Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๑. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๑

พูนศุข พนมยงค์

ในชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง ผ่านทั้งความสุข ความทุกข์ยาก การถูกใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นานา และมรสุมชีวิตที่โถมกระหน่ำครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ยังยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งร้ายรอบตัวได้อย่างเด็ดเดี่ยว มีสติมั่นคง และรักษาตัวเองให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้ตลอดชีวิต หญิงผู้นั้นนาม พูนศุข พนมยงค์

พูนศุข พนมยงค์ เป็นลูกพระยา เกิดในตระกูลชนชั้นสูงในสังคม แต่งงานกับนายปรีดี พนมยงค์ ลูกชาวนา ดอกเตอร์หนุ่มจากฝรั่งเศสซึ่งภายหลังกลายมาเป็นผู้ก่อการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เป็นภรรยารัฐมนตรี ภรรยาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ภรรยานายกรัฐมนตรี เป็นท่านผู้หญิงอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง ๒๘ ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ต่อสู้ลับ ๆ กับกองทัพญี่ปุ่น ช่วยให้ประเทศไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจ แต่ภายหลังสามีถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนพัวพันในกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ถูกทหารยิงปืนกลกราดเข้ามาในบ้านเมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ ต่อมาถูกจองจำในข้อหากบฏ ลูกชายถูกจับติดคุก จนกระทั่งต้องหนีตามสามีลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนด้วยความขมขื่นใจ สุดท้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยด้วยความสงบ ให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ดำรงตนเป็นแบบอย่างให้แก่ชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ด้วยความสนิทใจ แม้กระทั่งคำสั่งเสียในวาระสุดท้ายของชีวิต

“ไม่ขอรับเกียรติยศใด ๆ ทั้งสิ้น”

วัยเด็ก

“ดิฉันเริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุได้ราว ๖ ขวบ คุณพ่อได้เลือกให้ดิฉันไปเรียนโรงเรียนฝรั่ง คือ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ย่านถนนสีลม ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นโรงเรียนฝรั่งที่โก้มากและแพง เพื่อนร่วมชั้นของดิฉันมีคุณหญิงแร่ม พรหมโมบล คุณหญิงละไม หงส์ยนต์ คุณเจริญ ชูพันธุ์ ม.ล. ต่อ กฤดากร...”

พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เป็นบุตรคนที่ ๓ ของคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) และพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสมุทรปราการ เกิดในจวนเจ้าเมือง เมื่อวันอังคารขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน ร.ศ. ๑๓๐ เวลา ๗ นาฬิกา ๒๐ นาที ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม ปฏิทินขณะนั้นเป็น พ.ศ. ๒๔๕๔ (ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระบรมราชโองการใช้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๑ เมษายนที่เคยใช้มาแต่เดิม ทำให้วันที่ ๒ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. ๒๔๕๕)

พออายุได้ ๔ เดือนเศษ บิดามารดาได้ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ในรัชกาลที่ ๖ เพื่อขอรับพระราชทานนามบุตรี ซึ่งต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “พูนศุข”

เมื่อ ด.ญ. พูนศุขอายุได้ ๔ ขวบ บิดาได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของสยามประเทศ มีบ้านพักอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาที่คลองสาน พอย่างเข้า ๖ ขวบ ก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งก่อตั้งโดยคณะนักบวชคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากประเทศฝรั่งเศส

“ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ เน้นด้านภาษา อย่างข้าพเจ้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษ การเรียนการสอนทุกวิชาในห้องเรียน แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ นอกห้องเรียนนักเรียนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษกัน... โรงเรียนสอนให้ข้าพเจ้าซื่อสัตย์ มีวินัย มีมารยาทในสังคม มีวิชาความรู้ ทำให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ภรรยาของนักการเมืองและแม่ของลูกได้อย่างมีความอดทน เชื่อมั่นและไม่ท้อแท้”

ความสัมพันธ์ระหว่างพูนศุขกับโรงเรียนแห่งนี้ดำเนินต่อมาอีกยาวนาน ลูกสาว ๓ คน คือ สุดา ดุษฎี และวาณีก็เรียนที่นี่ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร นักบวชชาวฝรั่งเศสในเมืองไทยถูกจับกุมคุมขัง บางคนถูกขับไล่ออกนอกประเทศ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เวลานั้นก็ได้ช่วยเหลือคณะนักบวชเหล่านี้มาโดยตลอด จนเมื่อนายปรีดีประสบภัยทางการเมืองในเวลาต่อมา บรรดานักบวชแม่ชีในโรงเรียนก็ได้ดูแลลูก ๆ ของท่านเป็นอย่างดี

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พูนศุข พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟตัวอย่าง สาขาการเมือง

ช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่นี้ คุณพ่อคุณแม่ได้ย้ายบ้านมาอยู่ถนนสีลม พูนศุขเคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า วัยเด็กท่านมีความเป็นอยู่แบบผู้มีอันจะกิน เรียกได้ว่าเป็นคุณหนู ใช้ชีวิตค่อนข้างหรูหรา มีคนรับใช้ใกล้ชิด เพราะมีพ่อเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ บ้านที่ถนนสีลมก็ได้ช่างชาวอิตาลีออกแบบ เกิดมาจำความได้ที่บ้านก็มีส้วมชักโครกใช้แล้ว ซึ่งสยามในเวลานั้นมีส้วมชักโครกนับชิ้นได้

และในช่วงเวลานี้เธอก็ได้พบกับชายคนหนึ่งชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เป็นลูกชาวนา พ่อชื่อนายเสียง แม่ชื่อนางลูกจันทน์ พนมยงค์ จนเมื่อเรียนจบชั้น Standard 7 ก็ได้ลาออกจากโรงเรียนมาแต่งงานกับชายผู้นี้ พูนศุขเคยเล่าให้ฟังว่า

“เป็นญาติห่าง ๆ กัน นายปรีดีแก่กว่าฉัน ๑๑ ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีนี่มาอยู่ที่บ้าน จึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุเก้าขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิต แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี พอนายปรีดีกลับมาฉันอายุ ๑๖ ปี นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทยวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๐ กว่าจะแต่งงานก็เดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๑ ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ตามปรกติ... เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอมและไม่ได้เรียกร้องอะไรนอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง

“สมัยนั้นดอกเตอร์มีไม่กี่คน ผู้ที่มารดน้ำในงานแต่งงานบางท่านก็อวยพรว่า จะโชคดีมีโอกาสเป็นเสนาบดีแน่นอน ตอนนั้นนายปรีดีเพิ่งได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เราแต่งงานวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑ เราหมั้นกันก่อนประมาณหกเดือน เพราะต้องรอเรือนหอที่คุณพ่อคุณแม่สร้างให้เป็นของขวัญ ซึ่งอยู่ในบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม เวลานี้โดนรื้อกลายเป็นถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตรงหัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนสายใหม่นั่นแหละ พอเรือนหอสร้างเสร็จเราก็แต่งงาน”

พิธีแต่งงานจัดขึ้นที่บ้านป้อมเพชร์ ฝ่ายเจ้าสาวสวมเสื้อสีชานอ้อย นุ่งซิ่นสีเดียวกัน ฝ่ายเจ้าบ่าวแต่งชุดราชปะแตน นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน คอยรับแขกผู้ใหญ่ที่ไปร่วมงาน โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้สวมมงคลและเจิมหน้าผากร่วมกับท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) และหลวงวิจิตรวาทการได้แต่งโคลงบทหนึ่งมอบเป็นของขวัญ มีเนื้อความว่า



พูน เพิ่มเฉลิมเกียรติล้ำ ลือนาม
ศุข สบายภัยขาม คลาดพ้น
ปรี ดาอย่ารู้ทราม จิตต์เสน่ห์
ดี จักมียิ่งล้น หากรู้รักกัน


จากนั้นมาหนุ่มสาวคู่นี้ได้ครองรักร่วมกันมายืนยาวถึง ๕๔ ปี จนความตายมาพรากจาก ทั้งคู่เกิดมาเพื่อเป็นเนื้อคู่ของกันและกันโดยแท้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาโดยตลอด และกาลเวลาได้พิสูจน์ถึงความรัก ความหนักแน่น มั่นคงของผู้เป็นภรรยา แม้ว่าฝ่ายสามีจะโดนมรสุมชีวิตกระหน่ำอย่างหนักหน่วงครั้งแล้วครั้งเล่า

No comments: