Thursday, August 16, 2007

บทความที่ ๒๒๑. รำลึก ๖๒ ปีชัยชนะของเสรีไทย ตอนที่ ๘

รัฐบาลพลัดถิ่น : เป้าหมายแรกของเสรีไทยในประเทศ

รัฐบาลพลัดถิ่นต้นแบบคือรัฐบาลพลัดถิ่นที่นายพล ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ เข้าไปจัดตั้งในประเทศอังกฤษ หลังจากที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมนีเข้ายึดครอง หลังการประชุมระหว่างนายปรีดีกับมิตรสหายในคืนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ หลวงกาจสงครามได้เสนอแผนแรกให้นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในต่างประเทศ โดยลอบหลบหนีออกไปทางกาญจนบุรี เข้าทวาย ประเทศพม่า และออกไปสู่ประเทศอินเดีย แต่แผนการนี้ล้มเหลว เพราะญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางดังกล่าวลำเลียงทหารเพื่อเข้าไปโจมตีพม่า

แผนต่อมา ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ ได้เสนอพื้นที่ภาคเหนือที่ติด เนื่องจากมีหลังยันกับพม่า ซึ่งมีอังกฤษอยู่ เพราะเชื่อว่าถ้าญี่ปุ่นบุกเข้ามา อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรจะให้ความสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาล ที่ประชุมตกลงกันโดยจะใช้นครสวรรค์เป็นสถานที่ตั้งรัฐบาลอิสระ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องยึดชุมทางรถไฟที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ และเส้นทางรถยนต์สายเหนือ คือ เส้นทางสระบุรีและลพบุรี ให้ได้เสียก่อน แต่ปรากฏว่าญี่ปุ่นยึดเส้นทางดังกล่าวไว้หมดแล้ว ทั้งนี้เพราะว่าญี่ปุ่นจะใช้เส้นทางดังกล่าวในการเดินทางไปยึดพม่า

ความพยายามที่จะก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นยังมีต่อไป เจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ ได้ส่งผู้แทนเดินทางไปสำรวจเส้นทางไปจุงกิง ประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเจียงไคเช็ค และฝ่ายสัมพันธมิตร ปรากฏว่าผู้แทนที่ส่งไปสำรวจเส้นทาง ๒ ชุด จำนวน ๑๑ คน เหลือรอดกลับมา ๒ คน เพราะเส้นทางเข้าสู่จุงกิงโดยทางภาคเหนือนั้น เป็นทางทุรกันดารไม่มีใครสามารถผ่านไปได้

แม้ว่าการดำเนินการติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจะล้มเหลวในช่วงต้น เพราะญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองประเทศไทยแทบจะทุกจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์แล้ว แต่ความพยายามที่จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรยังมีต่อไป

ต้นปี ๒๔๘๖ ขบวนการเสรีไทยในประเทศ ก็ได้รับข่าวดีเมื่อทราบว่า มีเส้นทางออกจากอีสานผ่านอินโดจีน สามารถเดินทางเข้าสู่เมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้

จำกัด พลางกูร ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รับเงื่อนไข ๔ ประการ คือ

๑. การประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะ เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ
๒.เมื่อสถานะสงครามไม่เกิดขึ้น สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เป็นอันว่ายังคงใช้ได้ตามเดิม
๓. ขอให้รัฐบาลอังกฤษให้ความเอื้อเฟื้อและให้เกียรติรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยตามสมควร เช่นเดียวกับรัฐบาลนอรเวย์ และฮอลแลนด์
๔. ขอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกาปล่อยเงิน และทรัพย์สินที่ยึดฝากไว้ในประเทศอังกฤษ และอเมริกาเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้ชาติ

ก่อนออกเดินทาง จำกัด พลางกูร ได้เข้าพบ ปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖

"... ท่านกล่าวว่า 'เพื่อชาติ' เพื่อ Humanity นะคุณ เคราะห์ดีอีก ๔๕ วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนักอย่างช้า ๒ ปีได้พบกันและถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป ข้าพเจ้าตื้นตัน น้ำตาคลอ เมื่อท่านเดินตามมาส่งถึงบันไดตึก"

No comments: