Wednesday, August 22, 2007

บทความที่๒๓๕. ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในคาบสมุทรอินโดจีนตอนที่๗

ชวาขึ้นมาล้ำสุมาตรา

บนเกาะชวา ที่อยู่ต่อลงไปทางใต้ ถัดจากสุมาตรา โดยมีช่องแคบซุนดาคั่นอยู่ มีอาณาจักรที่เจริญมาแต่โบราณ ซึ่งอาจจะเก่ากว่าศรีวิชัย อย่างน้อยก็เคียงข้างหรือแข่งคู่กันมา แต่ไม่ใหญ่โตเท่า จึงไม่ปรากฏชื่อเด่น

เมื่อหลวงจีนฟาเหียนเดินทางกลับเมืองจีนทางทะเล ตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๕ ราว พ.ศ.๙๕๖ เรือที่ท่านโดยสารมาถูกคลื่นซัดไปขึ้นฝั่งบนเกาะหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นเกาะชวา และพระคุณวรมัน ที่ออกบวชจากราชวงศ์ ซึ่งมาจากกัศมีระ (แคชเมียร์)ก็ได้เขียนเรื่องราวในยุคเดียวกันนี้บอกไว้ เกี่ยวกับการที่ท่านได้มาสั่งสอน

บันทึกที่ว่านั้น ทำให้คนยุคหลังรู้ว่า การเดินทางค้าขายระหว่างจีนกับชวาได้มีมานานแล้ว และพระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งมั่นอยู่แล้วที่นั่นซึ่งคงนานแล้ว ก่อนที่ท่านทั้งสองไปถึง

มีศิลาจารึกบอกไว้ให้ทราบว่า แถวๆ เมืองจาการ์ตาในปัจจุบันนี้เมื่อย้อนไปคริสตศตวรรษที่ ๕-๖ เคยมีอาณาจักรโบราณเก่าแก่ที่สุดแห่งชวาตะวันตก ชื่อว่า ตรุมา (Taruma) เรียกเต็มว่า ตรุมานคร บันทึกฝ่ายจีนเรียกว่า โตโลมา ซึ่งเป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา (บางตำราว่าเป็นฮินดู) มีราชาที่เข้มแข็งที่สุด พระนามว่าปูรณวรมัน แต่เรื่องราวของอาณาจักรนี้ นักประวัติศาสตร์ไม่อาจหารายละเอียดมาเล่าได้

ครั้นถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๗ (ยุคเดียวกับศรีวิชัยในสุมาตรา)ก็ได้มีอาณาจักรสำคัญเกิดขึ้นแล้วในชวาหลายแห่ง ทั้งอาณาจักรค้าขายชายฝั่งทะเล และอาณาจักรกสิกรรมทำนาข้าวลึกเข้าไปในผืนแผ่นดิน

โดยเฉพาะในชวาภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อต้นคริสตศตวรรษที่ ๘ (พ.ศ.๑๓๐๐) อาณาจักรมาตาราม ได้เสื่อมลงไป โดยมีอาณาจักรใหม่ของชาวพุทธแห่งราชวงศ์ไศเลนทร (Sailendra) เจริญขึ้นมาบนที่ราบเกทุ (Kedu Plain) ที่อยู่ใกล้เคียง
อย่างไรก็ดี เรื่องราวตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ว่าไว้ต่างกัน บางพวกว่า อาณาจักรมาตารามนั่นเองมีกษัตริย์เป็นราชวงศ์ไศเลนทร คือเป็นอาณาจักรเดียวกัน และกล่าวว่ากษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้ ตอนต้นนับถือศาสนาฮินดู แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นนับถือพระพุทธศาสนา แต่มีข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งอยู่คือ หากกษัตริย์นับถือฮินดูก่อนแล้วเปลี่ยนมานับถือพุทธ จะมาสร้างบุโรพุทโธก่อนแล้วไปสร้าง Prambanan ทีหลังอย่างไรได้

กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร ได้สร้างมหาสถูปยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า Borobudur (สันนิษฐานว่าอาจเลือนมาจากคำว่า “บรมพุทโธ”)ขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๑๓๕๐ (บางตำราว่าสร้างตอนกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ อยู่ห่างจากเมืองจาการตาประมาณ ๖๘ กิโลเมตร)

มหาสถูป Borobudur มีความยิ่งใหญ่เพียงได้นั้น เห็นได้จากการสร้างนั้นใช้ก้อนหินภูเขาไฟประมาณ ๒ ล้านตารางฟุต บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๑๒๑ เมตร (๔๐๓ ฟุต) สูงขึ้นไปเป็นรูปแบบปิระมิด มีลานเป็นชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป ๘ ชั้น และในแปดชั้นนั้น ๕ ชั้นล่างเป็นลานสี่เหลี่ยม ๓ ชั้นขึ้นไปเป็นลานวงกลม และบนลานกลมชั้นสูงสุด มีพระสถูปตั้งสูงขึ้นไปอีก ๓๑.๕ เมตร

ส่วนอาณาจักร มาตาราม ที่เสื่อมลงไป ต่อมาก็ตั้งขึ้นใหม่อีกในตอนกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ แล้วเจริญต่อมาอีกหลายศตวรรษ โดยเฉพาะตอนต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๐ (ประมาณ พ.ศ.๑๔๔๓-๑๔๗๓)มาตารามซึ่งเป็นอาณาจักรฮินดู ได้สร้างมหาเทวสถาน เรียกว่า ปรัมพนัน Prambanan (เขียนว่าปรัมพนัมก็มี) ขึ้นมาเพื่อเป็นที่บูชาพระศิวะ อันนับได้ว่าเป็นศิวเทวาลัยใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย

มหาสถูป Borobudur ฝ่ายพุทธศาสนามหายาน ของราชวงศ์ไศเลนทรกับมหาเทวสถานปรัมพนัน ฝ่ายฮินดูของอาณาจักรมาตารามนี้ ต่างก็ใหญ่มหึมาทั้งสองแห่งและอยู่ใกล้กันด้วย ห่างกันไม่ถึง ๘๐ กิโลเมตร จึงเป็นที่สังเกต และเป็นแหล่งศึกษาเชิงเปรียบเทียบสำหรับนักค้นคว้า

เรื่องของราชวงศ์ไศเลนทรนี้ นอกจากที่เกี่ยวกับการสร้างมหาสถูป Borobubur แล้ว ก็ไม่ค่อยรู้อะไรกันอีก หรือรู้กันไม่ค่อยชัด

นักประวัติศาสตร์เห็นกันว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (Jayavarman II) ผู้สถาปนาอาณาจักรขอมโบราณมีเชื้อสายทางวงศ์กษัตริย์แห่งฟูนันด้วย มาจากราชสำนักแห่งไศเลทรในตอนปลายคริสตศตวรรษที่ ๘ เมื่อประมาณ ค.ศ.๗๙๐ และได้ประกาศอาณาจักรขอมเป็นอิสระจากไศเลนทร ในปี ค.ศ.๘๐๒

เท่าที่พูดกันอันสำคัญอีกตอนหนึ่งคือเรื่องทีว่า ในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ ๙ (ราว พ.ศ.๑๔๐๐) ขณะที่ราชวงศ์มาตารามเข้าครองดินแดนของไศเลนทรในชวา กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทรนี้ ก็ได้ไปเป็นใหญ่ครองอาณาจักรศรีวิชัยในสุมาตรา โดยมีอำนาจครองแหลมมลายูส่วนใหญ่ด้วย จนกระทั่งศรีวิชัยที่ราชวงศ์ไศเลนทรไปปกครองนั้นเสื่อมลงไปในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๑

ในยุคที่ศรีวิชัยในสุมาตราเสื่อมลงช่วงต้นๆ คือในคริสตศตวรรษที่ ๑๑ ได้เกิดมีอาณาจักรใหม่ขึ้นในชวาตะวันออก ชื่อว่ากาทิรี (Kadiri;ปัจจุบันเรียกว่า Kediri) มีเมืองหลวงชื่อว่าดาหา

ตรงนี้ตำราทั้งหลายต่างกล่าวกันจนสับสน แต่สืบค้นแล้วก็มีหลักฐาน ๒-๓ แห่งได้ความว่าเป็นเรื่องสืบต่อมาจากอาณาจักรมาตารามนั่นเอง ซึ่งหลังจากตั้งขึ้นใหม่ใน คริสตศตวรรษที่ ๘โดยพระเจ้าสญชัยแล้วก็มีอำนาจขยายออกไปตั้งแต่ชวาภาคกลางถึงภาคตะวันออก

ต่อมาต้นคริสศตวรรษที่ ๑๐ ศูนย์อำนาจของมาตารามได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันออก

เวลาผ่านไป ได้เกิดภัยพิบัติ ถูกศรีวิชัยที่ขัดแย้งกันมาทำลายบ้าง ถูกกบฏทำลายบ้าง จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๐๑๙ เกิดมีราชาองค์สำคัญของมาตาราม เรียกพระนามกันว่า Airlangga รวมกำลังฟื้นอาณาจักรให้เข้มแข็ง แล้วแบ่งอาณาจักรให้โอรส ๒ องค์ครอง

ครั้งนั้น มาตารามหายไป แยกเป็น ๒ อาณาจักร คือ กาทิรี กับ ชังคละ ทำให้แตกกันและอ่อนแอลง กระทั่งราชาชยาภัย รวมชังคละเข้ากับกาทิรีได้ กาทิรีขยายดินแดนออกไปได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าคุมสุมาตราที่ศรีวิชัยครองอยู่ได้ แล้วในที่สุด ถึงปี ค.ศ.๑๒๒๒ ได้มีกบฏโค่นพระเจ้ากฤตชัย ราชาองค์สุดท้ายของอาณาจักรกาทิรีลง และตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นมาแทนที่ ชื่อว่าสิงหสารี

อาณาจักรสิงหสารีแห่งชวาตะวันออก เป็นดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รุ่งเรืองเด่นในรัชกาลพระเจ้ากฤตนคร (ค.ศ.๑๒๖๘-๑๒๙๒) โดยมีอำนาจควบคุมดินแดนเป็นอันมากในสุมาตรา ที่เคยอยู่ใต้การปกครองของศรีวิชัย

ต่อมาในปี ๑๒๘๙ จักรพรรดิกุบไลข่าน เมืองจีนทรงพิโรธว่าทางสิงหสารีปฏิบัติต่อราชทูตของพระองค์อย่างไม่ควรแก่เกียรติยศ จึงเตรียมจะส่งทหารมาลงโทษ

แต่ระหว่างนั้นในปี ค.ศ.๑๒๙๒ อาณาจักรกาทิรีคู่แข่ง ที่ถูกสิงหสารีปราบลงก่อนนั้น ได้ก่อการกบฏมายึดพระราชวังและได้สังหารพระเจ้ากฤตนครเสีย ทำให้อาณาจักรสิงหสารีสิ้นสลาย

คราวนั้นปี ค.ศ.๑๒๙๒ เจ้าชายวิชัยโอรสของพระเจ้ากฤตนครหลบหนีไปได้ ครั้นทัพมองโกลมาถึง เจ้าชายวิชัยก็ร่วมกับทัพมองโกลกำลังกษัตริย์แห่งกาทิรีได้ เสร็จแล้วเจ้าชายวิชัยก็หันมาสู้กับพวกมองโกลและสามารถขับไล่ทัพมองโกลออกไปจากชวาได้สำเร็จ

จากนั้น เจ้าชายวิชัยได้ตั้งอาณาจักรแห่งชวาตะวันออกขึ้นใหม่ ชื่อว่ามัชปาหิตในปี ค.ศ.๑๒๙๓ ซึ่งได้เจริญขึ้นเป็นใหญ่ที่สุดในแถบนี้ โดยครองดินแดนที่เป็นอินโดนีเซียบัดนี้ และแผ่นดินแหลมมลายูเป็นอันมาก ตลอดทั้งสิงคโปร์

เป็นอันว่า มาตารามหายมาเป็นกาทิรี แล้วกาทิรีถูกแทนด้วยสิงหสารี แล้วสิงหสารีก็เปลี่ยนเป็นมัชปาหิต

มัชปาหิตที่ชวารุ่งเรืองอยู่นาน แต่นับจากปี ค.ศ.๑๓๘๙ อำนาจก็เริ่มถูกท้าทาย ดังได้เล่าแล้วว่าทางด้านสุมาตรา เจ้าชายปรเมศวรแห่งแดนศรีวิชัยเดิม คิดตั้งตัวเป็นอิสระ แม้ว่าปัชปาหิตจะขับไล่ผู้ท้าทายนั้นพ้นไป และตามไปกำจัดที่สิงคโปร์จนเสร็จ แต่เจ้าชายปรเมศวรก็ไม่ลดละหนีต่อไปตั้งตัวที่มะละกา กลายเป็นสุลต่านอิสกันดาร์ซาห์ ทำให้เกิดรัฐสุลต่านแห่งมะละกาขึ้น ดังเล่าข้างต้น เมื่อปีค.ศ.๑๔๐๒-๑๔๐๓

มัชปาหิตเสื่อมอำนาจลง จนในที่สุดก็ถูกชนมุสลิมโค่นลงในปี ค.ศ.๑๔๗๘ แต่ยังไม่หมดกำลังสิ้นเชิง กระทั่งถึงต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๖ อำนาที่ยังเหลืออยู่บ้างนั้นจึงถูกกำจัดไปในราวปีค.ศ.๑๕๒๗

ในช่วงที่ชนมุสลิมเข้าครองนั้น ชาวฮินดูมัชปาหิตทั้งเจ้านาย ขุนนางและประดาชนชั้นสูง ได้พากันอพยพหนีภัยไปยึดเอาบาหลีเป็นที่มั่นสุดท้าย

เกาะบาหลี คือ พลี ที่แปลว่า มีกำลังแข็งแรง อยู่ห่างไปทางตะวันออกของเกาะชวา โดยข้ามช่องแคบเพียงประมาณ ๒ กิโลเมตร และบาหลีเป็นถิ่นแดนเดียวในอินโดนีเซียปัจจุบัน ที่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นฮินดูแบบบาหลี (Balinese Hinduism) มีพุทธศาสนาแทรกเสริม ผสมผสานกับลัทธินับถือบรรพบุรุษผีสางและไสยเวท ถือระบบวรรณะของฮินดู แม้จะหย่อนกว่าในอินเดีย ชาวบาหลีส่วนใหญ่ราว ๙ ใน ๑๐ คนเป็นคนวรรณะศูทร

ถึงตอนนี้ก็ควรตามไปดูบนผืนแผ่นดินแหลมมลายู คืออาณาจักรมะละกาที่เคยกล่าวไว้ แต่ก็จะย้อนมาที่ชวาอีก เพราะจะมีอาณาจักรมาตารามเกิดขึ้นใหม่ในยุคเป็นแดนมุสลิมในกาลข้างหน้า หลังสิ้นมาตารามเก่าไป ๕๐๐ กว่าปี

No comments: