะรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ กลายมาเป็นพระปลุกเสกเหรียญจตุคามเพียงเพราะจะได้รับ ลาภปัจจัย เป็นเงินทองข้าวของต่างๆ ก็กลายเป็นพระพาณิชย์ กลายเป็นอลัชชีนอกพระศาสนาสิ้นความเป็นภิกษุในพระศาสนาของพระศาสดาไปแล้ว มีแต่ผ้าเหลืองที่ห่มหลอกคนทั่วไปไว้ แล้วอย่างนี้ประเทศชาติประชาชนจะไม่เสื่อมจากพระสัทธรรมได้อย่างไร

เมื่อภัยภายในของพุทธศาสนาคือภัยอันเกิดจาก พุทธบริษัทพากันเหยียบย่ำทำลายหลักธรรม โดยการไม่ศึกษา ไม่ใสใจที่จะรักษาพระธรรมวินัยไว้ ประกอบกับภิกษุและฆราวาสพากันไปกระทำนอกพระพุทธศาสนาคือ ไปปลุกเสก สร้างเหรียญจตุคาม และเครื่องรางอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้ประเทศเสื่อมจากพระศาสนาดุจเดียวกับพุทธบริษัทอินเดียเสื่อมจากหลักธรรมและในที่สุด มุสลิมก็ยกทัพเข้ามาทำลายบุคคลและวัตถุ เป็นอันปิดฉากพระศาสนาในอินเดีย

เหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดในแผ่นดินทองของผองพุทธบริษัทที่จิตใจเสื่อมทรามลงทุกทีๆไม่ว่าจะสูงสุด ชั้นกลางหรือชั้นต่ำ ล้วนแต่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่สามารถจะยืนหยัดปกป้องพระศาสนาไว้ได้ วิกฤตครั้งนี้ประชาชนคนไทยจึงจะสูญเสียทั้งอำนาจสูงสุดของมวลชนไป และยังจะเสียพระศาสนาให้แก่ศาสนาอื่นเข้ามาเป็นใหญ่แทนที่

จึงขอนำบทความของท่าน ป.อ.ปยุตโต ที่กล่าวถึงความเสื่อมสูญของพระศาสนาในอินเดีย จากหนังสือ จาริกบุญ จารึกธรรม มาให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนึกและตระหนักถึงภารกิจที่เราจะต้องปกป้องชาติและศาสนาก่อนที่จะเสียไป
พระพุทธศาสนาในอินเดียที่ดำรงมา ๑,๗๐๐ ปี ก่อนที่จะถูกทัพมุสลิมเตอร์กทำลายภิกษุและวิหารเสียสิ้น. ๑,๗๐๐ ปีนั้นหากพิจารณาจากต้นจนเสื่อมสูญ ก็จะเป็นพิจารณาได้เป็นยุคๆ ดังนี้

ยุคที่ ๑ ประมาณ ๕๐๐ ปีแรก เป็นยุคของพระพุทธศาสนาแบบ เถรวาท คือแบบที่สืบทอดมาถึงเรานี้ แต่รุ่งเรืองในถิ่นกำเนิดได้เพียง ๕๐๐ ปี

ยุคที่ ๒ ต่อจากนั้นเป็นยุคของ มหายาน ตั้งแต่ประมาณหลัง พ.ศ.๕๐๐ ไปจนถึง พ.ศ.๑๐๐๐ แต่เป็นมหายานที่ยังหนักแน่นอยู่

ยุคที่ ๓ หลัง พ.ศ.๑๐๐๐ มหายานเริ่มเสื่อมลง และราว พ.ศ.๑๒๐๐ ก็เกิดพุทธศาสนามหายานแบบลัทธิตันตระ ซึ่งมีเรื่องเวทมนต์คาถามาก

ยุคที่ ๔ หลัง พ.ศ.๑๕๐๐ เป็นตันตระยุคเสื่อมโทรม และทรามมาก จนถึงกับให้พระพุทธเจ้ามีศักติ ทำนองว่ามีชายา ฝรั่งแปลว่า consort มีการเสพสุรา และเสพกาม ถือเป็นการบรรลุนิพพานได้

ฮินดูตอนนั้น ก็เหลวเละมาก ฮินดูก็มีตันตระ พุทธก็มีตันตระแข่งกันมา แต่ก็คือเหมือนๆ กัน แล้วก็กลมกลืนกันนั่นเอง และระหว่างนี้แหละที่พุทธศาสนาได้กลมกลืนกับศาสนาฮินดูจนหมดความหมายพิเศษของตนเอง

ความเสื่อมทรามทั้งด้านกามและไสยศาสตร์เด่นมาก ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๐๐ จนมาถึง พ.ศ.๑๗๐๐ ก็พอดีมุสลิมเตอร์กยกทัพเข้ามากวาดล้างทำลายเสียเรียบหมดเลย

มีเรื่องเล่าไว้ว่า เมื่อมุสลิมเตอร์กยกกองทัพมาฆ่าและเผานั้น พระที่อยู่ในมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาต่างๆ ก็หนี ที่ถูกฆ่าก็มรณะไป ที่หนีได้ก็ลงเรือไปพม่าบ้าง หนีขึ้นเหนือไปเนปาลบ้าง ไปทิเบตบ้าง

ที่ทิเบตมีหลักฐานเหลืออยู่ เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ นาลันทา หรือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแถบนั้นถูกทำลาย เมื่อกองทัพมุสลิมเตอร์กยกเข้ามา อันแสดงถึงความเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์และเวทมนต์ว่าเป็นอย่างไร

มีตัวอย่างหลักฐานค้างอยู่ที่ทิเบตเล่าว่า พระองค์หนึ่งมีเวทมนต์คาถาขลังและมีพัดกายสิทธิ์ ก็บอกว่า เดี๋ยวพอกองทัพมันมานะ ฉันจะใช้พัดนี้โบก กองทัพมันจะแตกกระจัดกระจาย กระเจิงไปหมด แต่ผลที่แท้ก็คือพระเองนั้นถูกฆ่าหมด น้อยนักที่หนีรอดไปได้

แสดงว่า ตอนนั้นพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ เวทมนตร์ คาถา กลายเป็นมนตรยาน

นิกายตันตระนั้นเป็นเรื่องของมนตรยาน ถือกันว่า “ตันตระ” “มนตรยาน” และ “วัชรยาน” ใช้แทนกันได้ ซึ่งมนตรยานก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นลิทธิเวทมนตร์ ถือว่า สามารถบรรลุถึงจุดหมายได้ด้วยเวทมนตร์ เชื่อจนหมกมุ่นในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ พุทธศาสนาเสื่อมไปถึงขนาดนี้ นอกจากอิทธิฤทธิ์จะรักษาตัวไม่ได้แล้ว ก็กลมกลืนกับศาสนาฮินดูได้สะดวกง่ายดายอย่างดี

เรื่องเหล่านี้เป็นคติสอนใจชาวพุทธอย่างดีว่า จะต้องไม่ยอมถูกล่อเร้าชักจูงให้เขวออกไปจากหลักการของพระพุทธศาสนา

เฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเทพเจ้า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ อิทธิปาฏิหาริย์ ไสยศาสตร์นั้น มีสาระสำคัญอย่างเดียวกัน คือการหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลภายนอก ซึ่งเป็นความเชื่อและการปฏิบัติที่มีผลเสียและขัดต่อหลักการของพระพุทธศาสนาหลายอย่าง..

ในแง่สังคม เมื่อคนมัวมองหาเทวดาและอำนาจภายนอกมาช่วย มัวแต่จะรักษาความสัมพันธกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็จะไม่เอาใจใส่กันและกันในหมู่มนุษย์เอง ไม่แสวงหาความร่วมมือในการที่จะช่วยกันแก้ปัญหาและทำการต่าง ๆ แต่ละคนจะเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว สังคมก็ยิ่งเสื่อม อย่างน้อยก็พัฒนา “ประชาธิปไตย” ไม่สำเร็จ...

พุทธศาสนาในเมืองไทย ถ้ารักษาหลักไว้ไม่ได้ ก็คง(เสื่อมสูญ)ไปเหมือนกัน การมาอินเดียในครั้งนี้ เป็นเครื่องเตือนใจอย่างหนึ่ง อย่างน้อยช่วยให้มองเห็นในเรื่องเหล่านี้ และให้เราพยายามรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ อย่าให้เสียหลัก.
เรียบเรียงจากหนังสือ "จาริกบุญ จารึกธรรม" (ป.อ. ปยุตโต)

Friday, August 17, 2007

บทความที่ ๒๓๑.กษัตริย์ผู้ทำลายพระพุทธศาสนา

กษัตริย์ผู้ทำลายพระพุทธศาสนา
ในช่วงเวลาที่ทัพมุสลิมอาหรับและต่อมามุสลิมเตอร์กรุกเข้ามาเพื่อครอบครองดินแดนในชมพูทวีป ได้เข่นฆ่าทำลายทั้งชีวิตทรัพย์สินและพรากพระพุทธศาสนาไปเสียจากแผ่นดินต้นกำเนิดนั้น แต่ก่อนหน้านั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียก็อยู่ในภาวะเสื่อมถอยไปจากหลักพุทธธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์มากแล้ว ดังจะได้กล่าวถึงความเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดียซึ่งอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่มุสลิมจะเข้าปิดฉากอย่างสิ้นเชิง ในหนังสือ “จาริกบุญ จารึกธรรม” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)หน้า ๔๗๖ มีข้อความว่า

G.C. Pande เขียนไว้ว่า

“การโจมตีพุทธศาสนาในด้านหลักคำสอน ไม่สามารถอธิบายความเสื่อมของพระพุทธศาสนา(หมายความว่า ถึงจะมีการโจมตีหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ก็ไม่เป็นเหตุให้พุทธศาสนาเสื่อมไปได้) ความเป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนาของพวกพราหมณ์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การโจมตีหลักธรรม”
(Joshi,313)

พระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้เผชิญกับการทำลายล้างด้วยการใช้กำลังรุนแรงหลายยุคหลายสมัย ขอยกเหตุการณ์ที่สำคัญมาให้ดูให้ฟัง โดยเฉพาะการทำลายฆ่าฟันโดยกษัตริย์หรือราชานอกพุทธศาสนา

กษัตริย์ ปุษยมิตร ประมาณ พ.ศ. ๓๕๖-๓๙๒ อยู่ร่วมสมัยกับพระเจ้าเมนานเดอร์ หรือ มิลินทะ กษัตริย์พุทธแห่งแคว้นโยนก หรือ Bactria ซึ่งครองราชย์ที่เมืองสากละ ในปัญจาบปัจจุบัน กษัตริย์ปุษยมิตรเดิมทีเป็นพราหมณ์ รับราชการเป็นเสนาบดีอยู่กับราชาองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมริยะ หรือเมาริยะ ซึ่งเป็นราชวงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ปุษยมิตรได้จับราชาองค์สุดท้ายนั้นไปฆ่าเสีย แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ศุงคะ

มีเรื่องบันทึกไว้ว่า ปุษยมิตรได้รื้อฟื้นประกอบพิธีอัศวเมธ ฆ่าม้าบูชายัญ ที่พระพุทธศาสนาติเตียนและทำให้ประเพณีนี้ซบเซาเงียบหายไปนาน นอกจากนั้นได้ทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัด กำจัดพระภิกษุสงฆ์ โดยถึงกับตั้งค่าศีรษะแก่ผู้ฆ่าพระภิกษุได้ รูปละ ๑๐๐ ทินาร์

กษัตริย์อินเดียที่ทำลายพระพุทธศาสนาองค์ที่ ๒ ที่จะกล่าวถึงคือ กษัตริย์มิหิรกุละ เป็นชนเผ่าฮั่นขาวหรือหูณะ ที่บุกเข้าอินเดียมาทางอิหร่านและอาฟกานิสถาน ครองราชย์ พ.ศ.๑๐๕๐ เศษที่เมืองสากละ มิหิรกุละเป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะ (นับถือพระศิวะ คือ อิศวร) ได้พิโรธที่พระสงฆ์ส่งพระผู้น้อยมาอธิบายคำสอนในพุทธศาสนา

ในบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง บันทึกไว้ว่า มิหิรกุละได้สั่งให้กำจัดพระพุทธศาสนาให้หมดสิ้นจากดินแดนของพระองค์ทุกแห่ง เป็นเหตุให้ถูกพระเจ้าพาลาทิตย์ กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะแห่งมคธ ตอบโต้ทำสงครามกัน มิหิรกุละถูกจับไปจองจำไว้

ต่อมามิหิระกุละหลบหนีไปลี้ภัยที่แคว้นกัสมีระ (แคชเมียร์) จากนั้นสังหารกษัตริย์แห่งกัสมีระที่ให้ตนหลบลี้ภัยนั้นเสีย สถาปนาตนเป็นกษัตริย์เสียเอง แล้วรื้อฟื้นแผนการกำจัดพระพุทธศาสนา โดยล้มล้างพระสถูปทั้งหลาย ทำลายวัด ๑,๖๐๐ แห่ง สังหารพุทธศาสนิกชนจำนวน ๙๐๐ โกฏิ แต่ในที่สุด ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม โดยโจนเข้ากองไฟ เรื่องหาอ่านได้ เช่น Joshi,321; Smith,177;Encycl.Britannica 1998, vol. 20, p.592)

ศาศางกะ กษัตริย์ผู้ทำลายพุทธศาสนาองค์ต่อมา เป็นกษัตริย์ฮินดูนิกายไศวะเช่นเดียวกัน ครองราชย์ในแคว้นเคาฑะ (ปัจจุบันเป็นแคว้นเบงกอลภาคกลาง)ประมาณ พ.ศ.๑๑๕๐ ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์พุทธนามว่าราชยวรรธนะ

หลวงจีนเหี้ยนจังบันทึกไว้ว่า ศาศางกะได้สังหารพระภิกษุในแถบกุสินารา (กุศินคร)หมดสิ้น ทำให้สงฆ์พินาศไป และเป็นราชาที่ไปโค่นต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาลง ขุดรากขึ้นมาเผา กับทั้งนำเอาพระพุทธรูปออกไปจากพระวิหารทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น แล้วนำเอาศิวลึงค์สัญลักษณ์ของชาวฮินดูไปไว้แทน

ศาศางกะได้ทำลายพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย แม้แต่เหรียญเงินตราของกษัตริย์นี้ ก็เขียนกำกับชือราชาไว้ว่า “ผู้ปราบพุทธศาสนา”

ท้ายที่สุด ประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐ กองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาแถบรัฐพิหารและเบงกอลนั้น แล้วทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการเผาวัด ฆ่าพระภิกษุสงฆ์จดหมดสิ้น พระพุทธศาสนาก็สูญไปจากประเทศอินเดีย

ผู้เขียนคำ “Hinduism” ใน Encyclopaedia Britannica, 1998 เขียนไว้ว่า “ตอนมุสลิมบุกเข้ามานั้น พระพุทธศาสนาก็กำลังถูกกลืนกลับเข้าไปในศาสนาฮินดู”

ที่อาตมานำเรื่องการทำลายพระพุทธศาสนาในอินเดียมาเล่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะให้ไปโกรธแค้น เพราะจุดเน้นของเราอยู่ที่ ภัยภายใน คือความย่อหย่อน อ่อนแอ เสื่อมโทรม ในหมู่พุทธบริษัท ที่เกิดจากความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติที่ออกนอกลู่นอกทาง ผิดจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้กระทั่งไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ว่า “พระพุทธเจ้าสอนอะไร”

ความเสื่อมโทรมที่เป็นภัยภายในนี้แหละ คืออันตรายที่ร้ายแรงที่สุด ถึงไม่มีภัยภายนอกมาทำลาย ก็ทำลายตัวหมดไปเอง

เพราะฉะนั้น จะต้องระลึกถึงคำเตือนของพระพุทธเจ้าเสมอ ให้ไม่ประมาท ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติและสั่งสอนธรรม พร้อมทั้งแก้ไขปรัปวาท ถ้ายังรักษาธรรมไว้ได้ ความเป็นไทก็ยั่งยืน จะรักษาความเป็นไทได้ ก็ต้องรักษาธรรม

บทความที่ ๒๓๐. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๕

อิสลามเริ่มเข้ามาที่สุมาตรา

เมื่อหลวงจีนอี้จิงมาถึงอาณาจักรศรีวิชัยในปี ค.ศ.๖๗๑ ศาสนาอิสลามกำลังเกิดขึ้นได้ไม่นานในดินแดนอาหรับ นับตามฮิจเราะฮ์ศักราชเป็นที่ที่ ๔๙ เข้าสู่ยุคของกาหริฟ ราชวงศ์อูมัยยัด ที่ดามัสกัสในซีเรียได้ ๑๐ ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาหรับและอิสลามกำลังแผ่ขยายอย่างรวดเร็วยิ่ง

อีกเพียงประมาณ ๓๐ ปีหลังจากนั้น ทัพมุสลิมอาหรับ ก็บุกเข้าลุ่มแม่น้ำสินธุ รบชนะและเข้าครองดินแดนเข้ามาเรื่อยๆ

ทัพมุสลิมอาหรับ เข้าตีดินแดนที่ปัจจุบันเป็นแคว้นสินธ์ หรือสิทธุ โดยยกมาทางเรือแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จึงโจมตีทางบก และเข้าครอบครองดินแดนในปี ค.ศ. ๗๑๒ แล้วต่อมาในปี ค.ศ.๗๗๕ (พ.ศ.๑๓๑๘) ก็ยกทัพมาทางเรือเข้าตีเมือง วลภี ได้ทำลายทั้งเมืองวลภีซึ่งเป็นนครหลวงและมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่ชื่อมหาวิทยาลัยวลภี พระเจ้าศีลาทิตย์ที่ ๖ ได้ถูกสังหารจึงเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์ไมตรกะ

จากแคว้นสินธ์นั้น ทัพมุสลิมอาหรับ พยายามเคลื่อนทัพตรงเข้าสู่ปัญจาบและกัศมีระ (แคชเมียร์) แต่ในดินแดนแถบนี้ ชาวแว่นแคว้นยังมีความเข้มแข็งมากสามารถสะกัดกั้นทัพมุสลิมอาหรับไว้ได้ ดินแดนของมุสลิมอาหรับในอินเดียจึงถูกจำกัดอยู่แค่นั้น ขยายออกไปไม่ได้อีกเลย จนสิ้นยุคของมุสลิมอาหรับ

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า การที่ทัพมุสลิมอาหรับพิชิตแคว้นสินธ์ได้ในปี ค.ศ.๗๑๑ (พ.ศ.๑๒๕๕) นี้ เป็นนิมิตหมายแห่งการที่ศาสนาอิสลามเข้าสู่อินเดียและพร้อมกันนั้น แคว้นสินธุที่พิชิตได้คราวนี้ ก็เป็นจุดกำหนดสุดเขตแดนด้านตะวันออกที่มุสลิมอาหรับแผ่อำนาจไปถึงด้วย

การแผ่ไปของอิสลามและขยายแดนอำนาจของมุสลิม ในเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มขึ้นใหม่ และดำเนินไปอย่างกว้างขวางยิ่งใหญ่แท้จริง หลังจากนี้ประมาณ ๓๐๐ ปี ในยุคของทัพมุสลิมเตอร์ก

ทัพมุสลิมเตอร์ก รุกรบเข้ามายังชมพูทวีปจนสามารถตั้งรัฐสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate)ขึ้น เมื่อปี ค.ศ.๑๒๐๖ (พ.ศ.๑๗๔๙) การเข้ามาของมุสลิมเตอร์ก เริ่มด้วยการทำสงครามครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.๑๐๐๑ (พ.ศ.๑๕๔๔) เป็นสงครามระหว่างสุลต่านมะหะหมุด กับราชาไชยบาล แต่สงครามครั้งต่อมาเป็นการรบกับราชาอานันทบาลในปี ค.ศ.๑๐๐๘ เป็นสงครามที่สยดสยองมาก สงครามครั้งนั้นทัพเตอร์กมุสลิมสามารถยึดครองแคว้นปัญจาบได้ และตั้งรัฐสุลต่านแห่งเดลีขึ้นจากนั้นก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ได้เข้าครองแคว้นคูชราต ซึ่งอยู่ถัดจากแคว้นสินธ์มาทางตะวันออกในปี ค.ศ.๑๒๙๗ (พ.ศ.๑๘๔๐)

จากนั้นเพียงถึงปี ค.ศ. ๑๓๔๐ สุลต่านแห่งเดลีก็เข้ายึดครองเมืองมทุรา ที่อยู่เกือบสุดปลายภาคใต้ของอินเดียไว้ได้

จาก คูชราต ซึ่งเป็นรัฐบนฝั่งทะเลตะวันตกของอินเดียอันมีชื่อเสียงมาแต่พุทธกาล ใกล้อ่าวแคมเบย์และจากอินเดียภาคใต้นั้น ศาสนาอิสลามก็มากับพ่อค้าชาวอินเดียมาสู่อินโดนีเซียตั้งแต่ ค.ศ.ที่ ๑๓ คือ ประมาณ พ.ศ.๑๘๐๐ เศษเป็นต้นมา

การมาของศาสนาอิสลามสู่ดินแดนอันเป็นเกาะและชายทะเลแถบนี้ มีลักษณะอันเป็นที่สังเกตว่า เป็นการเดินทางมากับพ่อค้าวาณิช ไม่ได้มากับกองทัพเหมือนอย่างการแผ่ขยายบนผืนแผ่นดิน ในชมพูทวีป

ความจริง พ่อค้าชาวอาหรับ ตลอดจนชาวเปอร์เซีย (ชาวเปอร์เซียไม่ใช่ชาวอาหรับ แต่เป็นคนอารยัน)จากตะวันออกกลางได้เดินทางค้าขายทางทะเลมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว แต่ส่วนมากมาถึงแค่อินเดีย มีส่วนน้อยที่เลยไปถึงแถบสุมาตราและชวาตลอดไปจนถึงจีน

ที่สำคัญคือ ในยุคก่อนศาสนาอิสลามเกิดขึ้น แดนอาหรับเต็มไปด้วยสงครามระหว่างเผ่า ครั้นเมื่อศาสนาอิสลามเกิดขึ้นในปี ค.ศ.๖๒๒ พระศาสดานบีมูฮัมมัดต้องใช้เวลาไม่น้อยในการสู้รบรวมชนชาวอาหรับให้เป็นอันเดียวกัน
แม้ในยุคกาหลิฟที่สืบต่อมา ตลอดจนในยุคของสุลต่านทั้งหลาย การแผ่ศาสนาอิสลามและการขยายดินแดนมุสลิม ที่เป็นงานอันมุ่งออกไปบนผืนแผ่นดิน ก็เป็นภาระใหญ่ที่ดำเนินมาอีกหลายศตวรรษ

ดังนั้นการแผ่มาของอิสลามทางแถบนี้ ที่เป็นเรื่องก่อน คริสตศตวรรษที่ ๑๓ (ราว พ.ศ.๑๘๐๐)ที่สุมาตรา แม้จะมีร่องรอยอยู่บ้าง ก็จึงสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องรายย่อย เป็นการส่วนบุคคล ยังไม่เป็นการเป็นงาน

ตามที่มีหลักฐาน ศาสนาอิสลามเริ่มต้นในอินโดนีเซียเมื่อสุดคริสตศตวรรษที่ ๑๓ ที่สุมาตราทางภาคเหนือ โดยมีรัฐพาณิชย์มุสลิมกลุ่มเล็กๆ ของชนชาวอาเจะห์ ๒ แห่ง ชื่อสมุทรปาไซ (Samudra-Pasai) แห่งปาไซ ซึ่งต่อจากนี้ไปอีก ๒๐๐ ปีเศษจึงได้เกิดรัฐสุลต่านแห่งอาเจะห์ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในสุมาตราภาคเหนือนี้

บทความที่ ๒๒๙.ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๔

อินโดนีเซีย สุมาตราย้อนไปถึงศรีวิชัย

เกาะแถบนี้ ที่เป็นดินแดนสำคัญในประวัติศาสตร์ ได้แก่ สุมาตราและชวา แต่ความเป็นไปในยุคแรกของดินแดนเหล่านี้ไม่มีบันทึกเรื่องมาถึงคนรุ่นหลัง จนกระทั่งหลวงจีนที่จาริกไปศึกษาสืบพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป ได้เดินทางผ่านมาแวะระหว่างทาง และบันทึกเรื่องไว้

หลวงจีนที่คนรุ่นหลังรู้จักชื่อเสียงในบันทึกประวัติศาสตร์ของท่านได้แก่ คือ หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือยวนฉางหรือถังซำจั๋ง (Hsuan-tsang) และหลวงจีนอี้จิง (I-ching)

ท่านแรกคือหลวงจีนฟาเหียน ท่านจาริกออกจากจีนในปี ค.ศ.๓๙๙ อยู่ในอินเดียเป็นเวลา ๖ ปี (ค.ศ.๔๐๕-๔๑๑) ในรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (หรือในชื่อพระเจ้าวิกรมาทิตย์ แห่งราชวงศ์คุปตะ) ในการเดินทางไปอินเดีย ท่านหลวงจีนฟาเหียนจาริกไปทางบก ส่วนในการเดินทางกลับท่านเดินทางกลับโดยทางเรือ ท่านแวะศึกษาหาความรู้และคัมภีร์ที่เกาะลังกาเป็นเวลา ๒ ปี แล้วออกเดินทางกลับสู่แผ่นดินจีน แต่ระหว่างทางเรือโดยสารถูกพายุพัดพาจนไปถึงชายฝั่งของเกาะแห่งหนึ่ง สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นเกาะชวา จากนั้นท่านได้เดินทางต่อจนไปถึงมาตุภูมิ รวมเวลาที่อยู่ในทะเลกว่า ๒๐๐ วัน

จากบันทึกของท่านหลวงจีนฟาเหียน ช่วยให้ทราบว่า เวลานั้น ได้มีการเดินทางค้าขายกันแล้ว ระหว่างดินแดนแถบนี้กับเมืองจีน แต่บันทึกของท่านไม่ได้บอกถึงเรื่องราวที่ให้เห็นถึงความสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรม

กระนั้นก็ตาม มั่นใจกันว่าพระพุทธศาสนาได้มาถึงถิ่นดินดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ ค.ศ.ต้นๆ เนื่องจากได้มีพระภิกษุหลายรูปจาริกมาเผยแพร่ โดยเฉพาะเรื่องของพระคุณวรมันผู้ออกบวชจากราชตระกูล ซึ่งบ่งชี้ว่า พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่นในชวามานานก่อนคริสตศตวรรษที่ ๕ คือก่อนที่หลวงจีนฟาเหียนจะมาถึงดินแดนแถบนี้

ท่านที่สองคือท่านพระถังซำจั๋งหรือหลวงจีนเหี้ยนจัง ท่านออกจากเสฉวนในปี ค.ศ.๖๒๙ มาถึงชมพูทวีปในปี ค.ศ.๖๓๓ และกลับสู่แผ่นดินจีนที่เมืองเชียงอาน (หรือฉางอัน)ในปี ค.ศ.๖๔๕ การเดินทางของท่านมีแต่ทางบกทั้งตอนไปและตอนกลับ จึงไม่มีบันทึกถึงดินแดนแถบนี้

ท่านทีสามคือ หลวงจีนอี้จิง ลงเรือออกจากกวางตุ้งในปี ค.ศ.๖๗๑ ใช้เวลาไม่ถึง ๒๐ วันก็มาถึงเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัยที่ปาเลมบัง ในเกาะสุมาตรา แล้วพำนักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนเดินทางต่อสู่ชมพูทวีป เพื่อไปยังศูนย์การศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัย นาลันทา !

หลวงจีนอี้จิงแวะพักที่ ศรีวิชัย ครั้งหลัง นานถึง ๖ ปี คือระหว่างปี ค.ศ.๖๘๙-๖๙๕ ตามบันทึกของท่านแสดงว่า เวลานั้นพระพุทธศาสนาเจริญมากในศรีวิชัย จนอาณาจักรนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านได้เขียนชื่นชมไว้ว่า ผู้จะเล่าเรียนพระพุทธศาสนาให้ได้ผลดี ควรมาเริ่มศึกษาที่นั่น และมหาราชาแห่งศรีวิชัยก็อุปถัมภ์บำรุงตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ท่านเป็นอย่างดี

จากบันทึกของหลวงจีนอี้จิง อาณาจักรศรีวิชัยจึงได้ปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่กำลังรุ่งเรืองมาก มีอำนาจควบคุมช่องแคบมะละกา คือช่องทะเลระหว่างแผ่นดินแหลมมลายูกับสุมาตรา ตลอดจนช่องแคบซุนดาคือระหว่างสุมาตรากับแหลมมลายู ทั้งหมด

โดยนัยนี้ ศรีวิชัย นอกจากเป็นศูนย์กลางใหญ่ของการค้าขายกับจีนและอินเดียแล้ว ก็ควบคุมเส้นทางพาณิชย์ระหว่างจีน (เวลานั้นอยู่ในยุคราชวงศ์ถัง)กับนานาชาติที่อยู่ต่ออกไปทางตะวันตกทั้งหมด

ในช่วงเวลาใกล้กับที่หลวงจีนอี้จิงจาริกมานั้น อาณาจักรลังกาสุกะ ตลอดจนรัฐทั้งหลายบนแผ่นดินแหลมมลายูแทบทั้งหมด ได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย

สิงคโปร์ก็เป็นเมืองหน้าด่านแห่งหนึ่งที่ศรีวิชัยตั้งขึ้นไว้ ดังที่ได้เป็นจุดหนึ่งที่พระเจ้าราเชนทร์แห่งโจละโจมตี เมื่อยกมาทำสงครามกับศรีวิชัยในปี ค.ศ.๑๐๒๕ มีผู้สันนิษฐานด้วยว่าชื่อเมืองว่า “สิงหปุระ” ที่เพี้ยนมาเป็นสิงคโปร์ ก็เป็นนามที่พระเจ้าราเชนทร์ทรงตั้งขึ้น

ศรีวิชัย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในสุมาตราภาคใต้ รุ่งเรืองยิ่งใหญ่อยู่ราว ๕ ศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อพ่ายแพ้แก่พระเจ้าราเชนทร์แห่งโจละ ที่ยกมาตีในปี ค.ศ.๑๐๒๕ แล้ว ก็อ่อนแอและเสื่อมลงเรื่อยมา จนถูกอาณาจักรมัชปาหิตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ชวา แซงขึ้นมาเป็นใหญ่แทนที่ในคริสตศตวรรษที่ ๑๓ รวมมีอายุนับแต่ คริสตศตวรรษที่ ๗ อยู่ได้ ๗ ศตวรรษ.

บทความที่๒๒๘.ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีน ตอนที่ ๓

อินโดจีนตอนล่างและ ลังกาสุกะ

ต่อจากนั้น ใต้ลงไป ก็ถึงแผ่นดินที่เรียกว่า แหลมมลายู ซึ่งมีหลักฐานว่าได้เกิดอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนาขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๖๕๐ เรียกกันมาว่าอาณาจักรลังกาสุกะ

เป็นธรรมดาว่า “อาณาจักรเยี่ยงอย่างอินเดีย” หรือ Indianized kingdom เหล่านี้จะตั้งชื่อเป็นภาษาจำพวกสันสกฤต ตามอย่างชื่อรัฐหรือเมืองในชมพูทวีปเป็นที่ถิ่นเดิมของตน หรือที่ตนชื่นชอบ แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานมาก คำเรียกนั้น ก็กร่อนเหรือเพี้ยนไป จนส่วนมากยากที่จะระบุชื่อเดิมที่แท้จริงได้

ตัวอย่างในเรื่องการกร่อนของคำทำให้สืบสาวชื่อดั้งเดิมได้ยาก คือ เมืองในดินแดนแถบนี้ ที่ชื่อเดิมมีคำว่า “สิงห” หลายเมือง กว่าจะถึงปัจจุบันได้กลายเป็น “สิงค” ไปเป็นส่วนมาก เช่นอาณาจักรสิงหสารี(ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาเรียก สิงหัดส่าหรี)ในชวาตะวันออกที่เป็นต้นดังเดิมของอาณาจักรมัชปาหิต ปรากฏในตำราปัจจุบันเป็น Singhasari บ้าง เป็น Singasari บ้าง Singosari บ้าง ส่วนเมืองสิงหปุระกลายมาเป็นสิงคโปร์ Singapore

ลังกาสุกะนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าชื่อเดิมแท้คืออะไร รูปคำที่เขียนก็มีแผกกันหลายอย่าง บางท่านว่า ลังกาสุกะอาจจะเป็น อาณาจักร อิลังกาโสกะ (Ilangasoka) ที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่า ในยุคต่อมา(อีกนานหลายศตวรรษ)พระเจ้าราเชนทร์ แห่งอาณาจักรโจละ ในอินเดียใต้ได้ปราบอิลังกาโสกะลงในคราวยกทัพมาทำสงครามกับอาณาจักรศรีวิชัย เพื่อชำระเส้นทางพาฌิชย์ ให้ทางฝ่ายอินเดียค้าขายกับเมืองจีนได้สะดวกโดยไม่ถูกแทรกแซง แต่ต่อมาโจละก็ชนะศรีวิชัยใน พ.ศ.๑๕๖๘

ที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะนี้ ยังพูดได้เพียงกว้างๆ ว่าอยู่ในส่วนเหนือของแหลมมลายู แต่ไม่ลงตัวว่าเป็นจุดใดแน่

นิทานปรัมปราสืบมาในมาเลเซียเล่าว่า ราชาผู้สร้างอาณาจักร ลังกาสุกะ มาจากชมพูทวีปเมื่อ ค.ศ.๑๐๐ เศษ ใกล้เคียงกับ พ.ศ.๗๐๐ มีพระนามที่เรียกสั้นๆว่า พระเจ้ามหาวังสะ

ลังกาสุกะนับถือพระพุทธศาสนาอยู่ ๑๑๐๐-๑๓๐๐ ปี จึงถึงยุคของศาสนาอิสลาม ราชาองค์แรกที่เปลี่ยนไปนับถืออิสลาม ตามตำนานที่พบใช้พระนามว่า “สุลต่าน อิสมาอิล ชาห์”

อนึ่งตามตำนานฝ่ายมาเลเซีย อาณาจักรลังกาสุกะนั้น อยู่ทางฝั่งตะวันตก ลึกเข้าไปในป่าเขาของรัฐเคดาห์ (Kedah) ที่เรียกตามภาษาสันสกฤต แล้วได้ขยายมาทางตะวันออกจนออกทะเลที่ ปัตตานี

แต่ตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ลังกาสุกะ ตั้งอยู่ที่ฝั่งทะเลด้านตะวันออก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจีนมาพบโดยการติดต่อค้าขาย เมื่อลังกาสุกะขยายมาถึงฝั่งทะเลตะวันออกนั้นแล้ว

บางตำราบอกสั้นๆ ว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่ใกล้ปัตตานี บางท่านอ้างว่าอยู่ที่ปัตตานีเลยทีเดียว !

คำว่าปัตตานีเองก็น่าที่จะศึกษา นักประวัติศาสตร์เวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษใช้ว่า Pattani บ้าง Patani บ้าง และมีการสันนิษฐานกันมาต่างๆ ว่าจะเพื้ยนมาจากคำโน้นคำนี้ ซึ่งก็ไม่ยุติ คงจะได้รับฟังกันต่อไป นอกจากนั้น มีข้อน่ารู้ว่า ถิ่นฐานแห่งหนึ่งในมาลุกุ หรือหมู่เกาะโมลุกกะของอินโดนีเซียก็มีชื่อว่า Patani ด้วย

หนังสือ The Hutchinson Dictionary of World History (๑๙๙๙) บอกหนักแน่นว่า ในช่วงสมัยหนึ่ง เคดาห์ (Kedah ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในมาเลเซีย) สิงโครา (Singgora คือ สงขลา) และ ลิคอร์ (Ligor คือ นครศรีธรรมราช) เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพุทธศาสนายุคโบราณชื่อ ลังกาสุกะ

ย้อนกับไปสู่ยุคต้นๆ อีกว่า หลังจากตั้งขึ้นและเจริญมาเพียงศตวรรษเศษ ลังกาสุกะ ซึ่งมีคนเชื้อสายมอญ-เขมรเป็นพื้น ได้ตกไปอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนัน(ในแดนเขมร) ซึ่งก็นับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

หลังจากถูกฟูนันปกครองราว ๓๐๐ ปี เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มลงในคริสตวรรษที่ ๖ ลังกาสุกะเป็นอิสระขึ้นมาได้ แต่ไม่นานนัก ซึ่งไม่สามารถระบุเวลาได้ชัดเจนแต่อยู่ช่วงประมาณก่อน ค.ศ.๘๐๐ หรือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔๗ ลังกาสุกะ ก็เช่นเดียวกับดินแดนอื่นส่วนมากบนแหลมมลายู ต้องขึ้นต่ออาณาจักรศรีวิชัยอันยิ่งใหญ่ ที่แผ่อำนาจมาจากสุมาตรา (ปัจจุบันอยู่ในอินโดนีเซีย)

ดินแดนบนแหลมมลายูเหล่านี้ รวมทั้งลังกาสุกะ อยู่ใต้อำนาจของศรีวิชัยมาหลายศตวรรษ จนกระทั่งศรีวิชัยเลื่อมลง จึงพากันเป็นอิสระได้แต่แล้วก็เข้าสู่ยุคที่ มัชปาหิต ขึ้นมาเป็นใหญ่อีก

นักประวัติศาสตร์ยังมีมติไม่ลงกันเด็ดขาดว่า มัชปาหิตได้คุมอำนาจในดินแดนแถบนี้แค่ใด บางมติถึงกับบอกว่า แผ่นดินแหลมมลายูทั้งหมดถูกมัชปาหิตทำลาย แต่ไม่ได้เข้าครอบครอง อาจเป็นได้ว่ามัชปาหิตไม่ได้เข้าครองเอง แต่เอาเป็นเมืองขึ้น หลักฐานที่มักอ้างกันก็คือพงศาวดารของชวาชื่อ “นครกฤตาคม” ที่แต่งในปี ค.ศ.๑๓๖๕

ลังกาสุกะปรากฏชื่อครั้งสุดท้าย ในพงศาวดารนครกฤตาคม (Nagarakartagama) อันว่าด้วยสงครามระหว่าง ศรีวิชัย กับ มัชปาหิต แล้วก็หายไปจากประวัติศาสตร์

นครกฤตาคมนั้น กล่าวถึงลังกาสุกะในฐานะเป็นรัฐหนึ่งบนฝั่งทะเลด้านตะวันตก ซึ่งขึ้นต่ออำนาจของมัชปาหิต (อาจเป็นได้ว่าเวลานั้นอยู่ในระยะช่วงชิงอำนาจกัน จึงต่างอ้างความเป็นใหญ่)

ต่อจากมัชปาหิต ก็ถึงยุคของรัฐสุลต่านแห่งมะละกา ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในครึ่งหลังของ คริสตศตวรรษที่ ๑๕ โดยได้คุมดินแดนแหลมมลายูทั้งหมด ตลอดไปจนถึงสุมาตราตะวันออกส่วนใหญ่

ถึงตอนนี้ ไม่ว่าลังกาสุกะจะยังอยู่หรือไม่ หรือจะได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไรแล้วก็ตาม ถิ่นแดนนั้นก็คงเป็นอันได้อยู่ใต้กำกับของมะละกานี้