Wednesday, August 15, 2007

บทความที่ ๒๐๕. พูนศุข พนมยงค์ ตอนที่๕

ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย

“นายปรีดีได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าจัดหาลู่ทางการหลบหนีครั้งใหม่ เพราะไว้ใจและเชื่อใจข้าพเจ้าว่าจะทำสำเร็จ ข้าพเจ้าวางแผนปฏิบัติการไว้เป็นวันที่ ๖ สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันตายของป้าลูกจันทน์ มารดานายปรีดี ข้าพเจ้าภาวนาให้ป้าลูกจันทน์คุ้มครองให้นายปรีดีรอดพ้นจากภยันตรายทั้งปวง”

เมฆหมอกแห่งเผด็จการทหารได้ปกคลุมประเทศอีกครั้งหนึ่ง คณะรัฐประหารประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ฉีกรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีการลอบสังหาร จับกุมคุมขังฝ่ายตรงข้าม คือพรรคพวกของนายปรีดีจำนวนมาก พูนศุขและลูก ๆ จำต้องหลบหนีไปอยู่ที่สัตหีบพักหนึ่ง เพราะคณะรัฐประหารใช้วิธี “จับผัวไม่ได้ก็จับเอาเมียไปขังแทน” และรัฐบาลยังได้ตัดเงินบำนาญของนายปรีดีในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอาวุโส จนรายได้ของครอบครัวจากส่วนนี้หายไปทันที

พอเหตุการณ์ผ่านไปสักระยะ พูนศุขจึงกลับมาอยู่บ้านและย้ายจากทำเนียบท่าช้างมาอยู่ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม พยายามใช้ชีวิตตามปรกติ จัดการให้ดุษฎีและวาณีลูกสาว ๒ คนเล็กเป็นนักเรียนประจำ และสุดาเป็นนักเรียนไปกลับที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ศุขปรีดาลูกชายคนที่ ๒ เรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ส่วนปาลบุตรคนโตเรียนชั้นเตรียมปริญญาปีสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) ขณะที่ร้านกาแฟหน้าบ้านมีตำรวจสันติบาลเฝ้าอยู่ตลอดเวลา พอออกจากบ้านก็ถูกสะกดรอยตลอดจากบุคคลลักษณะ “ชายแปลกหน้า ใส่หมวก สวมแว่นตาดำ” จนกระทั่งวันหนึ่งท่านกับลูกปาลไปหาหมอที่คลินิกแถวบางรัก ก็มีรถตำรวจขับตามหลังมา ด้วยความอึดอัดเต็มที่ ขากลับจากหาหมอ

“ข้าพเจ้าบอกให้ปาลขับรถผ่านไปที่ถนนคอนแวนต์ แล้วเลี้ยวเข้าบ้านหลวงชาติตระการโกศล (เจียม ลิมปิชาติ) อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ซึ่งภรรยาของท่านเป็นญาติข้าพเจ้า” เพื่อที่ตำรวจจะได้มีบันทึกรายงานว่าเย็นนั้น พูนศุขไปไหนมาบ้าง

เวลานั้นนายปรีดีลี้ภัยจากสิงคโปร์ไปอยู่ฮ่องกงและข้ามไปประเทศจีน ซึ่งพูนศุขได้เล่าให้ฟังว่า

“เมืองจีนตอนนั้นยังไม่เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นยุคสมัยของเจียงไคเช็คยังมีอำนาจ อันที่จริงนายปรีดีต้องการลี้ภัยที่ประเทศเม็กซิโก แต่รองกงสุลอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นพวกซีไอเอ ขีดฆ่าวีซ่าผ่านแดนอเมริกา ทำให้นายปรีดีไม่สามารถไปเม็กซิโกได้ รองกงสุลอเมริกันคนนี้คือนายนอร์แมน ฮันนา ต่อมาเป็นทูตประจำประเทศไทย”

ที่ประเทศจีนปรีดีรับฟังข่าวสารจากเมืองไทยเป็นระยะ และมีความคิดเสมอว่าจะกลับไปฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยอีกครั้ง จนเมื่อพลพรรคในประเทศได้แจ้งข่าวมาว่าสถานการณ์พร้อมแล้ว จึงได้ลักลอบเข้าเมืองไทย โดยมีทหารเรือเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับฝ่ายรัฐประหาร ใช้ชื่อเรียกว่า ขบวนการประชาธิปไตย

นายปรีดีได้กลับมาเยี่ยมบ้านเพียงครู่ พูนศุขแสดงการคัดค้านด้วยความห่วงใยเพราะทราบดีว่าสถานการณ์ครั้งนี้เดิมพันชีวิตของสามีสูงยิ่ง แต่นายปรีดียืนกรานที่จะกระทำการครั้งนี้ โดยวางแผนจะยึดอำนาจรัฐกลับคืนมาให้สำเร็จและฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่

เวลาสามทุ่มของวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ นายปรีดีพร้อมด้วยมิตรร่วมรบได้มุ่งหน้าจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง บุกเข้าไปปลดทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถตั้งกองบัญชาการที่นั่นได้สำเร็จ และยึดสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการไว้ได้ มีการต่อสู้กันประปรายระหว่างสองฝ่าย

จนกระทั่งเวลา ๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น กำลังทหารเรือบางส่วนถูกสกัดกั้น และ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้ยิงปืนใหญ่ถล่มประตูพระบรมมหาราชวัง มีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทหารบกกับทหารเรือตลอดแนวถนนราชปรารภ มักกะสัน ถนนเพชรบุรี นายปรีดีได้เขียนบันทึกเหตุการณ์ตอนนั้นไว้ว่า

“เมื่อเห็นว่ากำลังสนับสนุนของเราเดินทางมาไม่ทันเวลา และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัตถุที่ล้ำค่าของชาติในพระบรมมหาราชวัง ข้าพเจ้าจึงสั่งการให้กองกำลังถอยร่นมาอยู่ในกองบัญชาการทหารเรือที่พระราชวังเดิม ...ระหว่างนั้น กองกำลังของฝ่ายรัฐบาลควบคุมพระนครไว้ได้ทั้งหมดแล้ว การก่อการเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ของข้าพเจ้าจึงประสบความล้มเหลว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ‘กบฏวังหลวง’ “

คืนนั้นคนสนิทได้พานายปรีดีหนีการไล่ล่าไปหลบซ่อนตามบ้านญาติหลายแห่ง จนในที่สุด โดยความช่วยเหลือของนายสุธี โอบอ้อม คนที่รู้จักกันมานานสามชั่วคน ก็ได้มาหลบอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือ ในอาณาบริเวณ ๒๐ กว่าไร่ของบริษัทเกลือไทย ฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันคืออาคารสุภาคาร ริมสะพานสาทร

ช่วงชีวิตนี้พูนศุขได้บันทึกไว้ว่า

“ผู้ที่เอื้อเฟื้อสถานที่หลบซ่อนให้นายปรีดี คือ คุณอุดร รักษมณี เพื่อนรักของสุธี โอบอ้อม นายปรีดีและข้าพเจ้าไม่รู้จักกับคุณอุดร รักษมณี มาก่อนเลย คืนวันที่ ๒ ของการไปอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือ ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมนายปรีดี นายปรีดีปรารภว่า เกรงใจเจ้าของบ้านเหลือเกิน ไม่ทราบว่าจะอยู่ได้นานเท่าใด แต่แล้วนายปรีดีจำต้องหลบซ่อนอยู่ที่บ้านสวนฉางเกลือเป็นเวลา ๕ เดือนกว่า

“ตอนกลับจากเยี่ยมนายปรีดีที่บ้านสวนฉางเกลือ คุณอุดรนั่งเรือจ้างมาส่งข้าพเจ้าที่ท่าเรือสาทร ใกล้ฟ้าสาง รถรางบนถนนสีลมออกเดินรถแล้ว ผู้คนเริ่มออกมาทำกิจวัตรประจำวันแต่เช้ามืด ข้าพเจ้าเดินจากบางรักผ่านป่าช้ากวางตุ้ง ป่าช้าสารสิน ป่าช้าซาเวียร์ และป่าช้าคาทอลิกเพียงคนเดียว กลับมาถึงบ้านป้อมเพชร์”

หลังขบวนการประชาธิปไตยประสบความล้มเหลว รัฐบาลเผด็จการทหารได้ตีพิมพ์หมายจับรูปนายปรีดีติดประกาศไปทั่ว ทำการปราบปรามฝ่ายนายปรีดีอย่างเหี้ยมโหด มีการจับกุมคุมขัง และลอบสังหารอดีตเสรีไทย นักศึกษาธรรมศาสตร์ ทหารเรือ นักการเมืองเป็นจำนวนมาก นายปรีดีรับฟังข่าวคราวการสูญเสียมิตรสหายด้วยความเจ็บปวด โดยเฉพาะการที่ตำรวจสังหารนายทวี ตะเวทิกุล และอุ้ม ๔ อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส. อีสาน คือ คุณทองอินทร์ ภูริพัฒน์ คุณถวิล อุดล คุณจำลอง ดาวเรือง และคุณทองเปลว ชลภูมิ ไปฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ โดยตำรวจอ้างว่าเป็นฝีมือของ “โจรจีนมลายู”

ความเจ็บปวดครั้งนี้ถึงกับทำให้นายปรีดีระบายออกมาว่า

“ฉันไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะอยู่ไปทำไม เราทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน...ต้องตาย”

ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากได้แต่ปลอบประโลมเตือนสติให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะความตายคือการยอมรับความพ่ายแพ้

ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย วัย ๓๗ ปีของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้ที่ถูกสะกดรอยทุกฝีก้าว และต้องเลี้ยงลูกทั้ง ๖ คน กลับมีสติมั่นคง จิตใจเข้มแข็ง คิดวางแผนจะช่วยสามีให้รอดปลอดภัยได้อย่างไร สุดท้ายพูนศุขเป็นคนวางแผนให้ปรีดีเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างปลอดภัย

แผนการเริ่มต้นด้วยการนัดแนะกับคนไว้ใจได้ที่สวนลุมพินี โดยให้ลูกปาลขับรถออกมาจากบ้าน และขับไปจอดในบ้านพี่สาวคนหนึ่งที่ถนนสุรวงศ์ แล้วแอบออกหลังบ้านขึ้นรถสามล้อมาที่สวนลุมเพื่อหลบหนีการสะกดรอยของสันติบาล เมื่อได้ประชุมกับคนที่เกี่ยวข้องเป็นที่เข้าใจกันดีแล้ว พอตอนเย็นวันที่ ๖ สิงหาคม เรือประมงที่พูนศุขได้ยืมมาจากคุณมิ่ง เลาห์เรณู ส.ส. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แล่นทวนน้ำมารับนายปรีดีที่ท่าเรือบ้านสวนฉางเกลือ โดยมี ร.ต. อมฤต วิสุทธิธรรม ร.น. เป็นกัปตันเรือ

“ที่เลือกเดินทางเวลานี้ ก็เพื่อให้มาถึงด่านศุลกากรด่านแรกตอนค่ำก่อนด่านปิดไม่กี่นาที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ต้องเสี่ยงต่อการตรวจอย่างละเอียดลออ วิธีการนี้ได้ผลดี เราผ่านไปได้อย่างง่ายดาย เรือประมงลำเล็กไปถึงป้อมพระจุลฯ ซึ่งเรือตอร์ปิโดของหน่วยลาดตระเวนจอดอยู่ เพื่อตรวจตราบรรดาเรือต่าง ๆ กัปตันนำเรือประมงเข้าหาเรือตอร์ปิโดอย่างใจเย็น และนายทหารชั้นประทวน ๒ คนก็ลงมาตรวจเรือ เมื่อเขาไม่พบสิ่งใดผิดปรกติเกี่ยวกับสินค้าหนีภาษี ผู้บังคับการจึงสั่งให้ปล่อยเรือของเราผ่านไปได้ เราจึงเดินทางแล่นเลียบชายฝั่ง มุ่งเดินทางต่อไปทางใต้”

เรือประมงไปส่งนายปรีดีที่สิงคโปร์ และนายปรีดีได้หลบลงเรือทะเลไปเกาะฮ่องกง ก่อนจะขึ้นเรือเดินทางไปที่เมืองชิงเต่าบนแผ่นดินใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๙๒ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศจีนซึ่งขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลเจียงไคเช็ค นายปรีดีได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนมีมาตราหนึ่งกำหนดไว้ว่า

“บุคคลชาวต่างประเทศผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมและถูกข่มเหงกลั่นแกล้งจากฝ่ายอธรรม จนไม่อาจจะพำนักอยู่ในประเทศของตนได้ ทางประเทศจีนถือว่าบุคคลผู้นั้นเป็นอาคันตุกะของประเทศ”

No comments: