Monday, August 27, 2007

บทความที่๒๔๐. การจะเปลี่ยนแปลงอำนาจมิอาจปราศจากอำนาจ

การจะเปลี่ยนแปลงอำนาจมิอาจปราศจากอำนาจ
(จากหนังสือ "การปฏิวัติประชาธิปไตย" ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล)


ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ละยุค เช่นจากยุคชุมชนบุพกาลมาสู่ยุคทาส สู่ยุคศักดินา และสู่ยุคทุนนิยม ตามที่เป็นมา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นมูลเหตุประการแรกก็จริง แต่ตัวที่กุมการเปลี่ยนแปลง หรือนำการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเก่าที่ล้าหลัง แล้วสถาปนาระบอบใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าขึ้นแทนที่นั้น คือตัว “อำนาจ” ถ้าปราศจากเสียซึ่ง “อำนาจ” แล้ว ไม่มีทางที่จะล้มระบอบเก่าและสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาได้เลย

แต่อย่างไรก็ดีตัว “อำนาจ” ก็ไม่อาจจะมีขึ้นโดดๆ หากจะต้องมีตัว “กำลัง” เป็นเครื่องสนับสนุน ปราศจากเสียซึ่ง “กำลัง” แล้ว จะไม่อาจมี “อำนาจ” ได้อย่างแน่นอน

กำลังจึงเป็นที่มาแห่งอำนาจ

ในปลายยุคชุมชนบุพกาล คนกลุ่มน้อยส่วนส่วนหนึ่งที่มีความผูกพันกันในฐานะเครือญาติทางสายโลหิต ได้เริ่มสะสมกำลัง อันเป็นฐานแห่งอำนาจ ทั้งกำลังทางเศรษฐกิจและกำลังคน และครั้นแล้วคนกลุ่มน้อยส่วนนี้ ก็ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันสง่างามแห่งยุคชุมชนบุพกาลลงเสีย แล้วสถาปนาระบบทาสขึ้นมาแทนที่

ภายใต้ระบอบทาส การทำสงครามล่าทาสเกิดขึ้นบ่อยๆ ปริมาณทาสจึงถูกแย่งชิงและรวมกลุ่มกันมากขึ้น แรงงานของพวกทาสไม่เพียงแต่ถูกใช้ในงานผลิตอย่างเดียว หากถูกใช้ไปในการทำสงครามด้วยประวัติศาสตร์ของยุคทาส จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ดิ้นรนอย่างนองเลือด ทั้งระหว่างนายทาสต่อนายทาสที่แย่งชิงทาสกัน และระหว่างนายทาสผู้กดขี่กับพวกทาสผู้ถูกกดขี่ที่ปรารถนาจะปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการ

จากการลุกฮือของพวกทาสบ่อยครั้ง และถึงแม้ว่าจะถูกปราบปรามและพ่ายแพ้ก็ตาม แต่ก็ทำให้สังคมทาสสั่นสะเทือนลงไปถึงรากฐาน และได้ทำให้มีนักรบทาสผู้มีฝีมือเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการเสริมสร้างเงื่อนไขทางสังคม อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา

แต่ในที่สุด จากการพยายามทำการกบฏหลายครั้งหลายหนของพวกทาส และอิสรชนที่ได้รับการปลดปล่อยจากความเป็นทาสแล้ว ความพยายามของพวกเขาก็ได้ถึงซึ่งความสำเร็จ นั่นคือสังคมทาสได้ถึงซึ่งความพินาศฉิบหาย และสังคมศักดินาได้เข้ามาแทนที่ แต่ก็ยังเป็นสังคมที่แบ่งคนในสังคมเดียวกันออกเป็นชนชั้นอยู่เช่นเดิม ยังคมมีการกดขี่ขูดรีดกันอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบของการกดขี่ขูดรีดเท่านั้น จากการกดขี่ขูดรีดในรูปแบบของระบบทาสมาเป็นการกดขี่ขูดรีดของระบบศักดินา

แต่ระบบศักดินาก็ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับระบบทาสในที่สุด เมื่ออิสรชนโดยการร่วมมือสนับสนุนของพวกไพร่ ได้ต่อสู้ขัดขืนกับระบบศักดินาที่จำกัดสิทธิ์ต่างๆ อันเป็นการขัดขวางเหนี่ยวรั้งการขยายตัวของการผลิตแบบทุนนิยมที่เพิ่งแตกหน่ออ่อน

ในชั้นต้น พวกอิสรชนต่อสู้โดยวิถีทางสันติ มีการถวายคำร้องทุกข์ต่อพระราชาธิบดี แต่ไม่เป็นผล พวกเขาจึงจำต้องต่อสู้โดยวิธีการทางทหาร อย่างเช่น นายพลครอมเวล นำกองทัพของฝ่ายสภา ต่อสู้กับระบบกษัตริย์ในอังกฤษในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อันเป็นการเบิกโรงการปฏิวัติประชาธิปไตยกฎุมพีครั้งแรก นายพลจอร์ช วอชิงตัน นำการต่อสู้กับระบอบอาณานิคมของอังกฤษในอเมริกา เมื่อคริสตศตวรรษ ๑๗๗๖ การอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศสในอีก ๑๓ ปีต่อมาคือในปี ๑๗๘๙ และอีกหลายประเทศในยุโรป และนับแต่บัดนั้น ระบอบประชาธิปไตยกฎุมพีหรือประชาธิปไตยนายทุน ก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นแทนที่ระบอบเผด็จการศักดินา

ดังที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ในการเปลี่ยนแปลงของสังคมจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่งนั้น นับแต่การสถาปนาระบบทาส ระบบศักดินา และระบอบประชาธิปไตยกฎุมพีหรือประชาธิปไตยนายทุน ทั้งในยุโรปและอเมริกา ล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้กำลังบังคับหรือใช้กำลังทางการทหารเป็นหลักนำ และกำลังทางการเมืองหรือประชาชนเป็นเครื่องสนับสนุน

ส่วนการผลัดเปลี่ยนอำนาจปกครองภายในระบอบนั้นๆ ในเวลาต่อมา มีการผลัดเปลี่ยนทั้งโดยอาศัยกำลังทางการทหารและโดยสันติตามวิถีทางแห่งประเพณีของระบอบการปกครองนั้นๆ

No comments: