Wednesday, August 8, 2007

บทความที่ ๑๙๗. อโศกสลด

อโศกสลด

เมื่อกษัตริย์อโศกทรงทอดพระเนตรไปยังสมรภูมิที่การสัปยุทธ์ยุติลงแล้ว ณ เบื้องหน้าของพระองค์นั้น ที่ทอดยาวไกลสุดสายตา คือซากศพนับหมื่นนับแสนของประชาชนนักต่อสู้ชาวกาฬิงคะและในบรรดานั้นก็เกลื่อนไปด้วยร่างของทหารหาญของพระองค์ที่สละชีพเพื่อให้พระประสงค์ของจอมกษัตริย์ในอันที่จะได้ครอบครองดินแดนของชาวกาฬิงคะแห่งนี้บรรลุผล

ก่อนหน้าสงครามล้างเผ่าพันธุ์ชาวกาฬิงคะ, เลือดของพระเชษฐาและพระอนุชาผู้เป็นราชันย์ร่วมสายโลหิตจำนวน ๙๙ พระองค์ได้เปรอะเปื้อนพระหัตถ์ของเจ้าชายอโศกเพื่อเป็นหลักประกันว่าบัลลังก์ของพระองค์จะมั่นคงไปตลอดรัชสมัย แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงไว้ชีวิตแก่พระอนุชาองค์สุดท้ายไว้ซึ่งก็มิได้เป็นภัยแก่ราชบัลลังก์ของพระองค์แต่อย่างใด

ในช่วงหลังพุทธปรินิพพานประมาณ ๒๒๐ ปี กษัตริย์นักรบอโศกสามารถขยายราชอาณาจักรออกไปโดยกว้างใหญ่ไพศาล แต่การสัปยุทธ์ที่สมรภูมิกาฬิงคะ ความหาญกล้าของประชาชนนักรบชาวกาฬิงคะที่สละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องปิตุภูมิแห่งตนไว้อย่างถึงที่สุดได้ทำให้กษัตริย์อโศกเกิดสลดสังเวชพระทัยต่อสงครามที่พระองค์ได้ก่อให้เกิดขึ้น เพราะการนั้นพระองค์ต้องสูญเสียทหารกล้าผู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพระองค์ไปหลายหมื่นนายซึ่งหาได้น้อยไปกว่าชีวิตของนักรบชาวกาฬิงคะแต่อย่างใดไม่

พระองค์ไม่เคยต้องสูญเสียเหล่านักรบกล้ามากมายเช่นนี้มาก่อน เลือดของนักรบทั้งสองฝ่ายไหลเนืองนองท่วมผืนดินที่กล่นเกลื่อนไปด้วยซากศพ หมวกเหล็ก เสื้อเกราะ ดาบ หอก โล่และธนู บัดนั้นเองที่พระอัสสุชลได้เอ่อคลอพระเนตรของจอมกษัตริย์ พระองค์ทรงดำริในพระทัยว่า นี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์เช่นนั้นหรือ ? จะประโยชน์อะไรกับผืนดินที่ดาดาษไปด้วยสิ่งไร้ชีวิต จะมีค่าอะไรหากพระองค์จะได้ครอบครองดินแดนที่มีแต่เสียงระงมระทมทุกข์ของชาวเมืองที่สยายผม คร่ำครวญ ถึงญาติพี่น้องที่สูญเสีย กลิ่นคาวโลหิตและซากศพที่ไม่เคยทำให้พระองค์หวั่นไหวมาก่อนในสมรภูมิคราวก่อน แต่บัดนี้ทันประทับแน่นในพระทัยของพระองค์

นับแต่นั้นมาอโศกจอมกษัตริย์ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของพระองค์และของพสกนิกรใต้ร่มเศวตฉัตรของพระองค์อย่างสิ้นเชิง พระองค์ยุติการขยายอาณาจักรด้วยไฟแห่งสงคราม มาเป็นการขยายเขตแดนแห่งพระพุทธศาสนาไปสุดขอบโลกถึง ๙ เส้นทาง พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รุ่งเรือง ทรงจัดให้พระอรหันตเถระได้กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งที่ ๓ นับแต่มหาปรินิพพานเมื่อ ๒๓๔ ปีก่อน พระองค์ทรงใช้กฎหมายขจัดอลัชชีที่ปลอมปนในพระพุทธศาสนาให้พ้นไปจากความเป็นภิกษุโดยจัดให้มีการสอบ-ไล่ คือโปรดให้พระเถระทั้งหลายผู้ทรงธรรมทรงวินัยได้ถามปัญหาหลักธรรม-วินัยแก่ภิกษุในราชอาณาจักร รูปใดเป็นภิกษุปลอมคือ ปลอมเข้ามาบวชเพื่อลาภ ยศ สักการะจากประชาชน ก็ไม่รู้ในหลักธรรม เพราะไม่ได้ศึกษาอบรมมา ก็ไม่สามารถตอบปัญหาของพระเถระได้ จึงถูกพวกราชบุรุษจับที่แขนแล้วถอดจีวรออก ให้นุ่งผ้าขาว กล่าวกันว่ามีผู้ถูกจับสึกถึง ๖๐,๐๐๐ คน

กษัตริย์อโศกได้รับการเรียกขานว่าเป็น จักรพรรดิอโศกมหาราช เพราะพระกรณียกิจในการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ทั้งการสร้างอารามถึง ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วพระนคร การส่งสมณทูตไปเผยแพร่ถึง ๙ สาย การอุปภัมภ์ให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย ทรงโปรดให้จัดสร้างเสาศิลาจารึกที่เรียกกันต่อมาภายหลังว่า “เสาอโศก” จารึกเรื่องราว คำประกาศของพระองค์ที่เป็นเสมือนกฎหมาย เสาอโศกที่ขุดพบในปัจจุบันจำนวน ๑๓ ต้น ได้ทำให้เรื่องราวของพระพุทธศาสนาที่เคยสาปสูญไปจากอินเดียได้กลับคืนมาสู่ถิ่นกำเนิด เพราะเมื่อนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ได้ถอดความจากเสาอโศกออกมาพวกเขาจึงยืนยันว่าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระชนม์อยู่จริง หาใช่ตำนานเรื่องเล่าขานดำบรรพ์ไม่

แม้ว่าพระกรณียกิจของอโศกมหาราชในทางพระศาสนาจะมากมายและเป็นคุณูปการต่อคนรุ่นหลังมากเพียงใด แต่สำหรับพระองค์เองนั้นก็หาได้เสพธรรมรสจนบรรลุความเป็นพระอริยะไม่ แต่พระองค์ทรงประกาศตนเป็นพุทธมามกะและนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนชั่วชีวิต นี่จึงเป็นข้อคิดประการหนึ่งแก่พุทธบริษัททั้งหลายว่า การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลหาใช่เป็นได้โดยง่ายไม่ เพราะแม้ว่าท่านจะกระทำบุญกุศลในชาตินี้มากเพียงใด หากเหตุปัจจัยยังไม่ถึงพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ แต่ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างยาวนานที่เรียกว่าเป็น จีระกาละ คือยาวนานนับชาติไม่ถ้วน กว่าปัญญาจะถึงพร้อมที่จะได้ประจักษ์สภาพธรรมะทั้งปวงตามความเป็นจริง

ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า การอบรมอย่างไรที่จะทำให้ปัญญาเจริญจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในกาลข้างหน้าที่ยาวไกลได้ ? เรื่องนี้จะได้นำมาเสนอแด่ท่านทั้งหลายในโอกาสต่อไปครับ

No comments: