Friday, August 10, 2007

บทความที่ ๑๙๙. ธรรมะไม่สาธารณะแก่ทุกบุคคล

ธรรมะไม่สาธารณะแก่ทุกบุคคล

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคภายหลังจากภัตกิจแล้ว ทรงเสด็จมาประทับนั่ง ณ ศาลา ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

แล้วตรัสพระคาถาว่า

การได้เกิดเป็นมนุษย์ หาได้ยาก
การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย หาได้ยาก
พระสัทธรรม หาได้ยากยิ่ง

การถึงพร้อมด้วยศรัทธา หาได้ยาก
การบวช หาได้ยาก
การได้ฟังพระสัทธรรมหาได้ยากยิ่ง”


พระคาถาที่พระศาสดาได้ประทานแก่ภิกษุสงฆ์ และพระเถระทั้งหลายได้ทรงจำสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเหตุนั้น,พระสูตรทั้งหลายที่เราได้ฟังได้อ่านก็เป็นการได้ฟังคำเดียวกันกับที่พระสงฆ์ทั้งหลายได้สดับฟังจากพระโอษฐ์นั่นเอง ผิดกันแต่ว่าพระสงฆ์ในครั้งกระโน้นเมื่อได้สดับพระคาถาโดยน้อมใจ ตั้งใจ และพิจารณาตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ปัญญาของท่านเหล่านั้นก็เกิดขึ้นแล้วทำกิจในการรู้สภาพธรรมะที่ปรากฏตามความจริง ภิกษุที่อบรมเจริญปัญญามาจนถึงพร้อมที่จะได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านก็บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์เป็นลำดับๆ ไป

ส่วนปุถุชนเช่นเราท่านทั้งหลาย แม้จะได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้ศึกษามากเพียงใดก็ตาม แต่ไม่อาจจะประจักษ์แจ้ง รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมได้ ยังคงเป็นปุถุชนอยู่เช่นนั้น เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ถึงพร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ นี่จึงเป็นข้อคิด อุทาหรณ์แก่ท่านทั้งหลายว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง หยั่งถึงได้ยากโดยแท้ ปุถุชนผู้มีปัญญาน้อยเปรียบเหมือนจะงอยปากยุง ย่อมไม่อาจจะหยั่งรู้ถึงความลึกของห้วงมหรรณพแห่งสัจจธรรมได้นั่นแล

แม้กระนั้นก็ตาม การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะได้มีโอกาสสดับฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยยากแท้ สมดังพระคาถาข้างต้นที่ว่า “การได้ฟังพระสัทธรรมหาได้ยากยิ่ง” แต่ทว่าเราอาจจะไม่คิดเช่นนั้น เพราะอาจจะคิดไปว่าเราได้เกิดมาในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงมายาวนานหลายร้อยปีเป็นพันปีแล้ว และเมื่อเกิดมาแล้วก็ได้เห็นพระสงฆ์ ได้ทำบุญ ใส่บาตร เข้าวัดได้ฟังธรรมะตามโอกาส ก็ไม่เห็นว่าการได้ฟังพระสัทธรรมจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งอย่างไรเลย

แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไป เราจะคิดอย่างนี้ได้ไหมล่ะว่าคนบนโลกนี้มีจำนวนเท่าใด แล้วในจำนวนเหล่านั้น ที่จะเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์พอที่จะได้ยินเสียง ได้เห็นภาพ ไม่เป็นบ้าปัญญาอ่อน มีอยู่เท่าใด และในจำนวนเหล่านั้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เข็ญใจ ทุกข์ยากลำบากเหลือแสน มีอยู่จำนวนเท่าใด และในจำนวนเหล่านั้นที่จะเกิดมาในแผ่นดินที่มีพระสัทธธรรมดำรงตั้งมั่นอยู่มีจำนวนเท่าใด ในจำนวนเหล่านั้นที่ได้เกิดมาบนแผ่นดินที่มีพระสัทธรรมตั้งมั่นแล้ว ที่ไม่พลัดหลงไปนับถือศาสนาอื่น ความเชื่ออื่นมีอยู่เท่าใด และในจำนวนเหล่านั้นที่บอกตนว่าเป็นชาวพุทธมีจำนวนเท่าใดที่ไม่หลงไปนับถือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธินอกพระศาสนา เช่นนับถือเครื่องราง คุณไสย จตุคามรามเทพ ฯลฯ ในจำนวนเหล่านั้นที่ไม่หลงนับถือสิ่งผิด มีจำนวนเท่าใดที่ได้ฟังพระธรรมได้ศึกษาพระเข้าพอที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

เมื่อพิจารณามาดังนี้แล้ว ท่านก็คงพอจะเทียบเคียงได้ว่า การที่จะได้มีโอกาสฟังพระสัทธรรมนั้นยากเพียงใด และจะหายากยิ่งเพียงใดสำหรับผู้ที่จะได้ฟังและเข้าใจในเรื่องราวที่ได้ฟัง และจะยากยิ่งเพียงใดสำหรับสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจ แล้วเกิดเป็นปัญญาจนรู้ตรงในสภาพธรรมะที่ปรากฏทีละน้อย และจะยากยิ่งเพียงใดที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมีปัญญาจนถึงขั้นประจักษ์แจ้ง รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล นี่จะยากยิ่งเพียงใด ???

ดังที่ได้กล่าวแล้วในบทความก่อนๆ ถึงเรื่องที่อโศกมหาราชทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก บำรุงพระศาสนาในกิจการต่างๆ เรียกว่าพระองค์ได้กระทำกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ให้แก่พระพุทธศาสนา แต่แม้กระนั้นตามพระองค์ก็ไม่บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลใดๆ เลย นั่นคงเป็นข้อคิดแก่ท่านทั้งหลายว่า การจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาและการกุศลอื่นๆทั้งสิ้นให้ถึงพร้อม หาใช่แต่เพียงการให้ทานเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการฟังพระสัทธรรมอย่างมั่นคง

แต่ก็อย่างที่ได้จั่วหัวไว้ว่า ธรรมะไม่สาธารณะแก่ทุกบุคคล ซึ่งหมายถึงว่าการที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมนั้นว่ายากแล้ว แต่การที่จะได้ฟังธรรมอันยิ่งคือละเอียดลึกซึ้งที่เรียกว่าพระอภิธรรมนั้นยากเย็นยิ่งกว่า! ดังมีตัวอย่างมาในพระสูตร ที่จะบรรยายดังนี้

สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้มีศรัทธาแรงกล้า หลังจากที่ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคแล้วท่านก็บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านได้ถวายพระวิหารเชตวันแก่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์ไว้ใช้สอยเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา ต่อมาภายหลังท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเกิดป่วยหนัก นอนอยู่บนเตียงจวนจะถึงแก่กรรม ท่านได้ให้คนไปแจ้งข่าวแก่ท่านพระสารีบุตร

ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์ได้ไปเยี่ยมท่านอนาถบิณฑเศรษฐี ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่ท่านเศรษฐี โดยแสดงพระอภิธรรม ถึงเรื่องไม่พึงเอาอุปาทานไปยึดติด ถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลาย และสรุปท้ายธรรมเทศนาว่า

“ดูกรคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า อารมณ์ใดก็ตาม ที่เราได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้แจ้งแก่ใจ ได้แสวงหา ได้คุ้นใจ เราจักไม่ยึดติดถือมั่นอารมณ์นั้น และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่เรา ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้เถิด”

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว ก็น้ำตาไหลริน ร่ำไห้กล่าวว่า

“กระผมได้เข้ามาใกล้ชิดองค์พระศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจมาเป็นเวลายาวนาน แต่กระนั้นกระผมก็ไม่เคยได้สดับธรรมีกถาอันลึกซึ้งอย่างนี้เลย”

ท่านพระอานนท์กล่าวกะท่านคฤหบดีว่า

“ดูกรคฤหบดี ธรรมีกถาอย่างนี้ ไม่สำแดงแก่คนนุ่งขาว ชาวคฤหัสถ์ แต่จะสำแดงแก่บรรพชิต”

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบอย่างนั้น จึงกล่าวขอร้องแก่พระคุณเจ้าว่า

“ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอธรรมีกถาอย่างนี้ จงสำแดงแก่คนนุ่งขาว ผู้เป็นคฤหัสถ์อยู่ครองเรือน บ้างเถิดเจ้าข้า เพราะว่ากุลบุตรจำพวกมีกิเลสธุลีในดวงตามน้อยก็มีอยู่ แต่เพราะมิได้สดับธรรม ก็จะเสื่อมไป คนที่จะรู้จะเข้าใจพระธรรม จักมี”

หลังจากท่านพระสารีบุตร ท่านพระอานนท์ กลับออกจากปราสาทท่านเศรษฐีได้ไม่นาน ท่านเศรษฐีก็ทำกาล คือถึงแก่ความกรรม ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต

ดังที่ได้บรรยายมานี้ ขอท่านทั้งหลายพึงพิจารณา และพึงขวนขวายที่จะเป็นผู้ศึกษา สดับพระธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา ละความเห็นผิดเป็นลำดับๆ เถิด.

No comments: