Thursday, August 16, 2007

บทความที่๒๒๕.รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่๑๒

ปฏิบัติการในไทย
"ในขณะที่เราเข้าไปนั้น คนไทยในประเทศยังไม่เข้ากับพวกเรา เราต้องเข้าไปเป็นทหารหน่วยย่อม ๆ จึงจะสามารถเกลี้ยกล่อมผู้คนได้ และจะสามารถป้องกันตัวและรบกวนข้าศึกได้ โดยอาศัยความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่"
ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ


หลังจากผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นทหารแล้ว เสรีไทยทั้ง ๓๕ นายยกเว้น ม.จ. ศุภสวัสดิ์ฯ ต้องเข้ารับการฝึกที่ ศูนย์ฝึกพิเศษทหารบกบร็อกฮอลส์ (Block Hall) ที่นอร์ทแทมตัน ประมาณเดือนเศษ

"บร็อกฮอลส์ เป็นศูนย์ฝึกพิเศษของทหารบก สำหรับทดสอบและประเมินความสามารถของของทหาร ที่ถูกคัดเลือกว่ามีกำลังใจ กำลังกาย และไหวพริบเหมาะสมสำหรับปฏิบัติการพิเศษ ได้แก่ ปฏิบัติการแบบเล็ดลอดเข้าไปยึดจุดยุทธศาสตร์ ก่อวินาศกรรมทำลายเส้นทางคมนาคม

การฝึกที่ผมเห็นว่าทุลักทุเลสิ้นดี ก็คือการฝึกคลานพังพาบอกทาบปฐพี ทำท่าคล้ายว่ายน้ำบนบก ใช้มือตะกุยดินและเท้าถีบดินทีละข้าง สลับมือสลับตีน นัยว่าเคลื่อนที่แบบทุกรกิริยานี้เพื่อกำบังกายเข้าจู่โจม หรือตีข้าศึกโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว"

แม้ว่าการฝึกจะหนักเพียงใด แต่เมื่อ มณี สาณะเสน และนายทหารอังกฤษมาสอบถามความสมัครใจ ของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษว่าจะฝึกต่อหรือไม่ ทั้งหมดก็ยืนยันว่าจะเป็นทหารตามความตั้งใจเดิม ไม่มีใครเปลี่ยนใจเลยสักคน

หลังจากนั้นทั้งหมดต้องย้ายมาที่ค่ายเมืองเด็นบี้ ในแคว้นเวลส์ตอนเหนือ และที่นี่เองที่ก็รู้ว่าจะต้องสังกัดหน่วย Pioneer Corps

"(เมื่อ) รู้ว่าอังกฤษเอาเราเข้าสังกัดหน่วยการโยธาที่เขาเรียกว่า Pioneer Corps ความเผยอลำพองของเราเมื่อรับการฝึกอบรมพิเศษ ที่ค่ายบร็อกฮอลส์เหือดหายไปหมดสิ้น ป๋วยปลอบใจพวกเราว่าพวกเราจำต้องสังกัด Pioneer Corps (ซึ่งผมเรียกว่ากองกุลี หรือหน่วยสวะ) ไปพลางก่อน ตามกฎเกณฑ์ปกติของกองทัพอังกฤษที่ว่า ชนชาติศัตรูจะเป็นทหารประจำการหน่วยอื่นมิได้ นอกจากหน่วยสวะนี้ ... หน้าที่หลักของทหารหน่วยสวะคือดายหญ้า กวาดถูโรงเรือน ล้างส้วม ขุดและปอกมันฝรั่ง คุณหลวงทั้งสอง หม่อมเจ้าทั้งสี่ ลูกเศรษฐี ลูกคนยากจนล้วนต้องแสดงบทบาทกุลีอย่างกุลีกุจอด้วยกันถ้วนหน้า"

สุดท้ายของการฝึกในอังกฤษ ทั้งหมดได้ย้ายมาฝึกที่ค่ายทอร์นตัน นอกเมืองแบรดฟอร์ด ซึ่ง ม.จ. จิรีดนัย กิติยากร มาร่วมเป็นพลทหารเพิ่มที่นี่ กองกำลังเสรีไทยกลุ่มนี้มีจำนวนรวมกัน ๓๖ คน

การที่เสรีไทยสายอังกฤษทุกคนเข้ารับการฝึก และยินยอมปฏิบัติงานให้แก่กองทัพอังกฤษโดยไม่เลือกงาน ทำให้อังกฤษเริ่มรับรองเสรีไทยสายอังกฤษ โดยระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ที่รับรองนี้มิใช่เป็นการรับรองเป็นรัฐบาลนอกประเทศ แต่เป็นการรับรองทหารอาสาสมัครได้ทำงานในหน่วยโยธา

หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษจำนวน ๓๖ คน (ยกเว้นท่านชิ้น) ได้เดินทางไปฝึกเพิ่มเติมที่อินเดีย เมื่อหน่วยกองทหารอาสาเดินทางมาถึงอินเดีย ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรก จำนวน ๒๒ คน หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มช้างเผือก (White Elephant) ถูกนำไปฝึกการรบแบบกองโจรที่เมืองปูนา ประเทศอินเดีย และสังกัดแผนกประเทศไทยของกองกำลัง ๑๓๖ แห่งหน่วยบริการพิเศษ (Specialy Operation Executive - SOE)

ภรรยานายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย นอกจากนั้นได้มีการคัดเลือกเสรีไทยสายอังกฤษไปสังกัดหน่วยอื่น ๆ อีกเช่น หลวงพิศาลกิจ สวัสดิ์ ศรีศุข พัฒน์พงศ์ รินทกุล สังกัดแผนกประสานงานระหว่างหน่วย (Interservice Liasion Department) ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับ ต่อมาสองคนหลังได้ถูกส่งไปฝึกอบรมพิเศษที่กัลกัตตาเพื่อเตรียมตัวเดินทางมาประเทศไทย

๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๖ เสรีไทยสายอังกฤษคณะแรกนำโดย สวัสดิ์ ศรีสุข และ พัฒน์พงศ์ รินทกุล ได้เดินทางจากเรือดำน้ำมาขึ้นฝั่งที่บ้านท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยมีภารกิจคือการสืบสถานการณ์ทั่วไปในภาคใต้ ตามกำหนดการทั้งสองต้องกลับไปรายงานให้ทางอังกฤษได้รับทราบ แต่เนื่องจากมีความผิดพลาดในการนัดหมาย ทั้งสองจึงต้องอยู่เมืองไทยต่อ พัฒน์พงศ์ต้องทำงานเหมืองแร่ ขณะสวัสดิ์ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำงานในโรงรัดแผ่นยางที่บางปู

ต่อมากองกำลัง ๑๓๖ ได้ส่ง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะ เดินทางโดยเรือดำน้ำเพื่อมาขึ้นบกที่บ้านท้ายเหมืองอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ท่านชิ้นซึ่งขณะนั้นอยู่ประเทศจีน ได้ส่งให้คนนำสารลับไปส่งให้นายปรีดี เพื่อเตรียมรับเสรีไทยสายอังกฤษชุดนี้ แต่การประสานงานผิดพลาด ทำให้ทั้งสามต้องลอยเรืออยู่ในน่านน้ำทะเลอันดามัน

หลังจากล้มเหลวในการติดต่อผ่านทางจีน เสรีไทยสายอังกฤษก็ตัดสินใจส่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยตรง โดยแบ่งเป็นสองชุด คือ ชุดแรกนำโดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะที่ชุดที่ ๒ นำโดย สำราญ วรรณพฤกษ์ ภารกิจสำคัญคือการพยายามติดต่อกลับกองกำลัง ๑๓๖ ที่ตั้งอยู่ในกัลกัตตา รอรับคนที่จะกระโดดร่มตามมา และติดต่อขบวนการเสรีไทยในประเทศ

แต่เมื่อเสรีไทยชุดแรกกระโดดร่มลงมาในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๘๗ กลับห่างจากจุดหมาย ๒๕-๓๐ กิโลเมตร โดยไปลงที่น้ำขาว จังหวัดชัยนาท และถูกจับในเวลาต่อมา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เล่าความรู้สึกในขณะนั้นว่า

"คิดถึงคู่รักของข้าพเจ้าที่ลอนดอน คิดถึงคำสุดท้ายของคุณมณี สาณะเสน ที่ได้กล่าวกับข้าพเจ้าเมื่อก่อนเราเดินทางออกจากอังกฤษ คิดถึงเพื่อนข้าพเจ้าที่ยังอยู่ในอินเดีย คิดถึงเพื่อน ๒ คนที่อยู่พุ่มไม้ใกล้เคียง คิดถึงญาติมิตรที่อยู่กรุงเทพ คิดถึงสาส์นจากกองบัญชาการถึง 'รู้ธ' ที่ยังอยู่ในกระเป๋าของข้าพเจ้า และคิดถึงยาพิษ ? ยังอยู่ในกระเป๋าหน้าอกของข้าพเจ้าหรือจะยอมให้จับเป็น ให้เขาจับตายเถิดเพราะความลับที่ข้าพเจ้านำมานั้นมีมากเหลือเกิน ...แต่เห็นแล้วว่าญี่ปุ่นไม่มีอยู่ในหมู่คนที่จะมาจับข้าพเจ้า อย่ากระนั้นเลยเมื่อปะเสือก็ยอมสู้ตายเลยให้เขาจับเป็นดีกว่า อย่าเพิ่งตายเลย"

ขณะที่ชุดที่ ๒ ที่กระโดดร่มลงที่นครสวรรค์ ในวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๘๗ ก็ถูกควบคุมตัวไปไว้ที่สันติบาลในกรุงเทพฯ เช่นกัน

หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษทั้งหกคนก็ถูกนำตัวมาขังรวมกันไว้ที่กองตำรวจสันติบาลกรุงเทพฯ มี ร.ต.อ. โพยม จันทรคะ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เป็นผู้ดูแลเสรีไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ การติดต่อกลับไปยังกองบัญชาการ ๑๓๖ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งในต้นเดือนกันยายน ๒๔๘๗

ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมที่สันติบาลนั้น ป๋วยซึ่งถือสารลับจากกองบัญชาการ ๑๓๖ ก็ลอบเดินทางไปพบ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ ถือได้ว่าเป็นการติดต่อกันเป็นทางการครั้งแรก ระหว่างขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศกับ ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบตแทน ผู้บัญชาการสูงสุด หลังจากนั้นเสรีไทยสายอังกฤษ ที่เดินทางเข้ามาปฏิบัติการภายในประเทศไทย หรือเดินทางออกไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร ก็ได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ไทย

No comments: